กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นขยายตัว 0.4% มูลค่าแตะ 780 ล้านดอลลาร์

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวมแตะ 780 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 1.9 หรือคิดเป็นมูลค่า 215 ล้านดอลลาร์ ส่งผลทำให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับญี่ปุ่น 565 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง และเครื่องหนัง ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าผืน และพลาสติกจากญี่ปุ่น เป็นสำคัญ ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมถึงญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าสินค้าของกัมพูชาเป็นที่ต้องการของตลาด กล่าวโดย Penn Sovicheat โฆษกกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา โดยในช่วงปี 2022 ปริมาณการค้าระหว่าง กัมพูชา-ญี่ปุ่น มีมูลค่ารวมสูงถึง 1,948 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 1,173 ล้านดอลลาร์ และคิดเป็นการนำเข้าสินค้าของญี่ปุ่นมูลค่า 774 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501318140/cambodias-exports-to-japan-up-0-4-at-780m/

ความหวังผู้ส่งออกไทย เร่งตั้ง ‘รัฐบาลใหม่’ ดันตลาดครึ่งปีหลัง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือน พ.ค.2566 มีมูลค่ารวม 24,340 ล้านดอลลาร์ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วหดตัวร้อยละ 4.6 แต่ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเดือน ม.ค.2566 ที่มูลค่า 20,249 ล้านดอลลาร์ ติดลบร้อยละ 4.5 ต่ำที่สุดในรอบ 23 เดือน ซึ่งกล่าวเสริมว่าการส่งออกได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วและยังดีกว่าบางกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย จึงมองว่าเดือน มิ.ย. นี้จะเห็นตัวเลขที่ดีขึ้น และหากดูในแง่ของดัชนีผู้ซื้อ เรื่องการฟื้นตัวของจีนแม้ว่าจะฟื้นตัวช้าแต่ก็ยังสามารถบังคับคองไปได้ ดีกว่าโซนภูมิภาคยุโรป และอีกตลาดที่มีกำลังซื้อที่สำคัญ คือ อินเดีย สำหรับสถานการณ์ความเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 29 มิ.ย.2566 อยู่ที่ 35.64 บาทต่อดอลลาร์ หากมองปีต่อปีพบว่าอ่อนค่า 1.7% และหากเทียบกับช่วงเดือน ม.ค.2566 อ่อนค่าที่ 3.19% เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินภูมิภาค แต่ถือเป็นทิศทางที่ดีของผู้ประกอบการส่งออกในไทย และอีกปัจจัยคือสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอน จึงส่งผลให้การไหลออกของตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมากระทบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องมุ่งส่งสินค้าที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นไปยังคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐที่ไทยส่งออกเกือบร้อยละ 20 รวมถึงเร่งสิ่งสินค้าไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ที่จะพึ่งพาและพึ่งพิงได้ รวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV (เวียดนาม สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา) ที่ต้องเร่งการค้าชายแดน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1076884

OR – เค-เน็กซ์ฯ ปักหมุดร้านสะดวกซัก “อ๊อตเทริ วอชแอนด์ดราย” สาขาแรกกัมพูชา

นายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจต่างประเทศ นายศิระ ศรีสุกใส ผู้จัดการฝ่ายบริหารธุรกิจไลฟ์สไตล์ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และนายณัฐพงศ์ แก้วตระกูลพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. (กัมพูชา) จำกัด (PTTCL) ร่วมกับ นายกวิน นิทัศนจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น (KNX) เข้าร่วมพิธีลงนามในสัญญามอบสิทธิ Single Unit Franchise ธุรกิจ “อ๊อตเทริ วอชแอนด์ดราย” (Otteri Wash & Dry) ในประเทศกัมพูชา และร่วมเปิดร้านสะดวกซัก “อ๊อตเทริ วอชแอนด์ดราย” สาขาแรกอย่างเป็นทางการ ในสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น Chbar Ampov ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งบริหารโดย บริษัท ปตท. (กัมพูชา) จำกัด (PTTCL) โดยมี นายเชิดเกียรติ อัตถากร เอกอัคราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีดังกล่าว

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1339490

“เวียดนาม” ซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามยังคงเป็นซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ ด้วยมูลค่ากว่า 772.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 31.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ค. ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากเวียดนาม 1.5 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนราว 90% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด นับว่าทำสถิติของการส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังตลาดฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดการณ์ว่าการส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปรากฎการณ์เอลนีโญที่สร้างกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตอาหารในประเทศ ซึ่งมีประชากรกว่า 113 ล้านคน

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-remains-biggest-rice-provider-of-philippines-post127056.html

“เวียดนาม” เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 6 เดือนแรกปี 66 ขยายตัว 0.44%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวเพียง 0.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อลดลง อุปสงค์จากต่างประเทศที่น้อยลง และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ สำนักงานฯ ยังแสดงข้อมูลให้เห็นว่ามีสาขาการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบเป็นรายปี ได้แก่ ถ่านหินและปิโตรเลียม (13.2%), แร่โลหะ (11.5%), ยางพาราและพลาสติก (7.2%), บุหรี่ (6.7%) และเครื่องดื่ม (5.7%) ในขณะที่สาขาการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ (7.7%), กระดาษและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากกระดาษ (7.5%), เสื้อผ้าและยานยนต์ (6.8%)

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ได้ขอความร่วมมือกับหน่วยท้องถิ่นและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ดำเนินโครงการ การวางแผนกลยุทธ์และแผนการในการพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนแก้ไขปัญหากับอุปสรรคที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ที่มา : https://en.nhandan.vn/index-of-industrial-production-up-044-in-six-months-post127057.html

“เมียนมา” ชี้ความต้องการน้ำมันปาล์มในประเทศหดตัว เหตุนำเข้าจากต่างประเทศพุ่ง

จากข้อมูลของตลาดน้ำมันปาล์มในย่างกุ้ง เปิดเผยว่าได้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ 20,000 ตัน ในช่วงต้นเดือน ก.ค. ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันปาล์มในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงตลาดย่างกุ้งลดลงอย่างมาก และเมื่อพิจารณาราคาน้ำมันปาล์ม พบว่าราคาปรับตัวสูงขึ้น เนื่องมาจากความยากลำบากในการซื้อน้ำมันปาล์มเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ในขณะที่ผู้ค้าน้ำมันรายหนึ่งบอกว่าราคาน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 8,000 – 8,200 จ๊าตต่อวิสซ์ ทั้งนี้ จากเหตุที่น้ำมันปาล์มในตลาดมีราคาสูง ทางหน่วยงานได้หารือและเจรจากับผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 1 ก.ค. เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ เมียนมาจะนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/demand-for-palm-oil-decreases-due-to-large-foreign-palm-oil-imports/#article-title