ปีงบประมาณย่อย 64-65 เมียนมานำเข้าสินค้าทุนลดลง

6 เดือนแรกของปีงบประมาณย่อย (2564-2565) ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2564 ถึง 31 มี.ค. 2565 เมียนมามีการนำเข้าสินค้าทุน เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ ยานพาหนะ เครื่องจักร และเหล็กกล้า เป็นมูลค่าประมาณ 1.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงกว่า2.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2563-2564 จากผลกระทบของ COVID-19 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศ กระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่พึ่งพาชาวต่างชาติเป็นหลัก ที่ลดลงถึง 70% ผู้ประกอบการต้องลดค่าเช่า ตามยอดดารเข้าพักที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ที่เงินจัตอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เป็นอีกสาเหตุที่ส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็ก ซีเมนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร สูงขึ้น ในทางกลับกัน วัตถุดิบที่ใช้ในการตัดเย็บเสื้อผ้าประเภท Cut-Make-Pack (CMP) มีมูลค่านำเข้า  1.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลับเพิ่มขึ้นถึง 329 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณที่แล้ว โดย 10 ประเทศหลักที่เมียนมานำเข้าสินค้าทุน ได้แก่ จีน สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสหรัฐอเมริกา

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-records-import-plunge-in-capital-goods-in-past-mini-budget-period/

การค้าทวิภาคีระหว่าง กัมพูชา-เกาหลี เพิ่มขึ้น 22.8% ในช่วง Q1

การค้าเสรีทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 หรือคิดเป็นมูลค่า 234.4 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ตัวเลขดังกล่าวรายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (GDCE) แสดงให้เห็นว่ากัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่า 61.3 ล้านดอลลาร์ไปยังเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่กัมพูชานำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้มูลค่า 173 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 ข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลี (CKFTA) มีผลบังคับใช้ โดยเกาหลีใต้ถือเป็นตลาดหลักของกัมพูชาสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เช่น เสื้อผ้าและรองเท้า ในขณะที่สินค้าส่งออกที่สำคัญของเกาหลีใต้มายังกัมพูชา ได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักร สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501060027/cambodia-korea-bilateral-trade-jumps-22-8-percent-in-q1/

ไตรมาส 1 การค้ากัมพูชาพุ่ง หลังคุมโควิดได้ ร่วมกับ FTA

การจัดการกับวิกฤตการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลกัมพูชาอย่างมีประสิทธิภาพ และการมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ของกัมพูชา ถือเป็นส่วนช่วยสำคัญ ในการเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชา ณ ไตรมาส 1 อยู่ที่ 13.1 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานล่าสุดของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งการส่งออกมีมูลค่าถึง 5.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 และการนำเข้ามีมูลค่า 7.4 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.9 โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้ารายสำคัญของกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาอยู่ที่ 2.87 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501060030/cambodias-q1-trade-jumps-on-covid-19-handling-ftas/

จี้รัฐเร่งเปิดด่านชายแดน ฟื้นฟูเศรษฐกิจเชียงราย

สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทำให้รัฐบาลไทยสั่งปิดด่านชายแดนแม่สาย เชียงแสน และเชียงของ จ.เชียงราย มานานกว่า 2 ปี สภาพเศรษฐกิจด้านนี้ย่ำแย่ และได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนอีก ล่าสุด ตัวแทนภาคธุรกิจเมืองเศรษฐกิจการค้าชายแดน จ.เชียงราย ออกมาเรียกร้องให้รัฐเร่งเปิดด่านโดยเร็ว ก่อนที่ร้านรวงจะล้มหายตายจากไปจนหมด ด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายและประธานหอการค้าแม่สาย เปิดเผยว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจชายแดนอย่างเร่งด่วน ด้วยการตั้งคณะกรรมการทั้งภาครัฐและเอกชนที่รู้ปัญหาชายแดนไทย-เมียนมา-สปป.ลาว-จีน เพื่อเจรจาระดับภาคีขอเปิดด่านพรมแดน ซึ่งตอนนี้โควิด-19 เริ่มดีขึ้นบ้าง ประเทศเพื่อนบ้านต่างมีมาตรการดูแลประชาชน ซึ่งอยากให้เร่งพิจารณาเมื่อพื้นที่ไหนพร้อมก็ควรเปิด โดยเฉพาะ อ.แม่สาย เป็นเส้นทางถนนเอเชียไฮเวย์ 2 (เส้นทาง R3B) เชื่อมต่อ 8 ประเทศ เข้าจากทางภาคใต้ด่าน จ.สงขลา ไปออกแม่สาย ผ่านสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 1 เชื่อมโยงไปจีนตอนใต้ ตามเส้นทาง จ.ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-เมืองลา เขตโกกั้ง เมืองตองจี เมืองมัณฑะเลย์ ถึงชายแดนเมียนมา-จีน ที่ด่านมูเซ-รุ่ยลี่ แต่ละปีสินค้าไทยและสินค้าเกษตรของเมียนมาเข้า-ออกจีนที่ด่านนี้ มีมูลค่าการค้านับแสนล้านบาท ชายแดนฝั่งตรงข้ามไทยไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม เขายังพึ่งพาอาหารและสินค้าไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะตลาดชายแดนจีน

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/north/2372316

สปป.ลาวสูญเสียเงินจากการคอรัปชั่นตลอดหลายปีมากกว่า 760 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ตามรายงานของหน่วยงานตรวจสอบรัฐบาลสปป.ลาว รัฐบาลลาวสูญเสีย 767 ล้านเหรียญสหรัฐจากการคอร์รัปชั่นตั้งแต่ปี 2559 โดยโครงการพัฒนาและการลงทุนของรัฐบาล เช่น การก่อสร้างถนนและสะพานเป็นต้นเหตุของการรับสินบนที่แพร่หลาย แม้จะมีการตรากฎหมายต่อต้านการทุจริตที่ทำให้การใช้อำนาจในทางมิชอบ การฉ้อฉลของภาครัฐ การยักยอกเงิน และการติดสินบน บทลงโทษยังไม่รุนแรงพอที่จะทำให้คนทุจริตเกรงกลัว ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้คำมั่นว่าจะจัดการกับการทุจริตที่แพร่หลายในด้านการเมืองและทุกภาคส่วนของสังคมเศรษฐกิจและยังยืนยั่นว่าการตรวจสอบเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดงานหนึ่งของรัฐบาลและพรรค

ที่มา : https://www.rfa.org/english/news/laos/corruption-losses-04182022171408.html

ไทยเตรียมส่งออกทุเรียนล็อตใหม่ ผ่านรถไฟจีน-ลาว

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยความคืบหน้าการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน โดยล่าสุด เจ้าหน้าที่ด่านโม่ฮานของจีน ได้เปิดนำเข้าทุเรียนไทยแล้วตั้งแต่วันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากระงับการนำเข้าทุเรียนไทย 3 วัน ระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน จากเหตุพบการปนเปื้อนโควิดในรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ และช่วงกลางสัปดาห์นี้ไทยจะมีการส่งออกทุเรียนอีกล็อตหนึ่ง โดยใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ด้วยการขนส่งระบบผสมราง-รถ ซึ่งจะต้องคุมเข้มมาตรการขจัดทุเรียนอ่อนและป้องกันการปนเปื้อนโควิด-19 อย่างต่อเนื่อ ให้มีมาตรฐานตามข้อกำหนด

ที่มา : https://news.ch7.com/detail/563786

หนี้สาธารณะเวียดนาม พุ่งแตะระดับ 3,500 ล้านล้านดอง

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเวียดนาม ภายใต้กระทรวงการคลัง ได้เผยแพร่ข้อมูลตัวเลขหนี้สาธารณะ ณ เดือนมิถุนายน 2564 พบว่าหนี้รัฐบาล มีจำนวน 3,100 ล้านล้านดอง มาจากเงินกู้ต่างประเทศ 1,100 ล้านล้านดอง หากเทียบกับปี 2560 ชี้ให้เห็นถึงรัฐบาลมีหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 533 ล้านล้านดอง ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นผู้ให้กู้เงินรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีจำนวน 333 ล้านล้านดอง รองลงมาเกาหลีใต้ ฝรั่งเศสและเยอรมนี ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาการให้กู้ยืมของเวียดนามกับสถาบันการเงินระดับโลก พบว่าธนาคารโลก (World Bank) เป็นผู้ให้กู้รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีจำนวน 382 ล้านล้านดอง รองลงมาธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้คาดการณ์ว่าหนิ้สาธารณะจะอยู่ที่ระดับ 46%-47% ของ GDP

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-public-debt-totals-vnd3-500-trillion-as-of-june-2021-2010781.html

‘สหรัฐอเมริกา’ ขึ้นแท่นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ไตรมาส 1/65

จากรายงานทางสถิติของสำนักงานศุลกากร เปิดเผยว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยมีสัดส่วน 29.1% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด และในเดือนมีนาคม เพียงเดือนเดียว เวียดนามส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ สูงถึง 9.76 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ยอดการส่งออกรวมทั้งสิ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 25.96 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลักของเวียดนามไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่มีมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป มีจำนวน 6 รายการสินค้า ได้แก่ เครื่องจักร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์ รองเท้า ไม้และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ เป็นต้น อย่างไรก็ดี สินค้าเวียดนามประเภทเครื่องนุ่งห่ม มีความโดดเด่นอย่างมากในตลาดสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าสูงถึง 4.36 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีสัดส่วนกว่า 50.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/us-remains-vietnams-largest-export-market-in-q1-post938047.vov