บริษัทต่างชาติเข้าลงทุนจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ใน สปป.ลาว

บริษัท China International Water & Electric Corp (CWE) พร้อมที่จะลงทุนเพิ่มในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำและภาคส่วนอื่นๆ ใน สปป.ลาว แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยปัจจุบันบริษัทได้เข้าลงทุนใน สปป.ลาว มานานกว่าสองทศวรรษ ซึ่งลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ 5 โครงการ และโครงการสายส่งและสายแปลง 4 โครงการ มูลค่าหลายล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งโครงการเหล่านี้กำลังสร้างโอกาสในการจ้างงานสำหรับพนักงานท้องถิ่นราว 300-400 คน ในจังหวัดเซียงขวาง เวียงจันทน์ และอัตปือ โดยตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้มีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น ผ่านการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การปรับปรุงถนนและสะพาน โรงเรียน สนามเด็กเล่น ห้องปฏิบัติการ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน รวมถึงการลงทุนด้านพลังงานสะอาดสอดคล้องกับการมุ่งเน้นของโครงการ Belt and Road Initiative ในด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และการแสวงหาหนทางสำหรับการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในอนาคต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_192_Foreign_y23.php

สปป.ลาว เริ่มดำเนินการโครงการพลังงานลมขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สปป.ลาว เริ่มติดตั้งกังหันพลังงานลมสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในจังหวัดเซกอง หลังจากกังหันและใบพัดจัดส่งมาถึงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (12 ส.ค.) ซึ่งโครงการดังกล่าววางแผนติดตั้งกังหันลมประมาณ 110 ตัว ในอำเภอดักจึง จังหวัดเซกอง และในอำเภอสานไชน แขวงอัตตะปือ 23 ตัว โดยการก่อสร้างโครงการได้เริ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน 2023 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2025 ด้วยกำลังการผลิตรวม 600 เมกะวัตต์ กระจายไปทั่วพื้นที่สัมปทานกว่า 1,000 เฮกตาร์ ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งออกไปยังเวียดนามภายใต้กรอบสัญญาระยะเวลา 25 ปี

ขณะที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JICA) รายงานว่าการก่อสร้างจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าในระยะสั้น ทำให้ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าได้รับผลกระทบเป็นการชั่วคราว และการสร้างถนนสายใหม่ใกล้กับป่าก็อาจทำให้การล่าสัตว์ป่าของชาวบ้านเพิ่มขึ้นในระยะถัด โดยโครงการดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อภาคครัวเรือนในแขวงเซกองกว่า 360 ครัวเรือน และอีก 36 หลังคาเรือนในแขวงอัตตะปือ ที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการพลังงานลม

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/08/14/installation-of-turbines-begins-in-laos-for-se-asias-largest-wind-power-project/

“กฟผ.” ระงับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลของกรมจัดการบริหารเขตเศรษฐกิจกว๋างหงาย เมื่อวันที่ 29 พ.ค. เปิดเผยว่าบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ได้ยื่นเอกสารต่อกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม (MoIT) เกี่ยวกับการระงับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่อยู่ในรูปแบบ Build-Operate-Transfer (BOT) ตั้งอยู่ในจังหวัดกว๋างหงาย ซึ่งการตัดสินใจของ กฟผ. ในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน ตลอดจนสอดคล้องกับบริบทของโลกที่จะลดการพึ่งพาถ่านหินและเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานที่สะอาด

ที่มา : https://vir.com.vn/thai-investor-suspends-23-billion-thermal-power-plant-project-in-quang-tri-102618.html

“เวียดนาม” แก้ไขปัญหาไฟดับ! ในภาคเหนือของประเทศ

ตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. โรงไฟฟ้าพลังความร้อนท้ายบิ่ญ 2 (Thai Binh) ได้กลับมาดำเนินกิจการตามปกติแล้ว โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ย 8 ล้านกิโลวัตต์ต่อวัน และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงิเซิน (Nghi Son) คาดว่าจะเดินเครื่องด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้า 13 ล้านกิโลวัตต์ต่อวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. ทั้งนี้ ตามข้อมูลของการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) เปิดเผยว่าระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่ในระดับวิกฤต เครื่องกำเนิดไฟฟ้าบางเครื่องกลับมาทำงานอีกครั้ง แม้ว่ากำลังการผลิตจะลดลงก็ตาม เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในภาคเหนือของเวียดนาม ทางศูนย์สั่งการพลังงานแห่งชาติได้เพิ่มกำลังส่งระยะสั้น 2,600 MVA บนสายส่ง Nho Quan-Nghi Son 2-Ha Tinh ขนาด 500 กิโลวัตต์ เพื่ออำนวยความสะดวกจากภาคใต้สู่ภาคเหนือของประเทศในช่วงเวลาเร่งด่วน

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/electricity-shortage-in-northern-vietnam-eases/

ส่องแผน PDP 8 ของเวียดนาม อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าไทย

โดย นพมาศ ฮวบเจริญ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

เมื่อกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทางการเวียดนามเพิ่งประกาศแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 (Power Development Plan VIII: PDP 8) แม้ว่าจะมีความล่าช้าไปกว่า 2 ปี แต่ก็ถือว่าเป็นแนวทางหลักของการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าภายในเวียดนาม รวมถึงแนวทางของส่วนผสมพลังงานเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า (Energy mixed)

5 ข้อสรุปสำคัญของ PDP 8 ได้แก่

  • กำลังการผลิตในปี 2030 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2020 ที่ 69 GW เป็น 150 GW ในปี 2030
  • ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าราว 1.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และพัฒนาสายส่งอีก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • แหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าและมีการเติบโตสูง คือ ก๊าซธรรมชาติและพลังงานลม โดยปี 2030 มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ 43% ของกำลังการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2020 ทั้งนี้ผลจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่มากขึ้น มีผลให้เวียดนามต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติมากขึ้น จากเดิมที่ใช้แต่ก๊าซธรรมชาติในประเทศ ในส่วนของการพึ่งพาพลังงานลม ถือว่าสอดคล้องไปกับศักยภาพของภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีพื้นที่ชายฝั่งที่ยาวถึง 3,000 กิโลเมตร และมีกำลังลมเฉลี่ยสูงกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนลดลงจาก 24% ในปี 2020 เป็น 13% ในปี 2030 ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนระบบสายส่งที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตจากพลังงานลม อย่างไรก็ตาม ทางการเวียดนามกลับมีแผนสนับสนุนให้ติดตั้ง Solar rooftop หรือ Solar farm เพื่อการใช้ด้วยตัวเอง (Self-consumption) ซึ่งมีเป้าหมายติดตั้งถึง 10 GW ภายในปี 2030 ด้วยการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 15.5 GWh
  • การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แม้สัดส่วนต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดลดลง (เหลือ 20% ในปี 2030 จาก 31% ในปี 2020) แต่กำลังการผลิตปี 2030 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น 41% เทียบกับ 10 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2050 เวียดนามมีเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า

 

เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

แม้ก๊าซธรรมชาติจะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญในช่วงทศวรรษที่จะเกิดขึ้น แต่เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy : RE) โดยตั้งเป้าว่าการผลิตไฟฟ้าจาก RE จะมีสูงถึง 30.9-39.2% ภายในปี 2030 และ 67.5-71.5% ในปี 2050 โดยการพึ่งพิงพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ เป็นเพียงแหล่งพลังงานที่ใช้ทดแทนถ่านหินในช่วงเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน (Energy transition) เพราะในท้ายที่สุดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติก็จะลดบทบาทลงเหลือเพียง 7-8% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2050 นอกจากนี้ ในการผลิตไฟฟ้าจาก RE เวียดนามถือว่าเป็นตลาดสำคัญของ ASEAN ด้วยสัดส่วนมากถึงราว 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก RE ที่มีใน ASEAN ทั้งหมด

 

นัยของแผน PDP 8 ต่อไทย

เม็ดเงินลงทุนกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางการเวียดนามมองว่า ต้องอาศัยเงินลงทุนจากต่างชาติด้วย ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสของธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยที่จะขยายการลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการลงทุนในตลาดเวียดนามอยู่แล้ว เพื่อเข้าไปรับประโยชน์จากแผนการขยายกำลังการผลิตในช่วง 10 ปีที่จะเกิดขึ้นนี้ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นสำคัญ แต่จากแผนใหม่ที่เกิดขึ้น ที่ลดความสำคัญของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง ทำให้กลุ่มทุนไทยอาจจะต้องหันมาพิจารณาโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมมากขึ้น เนื่องจากทางการเวียดนามให้การสนับสนุนและกำลังการผลิตมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด (จากกำลังการผลิตที่ 1 GW ในปี 2020 เป็น 28 GW ในปี 2030)

ในส่วนของโรงไฟฟ้าจาก Fossil fuel อาจจะเหมาะสมกับกลุ่มทุนที่มีความได้เปรียบในเชิง Scale ที่ใหญ่เพียงพอ เพื่อสร้างความได้เปรียบได้การจัดหาแหล่งวัตถุดิบในราคาต่ำ ทั้งนี้กลุ่มก๊าซธรรมชาติ ที่แม้ความต้องการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้ายังสูงในช่วง 10 ปี แต่การพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ทำให้อาจเป็นข้อจำกัดในการจัดหา LNG ในราคาที่เหมาะสม ขณะที่กลุ่มถ่านหิน หากพิจารณาที่ปริมาณกำลังการผลิตที่เวียดนามต้องการยังคงมีมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตตามเศรษฐกิจ แต่แนวโน้มตลาดที่โตต่ำเมื่อเทียบกับพลังงานกลุ่มอื่น ๆ อาจทำให้ความน่าสนใจมีน้อยลง

แม้ว่า PDP 8 ที่เพิ่งออกมา จะสร้างโอกาสในการลงทุนของโรงไฟฟ้าไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจโรงไฟฟ้าในเวียดนาม ยังคงขึ้นอยู่กับนโยบายของทางการเป็นสำคัญ ทำให้ต้องติดตามรายละเอียดของการเปิดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่จะเกิดขึ้นจากแผน PDP 8 รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และพยายามปิดความเสี่ยง เพื่อจะได้รับประโยชน์จากโอกาสในตลาดโรงไฟฟ้าของเวียดนามที่เติบโต เช่น กรณีที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้าไม่เสร็จทันตามสัญญา ทำให้เมื่อก่อสร้างเสร็จ ยังไม่สามารถดำเนินการขายไฟฟ้าให้กับทางการเวียดนามได้ เนื่องจากติดปัญหาการกำหนด FiT ใหม่ ดังนั้น สำหรับในโครงการใหม่ที่จะเข้าไปลงทุน อาจต้องมีแผนสำรองในความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวลง เป็นต้น

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/PDP8-Vietnam-120623

กัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน 5 โครงการ

รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน 5 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิตรวม 520 เมกะวัตต์ หวังช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้กับกริดไฟฟ้าของประเทศ และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากข้อมูลของ Phay Siphan รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า 1 ใน 5 โครงการ เป็นการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Stung Russey Chrum Kandal ขนาดกำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ Stung Veay Thmar Kambot ขนาดกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ ในจังหวัดเกาะกง ขณะที่อีก 4 โครงการ เป็นโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยโครงการขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 150 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดโพธิสัตว์ โครงการถัดมา 2 โครงการ มีขนาดกำลังการผลิตที่ 60 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดกำปงชนังและในจังหวัดสวายเรียง และโครงการสุดท้ายมีขนาดกำลังการผลิตอยู่ที่ 80 เมกะวัตต์ ในจังหวัดไพรแวง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501265922/five-renewable-energy-investment-projects-with-installed-power-generating-capacity-of-520-mw-approved/

กัมพูชาเปิดใช้งานโรงไฟฟ้า 3 แห่ง มูลค่าลงทุนรวม 90 ล้านดอลลาร์

กระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา เปิดสถานีสายส่งไฟฟ้าย่อยและเครือข่ายในจังหวัดเกาะกง กัมปงจาม และกระแจะ ซึ่งสร้างขึ้นภายใต้กรอบของโครงการร่วมกับสำนักงานพัฒนาฝรั่งเศส (AFD) โดยโครงสร้างพื้นฐานด้านการส่งและจำหน่ายไฟฟ้า จะทำให้ระบบส่งกำลังในภาคตะวันตกและภาคใต้ของกัมพูชามีความเสถียรมากยิ่งขึ้น ภายใต้ความยั่งยืนทางด้านพลังงานภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้ลงนามข้อตกลงกับรัฐบาลฝรั่งเศสในการขอสัมปทานเงินกู้มูลค่า 70 ล้านดอลลาร์ และเงินช่วยเหลือ 1 ล้านดอลลาร์ จากสหภาพยุโรปสำหรับการก่อสร้างผ่าน AFD และ Electricité du Cambodge (EDC) มอบเงินบริจาค 15.41 ล้านยูโร (ประมาณ 15.9 ล้านดอลลาร์) เพื่อดำเนินโครงการขยายโครงข่ายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าในสามจังหวัด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501073276/90-million-worth-electricity-transmission-and-distribution-infrastructure-in-three-provinces-inaugurated/

รอยัล กรุ๊ป วางแผนพัฒนา SEZ ในเขตจังหวัดเกาะกงของกัมพูชา

รอยัล กรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทชั้นนำภายในประเทศกัมพูชา ได้วางแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) บนพื้นที่ขนาด 8,631 เฮกตาร์ ในเขตจังหวัดเกาะกง ซึ่งเดิมเป็นที่ดินของรัฐ ผ่านความร่วมมือกับทางกระทรวงสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง และคณะกรรมการจังหวัดเกาะกง ในการร่วมพัฒนาโครงการ SEZ ซึ่งในขณะนี้ รอยัล กรุ๊ป กำลังก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 700mW ในเขตบ่อทุมสาคร บนพื้นที่ 168 เฮกตาร์ โดนปัจจุบัน จังหวัดเกาะกง มีพรมแดนติดกับจังหวัดตราดของประเทศไทย และมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ในเกาะกงอยู่แล้ว 1 แห่ง ที่เป็นของบริษัท L.Y.P Group ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอมนดวลสีมา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50967339/royal-group-granted-over-8000-hectares-of-land-for-sez-development-in-koh-kong-province/

7 หุ้น โรงไฟฟ้าใหญ่ไทย กำลังเติบโตในเวียดนาม

โดย Maratronman I Wealthy Thai

เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ เพราะขนาดเศรษฐกิจของประเทศกำลังขยายใหญ่โตขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากประชากรที่เพิ่มตัวขึ้นปีละหลายล้านคน รวมถึงประชากรกำลังอยู่ในวัยคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นวัยที่มีส่วนจะช่วยผลักดันความก้าวหน้าของประเทศ

การลงทุนจากต่างประเทศทยอยการลงทุนเข้ามาในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากผู้ประกอบการค่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงใช้ประเทศเวียดนามเป็นฐานการผลิตโทรศัพท์มือถือ รวมถึงนักลงทุนจากสหรัฐที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเวียดนาม

ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเวียดนามเองนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องรังสรรค์โครงสร้างพื้นฐานประเทศไว้รองรับสิ่งใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ประเทศ และเศรษฐกิจเดินหน้าต่อแบบไม่ชะงัก แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 แต่เวียดนามก็ไม่หวั่นตั้งเป้าปี 64 จีดีพีจะกลับมาเติบโตในระดับ 6.5% จากในปี 63 ที่โตแบบสะดุด

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ เพื่อรองรับการเติบโต และอุตสาหกรรมที่กำลังรุ่งเรืองคงจะหนีไม่พ้นโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า ซึ่งกระแสไฟฟ้ามีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยเวียดนามคาดการณ์ว่าจะมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากถึง 80,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573

โดยแหล่งพลังงานหลักยังคงเป็นถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 30,000 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าพลังงานลมในพื้นที่ชายฝั่งและพลังงานลมก็คาดว่าจะมีการขยายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 50,000 เมกะวัตต์ ซึ่งอัตราการเติบโตของการใช้พลังงานในปี 2021-2030 ยังอยู่ในระดับสูง จาก 8.6 % ในปี 2021-2025 และ 7.2 % ในปี 2026-2030 แผนพัฒนาพลังงานของเวียดนามคาดการณ์ว่าจะมีการใช้พลังงานสูงสุด 138,000 เมกะวัตต์ ในปี 2030 และ 302,000 เมกะวัตต์ ในปี 2045

เมื่อเห็นแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศเวียดนามแบบนี้แล้ว นักลงทุนคงจะพอเดากันได้แล้วใช่มั้ยว่า มีบริษัทหลักทรัพย์ของไทยที่ไหนบ้าง ถ้าเดาไม่ออก งั้น Wealthy Thai จะเล่าให้ฟัง มีบริษัทในตลาดหุ้นไทยที่ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุน มีทั้งสิ้น 7 บริษัท ประกอบด้วย

1.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF

2.บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM

3.บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH

4.บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP

5.บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG

6.บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER

7.บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL

ที่มา : https://www.wealthythai.com/en/updates/stock/stock-of-the-day/1496

EDL-Generation Plc (EDL-Gen ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่สปป.ลาว กำลังมองหาพันธมิตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ

บริษัทใหญ่ EDL-Generation Plc (EDL-Gen) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของสปป.ลาว กำลังมองหาพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตรวม 25% เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นตั้งเป้าจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2,435 เมกะวัตต์ภายในปี 2572 จาก 1,949 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน EDL-Generation Plc (EDL-Gen) มุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลสปป.ลาวในการเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งสามารถผลิตได้มากถึง 30,000 เมกะวัตต์ทั่วประเทศอีกทั้งบริษัท กำลังส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ มาเลเซียและสิงคโปร์ซึ่งเป็นตลาดใหม่ของสปป.ลาวผ่านโครงการ “Asean Power Grid” EDL-Gen ไม่เพียงแค่สริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอาเซียน แต่ยังมุ่งมันที่จะพัฒนาพลังงานควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมที่ดีอีกด้วยตามแนวทางของรัฐบาลที่วางไว้

ที่มา : https://www.bangkokpost.com/business/2106631/lao-power-generation-firm-seeking-partners-to-boost-capacity