‘อนุสรณ์’ ชี้เศรษฐกิจฟุบ ‘ไทย’ เกิดภาวะว่างงานแฝงมากกว่า 5 ล้านคนแนะรัฐแก้ปัญหาด่วน

รศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการม.รังสิต กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่หดตัวอย่างรุนแรงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทยอยเลิกจ้างในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่อง สายการบิน ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์ ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ ธุรกิจบันเทิงและจัดงานอีเวนท์ต่างๆ เป็นต้น ส่งผลให้ทำงานต่ำระดับหรือการว่างงานแฝงเพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านคน ขณะที่นักศึกษาจบใหม่มากกว่า 40-50% ไม่สามารถหางานได้ในระยะ 1-2 ปี และลูกจ้างรายวันในภาคท่องเที่ยวส่วนหนึ่งกลับต่างจังหวัด ดังนั้นรัฐบาลควรจัดโครงการให้เกิดการจ้างงานในภาคเกษตรกรรม เพราะลูกจ้างส่วนใหญ่ที่ถูกเลิกจ้างมักมีอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งคนหนุ่มสาวย่อมทำไม่ได้ และควรส่งเสริมให้เข้าถึงสินเชื่อในการซื้อเครื่องจักรการเกษตรต่างๆ

ที่มา: https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2959915

ไทยเฮ!‘IMF’จัดสรรเงินช่วย แนะใช้1.4แสนล้านบ.สู้โควิด

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF มีมติให้จัดสรรเงินจากกองทุน SDRs จำนวนมากถึง 6.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับประเทศสมาชิก ขณะที่ไทยที่ได้รับเงินจัดสรรด้วยในวงเงินราว 1.4 แสนล้านบาทหรือ 4.4 พันล้านดอลลาร์ ขณที่ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า รัฐบาลควรหารือกับ ธปท. เพื่อนำเงิน SDRs ที่ได้รับการจัดสรรมาใหม่จำนวนนี้มาใช้ด้านการคลัง โดยมุ่งไปที่การเยียวยาผู้ว่างงานและลงทุนทางการศึกษา การจัดซื้อวัคซีนและการลงทุนทางด้านสาธารณสุข เห็นควรใช้ SDRs ไปแลกกับเงินสกุลหลักเพื่อนำมาจัดซื้อวัคซีน นอกจากเป็นการช่วยเหลือประเทศและประชาชนแล้ว ยังเป็นการช่วยเสริมสภาพคล่องในระบบการเงินโลกอีกด้วย

ที่มา: https://www.naewna.com/business/601657

ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจร่วง กังวลปัญหาศก.-สภาพคล่องตึงตัว

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (REPORT ON BUSINESS SENTIMENT INDEX)ในเดือนส.ค. 64 ดัชนีฯ ปรับลดลงจากระดับ 41.4 มาอยู่ที่ 40.0 ลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นภาคการผลิตเป็นสำคัญนำโดยกลุ่มผลิตยานยนต์และกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ความเชื่อมั่นปรับลดลงเกือบทุกด้าน รวมถึงกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ความเชื่อมั่นด้านการผลิตปรับลดลงมาก จากปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเริ่มส่งผลต่อการผลิตและต้นทุน ด้านดัชนีความเชื่อมั่นด้านสภาพคล่องทั้งในปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 และปรับลดลงต่อเนื่อง สะท้อนว่าธุรกิจเจอภาวะสภาพคล่องตึงตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการที่ลดลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในอีก 12 เดือนข้างหน้ายังทรงตัวอยู่ที่ 1.7%

ที่มา: https://www.naewna.com/business/600038

BAY มองศก.ไทย H2/64 เผชิญความเสี่ยงขาลงหลังโควิดยังหนักคาดคลี่คลายกลางต.ค.

วิจัยกรุงศรี คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเผชิญกับความเสี่ยงขาลงและยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด การจัดหาและการกระจายวัคซีน การส่งออกที่เติบโตดีในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาช่วยหนุนการผลิตภาคอุตสาหกรรม แต่การใช้จ่ายในประเทศทรุดลงต่อเนื่องจากการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือน พ.ค. 64 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 (-3.1% MoM sa) ตามการลดลงในทุกหมวดการใช้จ่าย ผลกระทบจากการระบาดรอบสามของโควิด-19 มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด จำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นทรุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บางส่วน เช่นเดียวกับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงมาที่ -2.3% จากเดือนก่อนหน้า ตามอุปสงค์ในประเทศและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ทรุดลง ทำให้การลงทุนลดลงทั้งในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2021/103978

ความเชื่อมั่นนักลงทุน ร้อนแรง การฉีดวัคซีนเป็นปัจจัยหนุน

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือน มิ.ย.64 ว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือเดือน ส.ค.64 อยู่ที่ 126.40 เพิ่ม 1.6% จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 124.37 โดยมีปัจจัยหนุน คือ การฉีดวัคซีน ความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและการไหลเข้าของเงินทุน ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลังยังเป็นขาขึ้น โดยมีเป้าหมายดัชนีปีนี้ไว้ที่ 1,650 จุด แต่ปัจจัยที่ยังต้องติดตาม คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และยุโรป จากการเปิดประเทศ ส่วนปัจจัยในประเทศ คือ การจัดสรรและกระจายวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ ซึ่งจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/investment/2110485

เศรษฐกิจไทยยังหดตัวต่อเนื่องไตรมาสที่ 5

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/64 หดตัวที่ -2.6% น้อยกว่าที่คาด -3.3% ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก โดยการส่งออกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่การที่ไม่สามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่ได้ยังคงส่งผลกระทบต่อการบริโภคและภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก ทั้งนี้ได้ประมาณการเศรษฐกิจปี 64 ที่ 1.8% จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางอัตราการฉีดวัคซีนที่ยังอยู่ในระดับต่ำซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นและพฤติกรรมของผู้บริโภค ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ราคาสินค้าพุ่งสูง ทำให้เงินเฟ้อไทยเพิ่มงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้ค่าครองชีพของครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่มา: https://www.posttoday.com/finance-stock/news/653682

สรุป ‘เศรษฐกิจไทย’ ไตรมาส1/64 GDP ขยับเป็น -2.6 จากเดิม -6.1

ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 64 และแนวโน้มปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 โดยได้แรงสนับสนุนสำคัญจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้เมื่อดูค่า GDP ประเทศภายในภูมิภาคอาเซียนพบว่า GDP เติบโตที่สุดในอาเซียนคือ เวียดนามขยายตัวร้อยละ 4..5 โดยปัจจัยสำคัญคือนโยบายของการป้องกัน และควบคุมโรคระบาดภายในประเทศทำให้เศรษฐกิจกลับมาอยู่ในสภาวะปกติได้เร็วจึงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้อีกครั้งภายหลังต้องหยุดชะงักไปจากการระบาดโควิด-19

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/939207

ส.อ.ท.ผวาโควิดยืดเยื้อ ฉุดความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่ำสุดในรอบ 8 เดือน แนะรัฐกู้เงินเพิ่มเยียวยาระลอกใหม่

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. 64 อยู่ที่ระดับ 84.3 ลดจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 87.3 ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.ย. 63 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงทั้งการค้าการลงทุน การเดินทางท่องเที่ยว ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ประกอบกับเดือนเม.ย. ที่มีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ภาคการผลิตชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งหากมีการฉีดวัควีนล่าช้า เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่นำมาเยียวยาประชนอาจไม่เพียงพอ จึงเสนอว่ารัฐบาลควรกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หรือกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้มาตรการเยียวยาครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มและผู้ประกอบการ

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/economics/news_6389438

หอการค้าประเมินสงกรานต์ปีนี้กร่อย เงินหาย3หมื่นล้าน

หอการค้าประเมินสงกรานต์ปีนี้กร่อย เงินหาย 3 หมื่นล้านบาท หลังรัฐงดจัดกิจกรรมสาดน้ำ-ระบาดบางแค เมื่อวันที่ 20 มี.ค.นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า สงกรานต์ปีนี้รัฐบาลงดจัดกิจกรรมสาดน้ำรวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่มีการรวมตัวกัน อีกทั้งยังมีการระบาดรอบใหม่ที่บางแค ส่งผลต่อบรรยากาศสงกรานต์ไม่คึกคัก มีมูลค่าใช้จ่ายประมาณ 110,000 ล้านบาท มูลค่าลดลง 30,000 ล้านบาท หรือประมาณ 10-20% เทียบกับช่วงบรรยากาศสงกรานต์ปี 63 ที่มีเงินสะพัดประมาณ 140,000 ล้านบาท ส่งผลทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลดลง 0.1-0.2%

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/832264

เศรษฐกิจไทย 63 ติดลบ 6.1% หดตัวสูงสุดในรอบสองทศวรรษ

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2563 หดตัวติดลบ 4.2% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ทำให้ทั้งปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวติดลบ 6.1% ซึ่งเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษ แต่ยังดีกว่าที่ ธปท. ประเมินไว้ทั้งในรายงานนโยบายการเงินเดือน ธ.ค. 2563 และในการประชุม กนง. ในเดือน ก.พ.2564 ที่ผ่านมา โดยองค์ประกอบที่ดีกว่าคาดมาจากการสะสมสินค้าคงคลังที่เร่งขึ้นมากตามผลผลิตเกษตรและเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนที่สามารถกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยเนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้าและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้แต่ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงต้นปี แต่คาดว่าผลกระทบโดยรวมจะน้อยกว่าการแพร่ระบาดในระลอกแรก เนื่องจากมาตรการเข้มงวดน้อยกว่าและบังคับใช้เฉพาะพื้นที่ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ดังกล่าวอาจเป็นการซ้ำเติมบางภาคเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มอื่น ทำให้การฟื้นตัวมีความแตกต่าง ผลกระทบต่อบางกลุ่มธุรกิจและแรงงานจึงควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนอีกมาก ทั้งการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 ดังนั้น โดยรวมเศรษฐกิจไทยจึงยังต้องการมาตรการที่ตรงจุด เพียงพอ และต่อเนื่องเพื่อประคับประคองการฟื้นตัว ทั้งนี้ ธปท. จะมีการประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจและเผยแพร่อีกครั้งในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนมี.ค.2564

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/825641