ARDB ลงนามในสัญญาเงินกู้วงเงิน 30 ล้านดอลลาร์ ส่งเสริมภาคการเกษตรกัมพูชา

ธนาคารเพื่อการเกษตรและการพัฒนาชนบท (ARDB) ของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของกัมพูชา ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้มูลค่า 30 ล้านดอลลาร์ ให้กับธนาคาร 3 แห่ง และสถาบันการเงินขนาดเล็ก เพื่อช่วยในการสนับสนุนภาคเกษตรกรรมภายในประเทศ โดยสัญญาเงินกู้อยู่ภายใต้โครงการสร้างความหลากหลายทางการเกษตรของกัมพูชา (CASDP) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคารโลก มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มทางการเงินและสนับสนุนห่วงโซ่การผลิต กระจายไปยังเขตพื้นที่เป้าหมาย 13 แห่ง ได้แก่ พนมเปญ, พระตะบอง, มณฑลคีรี, สตึงแตรง, รัตนคีรี, ปราสาทพระวิหาร, กัมปงจาม, ทบงคำ, กระแจะ, เสียมราฐ, กันดาล, กำปงสปือ และ กำปงชนัง ซึ่งธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่ต้องการในภาคการเกษตรที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ยกเว้นภาคที่เกี่ยวกับข้าวที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาอยู่แล้ว โดยการส่งออกสินค้าเกษตร (ไม่รวมข้าว) ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคมมีปริมาณรวม 3.23 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.13 ล้านตัน จากปีก่อนหน้า ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 1.4 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501132346/ardb-inks-30m-loan-pact-to-promote-agri-sector/

‘HSBC’ ชี้ภาคการผลิตของเวียดนามตกต่ำ ป่วนห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ได้เปิดเผยว่าภาคการผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอปรับตัวลดลง เนื่องจากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก สมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนาม ชี้ว่าโรงงานสิ่งทอราว 35% ต้องปิดตัวลง อย่างไรก็ดี ตัวเลขของส่วนแบ่งการตลาดของอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าอยู่ที่ 15% เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ บริษัทกีฬาระดับโลกอย่าง “Nike” เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญของเวียดนามที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ด้วยจำนวนโรงงาน 112 แห่งที่กระจายไปทั่วโลก และจำนวนโรงงานข้างต้นนั้น โรงงาน 88 แห่งได้ตั้งอยู่ในเวียดนาม ซึ่งผลิตรองเท้าเกือบครึ่งหนึ่งของบริษัท นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เผยว่าเวียดนามมีรายได้จากการส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอ อยู่ที่ 21.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 9.7% และ 16.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/industries/vietnam-production-slump-disrupting-global-supply-chain-hsbc-4355645.html

ผู้ผลิตเร่งหาแนวทางผลิตสินค้าเจาะตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างสมาคมสหกรณ์อุตสาหกรรมของเมียนมา กระทรวงเกษตรปศุสัตว์และชลประทาน และกระทรวงสหภาพแรงงาน เมื่อเช้าวันที่ 8 พฤษภาคม 64 ที่ผ่านมา โดยมีความเห็นตรงกันว่าควรส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่มีคุณภาพและจำหน่ายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มเพื่อพัฒนาชนบทสร้างโอกาสในการทำงานและยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตต้องหาแนวทางและวิธีการในการผลิตซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของภูมิภาคและเพื่อเจาะตลาดในและต่างประเทศ ทั้งนี้ยังขอความช่วยเหลือทางเทคนิคในการผลิตจากกรมเกษตรและกรมอุตสาหกรรมขนาดเล็กเพื่อการผลิต

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/manufacturers-urged-to-seek-ways-for-commercial-scale-manufacturing-of-products-penetrate-local-and-foreign-markets/#article-title

พาณิชย์ เผย SEOM ทำแผนฟื้นฟูศก.หลังวิกฤตโควิด-19 เชื่อมห่วงโซ่การผลิตอาเซียน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Official Meeting : SEOM) ครั้งที่ 3/51 ระหว่างวันที่ 22-25 ก.ค.63 ผ่านระบบทางไกล เพื่อติดตามความคืบหน้าการทำงานของคณะทำงานด้านต่างๆ เพื่อเตรียมรายงานความสำเร็จต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ที่กำหนดจัดขึ้นในเดือน ส.ค.นี้ สำหรับการทำงานของเสาเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 มีความคืบหน้าดังนี้ 1.พร้อมใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (ASEAN-Wide Self Certification) ในเดือน ก.ย.63 โดยผู้ส่งออกจะสามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ต้องการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของอาเซียนได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องไปขอรับใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) จากหน่วยงานภาครัฐ 2.พร้อมลงนามข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน ในช่วงการประชุม AEM ครั้งที่ 52 ในเดือน ส.ค.นี้ 3.ได้ข้อสรุปการเจรจา MRA สินค้าวัสดุก่อสร้าง และเตรียมลงนามในปีนี้เช่นกัน ซึ่ง MRA ทั้งสองฉบับจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจของอุตสาหกรรมยานยนต์และวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากเมื่อผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของหน่วยงานทดสอบมาตรฐานในประเทศอาเซียนที่ส่งออกแล้วไม่ต้องตรวจซ้ำในประเทศอาเซียนที่นำเข้า และ 4.พร้อมใช้ความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อาเซียนในปี 2563 เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยทำการค้าระหว่างเกิดโควิด-19 ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2562 มีมูลค่าการค้ารวม 107,674 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปอาเซียน 62,841 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าของไทยจากอาเซียน 44,833 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/news/2020-77a1ea9aee8320ed899b2ea2d5eb7329