โครงการ Green CUP ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวสินค้ากาแฟและชาของ สปป.ลาว

กาแฟและชาเป็นมากกว่าเครื่องดื่มยอดนิยมใน สปป.ลาว แต่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในประเทศ ภายใต้ความร่วมมืออันยาวนานระหว่างฝรั่งเศสและ สปป.ลาว ด้วยตระหนักถึงคุณค่าของกาแฟและชาที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาล สปป.ลาว และพันธมิตรด้านการพัฒนาในยุโรปจึงได้ทำงานร่วมกันในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงการผลิต คุณภาพ และการเข้าถึงตลาดสำหรับกาแฟและชา ปัจจุบันกาแฟและชามีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของ สปป.ลาว โดยมีมูลค่าการส่งออกเกือบ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ทำให้ สปป.ลาว เป็นผู้ส่งออกกาแฟอันดับที่ 34 ของโลก และชาอันดับที่ 63 ของโลก โครงการ Green CUP พยายามที่จะสนับสนุนการค้าและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจสีเขียวสำหรับภาคส่วนการผลิตกาแฟและชา ผ่านวิถีชุมชนเกษตรกร ห่วงโซ่คุณค่าที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และการเข้าถึงตลาดที่ยั่งยืนและมีมูลค่าสูง โดยเฉพาะตลาดยุโรป

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_62_Bolstering_y24.php

กัมพูชา-สปป.ลาว ขยายความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้า

นายกรัฐมนตรี ฮุน มานิต ของกัมพูชา และนายกรัฐมนตรี Sonexay Siphandone แห่ง สปป.ลาว ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 3 ฉบับ และ บันทึกความเข้าใจ (MoUs) อีก 4 ฉบับ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งเน้นการขยายความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ด้านการค้าพลังงานไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาด้านพลังงานในกัมพูชา โดยทั้งสองท่านได้ร่วมเป็นประธานในการลงนามเอกสารทั้งเจ็ดฉบับ ซึ่งห้าฉบับเป็นความตกลงด้านพลังงานไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นของกัมพูชา โดยเฉพาะโครงการระหว่างกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน (MME) และ การไฟฟ้าแห่งประเทศ สปป.ลาว (EDL) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อซื้อพลังงานสีเขียวจากโครงการ Green Energy Supply ซึ่งวางแผนจัดหาพลังงานมายังกัมพูชา 1,000 เมกะวัตต์ จากโครงการพลังงานน้ำ พลังงานลม และ พลังงานความร้อนใต้พิภพ (พลังงานหมุนเวียนที่ได้จากแก่นโลก) มายังกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501462332/kingdom-laos-agree-to-widen-energy-cooperation/

สกุลเงินเรียลของกัมพูชาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในสถาบันการเงินขนาดย่อม

การใช้สกุลเงินเรียลกัมพูชา (KHR) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในด้านเงินฝาก สินเชื่อ และธุรกรรมการชำระเงิน โดยเฉพาะในฝั่งของสถาบันการเงินขนาดย่อย (CMA) สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในพฤติกรรมการออมเงินของประชาชน ซึ่งในปี 2023 สินเชื่อที่ปล่อยเป็นสกุลเงินเรียลมูลค่ารวม 5.56 ล้านล้านเรียล (ประมาณ 1.38 พันล้านดอลลาร์) หรือคิดเป็นร้อยละ 25 จากการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด และเงินฝากมูลค่ารวม 1.52 ล้านล้านเรียล (ประมาณ 375 ล้านดอลลาร์) หรือคิดเป็นร้อยละ 16 จากปริมาณเงินฝากทั้งหมดเป็นสกุลเงินเรียล สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นในสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ ด้านธนาคารชาติกัมพูชา (NBC) รายงานเสริมว่า การเติบโตของการทำธุรกรรมผ่านระบบการชำระเงิน Bakong ของกัมพูชา โดยมีธุรกรรมสกุลเงินเรียลเพิ่มขึ้นถึง 3.4 เท่า ซึ่งมากกว่าการทำธุรกรรมด้วยเงินสกุลดอลลาร์ ถือเป็นสัญญานที่ดีต่อการใช้สกุลเงินเรียลในระบบเศรษฐกิจของกัมพูชา เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางด้านการเงินกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501462314/riel-usage-in-microfinance-transactions-increases/

‘แบงก์ชาติเวียดนาม’ แจ้งสถาบันผู้ออกบัตร เร่งตรวจสอบขั้นตอนการออกบัตร

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ประกาศคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการทบทวนในเรื่องขั้นตอนการออกบัตรและการจัดการบัตรธนาคาร (Bank Card) ซึ่งธนาคารกลางให้ความสำคัญมากที่สุดในการรักษาความปลอดภัย สิทธิของผู้บริโภคและธนาคารที่ได้รับความคุ้มครอบภายใต้กฎหมายและระเบียบในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะต้องเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียม อัตราดอกเบี้ย วิธีการคำนวณดอกเบี้ย เป็นต้น การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของธนาคารกลางอย่างเคร่งครัดและจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกค้าได้รับแจ้งสิทธิและภาระผูกพันของตน โดยเฉพาะบัตรเครดิต

นอกจากนี้ ธนาคารกลางเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ใช้มาตรการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลและทราบถึงสิทธิของตน รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1652701/central-bank-told-card-issuers-to-review-procedures.html

ออสเตรเลียจับมือธนาคารโลก สนับสนุนเงินทุนเพื่อเชื่อมเส้นคมนาคมใน สปป.ลาว

การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมเป็นเป้าหมายของ สปป.ลาว และเป็นเป้าหมายของอาเซียน นี่คือสาเหตุที่ธนาคารโลกและรัฐบาล สปป.ลาว ได้ลงทุนโครงการมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ร่วมกับพันธมิตรหลายประเทศในภาคเหนือของลาว ภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทอาเซียนด้านการเชื่อมต่อ โครงการจะยกระดับถนนแห่งชาติลาว 2 ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างไทย ลาว และเวียดนาม เพื่อสร้างทางเดินตะวันออก-ตะวันตกใหม่ นอกจากนี้ ยังจะเชื่อมต่อถนนท้องถิ่นในแขวงหลวงน้ำทา หลวงพระบาง อุดมไซ พงสาลี และไชยะบูลี เพื่อปรับปรุงการขนส่ง อำนวยความสะดวกทางการค้า และเร่งการเคลื่อนย้ายสินค้าและผู้คน โดยออสเตรเลียบริจาคเงินมากกว่า 12 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (7.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ผ่านโครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/03/26/australia-joins-world-bank-to-support-laos-land-linked-agenda/

รัฐบาล สปป.ลาว เพิ่มเงินอุดหนุนพิเศษแก่ข้าราชการที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 1.7 ล้านกีบ

รัฐบาล สปป.ลาว ประกาศเพิ่มเงินอุดหนุนพิเศษรายเดือนอีก 150,000 กีบต่อเดือน (7.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) สำหรับข้าราชการ รวมถึงทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ลูกจ้างที่เกษียณอายุ และบุคคลทุพพลภาพ ประกาศดังกล่าว ก่อให้เกิดข้อถกเถียงอย่างรวดเร็วในสังคม หลายคนมองว่าการเพิ่มขึ้นของเงินอุดหนุนน้อยเกินปไม่เพียงพอกับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน โดนค่าแรงขั้นต่ำใน สปป.ลาว ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 1.6 ล้านกีบต่อเดือน (76.22 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) ซึ่งต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย เวียดนาม และกัมพูชา ตามรายงานจากสำนักงานสถิติ สปป.ลาว ปัจจุบันลาวกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่รุนแรง โดยอัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 25.35 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 การเพิ่มขึ้นนี้มีสาเหตุหลักมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล ส่งผลให้ราคาอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงขึ้น แม้ว่าเงินกีบจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์และเงินบาท แต่ผู้ค้าในตลาดยังไม่ได้ปรับราคาตามนั้น เพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลได้อนุมัติร่างกฎหมายและกฤษฎีกาเบื้องต้นเพื่อจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงกฎหมายว่าด้วยการกระจายอำนาจการท่องเที่ยว มาตรการต่อต้านการฟอกเงิน และการจัดตั้งท่าเรือบก

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/03/25/government-faces-backlash-after-notice-of-low-subsidy-raise-for-civil-servants/

‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ คาดการณ์ GDP เวียดนามไตรมาส 1/67 โต 6.1%

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ ขยายตัว 6.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) จาก 6.7% ในไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้ว และคาดการณ์ว่า GDP ของปี 2567 จะขยายตัวที่ 6.7% โดยจากข้อมูลในเดือน มี.ค. แสดงให้เห็นว่าทิศทางของภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว จากแรงหนุนภาคการค้าปลีกที่เพิ่มขึ้น 9.2%YoY ในขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 5.2%YoY และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 5.0%YoY ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.2%YoY ในเดือน มี.ค ดีดตัวสูงขึ้นจาก 4.0% ในเดือน ก.พ.

ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้จะมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง แต่คาดการณ์ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังคงไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดีควรประเมินและเตรียมการรับมือในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากเผชิญกับปัญหาอุปสรรคการค้าโลก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/standard-chartered-forecasts-vietnam-s-gdp-in-q1-to-moderate-to-6-1-2263679.html

การส่งออกสินค้าประมงทะลุ 675 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 15 มีนาคม

อู ยุนท์ วิน ผู้อำนวยการกรมประมง (เนปิดอ) กล่าวว่า เมียนมาส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงมากกว่า 300 ชนิด ซึ่งมีมูลค่า 675.958 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปยัง 45 ประเทศ ณ วันที่ 15 มีนาคม ในปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2566-2567 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ สินค้าประมงจะถูกจัดส่งไปยังคู่ค้าต่างประเทศผ่านช่องทางการค้าทางทะเล และทางชายแดน โดยการส่งออกทางทะเลเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 หากเทียบกับปีงบประมาณก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การส่งออกกุ้งในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างมาก และกุ้งเลี้ยงจากตะนาวศรีเป็นสินค้าซื้อขายที่มีมูลค่ามากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีปลามากกว่า 20 ชนิด รวมถึงฮิลซา ปลากะพง ปลาโรหู ปลาดุกแม่น้ำ และปลาบาร์บัส โดยที่คู่ค้าหลักที่เมียนมาส่งออกไป ได้แก่ ญี่ปุ่น ประเทศในตะวันออกกลาง ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป มาเลเซีย จีนไทเป และออสเตรเลีย นอกจากนี้ สหพันธ์ประมงเมียนมาและกรมประมงกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อสนับสนุนการส่งออกประมงในฐานะความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในขณะที่การส่งออกอาหารทะเลไปยังประเทศต่างๆ เช่น จีน มีการตรวจสอบที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทานกำลังพยายามปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัดเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกประมง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/fishery-exports-cross-us675-mln-as-of-15-march/#article-title

MCBA อำนวยความสะดวกในการรับสินค้าออกจากท่าเรือ

สมาคมนายหน้าศุลกากรแห่งเมียนมา (MCBA) จะดำเนินการให้แน่ใจว่าการรับสินค้าออกจากท่าเรือจะไม่เกิดความล่าช้า โดยเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ด้านกรมศุลกากรของเมียนมาเริ่มมีการใช้เครื่องเอ็กซเรย์ เพื่อช่วยลดเวลาในการตรวจสอบสินค้า รวมทั้ง ท่าเรือ Asia World Port Terminal (AWPT) ก็มีการให้บริการสแกนเอ็กซเรย์เช่นกัน และด้านท่าเรืออุตสาหกรรมของเมียนมา (MIP) ก็เริ่มมีการฝึกปฏิบัติโซลูชั่นรักษาความปลอดภัยด้วยการเอ็กซเรย์ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากร, สมาคมขนส่งตู้คอนเทรนเนอร์เมียนมา (MCTA), การท่าเรือเมียนมา (MPA), สมาคมผู้ส่งสินค้าระหว่างประเทศเมียนมา (MFFA), AWPT, MIP และ MCBA จะอำนวยความสะดวกในการประสานงานเรื่องต่างๆ เพื่อให้การรับคืนสินค้าและการค้าเป็นไปอย่างราบรื่นทันเวลา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/mcba-to-facilitate-cargo-retrieval-from-port-terminal/

Angkor Air เปิดเที่ยวบินตรง กัมพูชา-เดลี เสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

Angkor Air สายการบินแห่งชาติของกัมพูชา ประกาศเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างพนมเปญของกัมพูชา เชื่อมกับ กรุงเดลี เมืองหลวงของอินเดีย โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน เป็นต้นไป โดยจะมีเที่ยวบิน 4 เที่ยวต่อสัปดาห์ ให้บริการทุกวันอาทิตย์ วันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ ซึ่งคาดว่าเที่ยวบินใหม่นี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและอินเดีย และส่งเสริมโอกาสทางการท่องเที่ยวและธุรกิจระหว่างสองประเทศให้มากขึ้น กล่าวโดย Sok Soken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และได้กล่าวเสริมว่า อินเดียและจีนเป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดที่กัมพูชา ในขณะเดียวกัน สายการบิน IndiGo Airlines ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำของอินเดีย ได้รับอนุมัติจากทางการกัมพูชาให้ดำเนินการเที่ยวบินระหว่างเดลีและเสียมเรียบ สำหรับกัมพูชาดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้กว่า 5.43 ล้านคนในปี 2023 เพิ่มขึ้นอย่างมากถึงร้อยละ 139 จาก 2.27 ล้านคนในปี 2022 สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 3.04 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 115 จากมูลค่า 1.41 พันล้านดอลลาร์ ในปีก่อนหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501461599/phnom-penh-delhi-flight-from-june-16/