รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนชงผู้นำไฟเขียวทำความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล ยุทธศาสตร์คาร์บอน

นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 55 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 19-22 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา ณ เมืองเซอมารัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ว่า การประชุมครั้งนี้ ได้ผลลัพธ์สำคัญที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) และผู้นำอาเซียน ในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 ก.ย.2566 โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (DEFA) การจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน และปฏิญญาว่าด้วยกรอบการดำเนินงานสำหรับโครงการพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวถือเป็นกลไกการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ของอาเซียนที่ตอบสนองเชิงรุกต่อแนวโน้มการค้าของโลกสำหรับการเจรจาจัดทำความตกลง DEFA ได้ตั้งเป้าที่จะเริ่มเจรจาปลายปีนี้ และให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี โดยคาดว่า DEFA จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน ให้สูงถึง 4-6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 ส่วนการจัดทำยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจสีเขียวและสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบการเร่งรัดดำเนินการตามแผนงานของเสาเศรษฐกิจ เช่น การจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนความตกลง RCEP การใช้เอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน หรือ e-Form D ในระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบทั้ง 10 ประเทศ ภายในปี 2566 โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 124,609.5 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 71,968.5 ล้านดอลลาร์ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 52,641.0 ล้านดอลลาร์ และในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 67,916.2 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 38,579.1 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศติดผนัง และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 29,337.1 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ซึ่งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

ที่มา : https://corehoononline.com/index.php/set/company/showcontent/211469.html

นายกฯ สปป.ลาว ร่วม รมว.เทคโนโลยี หนุนดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม

รัฐบาล สปป.ลาว เร่งดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล สังคมดิจิทัล และรัฐบาลดิจิทัล ภายใต้กรอบการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ 20 ปี (2021-2040) ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ 10 ปี (2021-2030) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ 5 ปี (2021-2025) โดยกรอบนโยบายต่างๆ คาดว่าจะสนับสนุนการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ในระยะสั้นและระยะยาว ขณะที่รัฐบาลดิจิทัลยังส่งผลให้มีการจัดการบริการภาครัฐที่โปร่งใสมากขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที ที่กระทรวงกำลังเตรียมขยายการทดลองใช้ 5G ซึ่งได้พัฒนาใน สปป.ลาว ให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อและเกตเวย์ดิจิทัลภายในภูมิภาค และรับประกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่ง ด้านนายกรัฐมนตรี Sonexay Siphandone แนะนำให้กระทรวงและสถาบันการวิจัยในประเทศสร้างแผนในการพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และแผนการพัฒนาสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ ภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี 2025

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_PMtechnology150.php

กัมพูชาคาดญี่ปุ่นจะเป็นพันธมิตรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

ญี่ปุ่นยังคงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกัมพูชาสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต กล่าวโดย Chea Serey รองผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่น ซึ่งความร่วมมือของญี่ปุ่นมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมฟินเทค และอุตสาหกรรมการเกษตรอย่าง AgriTech ที่ยังคงมีโอกาสเติบโตจากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันบริษัท Soramitsu จากทางญี่ปุ่น ได้ร่วมพัฒนาสกุลเงิน “Bakong” ในการให้หบริการชำระเงินดิจิทัลที่ริเริ่มโดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา เพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมระหว่างธนาคารง่ายขึ้น และถือเป็นการลดการใช้เงินสด นอกเหนือจาก Soramitsu แล้ว บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งรวมถึง Nippon Express ซึ่งเป็นบริษัทด้านขนส่งและโลจิสติกส์, Oji Group บริษัทบรรจุภัณฑ์ และ บริษัทต่างๆ ยังได้ดำเนินกิจการในกัมพูชาและมีความพร้อมในการให้ความร่วมมือกับทางการในการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชาให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501298087/japan-key-partner-in-digital-economy-drive/

“อีคอมเมิร์ซ” โตพุ่ง 60% ของเศรษฐกิจดิจิทัลเวียดนาม

จากรายงานในปี 2566 “การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยอีคอมเมิร์ซ – พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล” ระบุว่ายอดขายสินค้าออนไลน์รวม (Gross Merchandise Volume: GMV) ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น 31% คิดเป็นมูลค่า 49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 โดยเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามจะคงรักษาระดับการเติบโตของการซื้อของออนไลน์ที่ 19% ในช่วงปี 2568-2573 และจากผลการสำรวจของสมาคมอีคอมเมิร์ซเวียดนาม แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการเวียดนามกว่า 55% เชื่อว่าโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีและอีคอมเมิร์ซ มีบทบาทสำคัญในการผลิตและการดำเนินกิจการ ตลอดจนชาวเวียดนามราว 60 ล้านคน นิยมซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และใช้จ่ายออนไลน์เฉลี่ยต่อคน อยู่ที่ 260-285 ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการพัฒนาอีคอมเมิร์ซต้องมีปัจจัยหลายประการ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมบุคลากรและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/e-commerce-accounts-for-60-of-vietnamese-digital-economy-2124771.html

“เวียดนาม” เผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่กับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

จากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2565 (e-Conomy SEA 2022) ฉบับที่ 7 โดย Google, Temasek และ Bain & Company ระบุว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามในปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะพุ่งทะยานแตะ 49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ซึ่งเป็นการเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยตัวเลขของรายได้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ของเวียดนาม อยู่ที่ 148 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว คิดเป็น 14.26% ของ GDP และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจดิจิทัลที่คิดเป็น 20% ของ GDP ประเทศ ทำให้เวียดนามจำเป็นต้องรักษาการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัลต่อปีที่ประมาณ 20% ซึ่งสูงกว่าประมาณการณ์การขยายตัวของ GDP ที่คาดการณ์ไว้มากกว่าสามเท่า

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1498513/central-bank-must-keep-a-close-on-the-financial-market-wb.html

ทางการกัมพูชารายงานการใช้อินเทอร์เน็ตมือถือภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น

กระทรวงโทรคมนาคมกัมพูชา รายงานถึงผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์บนมือถือในกัมพูชา ที่มีจำนวนกว่า 19.5 ล้านหมายเลข มากกว่าจำนวนประชากรในปัจจุบันที่ 16 ล้านคน ภายใต้การสนับสนุนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลกัมพูชา ด้าน Chhin Ken ประธานสมาคมเทคโนโลยีดิจิทัลกัมพูชา กล่าวเสริมว่า ชาวกัมพูชาเกือบทุกคนมีสมาร์ทโฟนนำไปสู่การใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับการท่องโซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมถึงเพื่อการศึกษา และช้อปปิ้งออนไลน์ โดยรัฐบาลกัมพูชามียุทธศาสตร์ที่จะเสริมความแข็งแกร่งและขยายโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ผ่านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G และเพื่อวางรากฐานสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501246252/cambodia-sees-internet-mobile-phone-subscriptions-surpass-population/

“เศรษฐกิจดิจิทัล” เวียดนามโตเร็วสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตามข้อมูลจาก กูเกิล (Google) ร่วมกับ เทมาเส็ก (Temasek) และ เบน แอนด์ คอมพานี (Bain & Company) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามจะเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามแตะ 23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ เพิ่มขึ้น 28% แรงผลักดันที่ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามเติบโตสูงขึ้นมาจาก ‘อีคอมเมิร์ซ’ ที่มีอัตราการขยายตัว 26% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ทั้งนี้ เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากการสำรวจพบว่าผู้บริโภคดิจิทัลส่วนใหญ่ราว 90% ต้องการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยให้ความสำคัญกับการบริการจัดส่งอาหาร (60%) และการส่งของออนไลน์ (54%)

นอกจากนี้ ตามรายงานยังระบุว่าผู้บริโภคมีนิสัยในการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ และ 8 ใน 10 คนยังคงซื้อของออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพราะว่ามีความสะดวก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-has-highest-digital-economy-growth-in-southeast-asia-2075889.html

“ศก.ดิจิทัล” มีสัดส่วน 25% ของ GRDP เมืองโฮจิมินห์ ปี 2568

เศรษฐกิจดิจิทัลของเมืองโฮจิมินห์ คาดว่าจะมีสัดส่วน 25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของภาคใต้ (GRDP) ในปี 2568 โดยมีการตั้งเป้าว่าให้เร่งทำการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและส่งเสริมเมืองโฮจิมินห์ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ทั้งนี้ ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ มองว่าการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล นับเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค และก้าวไปสู่การพัฒนาที่แข็งแกร่งในอนาคต นอกจากนี้ ตามข้อมูลของสถาบันพัฒนาเมืองของโฮจิมินห์ ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัล มีมูลค่ากว่า 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้สัดส่วนของ GRDP ของเมืองในปี 2564 คิดเป็น 14.41% ของมูลค่าทั้งหมด และอัตราดังกล่าวจะมีสัดส่วนสูงถึง 15% ในปี 2565

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/digital-economy-to-make-up-25-of-hcm-citys-grdp-by-2025/236868.vnp

‘เวียดนาม’ เล็งขึ้นแท่นเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ในอาเซียน ปี 2568

เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2568 ในขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซจะดึงดูดกิจการขนาดใหญ่ได้มากยิ่งขึ้น ทางด้านคุณ Do Huu Hung ผู้อำนวยการของบริษัท Accesstrade มองว่าอีคอมเมิร์ซควรเป็นก้าวแรกของการเดินทางออนไลน์ ตามมาด้วยบริการด้านโลจิสติกส์ เพื่อสร้างความมั่นในให้กับผู้บริโภคและปรับปรุงประสบการณ์การช้อปปิ้ง หากบริการด้านโลจิสติกส์ดีขึ้นแล้ว จะช่วยให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีมูลค่า 50-60% ของเศรษฐกิจเวียดนามในอนาคตข้างหน้า ทั้งนี้ ตามรายงาน “e-Commerce White Book 2020” เปิดเผยว่ารายได้ทั่วโลกจากอีคอมเมิร์ซแบบ B2C มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าในช่วงปี 2562-2566 จากระดับ 1.94 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นมาอยู่ที่ 2.88 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาซียน รวมถึงเวียดนามที่คาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-to-become-second-largest-digital-economy-in-southeast-asia-in-2025-experts/225333.vnp

ผลวิจัยชี้ ‘โควิด-19’ ส่งผลกระทบผู้บริโภคเวียดนามก้าวเข้าสู่ดิจิทัล

ผลการศึกษาของวีซ่า เรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภค เปิดเผยว่าผู้บริโภคหันมาใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการจับจ่ายใช้สอย ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ในเวียดนาม ตามข้อมูลนั้นชี้ให้เห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของรูปแบบการซื้อของดิจิทัลของผู้ค้าปลีก ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าว ทำการสำรวจผู้บริโภค 7,526 รายในสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย เมียนมาและกัมพูชา พบว่าการเว้นระยะทางสังคมและการทำงานที่บ้าน ทำให้พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยและผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะธุรกิจหน้าร้านที่หันมาปรับใช้อีคอมเมิร์ซ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการสำรวจพบว่าคนเวียดนาม 87% ใช้บริการขนส่งสินค้าถึงหน้าบ้าน และ 82% เริ่มใช้บริการเป็นครั้งแรกในช่วงการแพร่ระบาด นอกจากนี้ สมาคมอีคอมเมิร์ซเวียดนาม พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 41% ใช้โซเชียลคอมเมิร์ซ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากเป็นช่องทางที่นิยมของผู้บริโภค

ที่มา : https://tuoitrenews.vn/news/business/20210926/covid19-pandemic-sets-vietnamese-consumers-retailers-on-path-to-digital-study/63278.html