กัมพูชาผงาดขึ้นอันดับ 8 ของโลก สำหรับประเทศผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป

กัมพูชาได้รับการจัดอันดับให้เป็นศูนย์กลางด้านการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปอันดับที่ 8 ของโลก ตามข้อมูลจากองค์การการค้าโลก (WTO) โดยขยับจากอันดับที่ 11 ที่ได้จัดอันดับไว้ในปี 2021 สำหรับผู้ส่งออก 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป บังคลาเทศ เวียดนาม ตุรกี อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง และปากีสถาน ซึ่งก่อนหน้านี้ทางการกัมพูชาได้รายงานมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) โดยมีการขยายตัวถึงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปี 2022 ถือเป็นหนึ่งในหมวดสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาที่คิดเป็นกว่าร้อยละ 56.2 ของการส่งออกทั้งหมดในปี 2022 ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชาได้กลับมาให้ความสำคัญกับภาคส่วนนี้อีกครั้ง ด้วยยุทธศาสตร์แผนการปฏิรูปอุตสาหกรรมสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (T&A ITM) กรอบปี 2023-2027 ด้วยกลยุทธ์นี้ รัฐบาลหวังที่จะปรับปรุงสภาพการทำงานและบรรยากาศการลงทุนสำหรับภาคส่วนดังกล่าวให้เอื้อต่อการเติบโต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501427844/cambodia-jumps-to-8th-spot-globally-as-garment-export-hub/

การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของเมียนมาร์มีมูลค่าสูงถึง 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาร์ เผยสถิติ มูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผ่านกระบวนการตัด ผลิตและบรรจุหีบห่อ (CMP) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – วันที่ 1 ธันวาคม ในปีงบประมาณ 2566-2567 มีมูลค่ามากกว่า 2.966 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาสินค้าส่งออกหลัก 10 รายการ ในขณะที่ มูลค่าการส่งออกก๊าซธรรมชาติมีมูลค่า 2.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกถั่วดำ 474.126 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกข้าวและข้าวหัก 378.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกข้าวโพด 271.312 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกปลา 220.418 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกถั่วเขียว 185.983 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกยางธรรมชาติ 123.691 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออกถั่วมะแฮะ 101.952 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการส่งออกโลหะและแร่ 79.404 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในบรรดาประเทศคู่ค้าสิบอันดับแรกของเมียนมาร์ ประเทศไทยถือเป็นอันดับหนึ่งด้วยมูลค่าการค้ากว่า 2.472 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือจีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สเปน สาธารณรัฐเกาหลี และสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ เมียนมาร์ยังพยายามเพิ่มการส่งออกภาคการผลิต และไม้วีเนียร์และไม้อัด ผลิตภัณฑ์ไม้สำเร็จรูป เสื้อผ้า น้ำตาล และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากชายแดนแล้ว เมียนมาร์ยังส่งออกสินค้าทางทะเลและทางอากาศอีกด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/garment-exports-top-us2-9-bln-in-past-eight-months/#article-title

ตัวแทนอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สปป.ลาว ร่วมหารือลดต้นทุนด้านพลังงาน

สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สปป.ลาว (ALGI) เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนด้านพลังงาน รวมถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยทางสมาคมได้จัดหลักสูตรทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับระบบการจัดการพลังงาน รวมถึงการฝึกอบรม ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การดำเนินการตามแผนที่มีอยู่ของบริษัทสำหรับภาคส่วนอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่ได้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20-22 มิถุนายน ณ หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว (LNCCI) ที่ได้รับความร่วมมือกับทางกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สปป.ลาว ในการถ่ายทอดความรู้

โดยภาคอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ระบบการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสอดคล้องกับนโยบายและพระราชกฤษฎีกาการอนุรักษ์พลังงานของรัฐบาล นอกจากนี้ คู่ค้าในปัจจุบันยังต้องการสินค้าที่ผลิตโดยกรรมวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังเป็นมิตรต่อแรงงานในสายการผลิต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Garment120.php

การส่งออกของกัมพูชาในช่วงเดือน ก.พ. ขยายตัวร้อยละ 1

แม้การส่งออกของสินค้ากลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะหดตัว แต่มูลค่าการส่งออกโดยภาพรวมกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2023 เทียบกับการลดลงร้อยละ 23.6 ในช่วงเดือนมกราคม ตามรายงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง โดยการส่งออกเครื่องแต่งกายลดลงร้อยละ 4.5 ในช่วงเดือน ก.พ. จากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดหลักที่ลดลง อาทิเช่น ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 14.7, สหราชอาณาจักรลดลงร้อยละ 10.8, ญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 3.5 และส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนลดลงร้อยละ 5.2 ขณะที่การส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังจีนกลับขยายตัวกว่าร้อยละ 16.4 และส่งออกไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.7 ในช่วงเวลาเดียวกัน การส่งออกของสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มขยายตัวร้อยละ 8.6 ในช่วงเดือนดังกล่าว เทียบกับการลดลงร้อยละ 24.7 ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งสินค้าที่ขยายตัวโดดเด่นทางด้านการส่งออก ได้แก่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า, จักรยาน, ไม้, ข้าว, มันสำปะหลัง, กล้วย, มะม่วง และสินค้าเกษตรอื่นๆ ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาปรับตัวลดลงร้อยละ 14.7 ในช่วงเดือน ก.พ.

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501263373/cambodian-exports-value-up-1-in-february/

ไตรมาสแรกของปีงบฯ 64-65 เมียนมาส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป พุ่งขึ้น 18.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน

สำนักงานสถิติ กระทรวงการวางแผนและการเงินของเมียนมา เผย การส่งออกเสื้อผ้าในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564-2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีงบประมาณก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ขณะที่การส่งออกของไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563-2564 มีมูลค่าอยู่ที่ 889.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นสามเท่าจาก 337 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2553 เป็นเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2557

โดยสินค้าส่งออกหลักของเมียนมา ได้แก่ ข้าว, ถั่ว, ข้าวโพด และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในกลุ่ม CMP (Cut–Make-Pack) ในบรรดาสินค้าส่งออกจะพบว่า เครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าใน 5 ปี ถือเป็นสินค้าที่มีอนาคตมากที่สุดในภาคการส่งออกของประเทศ ซึ่งเมียนมาจะใช้กระบวนการแบบรับจ้างผลิต ในการตัดเย็บและบรรจุภัณฑ์ (CMP) โดยนำเข้าสินค้าสิ่งทอจากต่างประเทศและนำมาตัดเย็บภายในประเทศ

ด้านสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเมียนมา เผยสหภาพยุโรป เป็นหนึ่งประเทศชั้นนำที่นำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ตามมาด้วย ญี่ปุ่น, เกาหลี, สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ทั้งนี้ในปี 2558 การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีมูลค่าสูงถึง 1.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 10% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด

ที่มา : https://news-eleven.com/article/227890

กัมพูชานำเข้าวัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้าแตะ 3.5 พันล้านดอลลาร์

ภาคการผลิตเครื่องนุ่งห่มในกัมพูชา ถือว่ามีผลการดำเนินงานที่ดีทั้งในด้านการผลิต การส่งออก และการเติบโตของคำสั่งซื้อ ในขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 25 หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารโลกด้านเศรษฐกิจสำหรับกัมพูชา โดย Kaing Monica รองเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปแห่งกัมพูชา อ้างจากสื่อท้องถิ่นว่าการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ สอดคล้องกับการเติบโตของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์เพื่อการเดินทาง ซึ่งกล่าวว่าการเติบโตในแต่ละภาคส่วนแตกต่างกันเล็กน้อย โดยเสื้อผ้าเห็นการเติบโตต่ำสุดประมาณร้อยละ 5 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ แต่สินค้าประเภทรองเท้าปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 และสำหรับผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว มีการเติบโตมากที่สุดถึงกว่าร้อยละ 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเสื้อผ้าถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการเติบโตค่อนข้างต่ำ โดยการเติบโตได้แรงหนุ่นจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.9 ที่มูลค่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ ณ เดือน ก.ย. ปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50988017/fabric-imports-for-garment-industry-rises-to-3-5-billion-in-first-nine-months-of-the-year/

การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชาลดลงจากผลกระทบของ Covid-19

โฆษกกระทรวงแรงงานและฝึกอบรมด้านการส่งออกในภาคเสื้อผ้าลดลงมากกว่าร้อยละ 5 เป็นประมาณ 3.78 พันล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งปีแรก โดยโฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวในการแถลงข่าวเกี่ยวกับมาตรการของรัฐบาลในการตอบสนองต่อผลกระทบของ COVID-19 ที่กระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (MEF) เมื่อวานนี้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชาอยู่ที่ราว 3.784 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 5.4 จากการส่งออกมากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019 เหตุผลในการลดลงนั้นเป็นเพราะผลกระทบของ COVID-19 รวมถึงการจัดซื้อที่ลดลงทั่วโลก ซึ่งเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าในประเทศกัมพูชา (GMAC) กล่าวว่าการลดลงโดยทั่วไปนั้นเป็นเพราะการหยุดการดำเนินการชั่วคราวและคำสั่งซื้อที่ลดลง โดยจากรายงานครึ่งปีของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ซึ่งกัมพูชานำเข้าลดลงร้อยละ 5 การส่งออกสินค้ากัมพูชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นร้อยละ 45 จักรยานร้อยละ 18 ข้าวร้อยละ 29 และผลิตภัณฑ์อื่นๆ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50743103/garment-exports-fall-factories-hit-by-virus/

ต่างชาติยังสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปของเมียนมาเชื่อยังแข็งแกร่งแม้ส่งออกลดลง

ความสนใจของนักลงทุนต่างชาติในภาคการผลิตเสื้อผ้ายังคงแข็งแกร่งแม้จะมีปริมาณการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงในปีงบประมาณ 2562-2563 จากข้อมูลของคณะกรรมการการลงทุนของเมียนมา (MIC) มีบริษัทต่างชาติ 178 แห่งที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในเมียนมาระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 31 พฤษภาคม 2563 แม้การส่งออกจะลดลงเหลือเพียง 2.7 พันล้านดอลลาร์ โดยลดลงมากกว่า 24 ล้านดอลลาร์จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการยกเลิกคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรปจากปัญหา COVID-19 ทั้งโรงงานยังเลิกจ้างหรือปิดกิจการซึ่งส่งผลกระทบถึงแรงงานกว่า 700,000 คนโดยเฉพาะแรงงานหญิงในโรงงาน 600 แห่ง และการหยุดชะงักของการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศจีนนื่องจากการล็อกดาวน์ประเทศ โดยร้อยละ 70 ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป เช่นเดียวกับญี่ปุ่น เกาหลี แคนาดา และสหรัฐอเมริกา จากการช่วยเหลือทางการเงินของรัฐบาลและสหภาพยุโรปทำให้อุตสาหกรรมกำลังฟื้นตัว นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการส่งออกจากชายแดนเมียนมา – ไทย ในเมียวดีโดยมีการส่งออกมูลค่า 71 ล้านดอลลาร์ไปยังประเทศไทย ทั้งนี้รัฐบาลมีแผนรับมือทางเศรษฐกิจโดยได้จัดสรรเงินกู้ยืมให้กับอุตสาหกรรมที่มีปัญหารวมถึงอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าด้วย ภาคการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของเมียนมามีรายรับจากการส่งออก 5 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2561-2562

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/investor-interest-myanmar-garment-sector-still-strong-despite-lower-exports.html