พาณิชย์พร้อมใช้เทคโนโลยีรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP หนุนส่งออก

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ระบบการตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า หรือ ROVERs และระบบการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-Certification) เพื่อใช้ประโยชน์ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ได้พร้อมเปิดให้บริการแล้ว ซึ่งเป็นการยกระดับการให้บริการให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และได้เริ่มเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ที่กรมฯ ได้พัฒนาขึ้นเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยและช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง ในอีกทางหนึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย เนื่องจากตลาด RCEP มีขนาดใหญ่และมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันมากกว่า 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังได้ประโยชน์ในด้านการนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP เพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าไทยโดยใช้กฎการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าและส่งออกไปยังประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี ณ ประเทศปลายทาง โดยผู้ประกอบการไทยสามารถเลือกใช้วัตถุดิบที่มีความหลากหลายและสามารถนำมาสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าได้จากทุกประเทศที่เป็นสมาชิกในกลุ่ม RCEP ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิตและสร้างแต้มต่อให้แก่ในตลาดต่างประเทศ

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/59593/

พาณิชย์ดันใช้ประโยชน์ FTA ส่งอาหาร-เกษตรแปรรูปบุกจีน

พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการ DTN Business Plan Award 2021″ชี้ช่องโอกาส บุกตลาดด้วย FTA” ว่า การดำเนินโครงการครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่เกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูปของไทย จะใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อเพิ่มแต้มต่อทางการค้าบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้สามารถขยายส่งออกสินค้าไปตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดคู่ FTA ของไทย ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยในปี 2564 นี้ ได้ย้ำให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มุ่งเน้นให้ความรู้และส่งเสริมผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อเพิ่มแต้มต่อทางการค้าและโอกาสขยายส่งออกไปตลาดคู่ FTA ของไทย โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA อาเซียน-จีนที่จีนได้ลดเลิกการเก็บภาษีนำเข้าส่วนใหญ่ให้กับสินค้าส่งออกจากไทยแล้ว เช่น อาหาร เกษตร และเกษตรแปรรูป เป็นต้น รวมถึงใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 ขยายส่งออกสินค้าของไทยไปกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ด้วย

ที่มา : https://www.naewna.com/business/618221

รมว.พาณิชย์กัมพูชา ยืนยันความร่วมมือทางการค้ากับสิงคโปร์

กัมพูชาและสิงคโปร์ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาได้จัดการประชุมทางวิดีโอกับรัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งได้หารือถึงความคืบหน้าในการให้สัตยาบันความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ระหว่างสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เพื่อสร้างกลุ่มการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งได้พูดคุยกันเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่งรายงานว่าสองประเทศมีระดับปริมาณการฉีดวัคซีนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยกัมพูชาฉีดวัคซีนครบ 2 โดส แล้วกว่าร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมดที่มีอยู่ 16 ล้านคน ทางด้านสิงคโปร์ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส แล้วประมาณร้อยละ 80 ของประชากร ซึ่งการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสิงคโปร์มีมูลค่าถึง 4.2 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยการลงทุนของสิงคโปร์ในกัมพูชาสูงถึง 1.29 พันล้านดอลลาร์ระหว่างปี 1994 ถึง 2020

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50931917/the-commerce-minister-reaffirms-trade-cooperation-with-singapore/

พาณิชย์ เร่งเครื่องปิดดีลเอฟทีเอพร้อมลุยเจรจากรอบใหม่

รมช.พาณิชย์ มอบนโยบายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งปิดดีล เอฟทีเอทั้งกับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา ซึ่งประเทศเหล่านี้จะเป็นประตูการค้าให้ไทยเข้าสู่ภูมิภาคต่างๆ เช่น เอเชียใต้ ยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง เป็นต้น รวมทั้งปรับปรุงเอฟทีเอ ที่มีอยู่ในปัจจุบันกับคู่ค้าที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูง เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย และอาเซียน-เกาหลีใต้ เป็นต้น เพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนของไทย โดยสามารถดำเนินการหารือได้ทันที ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ พร้อมเปิดเจรจาเอฟทีเอ คู่ค้าใหม่ อาทิ อียู เอฟต้า และแคนาดา เพื่อหาตลาดใหม่และสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าส่งออกของไทยในต่างประเทศ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/936435

พาณิชย์เมียนมาเผยส่งออกสินค้าเกษตรพุ่ง แม้ธนาคารปิดทำการ

การส่งออกสินค้าเกษตรพุ่งขึ้นในช่วงห้าเดือนที่ผ่านมาแม้ว่าผู้ค้าจะประสบปัญหาในการทำธุรกรรมเนื่องจากการปิดตัวคราวของธนาคารพาณิชย์ในเมียนมา จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ในปีงบประมาณปัจจุบันนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ณ วันที่ 5 มีนาคม 2564 การส่งออกสินค้าเกษตรมีมูลค่าสูงถึง 2.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ 765.74 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 1.72 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 62-63 แม้จะได้รับผลกระทบของ COVID-19 ความต้องการสินค้าอื่นๆ จากต่างประเทศที่ลดลง และความไม่มั่นคงทางการเมือง การงดให้บริการของธนาคารทำให้ผู้ค้าหันไปใช้การชำระเงินนอกระบบที่เรียกว่า “hundi” ในการทำการค้าชายแดน โดยการส่งออกอุตสาหกรรมการเกษตรคิดเป็น 22% ของการส่งออกโดยรวม สินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ได้แก่ ข้าว ปลายข้าว เมล็ดถั่ว และข้าวโพด ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย และศรีลังกา  ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังช่วยเหลือเกษตรกรในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ เช่น ต้นทุนการผลิตที่สูง การหาเมล็ดพันธุ์พันธุ์ ต้นทุนการเพาะปลูกที่สูง และสภาพอากาศที่ไม่สามารถคาดเดาได้

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/agro-exports-remain-to-rise-even-private-banks-shut-down/#article-title

“พาณิชย์”เร่งหาตลาดผลไม้ล่วงหน้า ตั้งเป้าขาย 1,840 ล้านบาท

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้กำหนดจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้สดและแปรรูปออนไลน์ ในวันพฤหัสบดีที่ 25 มี.ค.2564 ซึ่งเป็น 1 ใน 14 แผนงานเร่งด่วน ของกระทรวงพาณิชย์ ด้านการส่งเสริมสินค้าเกษตรคุณภาพ ภายใต้วิสัยทัศน์ เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด โดยใช้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ในการเร่งหาตลาดล่วงหน้าในการรองรับฤดูผลผลิตผลไม้ที่กำลังออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เช่น ทุเรียน มังคุด มะม่วง ลำไย มะพร้าว เป็นต้น และผลักดันให้ราคาผลไม้ปรับตัวสูงขึ้น พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าผลไม้ไทย และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ในการจัดกิจกรรม จะได้นำผลการเจรจาไปต่อยอดการเซ็นสัญญาข้อตกลงการซื้อขาย (Memorandum of Purchasing : MOP) หรือข้อตกลงการส่งมอบสินค้า (Memorandum of Delivery : MOD) ในงานมหกรรมผลไม้ภาคตะวันออก ประจำปี 2564 ณ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-12 เม.ย.2564 ซึ่งกรมฯ ได้ร่วมกับกรมการค้าภายใน องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี และสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ จัดกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย การประชุมติดตามมาตรการด้านสุขอนามัยในการเก็บ บรรจุ และขนส่งสินค้าผลไม้ในสถานการณ์โควิด-19 การเตรียมพร้อมทางด้านโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในฤดูผลไม้ออกสู่ตลาด การปล่อยคาราวานรถบรรทุกผลไม้ส่งออกที่ผ่านการฆ่าเชื้อโควิด-19 และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงซื้อขายผลไม้ส่งออก โดยมีนายจุรินทร์ เป็นประธาน และยังมีกิจกรรมการออกคูหาขายสินค้าผลไม้และผลิตภัณฑ์ประจำจังหวัด การจับคู่เจรจาเสนอซื้อขายผลไม้ในฤดูระหว่างเกษตรกรชาวสวนภาคตะวันออก และล้ง โรงแพ็กด้วย

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/471725

พาณิชย์เผยกัมพูชาปิดท้ายร่วม FTA อาเซียน-ฮ่องกงมีผลครบทุกชาติ 12 ก.พ.

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ฮ่องกง (ASEAN – Hong Kong Free Trade Agreement : AHKFTA) มีผลบังคับใช้ระหว่างฮ่องกงและประเทศสมาชิกอาเซียนบางส่วน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 โดยกัมพูชา เป็นประเทศเดียวในปัจจุบันที่ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ จึงได้แจ้งสำนักเลขาธิการอาเซียนว่าพร้อมที่จะเริ่มใช้ความตกลง AHKFTA แล้ว ซึ่งการดำเนินการของกัมพูชา จะส่งผลให้ความตกลง AHKFTA มีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์กับทุกประเทศสมาชิก ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.นี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของไทย โดยในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับฮ่องกง มีมูลค่า 13,298 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก มูลค่า 11,292 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้า มูลค่า 2,006 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ และข้าว สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องเพชรพลอย เงินแท่งและทองคำ ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2021/64964

‘พาณิชย์’ เผย ‘รัฐสภา’ เห็นชอบให้สัตยาบันความตกลง RCEP แล้ว คาดมีผลบังคับใช้ปีนี้

กระทรวงพาณิชย์เผย รัฐสภาเห็นชอบการให้สัตยาบันความตกลง RCEP เรียบร้อยแล้ว เตรียมเร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกประกาศและแนวปฏิบัติรองรับการใช้ประโยชน์ คาดมีผลบังคับภายในปีนี้ ย้ำผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้ประโยชน์จริง โดยในที่สุดรัฐสภาของไทยมีมติ ‘เห็นชอบ’ การให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) แล้วเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจาก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำเสนอข้อมูล เหตุผล ความจำเป็น และประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการให้สัตยาบันในข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับความตกลง RCEP เนื่องจากเห็นว่าเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของไทย โดย RCEP จะเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย ซึ่งจะช่วยสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 2,200 ล้านคน สินค้าส่งออกหลายรายการของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจะได้รับการลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรจากประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งจะเปิดตลาดใน RCEP ให้ไทยเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ เช่น สินค้าประมง, แป้งมันสำปะหลัง, สัปปะรด, น้ำมะพร้าว, น้ำส้ม, อาหารแปรรูป, ผักและผลไม้แปรรูป เป็นต้น

ที่มา : https://thestandard.co/parliament-agreed-to-ratify-the-rcep-agreement/

พาณิชย์ ดึง มินิเอฟทีเอ แต้มต่อดันส่งออกปี 64

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการผลักดันการส่งออกในปี 64 ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำแผนส่งเสริมและผลักดันการส่งออก เพื่อนำเงินเข้าประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งได้กำหนดแผนงานโครงการไว้ชัดเจนหมดแล้ว มีจำนวนรวม 343 กิจกรรม ในประเทศ 135 กิจกรรม และในต่างประเทศ 208 กิจกรรม เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมอาหารไทย การเจรจาธุรกิจออนไลน์ หรือเจรจาการค้าในรูปแบบไฮบริด และการผลักดันสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังของประเทศต่างๆ ขณะเดียวกัน จะเร่งเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าไทย นอกจากนี้ จะใช้นวัตกรรมใหม่การทำการค้าแบบลงลึกต้องทำมินิเอฟทีเอ ซึ่งเป็นการตั้งชื่อเอง โดยกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน จะทำข้อตกลงทางการค้าเฉพาะกับมณฑล หรือรัฐ หรือเมืองของประเทศใหญ่ๆ ที่มีประชากรมากกว่าบางประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการค้า การลงทุนให้กับผู้ประกอบการของไทย สำหรับการส่งออกในปี 63 ถือว่าไทยทำได้ดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ที่ประสบปัญหาโควิด-19 โดยการส่งออกของไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากที่เคยติดลบหนักในช่วงโควิด-19 ระบาด และค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น และคาดการณ์ว่าทั้งปีนี้จะติดลบเพียบ7%และปีหน้าจะบวกได้4%ซึ่งเป็นผลมาจากทำงานอย่างหนักของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน อย่างไรก็ตามการส่งออกในปีนี้ยังมีอุปสรรคที่จะต้องเร่งแก้ไข คือ การค้าชายแดน ที่ล่าสุดได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดรอบ 2 ทำให้จำเป็นต้องปิดด่าน โดยเมียนมาเดือนต.ค.ลบ40% สปป.ลาว ลบ 21%กัมพูชา ลบ17% เป็นผลกระทบจากโควิด-19 และยังมีปัญหาเรื่องขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่จะใช้ในการส่งออก เพราะได้ดุลการค้ามากไป นำเข้ามาน้อย แต่ส่งออกไปมาก ทำให้ตู้ขาดแคลน ซึ่งจะเร่งเข้าไปแก้ไขปัญหาต่อไป

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/910733

พาณิชย์เมียนมาคาดภาคการค้าขยายตัว 109.73%

กระทรวงพาณิชย์ เผยเมียนมามีรายได้จากการค้าเกินเป้าหมายสำหรับปีงบประมาณ 2562-2563 ปริมาณการค้ามีมูลค่า 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและเทียบกับ 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณที่แล้ว โดยในปีนี้ได้ร่วมมือกับสมาคมผู้ผลิตและส่งออกผลไม้ดอกไม้และผักของเมียนมาเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดผลไม้ในท้องถิ่นในช่วง COVID-19 นอกจากนี้ยังจัดตั้ง Myanmar Online Expo Park และจัดงาน Myanmar International Expo of Organic and Natural Products ทางออนไลน์ในเดือนสิงหาคม ปีงบประมาณนี้มีการส่งออกมีมูลค่าประมาณ 17,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 18.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2561-2562 โดยการส่งออกพบว่าเพิ่มขึ้น 851 ล้านดอลลาร์สหรัฐในขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การค้าต่างประเทศขยายตัวกว่า 10%  ส่วนใหญ่ โดยภาคการส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าและสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป ในขณะที่การนำเข้าจะเป็นสินค้าทุน สินค้าขั้นกลา งวัสดุเสื้อผ้า และสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งอุปสงค์จากต่างประเทศมีแนวโน้มเชิงบวก ตัวอย่างเช่น ความต้องการหัวหอมจากบังกลาเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้ราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ด้านการส่งออก ความต้องการสินค้าอื่น ๆ เช่น น้ำผึ้งและกาแฟมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งน้ำผึ้งสามารถส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (EU) ส่วนความต้องการกาแฟจากต่างประเทศก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยมีการถูกส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และยุโรป ในช่วงห้าปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกกาแฟเพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่าคิดเป็นมูลค่ากว่า 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้จาก 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 และเมียนมายังเริ่มส่งออกเบียร์ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว Carlsberg Myanmar ได้เริ่มส่งออกเบียร์ Tuborg Beer ไปยังจีน

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/trade-sector-exceeds-10973pc-estimates-minister-commerce.html