‘RCEP’ ถกเข้ม เร่งติดตามการดำเนินงาน หนุนผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ คาดสมาชิก 15 ประเทศ พร้อมใช้ความตกลงปีนี้

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลการประชุมคณะกรรมการร่วม RCEP ครั้งที่ 3 เร่งติดตามการดำเนินงานตามพันธกรณีความตกลง RCEP ทั้งการปรับโอนพิกัดศุลกากร การจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุน การจัดสรรงบประมาณ คาดสมาชิก 15 ประเทศ พร้อมใช้ความตกลงปีนี้ เดินหน้าหาแนวทางสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจผ่านแผนงาน มุ่งเน้นทั้งการค้าสินค้า บริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ สำหรับในช่วง 11 เดือน (ม.ค. – พ.ย. 2565) มีการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง RCEP เพื่อส่งออกไปตลาด RCEP มูลค่า 919.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการส่งออกไปเกาหลีใต้มากที่สุด รองลงมา คือ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ สำหรับสินค้าส่งออกที่ขอใช้สิทธิ์ RCEP สูงสุด อาทิ น้ำมันหล่อลื่น ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลังเส้น ทุเรียนสด และเลนส์สำหรับกล้องถ่ายภาพ

ที่มา : http://www.acnews.net/detailnews.php?news_id=N256674555

“เวียดนาม” เผย CPI เดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน ก.พ. 2566 เพิ่มขึ้น 0.45% เมื่อเทียบรายเดือน และ 4.31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การปรับขึ้นของดัชนี CPI เป็นผลมาจากราคาเชื้อเพลิงในประเทศที่สูงขึ้น เหตุจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นและค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น หลังจากเทศกาลปีใหม่ทางจันทรคติ ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการหลัก มี 5 กลุ่มจาก 11 กลุ่มที่ผลักดันให้ดัชนี CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบรายเดือน ได้แก่ กลุ่มขนส่งที่เพิ่มขึ้นสูงสุด 2.11% จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ตามมาด้วยราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการขนส่งสาธารณะ ค่าบริการรถไฟโดยสาร ค่าที่อยู่อาศัยและการก่อสร้าง โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น และราคาก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า และค่าบำรุงรักษาที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 0.25% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 4.96% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-cpi-edges-up-in-february/

“เวียดนาม” เผยปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไตรมาสแรก

การลงทุน การบริโภคในประเทศและการค้าต่างประเทศเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในเดือน ก.พ. และไตรมาสแรกของปีนี้ จากข้อมูลของกระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยว่าภาวะเศรษฐกิจในเดือน ม.ค. 2566 ยังคงอยู่ในทิศทางที่เป็นบวกและเศรษฐกิจมหภาคยังอยู่ในระดับทรงตัว โดยเฉพาะดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 4.89% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ตลาดการเงิน สินเชื่อขยายตัว 0.65% เมื่อเทียบกับปี 2565 ทั้งนี้ รายรับงบประมาณในเดือน ม.ค. สูงถึง 11.3% ของประมาณการรับรายรับต่อปี การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐฯ เร่งปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนและส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสินเชื่อธุรกิจ ตลอดจนสนับสนุนกำลังซื้อภายในประเทศผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : https://ven.vn/q1-economic-growth-drivers-46867.html

‘นายกฯ สปป.ลาว’ วอนผู้ประกอบการรถไฟ เร่งปรับปรุงการให้บริการ

นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีของสปป.ลาว ได้ขอให้บริษัททางรถไฟลาว-จีน (Laos-China Railway Co. Ltd : LCRC) ช่วยปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกประจำสถานีรถไฟและการให้บริการอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายกฯ และเจ้าหน้าที่ได้เข้าเยี่ยมชมสถานีรถไฟเวียงจันทน์ที่ตั้งอยู่ในเขตไซทำนี ตลอดจนเยี่ยมชมที่จำหน่ายตั๋ว พื้นที่รอผู้โดยสาร ร้านอาหารและสถานที่อื่นๆ เป็นต้น ในวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีและคณะเข้าร่วมการประชุมที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทรถไฟลาว-จีน จำกัด โดยเจ้าหน้าที่ของบริษัทได้สรุปแผนการดำเนินการรถไฟในอนาคต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten42_PMurges_y23.php

รัสเซียอนุมัติวีซ่าท่องเที่ยว 6 เดือน สำหรับพลเมืองเมียนมา

กระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา เปิดเผยว่า สหพันธรัฐรัสเซียอนุมัติวีซ่าท่องเที่ยว 6 เดือนสำหรับพลเมืองของ 19 ประเทศ รวมไปถึงเมียนมา โดยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 นายกรัฐมนตรีมิคาอิล มิชูสตินของรัสเซียได้ลงนามในกฤษฎีกาของรัฐบาลสหพันธรัฐรัสเซียฉบับที่ 372-r ที่ระบุว่าพลเมืองของ 19 ประเทศที่ได้อนุมัติวีซ่าท่องเที่ยวจะมีระยะเวลานานถึง 6 เดือน โดยประเทศที่ได้รับการอนุมัติวีซ่า ได้แก่ บาห์เรน บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน กัมพูชา จีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี คูเวต สปป.ลาว มาเลเซีย เม็กซิโก เมียนมา โอมาน ซาอุดีอาระเบีย เซอร์เบีย ไทย เตอร์กิเย และฟิลิปปินส์

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/russia-approves-6-month-tourist-visa-for-citizens-of-19-countries-including-myanmar/

ทางการกัมพูชารายงานการใช้อินเทอร์เน็ตมือถือภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น

กระทรวงโทรคมนาคมกัมพูชา รายงานถึงผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์บนมือถือในกัมพูชา ที่มีจำนวนกว่า 19.5 ล้านหมายเลข มากกว่าจำนวนประชากรในปัจจุบันที่ 16 ล้านคน ภายใต้การสนับสนุนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลกัมพูชา ด้าน Chhin Ken ประธานสมาคมเทคโนโลยีดิจิทัลกัมพูชา กล่าวเสริมว่า ชาวกัมพูชาเกือบทุกคนมีสมาร์ทโฟนนำไปสู่การใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับการท่องโซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมถึงเพื่อการศึกษา และช้อปปิ้งออนไลน์ โดยรัฐบาลกัมพูชามียุทธศาสตร์ที่จะเสริมความแข็งแกร่งและขยายโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ผ่านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G และเพื่อวางรากฐานสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501246252/cambodia-sees-internet-mobile-phone-subscriptions-surpass-population/

กัมพูชาขึ้นแท่นผู้ส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ระดับโลก

นายกรัฐมนตรีฮุนเซน กล่าวว่า กัมพูชาอาจกลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้ส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์รายใหญ่ของโลก ด้วยศักยภาพในการเพาะปลูกที่มีอยู่สูง แต่ยังมีข้อจำกัดในด้านการแปรรูป ซึ่งปีที่ผ่านมากัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปประมาณกว่า 1 ล้านตัน โดย นายกฯ ได้เรียกร้องให้ภาคเอกชนและนักลงทุนเข้าลงทุนจัดตั้งโรงงานแปรรูป เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ภายใต้นโยบายเกี่ยวกับการสนับสนุนการผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์สำหรับปี 2022-2027 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพในเชิงแข่งขัน ส่งเสริมอุตสาหกรรม และเพิ่มการแปรรูปให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 25 ภายในปี 2027 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ภายในปี 2032 โดยรัฐบาลยังมุ่งส่งเสริมการส่งออกผ่านการกระจายตลาด การเชื่อมโยงข้ามภูมิภาค การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการช่วยเหลือเกี่ยวกับการลดต้นทุน ซึ่งในปี 2022 กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์สดมูลค่ารวมกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ โดยผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดคือเวียดนาม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501246447/cambodia-to-be-main-cashew-exporter/