กรมการค้าต่างประเทศ ดัน 4 ยุทธศาสตร์ค้าชายแดน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง กับการค้าชายแดนและผ่านแดน มาประชุมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้า การลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567-2570 ใน 4 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่ 1.พัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของไทย 2.ยกระดับศักยภาพ อำนวยความสะดวกของด่านชายแดน 3.ส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่างๆ 4.ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเป็น 2 ล้านล้านบาท ในปี 2570

อย่างไรก็ดี มูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือน ก.ย. อยู่ที่ 148,564 ล้านบาท ลดลง 3.32% เป็นไทยส่งออก 87,480 ล้านบาท ลดลง 3.97% ไทยนำเข้า 61,084 ล้านบาท ลดลง 2.37% ได้ดุลการค้า 26,396 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่า 1,311,372 ล้านบาท ลดลง 2.26% เป็นไทยส่งออก 755,206 ล้านบาท ลดลง 2.06% ไทยนำเข้า 556,167 ล้านบาท ลดลง 2.53% ได้ดุลการค้า 199,039 ล้านบาท

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2737374

สายการบินหลายแห่งทั่วโลก ประกาศเพิ่มเที่ยวบินตรงมายังกัมพูชา

สายการบินซึ่งให้บริการในกัมพูชา ได้ยื่นคำขอเพิ่มตารางเที่ยวบินตรงมายังกัมพูชา เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มต้นของฤดูกาลท่องเที่ยวหรือวันหยุดภาคฤดูร้อน ด้านบริษัทผู้ให้บริการจำเป็นต้องยื่นคำขอในการเพิ่มตารางเที่ยวบินทุก 6 เดือน เพื่อเป็นการจัดสรรการจราจรในบริเวณสนามบิน กล่าวโดย Chea Aun เจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักเลขาธิการการบินพลเรือนแห่งรัฐ (SSCA) ซึ่งรัฐบาลกัมพูชายังได้ส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น เวียดนาม และไทย รวมถึงยังได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ให้เอื้อต่อการท่องเที่ยว อย่างการพัฒนาระบบการชำระเงินด้วย QR-code “kHQR” และโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ซึ่งมาเยือนกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501373260/airlines-to-increase-flights-to-cambodia-by-year-end/

‘เมียนมา’ โกยรายได้ส่งออกถั่วพัลส์ ครึ่งแรกปีนี้ ทะลุ 715 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าเมียนมาส่งออกถั่วพัลส์มากกว่า 860,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 715 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566-2567 (เม.ย.-ก.ย.) โดยแบ่งออกเป็นผ่านการค้าทางทะเลและผ่านชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทำรายได้ราว 603.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 111.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกถั่วพัลส์ของเมียนมา ได้แก่ ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวและถั่วแระ ในขณะที่ตลาดส่งออกหลักของถั่วพัลส์ ประกอบไปด้วยอินเดีย จีน และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอินเดียที่มีความต้องการถั่วเขียวผิวดำและถั่วแระจากเมียนมาจำนวนมาก

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-various-pulses-exports-bag-us715-mln-in-h1/#article-title

‘สพพ.’เพิ่มช่วยเหลือ สปป.ลาว ฝึกคนขับรถไฟ – ทำแผนธุรกิจสถานี‘บ้านคำสะหวาด’

นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ ก่อสร้างทางรถไฟสายท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะที่ 2 ส่วนที่ 2 (รถไฟไทย-ลาว)  สถานีรถไฟเวียงจันทน์ บ้านคำสะหวาด ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการระยะแรกของเส้นทาง ว่าขณะนี้โครงการแล้วเสร็จเรียบร้อยและอยู่ระหว่างรอกำหนดการจากทั้งสองประเทศคือไทย และสปป.ลาวที่จะกำหนดให้มีการเปิดใช้สถานีอย่างเป็นทางการ โดยจากการหารือกันระหว่าง สพพ. และตัวแทนรัฐบาลจาก สปป.ลาว ซึ่งได้ร้องขอให้ไทยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในเรื่องของการฝึกอบรมพนักงานขับรถไฟ ช่วยทำแผนธุรกิจเตรียมเปิดสถานีบ้านคำสะหวาด เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ขออนุมัติเงินกู้ 1.8 พันล้าน ให้ สปป.ลาว พัฒนาเส้นทางหมายเลข 12 (R12) เชื่อมนครพนม – ลาว – เวียดนาม เพิ่มมูลค่าการค้า 3 ประเทศ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1082354

ค้าชายแดน ‘เมียนมา-จีน’ ไตรมาสแรก พุ่งทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ามูลค่าการค้าชายแดนเมียนมาและจีน อยู่ที่ราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงบประมาณ 2566-2567 ตัวเลขของการค้าชายแดนข้างต้น เพิ่มขึ้นจาก 607.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่ามูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประมาณ 388.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ ทั้งนี้ เมียนมาทำการค้าชายแดนกับจีนผ่านด่านชายแดนมูเซะ (Muse), ชีงชเวห่อ, กัมปะติ และ เชียงตุง เป็นต้น โดยเฉพาะด่านชายแดนเมืองมูเซะ เป็นด่านชายแดนสำคัญของเมียนมาที่ทำรายได้จากการค้าชายแดนสูงที่สุด ด้วยมูลค่า 657.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เมียนมาทำการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ไทย จีน บังกลาเทศและอินเดีย สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นประเภทเกษตรกรรม ปศุสัตว์และป่าไม้ ในขณะที่สินค้านำเข้าหลักของเมียนมาจะเป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-china-border-trade-bags-nearly-us1-billion-in-q1/#article-title

“เวียดนาม-จีน” เดินหน้าระชับความร่วมมือทวิภาคี

นายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ได้กล่าวยืนยันกับนายฉิน กัง มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ว่าเวียดนามให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านกับประเทศจีน และมองว่าจีนมีความสำคัญกับเวียดนามในฐานะทูตของประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเดียวกันกลุ่มประเทศในอาเซียน โดยทั้งสองประเทศเห็นพ้องว่าให้มีการเยือนกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ จีนจะสนับสนุนให้ธุรกิจที่มีชื่อเสียงเข้ามาลงทุนในเวียดนาม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501314680/vietnam-china-seek-to-boost-cooperation/

ทางการไทยต่ออายุใบอนุญาตให้แรงงานกัมพูชากว่า 4 หมื่นคน

ทางการไทยตกลงต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาเกือบ 40,000 คน หลังกรมแรงงานของทั้งสองประเทศทำงานร่วมกับและบรรลุข้อตกลง เพื่ออำนวยความสะดวกในการต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานข้ามชาติผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้กระบวนการในการดำเนินการรวดเร็วขึ้นและไม่ยุ่งยาก ซึ่งตาม MoU ปัจจุบันกำหนดระยะเวลาต่อการออกใบอนุญาตทำงานไว้ที่ 4 ปี ต่อการต่ออายุ โดยทางการไทยขอให้ทางการกัมพูชาเร่งดำเนินการรับรองเอกสารข้อมูลส่วนบุคคลของแรงงานเพื่อต่ออายุใบอนุญาตการทำงาน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากมีรายงานว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว บริการ การก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และการแปรรูปอาหาร

ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพของกัมพูชา (MLVT) รายงานว่ากัมพูชามีแรงงานที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศกว่า 1.3 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าว 1.2 ล้านคน ทำงานในประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 400 ดอลลาร์ต่อเดือน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501314077/thailand-agrees-to-renew-permits-for-40000-cambodian-workers/

“เมียนมา” เผยปี 65-66 ส่งออกถั่วพุ่ง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในช่วงปีงบประมาณ 2565-2566 เมียนมาส่งออกถั่วพัลส์ (Pulses) ไปยังต่างประเทศกว่า 1.9 ล้านตัน ทำรายได้ราว 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากพิจารณาช่องทางการค้าของสินค้าดังกล่าว พบว่าในปีที่แล้ว เมียนมาส่วนใหญ่ส่งออกถั่วพัลส์และถั่วชนิดอื่นๆ ผ่านทางทะเล ปริมาณมากกว่า 1,640,777.1 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านด่านพรมแดนทางบก ปริมาณ 1,919,156.1 ตัน มูลค่า 1.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ อินเดียมีความต้องการและบริโภคถั่วดำและถั่วแระมากขึ้น โดยอินเดียนำเข้าถั่วดำจากเมียนมา 250,000 ตัน และถั่วแระ 100,000 ตัน เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ทั้งสองประเทศร่วมลงนาม MOU เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-bags-over-1-4-bln-from-pulses-exports-in-past-fy2022-2023/#article-title

Thai economic recovery เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างไร เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ?

โดย วิชาญ กุลาตี ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 เป็นอย่างไร?

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ติดต่อกันที่ 4.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (%YOY) และนับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส ตามสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงน้อยลงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินเป็นปกติมากขึ้น

โดยหากพิจารณาการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านการใช้จ่าย เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกภาคบริการ (การท่องเที่ยว) การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนเป็นหลัก ในขณะที่กิจกรรมทางด้านการผลิตพบว่า หลายภาคเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี นำโดยภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวจากเดิมที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า รวมถึงภาคบริการที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ (รูปที่ 1) เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การขายและการส่งขายปลีก การขนส่ง เป็นต้น

graph01-thailand-economic-recovery.jpg

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 เกาะกลุ่มเพื่อนบ้านแบบรั้งท้าย

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2022 ที่ 4.5% ยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย (14.2%) เวียดนาม (13.7%) ฟิลิปปินส์ (7.6%) หรืออินโดนีเซีย (5.7%) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานที่เศรษฐกิจแต่ละประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดในไตรมาสที่ 3 ของปี 2021 ไม่เท่ากัน

หากหักปัจจัยฐานออกพบว่าเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านขยายตัวเกาะกลุ่มกัน โดยเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.2%QOQ_sa (เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล) ในขณะที่เศรษฐกิจของมาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ขยายตัว 1.9, 0.9, 2.9 และ 0.6%QOQ_sa ตามลำดับ สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่สอดคล้องกันภายในกลุ่ม

แม้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 จะขยายตัวได้เกาะกลุ่มเพื่อนบ้าน แต่เมื่อพิจารณาการฟื้นตัวในภาพรวมพบว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดได้ช้าที่สุดในกลุ่ม โดยเศรษฐกิจของเวียดนามขยายตัวได้ต่อเนื่องและยังไม่เคยถดถอยลงไปอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติ สำหรับเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ แม้จะหดตัวลงแต่สามารถฟื้นตัวกลับไปเทียบเท่าก่อนวิกฤติได้แล้ว ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติในปี 2019 อยู่ราว 2.6% (GDP 4 ไตรมาสล่าสุดเทียบกับปี 2019)

สาเหตุที่เศรษฐกิจแต่ละประเทศในภูมิภาคฟื้นตัวได้รวดเร็วไม่เท่ากันมีหลายประการ เช่น เวียดนามที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ รวมถึงมาเลเซียและฟิลิปปินส์ที่เป็นผู้ส่งออกแผงวรจรไฟฟ้าได้รับอานิสงส์จากความต้องการสินค้าเทคโนโลยีเพื่อรองรับกระแสการทำงานหรือเรียนที่บ้าน จึงทำให้การผลิตและการส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวยังขยายตัวได้ดี

ด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซียได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความต้องการจากตลาดโลกสูงแม้จะมีการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีน้อย สิงคโปร์สามารถฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วจากการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ในขณะที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้าเนื่องจากพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูง อีกทั้งมีการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ต่ำเมื่อเทียบกับ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เมื่อการเดินทางระหว่างประเทศถูกควบคุมเข้มงวดจึงทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซบเซา ผู้ประกอบการและแรงงานขาดรายได้หรือมีรายได้ลดลงเป็นจำนวนมาก

graph02-thailand-economic-recovery.jpg

แล้วเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติได้เมื่อไร?

ในปีหน้าประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึง (Uneven) ภายใต้ความไม่แน่นอนสูง โดยภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากอุปสงค์คงค้าง (Pent-up demand) และการทยอยลดมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ภาคบริการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ปรับตัวดีขึ้น

อีกทั้ง การบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานกลับมาเป็นปกติมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกที่เป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงโควิดมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวภายใต้ความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งแรงส่งจากทางภาครัฐจะลดลงตามงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดมากขึ้นหลังจากเม็ดเงินกระตุ้นพิเศษภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้าน และ 5 แสนล้าน ที่หมดลง

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ในโลกที่ยังเป็นประเด็นอยู่มาก เช่น สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ข้อพิพาทระหว่างจีน-ไต้หวัน นโยบาย Zero-COVID ของจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการผลิตของไทย รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งในปี 2023 ที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคการผลิตและลงทุน

ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.2% ในปี 2022 และ 3.4% ในปี 2023 เร่งตัวขึ้นจาก 1.5% ในปี 2021 (เทียบกับ Asia Pacific Consensus ที่ 3.2% ในปี 2022 และ 3.6% ในปี 2023) ซึ่งยังคงเติบโตรั้งท้ายเพื่อนบ้านในปี 2022 และเกือบรั้งท้ายในปี 2023 รองจากสิงค์โปร์ที่ 2% SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติได้ในช่วงกลางปี 2023 และจะกลับสู่แนวโน้มระดับศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจเดิม (Potential GDP) ได้ภายในสิ้นปี 2024

graph03-thailand-economic-recovery.jpg

บทสรุปข้อเท็จจริงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

  1. เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ของปี 2022 ขยายตัวได้ดีเกาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน
  2. ไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปอยู่ในระดับก่อนเกิดวิกฤติในปี 2019 ได้
  3. เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่โตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ยกเว้นสิงคโปร์ที่เป็นเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เนื่องจากแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จะมีเพียงภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง ตามด้วยการบริโภคภาคเอกชนที่ยังมีหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นปัจจัยกดดันอยู่ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิดได้ในช่วงกลางปี 2023 และจะกลับสู่แนวโน้มการเติบโตเดิมได้ภายในสิ้นปี 2024  และ
  4. ภาครัฐควรเร่งผลักดันการลงทุนในประเทศและดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างชาติพร้อมกระแส Deglobalization รวมถึงเร่งสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจเอกชนตามเทรนด์ดิจิทัลและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในโลก โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุน จ้างงาน การผลิต และการส่งออก เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมในระยะต่อไป

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/8764

ปีนี้ไทยเสียแชมป์ข้าวหอมโลกให้กับกัมพูชา

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุปีนี้ข้าวหอมมะลิไทยต้องเสียแชมป์ให้ “ข้าวผกาลำดวน” ของกัมพูชาในเวทีประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2022 ที่ภูเก็ต จากกลิ่นหอมข้าวไทยน้อยไป และแพ้เพียง 1 คะแนน ระบุน่าจะเกิดจากปัญหาน้ำท่วมอุบลนานทำให้กลิ่นไม่ค่อยหอม ชี้ปีหน้าส่งข้าวหอมมะลิไทยชิงใหม่พร้อมแนะภาครัฐไม่ควรนิ่งนอนใจประเทศเพื่อนบ้านผลิตข้าวหอมมะลิเทียบของหอมไทยแล้วควรเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิไทยให้ดียิ่งขึ้น

ที่มา : https://tna.mcot.net/business-1062465