การลงทะเบียนข้อมูลที่จำเป็นสำหรับสถานที่จัดเก็บเมล็ดพืช กับ MyRO

กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสหพันธ์ข้าวเมียนมาร์ จัดพิธี Go-Live สำหรับเว็บไซต์ Myanmar Rice Online (MyRO) และการประชุมเกี่ยวกับแพลตฟอร์มการลงทะเบียน MyRO สำหรับโรงเก็บเมล็ดพืชที่โรงแรม Thingaha ในเมืองเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน โดยตั้งเป้าประกันการพึ่งพาตนเองในสินค้าข้าว การส่งออกอย่างเป็นระบบ ความมั่นคงด้านราคาและการลงทะเบียนการจัดเก็บเมล็ดพืชอย่างเป็นระบบและการนำระบบการเงินใบเสร็จรับเงินของคลังสินค้าไปใช้ ด้าน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้านการวางแผนและการคลัง กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เน้นย้ำถึงการดำเนินการตามกระบวนการทำงานของการประชุมข้าวเมียนมาร์ 2022 เช่น ระบบประกันพืชผลสำหรับเกษตรกร และการยกระดับสินค้าข้าว โดยระบบ MyRO นี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนโรงเก็บธัญพืช ใบอนุญาตผู้ส่งออก และการจดทะเบียนโรงสีข้าวผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยจะจัดให้มีระบบการลงทะเบียนที่ง่าย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเหมือนกับการจดทะเบียนบริษัท มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นก้าวแรกสำหรับภาคส่วนสินค้าข้าวในการก้าวไปข้างหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล รัฐจะช่วยสร้างความมั่นคงทางนโยบายเพื่อให้แน่ใจว่ามีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างความสามัคคีที่มากขึ้นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐ อย่างไรก็ตาม โครงการนำร่องดังกล่าวมีกำหนดจะเริ่มดำเนินการในเขต เนปิดอว์ ย่างกุ้ง อิรวดี พะโค และมัณฑะเลย์ MyRO จะเผยแพร่ข้อมูลสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมข้าว รวมถึงเกษตรกร พ่อค้า โรงสีข้าว ผู้ส่งออก ผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริโภค และอำนวยความสะดวกในกระบวนการลงทะเบียน ดังนั้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในอุตสาหกรรมจึงได้รับการสนับสนุนให้ร่วมมือกันในโครงการนี้

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/registration-on-myro-required-for-grain-storage-facilities/

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ดันหนี้สาธารณะกัมพูชาขยายตัว

นายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต กล่าวถึงสถานการณ์หนี้สาธารณะของกัมพูชาที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดการเติบโต ภายใต้การควบคุมความเสี่ยงทางด้านหนี้สาธารณะ โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะของกัมพูชามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 10.72 พันล้านดอลลาร์ แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำ ตามรายงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา ซึ่งหนี้สาธารณะจำนวนดังกล่าวร้อยละ 64 มาจากการกู้ยืมจากหุ้นส่วนการพัฒนาในระดับทวิภาคี รวมถึงมาจากหุ้นส่วนการพัฒนาในระดับพหุภาคีที่ร้อยละ 36 และหนี้สาธารณะในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 0.43 สำหรับปีนี้ รัฐบาลได้วางแผนที่จะระดมทุน 200 ล้านดอลลาร์ จากการออกพันธบัตรรัฐบาล และสำหรับปีหน้ารัฐบาลกัมพูชากำลังวางแผนที่จะระดมทุนเพิ่มอีก 108 ล้านดอลลาร์ ด้วยวิธีเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะนำไปใช้ในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการชำระคืนเงินต้น รวมถึงจ่ายดอกเบี้ยให้กับพันธบัตรที่ออกในปีที่แล้ว ตามร่างกฎหมายงบประมาณแห่งชาติประจำปี 2024

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501386323/public-debt-drove-infrastructure-growth-says-pm/

กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังอินโดนีเซียเป็นครั้งแรกหลังลงนาม MoU สำเร็จ

กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก หลังก่อนหน้าได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ณ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยทางการกัมพูชาหวังที่จะขยายตลาดส่งออกข้าวสารไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในกรณีนี้กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังอินโดนีเซียประมาณ 3,500 ตัน สำหรับการขนส่งในครั้งแรก ซึ่งอินโดนีเซียตกลงที่จะนำเข้าข้าวสารจากกัมพูชาปริมาณรวมกว่า 125,000 ตัน ภายในปี 2023 สำหรับการส่งออกข้าวโดยภาพรวมของกัมพูชาในช่วง 9 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 456,581 ตัน ไปยัง 57 ประเทศ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 327.4 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) โดยจีนและยุโรปยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับภาคการส่งออกข้าวสารของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501386510/cambodia-exports-milled-rice-to-indonesia-for-1st-time/

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอใน EEC

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ ในโอกาสเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรม WHA ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการที่ภาครัฐและเอกชนของไทยมีความตั้งใจในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานระดับโลก เพื่อขยายโอกาสความร่วมมือการลงทุนกับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกเหนือจากการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ครบวงจรชั้นนำของโลกในปัจจุบัน โดยถือเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะกับการที่รัฐบาลได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติชุดใหม่ โดยมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2570 นับเป็นการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนจากผู้ประกอบการรายใหม่จากทั่วโลก สอดคล้องนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ WHA ยังพร้อมสนับสนุนการพัฒนาในเขต EEC ควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นไปได้ในการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ อย่างมีประสิทธิภาพทั่วประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ที่จะสร้างประโยชน์ด้านการลงทุนทั้งต่อ EEC และต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ให้ยั่งยืน

ที่มา : https://www.mitihoon.com/2023/11/06/415503/

‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ อาจโตไม่ถึง 6.5% ตามที่ตั้งเป้าไว้

นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้กล่าวปราศรัยในการประชุมของรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 ต.ค.66 ว่าเวียดนามตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า 5% ในปีนี้ ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐให้คำมั่นว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 6.5%

ทั้งนี้ ในเดือน ก.ย. กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) ได้เสนอสมมุติฐานของสถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ 3 กรณี และพบว่าในกรณีที่ดีที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวที่ 6% ในปี 2566 เวียดนามจำเป็นที่จะต้องให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ขยายตัว 10.6% ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตสูงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น หากเศรษฐกิจเวียดนามไม่สามารถบรรลุตามที่ตั้งเป้าไว้ที่ 6.5% ก็ไม่น่าแปลกใจ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-economy-6-5-growth-rate-target-maybe-unattainable-2210345.html

‘สื่อนอก’ ชี้เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วที่สุด

สำนักข่าวต่างประเทศเอเชีย ไทมส์ (Asia Times) ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการประเมินทางด้านเศรษฐกิจในหัวข้อ ‘เสือเศรษฐกิจเวียดนาม’ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ทวีความรุนแรงสูงขึ้น

ทั้งนี้ จากบทความชี้ให้เห็นว่าอันดับการค้าของเวียดนามในตลาดสหรัฐฯ ได้ก้าวกระโดดจนแซงเกาหลีใต้ ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 6 ในปีที่แล้ว ซึ่งการเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจเวียดนาม เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกที่มีมูลค่ามากที่สุดไปยังตลาดสหรัฐฯ ไม่ใช่สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอีกต่อไป แต่กลับกลายมาเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมไปถึงเวียดนามส่งเสริมการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง และบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก อาทิเช่น ‘Apple’ ได้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปเวียดนาม และบริษัทอัมกอร์ เทคโนโลยี ของสหรัฐฯ ลงทุนก่อสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ มูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-among-fastest-growing-economies-asia-times-2210814.html