จับตา “ค้าปลีกเวียดนาม” มีแนวโน้มขยายตัว ปี 2566

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MoIT) เปิดเผยว่าขนาดของตลาดค้าปลีกเวียดนาม อยู่ที่ 142 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะขยายตัวสูงถึง 350 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 คิดเป็นสัดส่วน 59% ของ GDP ถึงแม้ว่าในปีนี้ สถานกาณณ์ทางเศรษฐกิจจะเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ แต่ว่าผู้เชี่ยวชาญมีมุมมองว่าในปีนี้จะเป็นปีที่เริ่มฟื้นตัวของภาคค้าปลีกเวียดนาม หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากมีสัญญาการกลับมาของนักลงทุนและความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากการสำรวจของ Vietnam Report พบว่าผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนใหญ่ 53.8% มองว่าสถานการณ์ธุรกิจอยู่ในระดับเท่าเดิมและดีขึ้นเมื่อเทียบกับระดับก่อนการระบาด นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย ได้อัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มอีก 852.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปยังตลาดเวียดนามในอีก 5 ปีข้างหน้า

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/retail-market-predicted-to-bustle-in-2023/246819.vnp

ปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเมียนมาเริ่มกลับมาคึกคัก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวของเมียนมา เผย ปี 2565 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าเมียนมาเพิ่มขึ้น 78% เมื่อเทียบกับปี 2564 ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ไทย อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และรัสเซีย เพื่อเป็นการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของประเทศเมียนมา และได้ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหพันธ์การท่องเที่ยวโลก   เพื่อเปิดตลาดการท่องเที่ยวของประเทศผ่านแคมเปญและกิจกรรมต่างๆ  โดยการจัดนิทรรศการส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างประเทศ  สายการบินในประเทศสามารถกลับมาให้บริการได้อีกครั้ง ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังได้เร่งผลักดันให้สมาคมโรงแรมและการท่องเที่ยวและธุรกิจในอุตสาหกรรม ร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวของเมียนมา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/increasing-numbers-of-foreigners-entering-myanmar-in-2022/#article-title

กระทรวงเกษตร สปป.ลาว ร่วมกับ FAO เปิดตัวโครงการสนับสนุนด้านความมั่นคงทางอาหาร

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำลังเดินหน้าช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบทใน สปป.ลาว ด้วยการลงนามในโครงการ 3 โครงการ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (24 ม.ค.) โดยทั้งสามโครงการ ได้แก่ การเสริมสร้างขีดความสามารถในการวางแผนและพัฒนาแผนแม่บทเกี่ยวกับชา, ความหลากหลายทางชีวภาพในภาคเกษตร และความช่วยเหลือด้านเทคนิคสำหรับการพัฒนาแผนปฏิบัติการแห่งชาติสำหรับระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยได้รับการลงนามระหว่างกระทรวงเกษตรและป่าไม้ กับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่ง FAO ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงเกษตรและป่าไม้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเพิ่มเติมในสามประเด็นหลักที่สอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญของภาครัฐบาล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน การค้า ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการให้กับ สปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_FAO18.php

รายได้ต่อหัวในจังหวัดพระตะบองเพิ่มขึ้นเป็น 1,760 ดอลลาร์ ในช่วงเวลา 5 ปี

จังหวัดพระตะบองซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชา มีการพัฒนาเป็นอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยในจังหวัดมีเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ ส่งผลทำให้มีโรงงานและสถานประกอบการจำนวนมากเข้ามาจัดตั้งภายในจังหวัด ซึ่งเศรษฐกิจภายในจังหวัดขยายตัวร้อยละ 2.3 ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,760 ดอลลาร์ในปี 2022 จาก 1,534 ดอลลาร์ ในปี 2018 ด้าน Sok Lou ผู้ว่าการจังหวัดพระตะบอง กล่าวเสริมว่า ในจังหวัดมีบริษัทและโรงงานขนาดใหญ่ เช่น โรงสีข้าว โรงงานแปรรูปมันสำปะหลังและข้าวโพด โรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานยา โรงงานแปรรูปกระดาษ โรงงานรองเท้า และวิสาหกิจอื่นๆ ทั้งหมดสิ้น 736 แห่ง สร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นกว่า 14,973 คน โดยจังหวัดพระตะบองมีพรมแดนติดกับประเทศไทย ซึ่งทำให้เอื้อต่อการค้า การท่องเที่ยว การขนส่ง ความร่วมมือ และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดเป็นอย่างมาก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501226407/battambangs-per-capita-income-rises-to-1760-in-five-years/

กัมพูชาคาด GDP ปี 2023 โต 5.6%

กัมพูชาคาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 ในปี 2023 ตามข้อมูลของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา หลังจากในปี 2022 เศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัวร้อยละ 5.2 แม้จะเผชิญกับความไม่แน่นอนทั่วโลก อย่างเช่น สงครามยูเครนรัสเซียที่กำลังดำเนินอยู่ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และการฟื้นตัวของโควิด-19 ทั่วโลก นำโดยภาคธุรกิจที่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มคาดว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 11.7 โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก อาทิเช่น เฟอร์นิเจอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของกัมพูชาคาดว่าจะมีการเติบโตอยู่ในช่วงร้อยละ 5.5 ในปีนี้ สำหรับอุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหารคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเป็นตัวอย่างน้อยร้อยละ 30 ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมายังกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 2.28 ล้านคน ในช่วงเวลาดังกล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501226196/cambodia-expects-5-6-gdp-growth-in-2023/

“อีอีซี” จัดทำงบตามแผนบูรณาการปี 67 เสนอ 100 โครงการพัฒนาตามแนวทาง BCG ด้วย 5 แนวทาง

นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการฯ รักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 คณะที่ 5.1 ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานเป็นประธานว่า สกพอ.และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะเจ้าภาพรองแผนงานบูรณาการอีอีซี ร่วมกับหน่วยงาน 17 กระทรวง 42 หน่วยงาน จัดทำโครงการ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่อีอีซีทุกมิติ ผ่านการมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง BCG จำนวน 100 โครงการ ด้วย 5 แนวทางสำคัญได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และระบบดิจิทัล 2.การพัฒนาบุคลากร การศึกษา วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3.ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ทันสมัย และมีมาตรฐาน 4.การพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ให้เกิดการพัฒนาทัดเทียมนานาชาติ และ 5.การส่งเสริมการลงทุนด้านเศรษฐกิจ BCG ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพและสร้างการรับรู้สู่ประชาชน ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายผลักดันให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่อีอีซี และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปี เกิดอัตราการขยายตัวของ GDP ในพื้นที่อีอีซี เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ส่งผลสัมฤทธิ์ให้เกิดการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 40,000 คน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและสร้างความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน

ที่มา : https://siamrath.co.th/n/418049

“สตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซ” ได้รับความนิยมในเวียดนาม

สตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และถือว่าค่อนข้างปลอดภัยในแวดวงสตาร์ทอัพเชิงนวัตกรรมในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยไม่ได้หมายถึงความสำเร็จ เพราะการจะประสบความสำเร็จได้ในตลาดที่กำลังพัฒนานั้น ต้องใช้ความพยายามและความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก โดยเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านอีคอมเมิร์ซ มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 72.1 ล้านคน คิดเป็น 73.2% ของประชากรทั้งประเทศ และอยู่ในอันดับที่ 12 ในแง่ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกในเดือนกันยายน ปี 2565 นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่าในปีที่แล้ว ขนาดของตลาดอีคอมเมิร์ซค้าปลีกของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 16.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 7.5% ของรายได้ของประเทศจากการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/innovative-start-ups-in-the-e-commerce-sector-2103908.html

“ผู้ประกอบการ SMEs เวียดนาม” ก้าวเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

แม้ว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่กว่า 90% ในเวียดนาม ยังเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) แต่ผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ บริษัท CNS AMURA Precision Company ได้ดำเนินธุรกิจสู่การเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบดิจิทัลและบริษัทมีคำสั่งซื้อใหม่กับพันธมิตรทางธุรกิจต่างประเทศ นับว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งใหม่ หลังจากที่บริษัทกลายเป็นซัพพลายเออร์เทียร์ 1 ของซัมซุง นอกจากนี้ Mr. Tran Ba Linh ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตของบริษัท Dien Quang Lamp Joint Stock Company กล่าวว่านวัตกรรมสายการผลิตโดยการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร

ที่มา : https://www.sggpnews.org.vn/vietnamese-small-medium-sized-firms-carrying-out-digital-transformation-post99855.html