กัมพูชาพร้อมรับโครงการลงทุนโรงงานประกอบรถยนต์เพิ่มอีก 5 แห่ง

Ms. Cham Nimul รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (MoC) รายงานว่าปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ 5 ราย กำลังสร้างโรงงานผลิตในประเทศกัมพูชา โดยบริษัทรถยนต์ทั้ง 5 แห่ง ซึ่งรวมถึง HGB Motors Assembly, EM Automotive, GTV Motor, Toyota และ China Matrix Technology กำลังจัดโครงสร้างการผลิตเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศกัมพูชา ซึ่งรัฐมนตรีได้กล่าวในระหว่างการเข้าร่วมงาน Auto Show 2024 ครั้งที่ 1 โดยรัฐมนตรีพร้อมให้การสนับสนุนบริษัทที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนยังกัมพูชา พร้อมกับการที่กัมพูชามีข้อตกลงการค้าอาเซียนพลัส สิทธิพิเศษทางการค้า กรอบการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนของประเทศ ตลอดจนการลงทุนในโรงงานผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับสิทธิพิเศษมากที่สุด เนื่องจากเป็นสินค้าที่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศต้องการ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501481029/cambodia-to-have-five-more-vehicle-assembly-factories/

ท่าเรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชาจะกลายเป็นท่าเรือระดับภูมิภาค

รัฐบาลกัมพูชาตั้งเป้าดันท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดพระสีหนุ ให้เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและท่าเรือระดับภูมิภาคภายในปี 2050 โดยความทะเยอทะยานดังกล่าวได้รับการเน้นย้ำโดยนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเน็ต ในระหว่างการพบปะกับข้าราชการ คนงาน และลูกจ้าง ณ ท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์ เมื่อเช้านี้ (1 พ.ค.) เนื่องในโอกาสครบรอบ 138 ปี วันแรงงานสากล (1 พ.ค.) ภายใต้แนวคิด “หนึ่ง วิสาหกิจเป็นชุมชนสันติสุขหนึ่งเดียว” ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสริมว่าภาคการขนส่งด้วยท่าเรือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีความสำคัญ โดยรัฐบาลพร้อมที่จะเพิ่มเงินลงทุนและการระดมเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือต่อไป ด้าน Peng Ponea รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง กล่าวว่า ท่าเรือสีหนุวิลล์มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตผ่านโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือระยะที่ 2 ซึ่งกำหนดความยาวของท่าเรือไว้ที่ 400 เมตร ลึก 16.5 เมตร และระยะที่ 3 ขยายเป็นความยาว 430 เมตร ลึก 17.5 เมตร พร้อมรองรับอุปกรณ์ทางเทคนิคที่ทันสมัยในการอำนวยความสะดวกในท่าเรือ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501481387/sihanoukville-autonomous-port-to-be-transformed-into-regional-port-and-logistics-hub/

เศรษฐา ปิดดีล Microsoft ลงทุน DATA CENTER หนุนอุตสาหกรรม AI

วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ Plenary Hall 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์ในงาน “Microsoft Build AI Day Event” ตอนหนึ่ง ว่า ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังมากที่สุดในทศวรรษนี้ ทั้งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สถานที่ทำงาน และวิธีการดำเนินธุรกิจ ซึ่งนายกฯ ได้ยืนยันความพร้อมของประเทศสำหรับอุตสาหกรรม AI และพร้อมสนับสนุนให้อุตสาหกรรม AI เติบโตในไทยอย่างเต็มที่ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยพร้อมสำหรับอนาคต ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอินเทอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค รวมถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ครอบคลุมที่สุด โครงข่ายมือถือ โครงสร้างพื้นฐาน 5G และโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ วิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ที่ได้ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลและเส้นทางที่ชัดเจนในการเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคใน 8 อุตสาหกรรมหลัก นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้จัดให้อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการลงทุน ซึ่งครอบคลุมมาตรการกระตุ้นการลงทุน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องและครอบคลุมอุตสาหกรรมดิจิทัลทั้งหมด รวมทั้ง รัฐบาลเดินหน้าสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสีเขียว ซึ่งไทยตระหนักดีถึงความต้องการโดยตรงของภาคธุรกิจในด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการบรรลุพันธกรณีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึง นโยบายที่จะทำให้ ครึ่งหนึ่งของการผลิตพลังงานในประเทศเป็นพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2040 (พ.ศ. 2583) อย่างไรก็ดี รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะจัดหากำลังการผลิตพลังงานสีเขียวใหม่มากกว่า 9 กิกะวัตต์ผ่านระบบ Utility Green Tariff ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจมั่นใจได้ว่าการลงทุนในไทยจะสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ง่าย และในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งรัฐบาลพร้อมร่วมกับบริษัทดิจิทัลชั้นนำแบบบริษัทไมโครซอฟท์ สร้างแซนด์บ็อกซ์แห่งความยั่งยืนที่มุ่งส่งเสริมนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ยินดีที่ได้ทราบว่า ความมุ่งมั่นของไทยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและไมโครซอฟท์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในการนำเทคโนโลยีคลาวด์ และ AI ที่เปี่ยมประสิทธิภาพมาเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลของไทย MoU ฉบับนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นและคำมั่นสัญญาจากทั้งสองฝ่ายในการบรรลุเป้าหมายนี้ในประเทศไทยด้วยกัน ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย มั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างกันนี้จะนำไปสู่อนาคตร่วมกัน พร้อมย้ำถึงความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สมบูรณ์แบบสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยรัฐบาลพร้อมรับฟังความคิด เข้าใจความต้องการ และพร้อมหาทางออกที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตในประเทศไทยต่อไป ในตอนหนึ่งของการกล่าวเปิด นาย Satya Nadella ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Microsoft ให้คำมั่นว่า ไมโครซอฟท์ พร้อมเข้ามาลงทุน Data Center ในไทย และพร้อมมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพ ให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะ AI ในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2025

ที่มา : https://www.prachachat.net/politics/news-1554508

ธนาคารโลก คาดการณ์ GDP สปป.ลาว เติบโตได้ 4% ในปีนี้

เว็บไซต์ของธนาคารโลก เผยแพร่บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ เมื่อมองไปข้างหน้าถึงปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัว 4% โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตด้านบริการและการลงทุนในภาคพลังงานและเขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายต่างๆ เช่น การอ่อนค่าของเงินกีบ อัตราเงินเฟ้อที่สูง และความจำเป็นในการชำระหนี้ต่างประเทศที่สูง คาดว่าจะยังคงมีอยู่ ทั้งนี้ ข้อแนะนำเพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ ธนาคารโลกได้แนะนำให้ สปป.ลาว จัดลำดับความสำคัญของการปฏิรูปในด้านที่สำคัญ เช่น การจัดการหนี้ การระดมรายได้ การจัดการการลงทุนสาธารณะ เสถียรภาพของภาคการเงิน และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ แม้ว่าการปฏิรูปรายได้เมื่อเร็วๆ นี้มีแนวโน้มที่ดี แต่รายงานดังกล่าวเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเร่งปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคเท่านั้น

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/04/30/lao-economic-growth-remains-below-2019-levels-world-bank-report-reveals/