นายกฯ ฮุน เซน ประเมินการถอนสิทธิพิเศษ EBA ของ EU ไม่กระทบกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวว่า ภาคการผลิตของกัมพูชาจะไม่ได้รับผลกระทบจากการถอนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร Everything But Arms (EBA) ของสหภาพยุโรป (EU) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยได้กล่าวไว้ในระหว่างการประชุมกับแรงงานกว่า 16,000 คน ในจังหวัดกำปงสปือเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (4 พ.ค.) ซึ่งก่อนหน้ากัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวเนื่องจากประเทศถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) แต่ด้วยกัมพูชามีโครงสร้างรายได้ของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงด้วยเหตุผลที่ว่ากัมพูชาไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขบางประการเกี่ยวกับการเมือง และสิทธิมนุษยชน จึงทำให้ในอนาคตอันใกล้กัมพูชาจะต้องเสียภาษีสำหรับการส่งออกโดยปราศจากสิทธิพิเศษ EBA ไปยังตลาดสหภาพยุโรป โดยในปี 2020 สหภาพยุโรปได้ถอนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรที่ร้อยละ 20 จากกลุ่มสมาชิก 27 ประเทศ รวมถึงกัมพูชา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ข้อมูลการค้าที่เผยแพร่โดยกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา (GDCE) กล่าวเสริมว่าในปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มรองเท้า เสื้อผ้า และสินค้าเผื่อการเดินทาง (GFT) ขยายตัวประมาณกว่าร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากมูลค่าการส่งออกรวม 10.99 พันล้านดอลลาร์ สู่มูลค่า 12.63 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งบ่งชี้ว่าการสูญเสียสิทธิพิเศษ EBA ไม่ได้ส่งผลต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าว โดยชดเชยด้วยการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ อย่างสหรัฐฯ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501302667/eba-withdrawal-not-to-impact-cambodia-says-pm/

กัมพูชาตั้งเป้าเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ภายในปี 2030

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน มั่นใจว่ากัมพูชาจะกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางค่อนสูง ภายในปี 2030 แม้จะมีความท้าทายจากเศรษฐกิจโลก สงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย และวิกฤตการสภาพภูมิอากาศ ในปัจจุบัน โดยนายกฯ ได้กล่าวไว้ในระหว่างพิธีสำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัย Royal University of Law and Economics เมื่อวานนี้ (5 พ.ค.) ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาถือเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) และคาดว่าจะปรับระดับขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนสูง ภายในปี 2030 โดยเกณฑ์ของธนาคารโลกสำหรับประเทศที่มีรายได้น้อยสะท้อนมาจากค่า GNI (รายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัว) ที่น้อยกว่า 1,025 ดอลลาร์ สำหรับประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางค่อนล่างอยู่ระหว่าง 1,026-4,035 ดอลลาร์ และประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนสูงอยู่ในช่วง 4,037-12,745 ดอลลาร์ต่อหัว ซึ่งเศรษฐกิจของกัมพูชาคาดการณ์ว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 5.5 ในปี 2023 และขยายตัวที่ร้อยละ 6 ในปี 2024 เนื่องจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งและการเติบโตที่รวดเร็วในภาคบริการ ตามการรายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ในเดือนเมษายน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501302664/cambodia-to-become-higher-middle-income-country-by-2030/

เงินเฟ้อ พ.ค. อ่อนแรงรอบ 21 เดือน ขึ้นแค่ 0.53% พณ.กางปัจจัยกดเงินเฟ้อต่ำต่อ

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ของไทยเดือนพฤษภาคม 2566 เท่ากับ 107.19 สูงขึ้น 0.53% เทียบเดือนพฤษภาคม 2565 และลดลง 0.71% จากเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และดัชนีต่ำสุดรอบ 21 เดือน นับจากเดือนกันยายน 2564 นายวิชานัน กล่าวว่า สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า ราคาสินค้าหมวดอาหารสดชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมปีนี้ชะลอตัวค่อนข้างมาก และหากเทียบอัตราเงินเฟ้อไทยกับต่างประเทศ อิงตัวเลขเดือนเมษายน 2566 พบว่าไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศ และเทียบทั่วโลก 136 ประเทศ ไทยต่ำในอันดับ 14 นายวิชานันกล่าวต่อว่า สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักกลุ่มอาหารสดและพลังงาน) สูงขึ้น 1.55% เทียบเดือนพฤษภาคม 2565 และลบ 0.06% จากเดือนเมษายนปีนี้ที่สูงขึ้น 1.66% ส่งผลให้ 5 เดือนแรก 2566 เงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูง 2.96% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และเงินเฟ้อพื้นฐานสูง 1.98%

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_4015097

ถนนเส้นประวัติศาสตร์!‘ทางหลวงหมายเลข 12’เชื่อม 4 ชาติอาเซียน หนุนค้าชายแดน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอย่างเชื่อมโยง โดยทางหลวงหมายเลข 12 แนวใหม่นี้ยังเชื่อมต่อ 4 ประเทศอาเซียนเข้าด้วยกัน โดยเริ่มจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผ่านไปยังจังหวัดมุกดาหารเชื่อมต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไปสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในขณะที่อีกฝั่งสามารถวิ่งไปยังเมียนมาได้ นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมทะเลจีนใต้กับมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกันอีกด้วย ถือเป็นทางเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งยังเป็นทางลัดเชื่อมจังหวัดกาฬสินธุ์-มุกดาหาร ให้ประชาชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวสามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก และลดระยะการในการเดินทาง ตลอดจนยังช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เพิ่มมูลค่าการค้าตามแนวชายแดน ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอีกด้วย ซึ่งจากข้อมูลของกองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารมีการดำเนินการลงทุนแล้ว 3 โครงการ วงเงิน 392 ล้านบาท จากโครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯจาก BOI 5 โครงการ วงเงิน 2,102 ล้านบาท และมีธุรกิจตั้งใหม่ 868 ราย วงเงิน 1,655 ล้านบาท

ที่มา : https://www.naewna.com/business/735278

ไฟฟ้าดับ! เวียดนาม กระทบศูนย์กลางการผลิตของธุรกิจข้ามชาติ

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สภาหอการค้าสหภาพยุโรป (EuroCham) ได้ส่งจดหมายถึงกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าถึงประเด็นการตัดไฟฟ้าบ่อยครั้งและไม่มีการแจ้งล่วงหน้าต่อสวนอุตสาหกรรมในจังหวัดทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งมีผู้ผลิตระดับโลก อาทิเช่น ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) และซัมซุง (Samsung) ตลอดจนเรียกร้องให้มีมาตรการเร่งด่วนเพื่อจัดการกับเหตุฉุกเฉิน ทั้งนี้ การไฟฟ้าเวียดนาม เร่งหารือเกี่ยวกับสถานการณ์และมาตรการที่จะสามารถจำกัดถึงผลกระทบดังกล่าว นอกจากนี้ จากรายงานของสื่อที่อ้างหน่วยงานการไฟฟ้า (EVN) ระบุว่ากำลังไฟฟ้าของโรงงานแคนอนที่ตั้งอยู่ในจังหวัดบั๊กนิญ จะถูกตัดไฟฟ้าตั้งแต่เวลา 8.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันจันทร์จนถึงเวลา 05.00 น. ของวันอังคาร ซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังให้กับสวนอุตสาหกรรมอย่างน้อย 5 แห่งและหมู่บ้านหลายแห่งในจังหวัด ถูกตัดบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นเวลาหลายชั่วโมงในช่วงวันแรกของสัปดาห์นี้

ที่มา : https://www.reuters.com/markets/asia/vietnams-power-blackouts-hit-multinationals-manufacturing-hubs-2023-06-05/

“อุตสาหกรรมน้ำตาลเวียดนาม” มุ่งฟื้นฟูตลาดในประเทศ

จากข้อมูลของ Mercantile Exchange of Vietnam (MXV) เปิดเผยว่าราคาน้ำตาลในตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ (ICE) ของสหรัฐฯ ณ วันที่ 30 พ.ค. อยู่ที่ 559.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน นับว่าเป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับสูงหลังจากในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับต้นปีนี้ แม้ว่าเผชิญกับผลผลิตตกต่ำในประเทศ โดยเฉพาะอินเดียที่เป็นซัพพลายเออร์น้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลกที่ทำการส่งออกน้ำตาลได้เพียง 6 ล้านตันในปี 2565-2566 ซึ่งลดลงอย่างมากจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12 ล้านตันจากครั้งก่อน ทั้งนี้ จากข้อมูลของคุณ Pham Quang Anh จากบริษัท MXV ระบุว่าราคาน้ำตาลคาดว่าจะยังคงสูงต่อไปในอนาคต เนื่องจากข่าวที่แพร่หลายในตลาดถึงเรื่องการขาดแคลนน้ำตาล เหตุการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาลของเวียดนามและบริษัทน้ำตาลในประเทศที่จะกลับมาฟื้นตัว

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-sugar-industry-hopes-to-regain-home-market-2150036.html