จับตาเวียดนามวิกฤตหนักไฟฟ้าส่อขาดแคลน

“เวียดนาม” ประเทศ “น่าลงทุน” และมีศักยภาพการพัฒนาอันดับต้น ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วันนี้…กำลังเผชิญวิกฤตพลังงานไฟฟ้าขาดแคลนอย่างหนักมาตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และส่อแววยืดเยื้อไปจนถึงฤดูร้อนในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ถึงขั้นต้องประกาศเวียนดับไฟฟ้าทั่วประเทศเพื่อรับมือกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยบางพื้นที่อาจต้องดับไฟฟ้านานกว่า 7 ชั่วโมง ทั้งที่ประเทศเวียดนามมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งในระบบมากถึง 80,704 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 45,434 เมกะวัตต์ สะท้อนถึงปัญหาความมั่นคงระบบไฟฟ้าและคุณภาพไฟฟ้าของเวียดนามที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล

ที่มา : https://www.thaipost.net/hi-light/392968/

“เวียดนาม” แก้ไขปัญหาไฟดับ! ในภาคเหนือของประเทศ

ตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. โรงไฟฟ้าพลังความร้อนท้ายบิ่ญ 2 (Thai Binh) ได้กลับมาดำเนินกิจการตามปกติแล้ว โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ย 8 ล้านกิโลวัตต์ต่อวัน และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงิเซิน (Nghi Son) คาดว่าจะเดินเครื่องด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้า 13 ล้านกิโลวัตต์ต่อวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. ทั้งนี้ ตามข้อมูลของการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) เปิดเผยว่าระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่ในระดับวิกฤต เครื่องกำเนิดไฟฟ้าบางเครื่องกลับมาทำงานอีกครั้ง แม้ว่ากำลังการผลิตจะลดลงก็ตาม เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในภาคเหนือของเวียดนาม ทางศูนย์สั่งการพลังงานแห่งชาติได้เพิ่มกำลังส่งระยะสั้น 2,600 MVA บนสายส่ง Nho Quan-Nghi Son 2-Ha Tinh ขนาด 500 กิโลวัตต์ เพื่ออำนวยความสะดวกจากภาคใต้สู่ภาคเหนือของประเทศในช่วงเวลาเร่งด่วน

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/electricity-shortage-in-northern-vietnam-eases/

“อียู” ประกาศผ่อนปรนกฎระเบียบของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากเวียดนาม

การแก้ไขกฎระเบียบฉบับที่ 2019/1973 ที่แผยแพร่เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. เกี่ยวกับมาตรการฉุกเฉินในการควบคุมการส่งออกอาหารไปยังสหภาพยุโรป ด้วยเหตุนี้ สหภาพยุโรปจึงย้ายข้อกำหนดของสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเวียดนามจากภาคผนวก 2 ซึ่งต้องมีใบรับรองสุขอนามัย (HC) และการควบคุมในอัตรา 20% ที่ประตูชายแดนไปยังภาคผนวก 1 ที่กำหนดให้ควบคุมผลิตภัณฑ์เพียง 20% ที่ประตูพรมแดนสหภาพยุโรป การตัดสินใจครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MoIT) ในการควบคุมความปลอดภัยของอาหารและสนับสนุนธุรกิจในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมคุณภาพของผลิตภัณฑ์เวียดนามที่จะเข้าไปสู่ตลาดสหภาพยุโรปนั้น จำเป็นที่ต้องผลักดันภาคธุรกิจให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของอาหารของสหภาพยุโรปอย่างเคร่งครัด

ที่มา : https://en.baochinhphu.vn/eu-eases-regulations-on-viet-nams-instant-noodles-11123061211192207.htm

“เมียนมา” เผยราคาถั่วเขียวผิวดำ พุ่ง 2.4 ล้านจ๊าดต่อตัน

จากข้อมูล ณ วันที่ 10 มิ.ย. 2566 ระบุว่าราคาถั่วเขียวผิวดำ (Black gram) อยู่ที่ 2.45 ล้านจ๊าดต่อตัน (FAQ/RC) และ 2.69 ล้านจ๊าดต่อตัน (SQ/RC) ในตลาดย่างกุ้ง ขณะที่ราคา FOB อยู่ที่ 950-970 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน โดยราคาปัจจุบันทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2558 ราคาอยู่ที่ 2.456 ล้านจ๊าดต่อตัน (FAQ/RC) และ 2.656 ล้านจ๊าดต่อตัน (SQ/RC) ทั้งนี้ ในช่วงที่เกิดความวุ่นวายในตลาดถั่วพัลส์ เมียนมา ในปี 2551 พบว่าราคาเขียวผิวดำ อยู่ที่ 700,000 จ๊าดต่อตัน และต่อมาราคาปรับตัวลดลงเหลือ 360,000 จ๊าดต่อตัน นอกจากนี้ ยังเผชิญกับข้อจำกัดในการนำเข้าถั่วพัลส์และส่งผลให้อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลในปัจจุบัน ราคากลับมาพุ่งสูงขึ้นกว่า 2.4 ล้านจ๊าดต่อตัน เนื่องจากค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/black-gram-price-rockets-to-above-k2-4-mln-per-tonne/#article-title

ภาคธุรกิจ สปป.ลาว-จีน ร่วมส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกัน

การประชุมด้านการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงเศรษฐกิจและการค้ากุ้ยหยาง-เวียงจันทน์ จัดโดยสำนักการค้าเทศบาลกุ้ยหยาง ร่วมกับสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว (LNCCI) ซึ่งจัดขึ้น ณ เวียงจันทน์ ด้าน Atsaphangthong Siphandone นายกเทศมนตรีเวียงจันทน์ รวมถึง Manothong Vongxay รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ (MOIC) ของ สปป.ลาว ได้เข้าร่วมและเป็นสักขีพยานในการลงนามส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันกับ Ma Ningyu รองเลขาธิการคณะกรรมการพรรคเทศบาลกุ้ยหยางและนายกเทศมนตรีของกุ้ยหยาง โดยหวังว่าจะเป็นการพัฒนาให้รากฐานอุตสาหกรรมมีความมั่นคง และสร้างความได้เปรียบทางระบบนิเวศที่โดดเด่นกับประเทศในกลุ่มสมาชิก RCEP ที่เป็นตลาดสำคัญสำหรับจีน ผ่านการใช้ประโยชน์บนทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน เป็นช่องทางในการขนส่งสำคัญ ภายใต้โครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (BRI) เพื่อใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งฐานอุตสาหกรรม และนโยบายที่เอื้ออำนวย รวมถึงการขยายการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_laochina111.php

ในช่วง 5 เดือนแรงของปี กัมพูชาส่งออกแตะ 9.18 พันล้านดอลลาร์

การส่งออกของกัมพูชาในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2023 มูลค่ารวมแตะ 9.18 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 2.4 จากเมื่อช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการส่งออกรวมมูลค่า 9.41 พันล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า สินค้าเดินทาง จักรยาน และสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง กล้วย และมะม่วง สำหรับประเทศส่งออก 5 อันดับแรกของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐฯ เวียดนาม จีน ไทย และญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ข้อตกลงการค้าเสรีกับจีน (CCFTA) และเกาหลี (CKFTA) จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการส่งออกของกัมพูชา

ในขณะเดียวกันการนำเข้าของกัมพูชาจากต่างประเทศมีมูลค่ารวม 10,109 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว ลดลงร้อยละ 22.6 จากมูลค่ารวม 13,057 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปีก่อนหน้า ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซ วัตถุดิบสำหรับเสื้อผ้า รองเท้า สินค้าเพื่อการเดินทาง ยานพาหนะ เครื่องจักร เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงสินค้าอื่นๆ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306111/cambodia-exports-reach-9-18-billion-in-five-months/

นายกฯ ฮุน เซน คาดเศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัว 5.6% ปีนี้

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (11 มิ.ย.) ว่า เศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 5.6 ในปี 2023 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.2 ในปี 2022 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลายลง ส่งผลให้ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวภายในประเทศกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ขณะที่ธนาคารโลกได้กล่าวเสริมในระหว่างการอัพเดทภาวะเศรษฐกิจในช่วงเดือนพฤษภาคมว่าเศรษฐกิจของกัมพูชายังคงแข็งแกร่ง โดยได้แรงหนุนจากความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค และภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มมีการฟื้นตัวหลังจากที่ทางการจีนได้ผ่อนคลายมาตรการด้านการเดินทาง รวมถึงภาคการเกษตรที่เริ่มเห็นถึงการขยายตัวด้านการส่งออก อีกทั้งข้อตกลงความหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP), ข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-สาธารณรัฐเกาหลี จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306466/cambodias-economy-projected-to-grow-by-5-6-pct-this-year-say-prime-minister-hun-sen/