กัมพูชาเรียกร้องผู้ประกอบการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเชื่อมตลาดโลก

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาได้เรียกร้องให้ผู้ประกอบการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่างอาลีบาบาของจีน เพื่อจำหน่ายสินค้าไปยังตลาดโลก กล่าวโดย Cham Nimul รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในระหว่างการสัมมนา เรื่อง “ก้าวข้ามพรมแดน: นำสินค้ากัมพูชาสู่ตลาดโลกผ่านอาลีบาบา.คอม” ว่ากระทรวงฯ และกลุ่มอาลีบาบาได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อจำหน่ายสินค้ากัมพูชาโดยตรงบนแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ ของอาลีบาบา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีบริษัทกัมพูชาประมาณ 10 แห่ง ได้นำสินค้าออกจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม อาทิเช่น พริกไทย แยมมะม่วง และรังนกนางแอ่น ขณะที่รายงานจากกรมศุลกากรและสรรพสามิตระบุว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 กัมพูชาสามารถส่งออกสินค้ามูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มูลค่า 6.94 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501495945/cambodia-calls-on-entrepreneurs-to-use-e-commerce-platform-to-meet-global-market/

ADB Frontier ให้ทุนแก่เอกชนใน สปป.ลาว เพื่อขยายการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าและสถานีชาร์จ

LOCA ผู้ให้บริการด้านการคมนาคมชั้นนำของลาว ได้รับเงินทุนจำนวนมากจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ผ่านทาง ADB Frontier โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) การลงทุนนี้จะช่วยให้ LOCA สามารถขยายกลุ่มยานพาหนะไฟฟ้า (EV) และเครือข่ายการชาร์จ EV ทั่วประเทศ ด้วยเงินทุนนี้ LOCA พร้อมที่จะเป็นผู้นำในการปฏิวัติระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าในประเทศลาวต่อไป โดยสร้างมาตรฐานระดับสูงสำหรับโซลูชันการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาค

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/05/27/loca-secures-funding-from-adb-frontier-to-expand-electric-vehicles-fleet-charging-network/

สปป.ลาว ขยายเครือข่ายโทรคมนาคมเข้าถึงหมู่บ้านห่างไกล

สปป.ลาว ประสบความสำเร็จในการขยายระบบโทรคมนาคมด้วยการเพิ่มสายเคเบิลใยแก้วนำแสงที่มีความยาว 98,524 กิโลเมตร ซึ่งหมายความว่าหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศสามารถรับสัญญาณโทรศัพท์มือถือได้มากขึ้น ด้วยจำนวนหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนไว้ 6,113,455 หมายเลข กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารตั้งเป้าจะเพิ่มตัวเลขนี้เป็น 6.5 ล้านหมายเลขในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ยังมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ลงทะเบียนแล้ว 4,614,752 ราย ซึ่งเข้าใกล้เป้าหมายของกระทรวงที่ 4.7 ล้านบัญชี

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/05/22/laos-expands-telecommunications-network-reaching-remote-villages/

‘เวียดนาม’ เผย 5 เดือนแรกปี 67 ธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการ 98,800 ราย

กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการ มีจำนวนทั้งสิ้น 98,852 ราย เพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2562-2566 ในขณะที่ตัวเลขที่จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ มีจำนวน 64,758 ราย และมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 601.22 ล้านล้านด่อง หรือประมาณ 23.62 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.7%YoY

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลในเดือน พ.ค.67 พบว่าการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ มีจำนวน 13,207 ราย และธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการ 6,749 ราย ในขณะเดียวกัน ธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการ 11,391 ราย

นอกจากนี้ ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 1 หมื่นล้านด่อง หรือคิดเป็นสัดส่วน 92.2% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด

ที่มา : https://en.nhandan.vn/over-98800-enterprises-join-re-enter-market-in-five-months-post135919.html

ฟาร์มเพาะพันธุ์ปศุสัตว์ใน 9 รัฐและภูมิภาคจะได้รับเงินกู้ 12 พันล้านจ๊าด เริ่มเดือนมิถุนายน

ตามที่กรมเพาะพันธุ์ปศุสัตว์และสัตวแพทย์เมืองเนปิดอว์ ระบุว่า จะมีการกู้ยืมเงิน 12,000 ล้านจ๊าด ให้กับฟาร์มเพาะพันธุ์ปศุสัตว์ใน 9 รัฐและภูมิภาค รวมถึงกรุงเนปิดอว์ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ทั้งนี้ เขตสภาเนปิดอว์ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ พะโค อิรวดี มะเกว ตะนาวศรี รัฐฉาน และรัฐมอญ กำลังวางแผนที่จะให้กู้ยืมเงินสำหรับการเลี้ยงโคเนื้อ โคนม การเลี้ยงไก่ไข่ และการเพาะพันธุ์แกะและแพะตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป โดยเงินกู้ดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งรัฐ และจะมีการเสนอในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยมีการวางแผนการให้กู้ยืมแบบพิเศษสำหรับธุรกิจฟาร์มโคนม มีระยะเวลากู้ยืมสำหรับธุรกิจฟาร์มโคนมกำหนดไว้ที่ 3 ปี ในขณะที่ระยะเวลากู้ยืมสำหรับธุรกิจโคเนื้อ ฟาร์มไก่ไข่ และธุรกิจฟาร์มแกะและแพะกำหนดไว้ที่ 2 ปี

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/livestock-breeding-farms-in-9-states-and-regions-to-get-k12-billion-loans-starting-june/

ผู้ว่าธนาคารกลางเมียนมา เข้าพบเจ้าหน้าที่ธนาคารไทย

เช้าวานนี้ ณ ห้องประชุมธนาคารกลางแห่งเมียนมา สาขาย่างกุ้ง ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งเมียนมา และเจ้าหน้าที่จากธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย ได้พบกันเพื่อหารือเกี่ยวกับการลงทุนเพิ่มเติมของไทยในเมียนมา บริการธนาคารเงินตราต่างประเทศระหว่างเมียนมาและไทย โดยนโยบายของ CBM เพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การส่งเงินการค้าและแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ให้มีการปรับเปลี่ยนจากช่องทางที่ถูกกฎหมายแทนการใช้ช่องทางที่ผิดกฎหมาย การอำนวยความสะดวกในการส่งมอบค่าจ้างของแรงงานเมียนมาในประเทศไทยให้กับครอบครัว การลงทุนเพิ่มเติมจากไทยในเมียนมา การศึกษาและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทางการเงินการดำเนินการแลกเปลี่ยนเงินที่จะได้รับความร่วมมือจากธนาคารไทย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องให้การสนับสนุนทางการเงิน (การจัดหาเงินทุนเพื่อการส่งออกก่อนการจัดส่งและภายหลังการส่งสินค้า) เพื่อพัฒนาการค้าระหว่างไทยและเมียนมา อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และการอำนวยความสะดวกในการโอนเงินตราต่างประเทศระหว่างทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/cbm-governor-meets-thai-banks-officials/

กระทรวงเกษตรกัมพูชา พร้อมจัดงานมหกรรมสินค้าเกษตรเดือน มิ.ย.

กระทรวงเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง (MAFF) พร้อมจัดงานนิทรรศการหมู่บ้านเกษตรกรรมเขมร และเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง “รสชาติของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเขมร” เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรกรรมของกัมพูชาในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่กำลังจะถึง โดยงานนี้มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ผลผลิตภายในประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่น ซึ่งการซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในท้องถิ่นส่งผลดีโดยตรงต่อเกษตรกรท้องถิ่นที่ทุ่มเทเวลาและแรงกาย ภายใต้ทั้งแสงแดดและฝน เพื่อปลูกพืชและนำมาจำหน่าย กล่าวโดย Khim Finan โฆษกกระทรวงเกษตรกรรม เมื่อวานนี้ว่า นอกจากนี้ยังได้กล่าวเสริมอีกว่าผักและผลไม้ที่ปลูกขึ้นในท้องถิ่นคิดเป็นร้อยละ 60 ถึง 70 ของตลาดภายในประเทศ ขณะที่ประมาณร้อยละ 30 ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501495155/ministry-to-host-june-agricultural-product-fair/

MoC-NBC ผลักดันการใช้ป้ายแสดงราคาสินค้าเป็นสกุลเงินเรียล

กระทรวงพาณิชย์ (MoC) และธนาคารชาติกัมพูชา (NBC) ได้จัดการประชุมระดับสูงเพื่อหารือกลยุทธ์ส่งเสริมการใช้เงินสกุลเรียลของประเทศกัมพูชา โดยเห็นพ้องกันว่าการแสดงป้ายราคาเป็นสกุลเงินท้องถิ่นเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งการประชุมครั้งนี้นำโดย Yim Leat รองผู้ว่าการธนาคารชาติกัมพูชา และ Serey Borapich รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย สำหรับวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้คือการจัดระเบียบความร่วมมือระหว่างสองสถาบัน เพื่อส่งเสริมการใช้เงินเรียลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้านธนาคารชาติกัมพูชายังได้นำเสนอวิธีการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ร่วมด้วยซึ่งมีส่วนช่วยในการใช้เงินเรียลมากขึ้น ปัจจุบันปริมาณเงินเรียลที่หมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นจาก 8.5 แสนล้านเรียล (ประมาณ 211 ล้านดอลลาร์) เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นสู่ 14.5 ล้านล้านเรียล (ประมาณ 3.51 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501495175/moc-nbc-push-for-riel-price-tags/