พาณิชย์ นำร่องตั้งกองทุนหนุนการค้าไทย-ลาว สกัดชาติมหาอำนาจรุกหนัก

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สั่งการให้สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง “กองทุนช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) ไทย-สปป. ลาว” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) ระหว่างไทยกับ สปป. ลาว โดยการยกระดับประสิทธิภาพด้านการขนส่งสินค้าข้ามแดน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุนให้แก่นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ไทย และ สปป.ลาว ทั้งนี้ แนวคิดการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกทางการค้าไทย-ลาว เกิดจากการได้ลงพื้นที่พบปะกับนักธุรกิจไทยที่ได้เข้าไปทำการค้าและลงทุนใน สปป.ลาว ซึ่งมักพบปัญหาหลายอย่าง เช่น ต้นทุนในการติดต่อประสานงานในการค้าขายและต้นทุนการขนส่งสินค้าข้ามแดนสูง การขนส่งสินค้าทางเรือ และการจัดการเอกสารการค้าผ่านแดน รวมถึงการขออนุญาตนำเข้าส่งออกใช้เวลานาน การจัดเก็บค่าธรรมเนียม การตรวจคนเข้าเมือง การศุลกากร และการกักกัน มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและมีต้นทุนแฝงที่ค่อนข้างสูง ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นข้อจำกัดที่ส่งผลกระทบต่อการค้าขายระหว่างกันของไทยและสปป.ลาว

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_2434800

หอการค้าฯ เผยเวียดนามควรมีกฎหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสนับสนุน

ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (VCCI) กล่าวว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ระลอกใหม่ จะมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมสนับสนุน ดังนั้น หากอุตสาหกรรมสนับสนุนในประเทศไม่ได้รับการพัฒนาให้ไปอยู่ในระดับสูงขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน ก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากการแปรรูปสินค้า และถึงแม้ว่าเวียดนามจะสามารถดึงดูดเม็ดเงิน FDI ได้หลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐก็ตาม ทั้งนี้ ธุรกิจญี่ปุ่นหลายรายได้ตัดสินใจเลือกย้ายฐานการผลิตและการทำธุรกิจมายังเวียดนาม ในขณะเดียวกัน ทางตัวแทนของซัมซุงเวียดนาม ระบุว่ามีการสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในกรุงฮานอย อีกทั้ง ธุรกิจเวียดนามและสหรัฐฯ ได้มีการลงนามข้อตกลงด้านการลงทุน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ สำนักกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งศึกษาและสร้างกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป จึงส่งให้รัฐบาลเพื่อขออนุมัติ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/804469/viet-nam-should-have-law-on-supporting-industry-vcci-chairman.html

นักเศรษฐศาสตร์ คาดเศรษฐกิจเวียดนามโต 6% ในปี 2564

นาย Duong Manh Hung นักวิเคราะห์อาวุโสของสำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม กล่าวว่าเศรษฐกิจเวียดนามกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ขยายตัวร้อยละ 2.62 ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ หลังจากไตรมาสที่ 2 อยู่ในระดับต่ำที่สุด ร้อยละ 0.39 ด้วยความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เป็นแรงผลักดันต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วนกลับมาดำเนินธุรกิจใหม่ ตัวอย่างเช่น ภาคอุตสาหกรรมเติบโตร้อยละ 3.6 ในเดือนต.ค. และจำนวนธุรกิจกว่า 5,000 รายกลับมาดำเนินกิจการในเดือนต.ค. เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ประกอบกับจำนวนการจดทะเบียนธุรกิจใหม่มากกว่า 12,000 แห่ง ด้วยเหตุนี้ จึงคาดว่าการขยายตัวของ GDP จะแตะอยู่ในระดับร้อยละ 2 ในปีนี้ และร้อยละ 6 หรือมากกว่านั้นในปี 2564 อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกด้วย โดยเฉพาะประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับเวียดนามอย่างมาก ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นต้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/gdp-growth-6-percent-in-2021-feasible-economists/190112.vnp

การค้าทวิภาคีระหว่างญี่ปุ่นกับกัมพูชาลดลงกว่าร้อยละ 25

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชากับญี่ปุ่นมีมูลค่าอยู่ที่ 1,548 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาสที่ 3 ของปี ซึ่งลดลงกว่าร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายนกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่น 1,208 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 5.6 ในขณะที่กัมพูชานำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นทั้งสิ้น 339 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 14.8 ซึ่งปัจจุบันการส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นคิดเป็นร้อยละ 0.3 ของการส่งออกทั้งหมด ในขณะที่การนำเข้าสินค้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่นคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.1 ของการนำเข้าทั้งหมดของกัมพูชา โดยกัมพูชาได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เสื้อผ้า รองเท้า และจักรยาน ส่วนสินค้านำเข้าหลักคือเครื่องจักรและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50781435/japan-and-cambodia-bilateral-trade-dropped-25/

กัมพูชายังคงต้องการข้อตกลงการค้าเสรีเพิ่มขึ้น

กัมพูชาต้องการการลงนามในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศและเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินการเพิ่มเติม ทั้งเพื่อดำเนินการประเมินผลกระทบทางการค้าโดยละเอียด (TIAs) เนื่องจากกัมพูชากำลังมองหาข้อตกลงการค้าทวิภาคีและพหุภาคีมากขึ้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่านับตั้งแต่กัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกในปี 2004 ซึ่งเขตการค้าเสรีทั้งหมดที่กัมพูชาได้เข้าร่วมและกำลังพิจารณาได้ผ่านการประเมินอย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุดเพื่อชั่งน้ำหนักผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยในปัจจุบันกัมพูชาได้เป็นสมาชิกของข้อตกลงการค้าเสรีพหุภาคีหลายฉบับรวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีอีกหลายฉบับ นอกจากนี้กัมพูชายังได้เข้าเป็นสมาชิกหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยปริมาณการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีมีมูลค่าอยู่ที่ 36,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 ตามตัวเลขจากธนาคารแห่งชาติกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50781402/increased-free-trade-deals-need-many-more-experts/