ผวจ.ตราด พัฒนาเศรษฐกิจหลายด้าน เพิ่มศักยภาพการค้าชายแดนกัมพูชา

นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดเผยว่า จังหวัดตราดเป็นจังหวัดสุดท้ายของภาคตะวันออกและเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงทางด้านภูมิศาสตร์ เพราะมีพื้นที่ติดชายแดนไทย-กัมพูชาทั้ง 3 จังหวัดสำคัญของกัมพูชา คือด้าน อ.บ่อไร่ ติดกับ อ.สำรูด จ.พระตะบอง ที่ปัจจุบันมีจุดผ่อนปรนการค้าเพื่อไปมาหาสู่และค้าขายสินค้าระหว่างกัน,ด้าน อ.เมือง ติดกับ อ.เวียงเวล จ.โพธิสัตว์ ที่ยังเป็นช่องทางธรรมชาติ แต่กำลังมีความพยายามยกระดับให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร และ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ติดกับ อ.มณฑลเสมา จ.เกาะกง ที่ปัจจุบันเป็นจุดผ่านแดนถาวร ซึ่งมีการค้าขายระหว่างกันมีมูลค่ากว่า 3.8 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันจังหวัดตราด ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทั้งชายทะเล และมีเกาะกว่า 52 เกาะ ซึ่งปัจจุบันมี 3-4 เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านคน และมีรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวเกิน 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

ที่มา : https://www.naewna.com/local/733732

‘เวียดนาม’ เผย 5 เดือนแรกของปี 66 ดึงดูดเม็ดเงินทุน FDI แตะ 10.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำนักงานส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ (FIA) เปิดเผยข้อมูลเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามายังเวียดนามตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงวันที่ 20 พ.ค.66 รวมถึงการลงทุนใหม่ การปรับเพิ่มเงินลงทุนและการซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ พบว่ามีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นราว 10.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้น 10.6 จุดเมื่อเทียบกับตัวเลขในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังคงเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่ามากกว่า 6.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาภาคการเงินธนาคาร อสังหาริมทรัพย์และวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี ในขณะที่สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ลงทุนไปกว่า 2.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยญี่ปุ่นและจีน อีกทั้ง ฮานอย (Hanoi) เป็นเมืองที่ได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด มีมูลค่ากว่า 1.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 17.2% ของเงินลงทุนรวม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1544340/viet-nam-s-five-month-fdi-reached-nearly-us-10-86-billion.html

‘ผู้ส่งออกทุเรียนไทย’ เผชิญกับภัยคุกคามจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ในตลาดจีน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดว่าเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนไทย จำเป็นต้องรักษาคุณภาพของผลไม้ให้อยู่ในระดับสูง เนื่องจากเผชิญกับภัยคุกคามจากคู่แข่งสำคัญ ได้แก่ เวียดนามและฟิลิปปินส์ในตลาดจีน ในขณะที่จากรายงานของสำนักส่งเสริมการค้า ณ นครหนานหนิง ระบุว่าราคาขายส่งทุเรียนในตลาดจีนปรับตัวลดลงในช่วงต้นเดือน พ.ค. สาเหตุสำคัญมาจากผลผลิตผลไม้ที่เพิ่มขึ้น หลังจากผู้ค้าส่งจีนมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากเวียดนามและฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ ราคาทุเรียนหมอนทองของไทยในเดือน พ.ค. ลดลงเหลือราว 36-48 หยวน หรือประมาณ 177-266 บาทต่อกิโลกรัม ขณะเดียวกันราคาทุเรียนหมอนทองจากเวียดนาม อยู่ที่ประมาณ 32-41 หยวนต่อกิโลกรัม ตามมาด้วยราคาทุเรียนพันธุ์ปูยัตจากฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 37-45 หยวนต่อกิโลกรัม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1541981/viet-nam-will-continue-to-be-prime-destination-for-fdi-vinacapital.html

‘อาเซียน’ ส่งสิ่งของช่วยเหลือเมียนมา บรรเทาทุกข์เหยื่อจากพายุไซโคลนโมคา

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) นำส่งมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์เมื่อเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินของอาเซียน (DELSA) ได้อนุมัติวงเงินช่วยเหลือแก่เมียนมา 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลน ‘โมคา’ ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว พบว่ามีความเสียหายอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของสาธารณะ รวมถึงมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 145 คน บาดเจ็บไปกว่า 131 คน และผู้คน 912,000 คน ต้องอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย ทั้งนี้ นายเกา กิม ฮวน เลขาธิการอาเซียน แสดงความเสียใจต่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501297944/asean-delivers-relief-supplies-to-myanmar-to-help-victims-of-cyclone-mocha/

Lao Agro Tech ลงนามในข้อตกลงพัฒนาสวนอุตสาหกรรมในสาละวัน

รัฐบาล สปป.ลาว ได้อนุมัติให้ บริษัท Lao Agro Tech จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการพัฒนาสวนอุตสาหกรรมในอำเภอ Ta-oy และ Samuay ในจังหวัดสาละวัน โดยข้อตกลงอนุญาตให้บริษัทได้รับสัมปทานบนที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งได้รับการลงนามเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ณ กระทรวงการวางแผนและการลงทุน นำโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน Dr.Sthabandith Insisienmay ร่วมกับประธานบริหาร บริษัท Lao Agro Tech จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้งสองฝ่ายตั้งเป้ามุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของ สปป.ลาว และส่งเสริมการพัฒนาด้านการเกษตรและป่าไม้ เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมใน สปป.ลาว ในการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้าน บริษัท Lao Agro Tech ปัจจุบันได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สปป.ลาว มีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรและการผลิต โดยมีนโยบายในการช่วยผลักดันให้ใช้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นแหล่งพลังงานทดแทนป้อนให้กับโรงงานไบโอดีเซล ซึ่งบริษัทยังมุ่งเน้นการเพิ่มการจ้างงานให้กับเกษตรกรและสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นผ่านการเชื่อมโยงทางธุรกิจ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten101_Lao_Agro_y23.php

กัมพูชา-สหราชอาณาจักร ลงนาม MoU บนข้อตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ร่วมกับกระทรวงการค้าระหว่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักรได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในการจัดตั้ง Joint Trade and Investment Forum (JTIF) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงส่งเสริมการส่งออกสินค้าของกัมพูชาไปยังตลาดสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม และจะเป็นการเพิ่มปริมาณการนำเข้า การลงทุนของอังกฤษไปยังกัมพูชามากขึ้น ซึ่งการลงนามดังกล่าวนำโดย Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ Dominic Williams เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกัมพูชา เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา ณ กระทรวงพาณิชย์ จากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา สหราชอาณาจักรถือเป็นหนึ่งในคู่ค้ารายใหญ่ของกัมพูชา โดยมีปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศในปี 2022 สูงถึง 977.43 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 24.42 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501297887/cambodia-uk-sign-trade-and-investment-mou/

ม.ค.-เม.ย. กัมพูชาส่งออกแตะ 7.23 พันล้านดอลลาร์

ในช่วงเดือน มกราคม-เมษายน 2023 กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศมูลค่าแตะ 7.23 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 4.9 จากมูลค่า 7.6 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นำโดยเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าสำหรับการเดินทาง รวมถึงผลิตผลทางการเกษตรเป็นสินค้าหลักสำหรับการส่งออกของกัมพูชา รายงานโดยนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ด้านกรมศุลกากรและสรรพสามิต ได้รายงานเสริมว่า ปลายทางการส่งออก 5 อันดับแรกของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม สิงคโปร์ จีน และญี่ปุ่น เป็นสำคัญ ในขณะเดียวกัน กัมพูชาทำการนำเข้ารวม 7.92 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันและก๊าซ วัตถุดิบสำหรับเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสินค้าเดินทาง ยานพาหนะ เครื่องจักร เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501297920/cambodia-exports-products-worth-7-23-billion-in-january-april-as-deficit-widens/

EIU ชี้ ‘เวียดนาม’ พิสูจน์ให้เห็นถึงการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

จากการจัดอันดับประจำปีของ Economist Intelligence Unit (EIU) ระบุว่าอันดับของเวียดนามเลื่อนขึ้น 12 อันดับจากการจัดอันดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ วัดโดยใช้ตัวชี้วัด 91 ตัวชี้วัดที่สำคัญ รายงานดังกล่าวได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของประเทศเวียดนาม ไทยและอินเดียที่เป็นประเทศในเอเชียที่มีความก้าวหน้าในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ทั้งนี้ ประเทศไทยเลื่อนขึ้น 10 อันดับ และอินเดียเลื่อนขึ้น 6 อันดับ ในขณะที่สิงคโปร์อยู่ในอันดับต้นๆ ของการจัดอันดับในครั้งนี้ นอกจากนี้ หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FIA) เปิดเผยว่ามีจำนวน 750 โครงการใหม่ที่ได้รับใบอนุญาตการลงทุน เป็นมูลค่ากว่า 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 65.2% และ 11.1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-shows-significant-improvement-in-business-environment-eiu/253531.vnp