สศช.ชี้ศก.ปีหน้าโต3-4% ท่องเที่ยวฟื้นทำเงิน1.2ล้านล้าน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ขยายตัว 4.5% เร่งขึ้นจาก 2.3% และ 2.5% ในไตรมาสแรก และไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ตามลำดับ ด้านการใช้จ่าย การอุปโภค-บริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกบริการขยายตัวเร่งขึ้นการส่งออกสินค้าชะลอตัว ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง ด้านการผลิตสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารสาขาการขายส่ง ขายปลีก และการซ่อมฯ สาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และสาขาการไฟฟ้าและก๊าซฯ ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 3.2% อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่6.3% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 3.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 3-4% โดยมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวการขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุน

ที่มา: https://www.naewna.com/business/693480

เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีทุนสำรองหนา-เศรษฐกิจแกร่ง

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค.65 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลจากโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย การผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น การส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศ รายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นตาม “เดือน ก.ค. 65 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยรวม 1.12 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากมาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม และเกาหลีใต้ ขณะที่คนไทยท่องเที่ยวในประเทศ 16.7 ล้านคน ถือเป็นสัญญาณที่ดี ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจค่อยๆฟื้น ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีปัจจัยกดดันจากราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ค.65 สูงขึ้น 7.61% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน มิ.ย.65 อยู่ที่ 61.1% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังมั่นคง สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ สิ้นเดือน ก.ค.65 สูงถึง 220,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 8.101 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 36.82 บาทต่อเหรียญฯ) แต่ต้องติดตามความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และชาติอื่นๆ ที่อาจกระทบต่อภาคการผลิต การส่งออก และเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด รวมถึงความกังวลราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ที่ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/feature/2485840

รัฐบาลมั่นใจเศรษฐกิจไทยสิ้นปีโตได้ถึง 3.5% โชว์ตัวเลขจัดเก็บรายได้ เกินเป้า 1 แสนล้านบาท

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความมั่นใจเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังไปได้ดี มีโอกาสที่จะขยายตัวสูงสุดได้ถึง 3.5% เครื่องมือทางเศรษฐกิจทำงานเต็มที่ มีการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นตัวชูโรง ขณะที่การจัดเก็บรายได้ 10 เดือน ปีงบประมาณ 2565 กว่า 2.03 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท หรือ 5.5% โดย กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ 1.67 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2.06 แสนล้านบาท หรือ 14.1% กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ 4.28 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 6.89 หมื่นล้านบาท หรือ 13.9% เนื่องจากการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และ กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้ 8.99 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6.38 พันล้านบาท หรือ 7.6%

ที่มา : https://www.businesstoday.co/bt-news/25/08/2022/86735/

เจาะลึกวิกฤตค่าเงินในสปป.ลาว และนัยต่อเศรษฐกิจไทย

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

EIC มองว่าสถานการณ์ในสปป.ลาวยังไม่รุนแรงเท่าศรีลังกา เนื่องจากปัจจุบันยังสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้

 

สปป.ลาวกำลังเผชิญวิกฤตเงินกีบอ่อนค่ารุนแรง พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น

ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2022 ค่าเงินกีบอ่อนค่าทะลุระดับ 15,000 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงถึง 57% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และ 44% เมื่อเทียบกับเงินบาท นับจากเดือนกันยายน 2021 เป็นต้นมา และอ่อนค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค การอ่อนค่าของเงินกีบตามภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ประกอบกับการเร่งตัวของราคาน้ำมันและสินค้าต่าง ๆ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาอุปทานคอขวดโลกที่สปป.ลาวจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าในสัดส่วนสูง ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสปป.ลาวเร่งตัวขึ้น เกิดปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัญหาการขาดแคลนสินค้าโดยเฉพาะน้ำมันเป็นวงกว้าง

 

ต้นตอของวิกฤตในปัจจุบันมาจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง

พัฒนาการของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา เช่น การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวในประเทศเศรษฐกิจหลักได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสปป.ลาวที่มีภาระหนี้สาธารณะสูงจากการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่ามกลางการขาดดุลการคลังต่อเนื่อง ขณะที่ช่องทางการระดมทุนของสปป.ลาวเริ่มมีจำกัดและมีต้นทุนสูงขึ้น หลังถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับเก็งกำไร (Speculative grade) นอกจากนี้ สปป.ลาวมีระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำท่ามกลางการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เงินกีบอ่อนค่าและเป็นความเสี่ยงต่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศและการนำเข้าสินค้าจำเป็นต่อไป

 

EIC มองว่าสถานการณ์ในสปป.ลาวยังไม่รุนแรงเท่าศรีลังกา เนื่องจากปัจจุบันยังสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้

ณ ปัจจุบัน แม้ระดับหนี้สาธารณะของสปป.ลาวจะเร่งตัวสูงขึ้นมากแต่ยังต่ำกว่าศรีลังกา และระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเทียบมูลค่านำเข้าและหนี้ต่างประเทศระยะสั้นยังสูงกว่า นอกจากนี้ สปป.ลาวยังมีช่องทางการระดมทุนที่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งจากการกู้ยืมเงินในตลาดพันธบัตรต่างประเทศ เช่น ตลาดไทย ซึ่งล่าสุดสปป.ลาวได้เปิดขายพันธบัตรวงเงินไม่เงิน 5,000 ล้านบาทในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่ทำกำไร และการส่งเสริมการลงทุนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติและผลักดันการส่งออก ทั้งนี้นโยบายการคลังและการเงินในสปป.ลาวในช่วงที่ผ่านมา ได้เน้นการประคองเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและอาจทำให้เสถียรภาพในประเทศอ่อนแอลงอีก ในระยะต่อไป EIC ประเมินว่า สปป.ลาวควรเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งมีแนวโน้มเข้ามาช่วยเหลือเนื่องจากสปป.ลาวเป็นประเทศสำคัญสำหรับโครงการ Belt and Road Initiative ในภูมิภาคอาเซียน

 

ผลกระทบต่อไทยคาดว่าจะมีจำกัด แต่จะเป็นความเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังต่อไป

EIC คาดว่าผลกระทบต่อไทยจะมีผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ ภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนโดยตรงจากไทย และภาคการเงิน สำหรับภาคการส่งออกไทย ผลกระทบหลักจะมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสปป.ลาวและอุปสงค์ที่ลดลง แต่ในภาพรวมคาดว่าจะยังขยายตัวได้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่สูงขึ้นซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก สำหรับนักท่องเที่ยวจากสปป.ลาว ความเสี่ยงหลักมาจากกำลังซื้อที่ลดลงตามเงินกีบที่อ่อนค่า แต่จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากไทยสู่สปป.ลาวในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำนั้น ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงการชำระค่าไฟจากสปป.ลาวที่อาจถูกเลื่อนออกไปซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในอนาคต ตลอดจนความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินในประเทศที่ถึงแม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่อาจมีความเปราะบางมากขึ้นในช่วงต่อไป อย่างไรก็ดี ในภาพรวมคาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากมีผู้ซื้อไฟฟ้าหลักคือไทย และมีการเซ็นสัญญา PPA เรียบร้อยแล้ว

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv_090822

สภาพัฒน์ หั่นเศรษฐกิจปี 65 โตเหลือ 3%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2565 ขยายตัว 2.2% จากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ซึ่งปรับลดลงจากที่ประมาณไว้เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2565 ก่อนที่มีสงครามรัสเซียยูเครน โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2.5-3.5% หรือ ค่าเฉลี่ยกลางอยู่ที่ 3% จากเดิมที่คาดไว้ก่อนหน้าจะขยายตัวได้ 3.5-4.5% ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากการยืดเยื้อของสงครามรัสเซียยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันแพง ส่งผลต่อเงินเฟ้อสูงถึง 4.2 – 5.2% นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงหนี้ครัวเรือนไทยสูง โดยเฉพาะหนี้เสียของครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/683242

โบรกเกอร์ประเมิน ”เศรษฐกิจไทย” ซึมยาวถึงปี’70 การลงทุนหดตัว อสังหา อ่วมต้นทุนพุ่ง 10-15%

ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) กล่าวว่า จาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกแถลงการณ์ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเป็นตัวเลขสรุปล่าสุดในไตรมาสที่ 1/2565 โดย IMF คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 8 คือจะเติบโตเพียง 3.3% โดยจากข้อมูลสรุปได้ว่า  ประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวต่ำกว่าไทย มีอัตราการเติบโตสูงกว่าไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซียและกัมพูชา ยิ่งกว่านั้นประเทศที่ร่ำรวยกว่าไทย เช่น บรูไน มาเลเซียและสิงคโปร์ ก็มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าไทยเช่นกัน การนี้แสดงว่าประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจเท่าที่ควร การที่เศรษฐกิจไทยยังไม่มีวี่แววที่จะ “รุ่งเรือง” แบบก้าวกระโดด เช่น กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย อาจทำให้ประเทศเหล่านี้แซงไทยไปได้ในด้านรายได้ประชาชาติต่อหัวในอนาคต และยิ่งทำให้การลงทุนจากต่างประเทศถูกแย่งชิงโดยประเทศอื่นมากขึ้น การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ก็คงไม่เติบโตอย่างมาก ยกเว้นการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ส่วนอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ เช่น อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม ก็คงไม่ได้เติบโตในอัตราสูงเช่นเดิม

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3299964

‘อนุสรณ์’ชี้ศึกยูเครนยืดเยื้อ 10มาตรการรับมือไม่เพียงพอ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังกล่าวว่า มาตรการ 10 มาตรการช่วยประชาชนของรัฐบาลล่าสุดนั้นไม่เพียงพอ และครอบคลุมเวลา 3 เดือนนั้นสั้นเกินไป ซึ่งอย่างต่ำต้อง 6 เดือน เพราะคาดการณ์ว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อและผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย ซึ่งมาตรการส่วนใหญ่จะบรรเทาผลกระทบจากพลังงานและน้ำมันแพงเป็นหลัก โดยมุ่งไปที่กลุ่มคนรายได้น้อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ มอเตอร์ไซค์รับจ้างและผู้ขับขี่แท็กซี่ แต่ยังไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบอื่นๆ ดังนั้น ต้องเน้นไปที่มาตรการแก้ปัญหาเชิงระบบเช่นต้องดึงแรงงานนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมให้มากที่สุด ส่วนเรื่องพลังงานก็ต้องลงทุนพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ลดการพึ่งพาพลังงานและน้ำมันนำเข้าลง

ที่มา: https://www.naewna.com/business/644045

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2565

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

นอกจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่แล้ว วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนยังส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ทั้งที่เป็นโลหะอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิต ให้เร่งตัวขึ้น

.

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบแบ่งออกเป็นสองกรณี คือ กรณีฐาน ที่การปะทะสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จำกัดอยู่ในบางพื้นที่ของประเทศยูเครน แต่ข้อตกลงร่วมกันคงยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกและสหรัฐฯ ต่อรัสเซียจะคงอยู่ไปตลอดทั้งปีนี้นั้น คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบมีค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 105 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล และจีดีพีขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ส่วนในกรณีดีนั้น คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีไว้ที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งเกิดขึ้นบนสมมติฐานที่รัสเซีย-ยูเครนหาทางออกร่วมกันได้เร็วกว่าที่กำหนด หรือภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ อันทำให้ราคาน้ำมันดิบอาจย่อตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง และทำให้ค่าเฉลี่ยน้ำมันทั้งปี 2565 อยู่ที่ 90 ดอลลาร์ฯ

.

ส่วนผลกระทบต่อธุรกิจไทย นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ มองว่า ปัจจัยรัสเซีย-ยูเครน กระทบต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นมูลค่าราว 8 หมื่นล้านบาท โดยผลกระทบส่วนใหญ่ตกอยู่กับภาคธุรกิจ ซึ่งจะถูกกระทบแตกต่างกันตามสัดส่วนการใช้วัตถุดิบและความสามารถในการปรับตัว ขณะที่ผลกระทบบางส่วนตกอยู่กับผู้บริโภค ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบผ่านการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรป ซึ่งแม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยรวมในปี 2565 อาจแตะ 4 ล้านคน แต่การใช้จ่ายจะลดลงราว 5 หมื่นล้านบาทจากกรณีที่ไม่มีสงคราม นอกจากนี้ ภาคการบริการอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่เพียงแต่ต้นทุนที่ขยับขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้นของผู้บริโภค ยังวนกลับมากดดันยอดขายภาคธุรกิจอีกด้วย ทำให้ในภาพรวมแล้วประเมินตัวเลขการขยายตัวของธุรกิจในกลุ่มรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีก และร้านอาหาร น้อยลงจากรณีไม่มีสงคราม

.

ด้านนางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ระบุเพิ่มเติมว่า แม้การคว่ำบาตรทางการเงินของประเทศมหาอำนาจในโลกต่อรัสเซีย จะมีผลกระทบทางตรงที่จำกัดตามปริมาณการค้าระหว่างรัสเซีย-ยูเครนกับไทย แต่จุดติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์ที่ยังไม่นิ่ง ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนไหวของตลาดการเงินผันผวนต่อเนื่อง และต้นทุนการระดมทุนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากความไม่แน่นอนที่ยังอยู่และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยภายในปี 2565 จะมีตราสารหนี้ภาคเอกชนที่รอครบกำหนดอีกกว่า 7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก คงต้องได้รับการดูแลเพิ่มเติมในแง่ของวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนเพิ่มเติมในรายที่ยังประคองคำสั่งซื้อไว้ได้ รวมถึงประเด็นปรับโครงสร้างหนี้และคุณภาพหนี้ ซึ่งรวมแล้ว สินเชื่อธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากต้นทุนน้ำมันและวัตถุดิบอาหารที่เพิ่มขึ้น จะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 4-5 ของพอร์ตสินเชื่อรวม ขณะที่ ประเมินภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งปีนี้ที่ร้อยละ 4.5 ในกรณีฐาน

.

อ่านต่อ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/KR-Press-25-mar-2022.aspx

รัฐบาล มั่นใจเศรษฐกิจโตตามเป้า ท่องเที่ยว-ส่งออก-การลงทุนต่างชาติ ขยายตัวชัดเจน

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจประเทศไทยปี 2565 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 ถึง 4.5) ตามการคาดการณ์ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้ประเทศและรายได้ครัวเรือน ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้งบประมาณแผ่นดิน 3.1 ล้านล้านบาท งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3.07 แสนล้านบาท และพ.ร.ก.เงินกู้ ควบคู่ไปกับการเติบโตของภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างชาติ ที่มีตัวเลขยืนยันเป็นที่ประจักษ์

ที่มา:https://www.matichon.co.th/economy/news_316061

รถไฟจีน – สปป.ลาว พลิกโอกาส ศก.ไทย

โครงการรถไฟจีน-สปป.ลาว เปิดเดินรถอย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา ตามแผนโครงการสายแถบและเส้นทาง (BRI) เชื่อมโครงข่ายคมนาคมระบบรางระหว่างจีนกับชาติอาเซียนเป็นแห่งแรก ซึ่งจะส่งผลต่อนัยสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ ล้วนเป็นโอกาสและความท้าทายต่อเอกชนและเศรษฐกิจไทย ด้านกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดเวทีหารือระดับสูงด้านการทูตเศรษฐกิจเรื่องการปรับตัวของไทยต่อโครงการรถไฟจีน-สปป.ลาว โดยเชิญผู้แทนกระทรวงคมนาคม และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งหน่วยงานในภาคธุรกิจร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อใช้โอกาสนี้สร้างเศรษฐกิจสัมพันธ์ ในยุคหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 “วิชาวัฒน์ อิศรภักดี” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เมื่อมองผ่านเลนการทูตเศรษฐกิจจะเห็นโอกาสจากโครงการรถไฟจีน-ลาว ใน 3 ประการได้แก่ 1.ส่งเสริมขีดความสามารถภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย และในระยะยาวจะส่งผลต่อการดำเนินเศรษฐสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนานาประเทศ 2.การขยายบทบาทของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะยังมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งโครงการรถไฟจีน-ลาว เป็นเพียงหนึ่งหมุดหมายส่งผลในภาพรวม และ 3.โครงการรถไฟดังกล่าวเข้ามาประชิดพรมแดนไทย ทำให้จีนและไทยมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/biz2u/980954