เวียดนามขึ้นแท่นผู้นำ “ดึงดูดนักลงทุนระยะยาว” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ว่ากลุ่มนักลงทุนเชื่อมั่นว่า กิจกรรมการลงทุนในเวียดนามจะเพิ่มขึ้น 83% ระหว่างปี 2568-2573 ปัจจุบัน เวียดนามเป็นเสาที่ 3 ของสามเหลี่ยมทองคำ ในแวดวงบริษัทสตาร์ตอัปของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ขณะเดียวกัน เวียดนามยังเต็มไปด้วยผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีชั้นนำ และวัฒนธรรมด้านนวัตกรรมที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว ซึ่งดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกเป็นอย่างมาก

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/3507518/

‘เวียดนาม’ พึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศมากเกินไป จำเป็นที่ต้องพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม

จากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน มีสัดส่วนราว 90% ของการส่งออกรวม และมีสัดส่วน 25.8% ของจำนวนงานทั้งหมดในประเทศ ในขณะที่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของการลงทุนทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนสภาพจากการลงทุนของรัฐไปเป็นของการลงทุนที่มิใช้รัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไปยังภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป ทั้งนี้ ธุรกิจข้ามชาติหรือธุรกิจ FDI เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากธุรกิจในประเทศประสบปัญหากับการยกระดับขีดความสามารถทางด้านการผลิตและการบริหาร รวมถึงการขาดเทคโนโลยีขั้นสูงและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1656090/vn-too-heavily-dependent-on-fdi-must-improve-industrial-ecosystem.html

‘เวียดนาม-มาเลเซีย’ จับมือส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่ ดันโอกาสครั้งใหญ่

คุณ Lê Phú Cường ที่ปรึกษาการค้าประจำประเทศมาเลเซีย กล่าวในที่ประชุมฟอรั่มเศรษฐกิจ ปี 2567 ณ กรุงกัลป์ลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ว่าเวียดนามมีข้อได้เปรียบอย่างมากทั้งด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง ในขณะที่มาเลเซียมีความแข็งแกร่งทางด้านการผลิตไฟฟ้าและการผลิตแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แต่มีปัญหาการขาดแคลนบุคลากร เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนจำกัด หากเวียดนามร่วมมือกับมาเลเซียจะสามารถช่วยลดต้นทุนการวิจัยและได้รับประสบการณ์ที่มีค่าจากการร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งในปัจจุบันมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานการผลิตไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1655360/big-opportunities-remain-for-vietnam-and-malaysia-to-partner-in-new-technology-areas-official.html

‘เวียดนาม’ คว้าโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก

ศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ (NIC) และบริษัทซัมซุง เวียดนาม (Samsung Vietnam) ได้เปิดตัวโครงการพัฒนาผู้ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี ภายใต้ชื่อโครงการ ‘Samsung Innovation Campus’ หรือเรียกว่า SIC สำหรับปี 2566-2567 โดยตั้งเป้าที่จะฝึกอบรมวิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ 50,000 คนภายในปี 2573 รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยี ผลักดันให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาคและโลก

ทั้งนี้ นายเหงียน จิ ยวุง รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการลงทุน กล่าวว่าอุปทานด้านแรงงานที่มีคุณภาพและความพร้อมทางด้านทรัพยากรมนุษย์ ทำให้เวียดนามมีข้อได้เปรียบสำคัญเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ การมุ่งเน้นไปที่การฝึกอบรม เพื่อให้แรงงานสามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างเร็วที่สุด จึงเป็นกลยุทธ์หลักและเป็นปัจจัยชี้ขาดถึงการสร้างโอกาสอีกมากมายแก่เวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-acts-to-seize-opportunity-to-join-global-semiconductor-supply-post285514.vnp

‘เวียดนาม’ เผชิญกับดักรายได้ปานกลาง งานไม่ดี ค่าจ้างต่ำ

หลังจากมีการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจ “โด่ยเหมย” เวียดนามก็ขึ้นแท่นประเทศดาวรุ่งและมีการพัฒนาทุกภาคส่วนด้วยการใช้โมเดลแรงงานจำนวนมากหรือแรงงานเข้มข้น ซึ่งแรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับการฝึกอบรมและผลักดันให้เวียดนามเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ อย่างไรก็ดี เวียดนามใช้โมเดลนี้จนนานเกินไปและไม่ได้เตรียมบุคลากรและเทคโนโลยีให้มีความพร้อมที่ไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง จึงจำเป็นที่จะต้องฝึกอบรมแรงงานและยกระดับขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี

ทั้งนี้ Pham Manh Hung อาจารย์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนามฮานอย กล่าวว่าเวียดนามยังไม่ได้ลงทุนกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณที่ยังไม่เพียงพอ

ในขณะที่จากรายงานพบว่าแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกอบรมและมีเพียงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น ทำให้ไม่ตอบสนองกับความต้องการของตลาดแรงงานได้ และส่งผลให้แรงงานมีทักษะต่ำและค่าจ้างไม่ดี

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/bad-jobs-low-pay-and-the-risk-of-a-middle-income-trap-2256840.html

ความร่วมมือด้านเทคโนโลยียานยนต์เมียนมา-อินเดีย โดดเด่นที่งาน Mach Auto Expo 2024

กระทรวงการต่างประเทศเมียนมารายงานว่า เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำอินเดีย ได้เข้าร่วมงาน Mach Auto Expo ครั้งที่ 13 ประจำปี 2567 ที่เมืองลูเธียนา จังหวัดปัญจาบ ประเทศอินเดีย ซึ่งมีบูธ 650 บูธจาก 12 ประเทศ จัดแสดงผลิตภัณฑ์และบริการมากกว่าหมื่นรายการ ภายในงานได้มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการค้าและการลงทุนระหว่างเมียนมาร์และอินเดีย โดยเน้นที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนตลาดเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมทั้งได้มีการหารือเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนและความร่วมมือที่มีศักยภาพในด้านเทคโนโลยียานยนต์ระหว่างเมียนมาและอินเดีย อย่างไรก็ดี งานแสดงสินค้าดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 ถึง 26 กุมภาพันธ์ โดยเอกอัครราชทูต U Moe Kyaw Aung เข้าร่วมพิธีเปิดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ในฐานะแขกพิเศษ ร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Invest Punjab เอกอัครราชทูตและนักการทูตจากอิหร่าน คีร์กีซสถาน มาดากัสการ์ บุรุนดี มองโกเลีย และเอธิโอเปีย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการชาวอินเดียก็เข้าร่วมด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-india-auto-tech-collaboration-spotlighted-at-mach-auto-expo-2024/#article-title

‘แคนาดา’ เปิดประตูสู่ธุรกิจเวียดนามในตลาดโลก

แคนาดาเป็นตลาดที่มีศักยภาพและพร้อมที่จะผลักดันธุรกิจเวียดนามในการขยายสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งการเติบโตของด้านเทคโนโลยี การเงิน กลุ่มลูกค้าและเครือข่ายโลจิสติกส์ในสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันจากข้อได้เปรียบของข้อตกลงการค้าเสรีและคุณภาพแรงงาน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งข้ามเอเชีย ทำให้เวียดนามสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจแคนาดากับตลาดเอเชียได้ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของแคนาดาในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับ 7 ของตลาด รองจากสหรัฐฯ และจีน เป็นต้น

นอกจากนี้ นาง Tran Thu Quynh ที่ปรึกษาเชิงพาณิชย์ของสถานทูตเวียดนามประจำประเทศแคนาดา กล่าวว่าแคนาดามีจุดแข็งที่สำคัญในด้านการพัฒนาเครื่องจักรที่มีคุณภาพสูง เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม ชีวการแพทย์ และวัตถุดิบที่นำเข้าจากเวียดนาม อาทิ แร่ธาตุ พลาสติก ไม้ น้ำมัน ธัญพืชและปุ๋ย เป็นต้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650430/canada-a-gateway-for-vietnamese-businesses-going-global.html

ลาวเทเลคอมเปิดตัวบริการ 5G นำลาวสู่ไลฟ์สไตล์ดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ

บริษัท ลาวโทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักในชื่อลาวเทเลคอม ได้เปิดตัวบริการ 5G พร้อมแพ็คเกจข้อมูล 5G พิเศษ เพื่อรองรับลูกค้าของลาวเทเลคอม ซึ่งตรงกับการเริ่มต้นสัปดาห์ดิจิทัลลาว 5 วัน งานดังกล่าวมีระยะเวลา 5 วันเริ่มต้นขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติในเวียงจันทน์ และดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 14 มกราคม 2567 ในงานเดียวกัน รัฐบาลยังได้ประกาศให้วันที่ 10 มกราคม เป็นวันดิจิทัลแห่งชาติ โดยลาวเทเลคอมเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายแรกในลาวที่เปิดตัวบริการ 5G อย่างเต็มรูปแบบ สอดคล้องกับการประกาศวันดิจิทัลแห่งชาติ และแสดงถึงความสำคัญต่อการพัฒนาของลาว นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ยังได้เข้าร่วมพิธีเปิดตัวบริการ 5G ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร และกรรมการผู้จัดการบริษัท รองผู้อำนวยการ บริษัทลาวโทรคมนาคม พร้อมด้วยแขกรับเชิญอื่นๆ

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_08_laotel_y24.php

‘เวียดนาม’ เผย ปี 66 ยอดลงทุนไปต่างประเทศดิ่งลงฮวบ 21.2%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในปี 2566 ยอดการลงทุนเวียดนามในต่างประเทศ มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 420.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 21.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จำแนกออกเป็นโครงการที่จดทะเบียนใหม่ 124 โครงการ ด้วยเงินทุนจดทะเบียนรวม 282.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ภาคการค้าส่งค้าปลีก คิดเป็นสัดส่วน 37.3% ของการลงทุนทั้งหมด รองลงมาภาคเทคโนโลยีและการสื่อสาร (28.7%) โดยแคนาดาเป็นแหล่งการลงทุนชั้นนำของเวียดนาม ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากเวียดนามอยู่ที่ 150.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยสิงคโปร์ (122.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และสปป.ลาว (116.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-2023-outbound-investments-dip-21-2-y-o-y/

‘สื่อนอก’ ชี้เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วที่สุด

สำนักข่าวต่างประเทศเอเชีย ไทมส์ (Asia Times) ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการประเมินทางด้านเศรษฐกิจในหัวข้อ ‘เสือเศรษฐกิจเวียดนาม’ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ทวีความรุนแรงสูงขึ้น

ทั้งนี้ จากบทความชี้ให้เห็นว่าอันดับการค้าของเวียดนามในตลาดสหรัฐฯ ได้ก้าวกระโดดจนแซงเกาหลีใต้ ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 6 ในปีที่แล้ว ซึ่งการเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจเวียดนาม เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกที่มีมูลค่ามากที่สุดไปยังตลาดสหรัฐฯ ไม่ใช่สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอีกต่อไป แต่กลับกลายมาเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมไปถึงเวียดนามส่งเสริมการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง และบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก อาทิเช่น ‘Apple’ ได้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปเวียดนาม และบริษัทอัมกอร์ เทคโนโลยี ของสหรัฐฯ ลงทุนก่อสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ มูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-among-fastest-growing-economies-asia-times-2210814.html