‘เวียดนาม-มาเลเซีย’ จับมือส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่ ดันโอกาสครั้งใหญ่

คุณ Lê Phú Cường ที่ปรึกษาการค้าประจำประเทศมาเลเซีย กล่าวในที่ประชุมฟอรั่มเศรษฐกิจ ปี 2567 ณ กรุงกัลป์ลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ว่าเวียดนามมีข้อได้เปรียบอย่างมากทั้งด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง ในขณะที่มาเลเซียมีความแข็งแกร่งทางด้านการผลิตไฟฟ้าและการผลิตแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แต่มีปัญหาการขาดแคลนบุคลากร เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนจำกัด หากเวียดนามร่วมมือกับมาเลเซียจะสามารถช่วยลดต้นทุนการวิจัยและได้รับประสบการณ์ที่มีค่าจากการร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งในปัจจุบันมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานการผลิตไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1655360/big-opportunities-remain-for-vietnam-and-malaysia-to-partner-in-new-technology-areas-official.html

‘เวียดนาม’ ชี้เสาหลักทางเศรษฐกิจ ส่งสัญญาณเชิงบวก

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการผลิตของภาคอุตสาหกรรมยังคงมีทิศทางไปในเชิงบวกในปีนี้ จากตัวชี้วัดดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในช่วง 4 เดือนแรกที่มีการขยายตัว 6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่เงินลงทุนเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐฯ สูงถึง 20.1% ของงบประมาณประจำปี เพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขการค้าปลีกและการค้าระหว่างประเทศของเวียดนาม พบว่ามูลค่าการค้าปลีกและบริการ เพิ่มขึ้น 8.5% และการส่งออก เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งจากตัวชี้วัดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจมีสัญญาณเชิงบวก

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเวียดนามยังคงเผชิญกับความท้าทายจากความไม่มั่งคงของเศรษฐกิจโลก และภาวะเงินเฟ้อ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมุ่งส่งเสริมไปที่การบริโภคภายในประเทศ การยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการ รวมถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/key-economic-pillars-show-positive-growth-post285814.vnp

การสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ผ่านชายแดนเมียนมา-ไทย

กรมการค้า กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2567 เพื่อเดินหน้าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ไป-กลับ ย่างกุ้ง-เกาะสอง-ระนอง เพื่อการค้าชายแดนเมียนมา-ไทย ซึ่งผู้ค้าสามารถสอบถามเกี่ยวกับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการค้าชายแดนไทย-เมียนมา เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการ ทั้งนี้ ตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลใบอนุญาตมีการกล่าวถึงในระบบ Myanmar Tradenet 2.0 โดยผู้ยื่นคำขอจะต้องเลือกย่างกุ้งในลำดับที่ 6 และ 7 สำหรับการนำเข้า และย่างกุ้งในลำดับที่ 6 และระนองในลำดับที่ 7 สำหรับการส่งออก นอกจากนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับใบอนุญาตส่งออกและนำเข้า และขอความช่วยเหลือด้านเทคนิค สามารถติดต่อฝ่ายส่งออกและนำเข้าผ่านหมายเลขติดต่อ 067 3408294 สำหรับการนำเข้า และ 067 3408325 สำหรับการส่งออก และฝ่ายสารสนเทศและเทคโนโลยี ผ่าน 067 3408221 และ 067 3408723

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/enquiry-available-for-container-shipping-process-via-myanmar-thailand-border/#article-title

เมียนมา-ไทยหารือการพัฒนาการเกษตรและการผลิตปศุสัตว์

วานนี้ 11 พ.ค. 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทานแห่งสหภาพเมียนมา อู มิน น่อง เข้าพบ นายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำเมียนมา และคณะ ณ ห้องประชุมกระทรวง ในการประชุมหารือการอนุญาตให้ผู้ประกอบการเอกชนของไทยลงทุนในการผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ตามกฎหมาย การขยายพันธุ์โคนมและการผลิตผลิตภัณฑ์จากนมเพื่อดึงดูดโอกาสการลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมา การส่งออกถั่วและถั่วชนิดต่างๆ จากเมียนมา การจัดตั้งเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยสำหรับโคในประเทศเมียนมา การดำเนินการเขตควบคุมโรคในสัตว์ นโยบายในการส่งออกสัตว์ข้ามพรมแดน ข้อกำหนดสำหรับการพัฒนาบันทึกความเข้าใจสำหรับการส่งออกโค ความร่วมมือในการอนุรักษ์ปลาดุกหัวสั้น กระบวนการเพื่อการผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืนที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และความร่วมมือในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์ของทั้งสองประเทศ โดยมีปลัดกระทรวงและเจ้าหน้าที่กรมกระทรวงร่วมประชุมด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-thailand-discuss-developing-agriculture-and-livestock-production/#article-title

นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกจากมณฑลกุ้ยโจว เดินทางถึง สปป.ลาว ด้วยรถไฟลาว-จีน

คณะผู้แทนจากกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สปป.ลาว ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่เดินทางมาจากมณฑลกุ้ยโจว ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูงระหว่างมณฑลกุ้ยโจวและ สปป.ลาว โดยมีรถไฟลาว-จีน เป็นเส้นทางเชื่อมโยงที่สำคัญ การเดินทางด้วยรถไฟของนักท่องเที่ยวจากมณฑลกุ้ยโจวครั้งแรกนี้ ผ่านมาทางสิบสองปันนาในมณฑลยูนนาน จากนั้นเดินทางมายัง สปป.ลาว ด้วยรถไฟ EMU ล้านช้าง ที่ดำเนินกิจการโดยรถไฟลาว-จีน ซึ่งดำเนินการเพิ่มจำนวนเที่ยวเดินรถของรถไฟ ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวซื้อตั๋วได้ง่ายขึ้น มีการสร้างแอปพเคชั่นที่ช่วยให้ผู้คนสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ และพัฒนาช่องทางการชำระเงินมากขึ้น และให้บริการอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้น บนรถไฟ นอกจากนี้ จะมีการลดระยะเวลาในการผ่านด่านศุลกากรและตรวจคนเข้าเมืองบริเวณชายแดน สปป.ลาว-จีน ในขณะที่จะมีการเพิ่มจุดจอดเพิ่มเติมและปรับปรุงคุณภาพการให้บริการรถไฟ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยรถไฟลาว-จีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_88_FirstChinese_y24.php

สปป.ลาว เปิดรับการค้าออนไลน์มากขึ้น ภายใต้กฎระเบียบอีคอมเมิร์ซที่ยังไม่ชัดเจน

กรมส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ สปป.ลาว เน้นย้ำถึงความสำคัญของอีคอมเมิร์ซในการเสริมศักยภาพ SMEs แม้ว่าการช้อปปิ้งออนไลน์ใน สปป.ลาวจะประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด แต่ความท้าทายยังคงมีอยู่ การพึ่งพาโซเชียลมีเดียและการจัดการข้ามพรมแดนอาจมีความเสี่ยง โดยมีการหยิบยกประเด็นต่างๆ เช่น การฉ้อโกงและคุณภาพสินค้า นอกจากนี้ การขาดระบบอีคอมเมิร์ซอย่างเป็นทางการในประเทศลาวยังจำกัดศักยภาพในการเติบโต และการจัดตั้งการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นมาตรฐานในตลาดอีคอมเมิร์ซที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้ การช็อปปิ้งออนไลน์ของ สปป.ลาว มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนากฎระเบียบอีคอมเมิร์ซภายในประเทศลาว เพื่อให้แน่ใจว่าการคุ้มครองผู้บริโภคและการเติบโตจะมีความยั่งยืน

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/05/09/laos-embraces-online-shopping-via-social-media-cross-border-innovation/