‘สมัชชาแห่งชาติเวียดนาม’ ตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ปี 65 โต 6%-6.5%

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. สมัชชาแห่งชาติเวียดนาม (NA) พิจารณารับรองแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปีหน้า ทำให้ต้องปรับประมาณการตัวเลขจีดีพี (GDP) อยู่ที่ 6%-6.5% โดยการลงมติดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อดูแลความปลอดภัยของประชาชนและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนแก้ไขปัญหาในการทำธุรกิจและช่วยเหลือธุรกิจท้องถิ่น ยิ่งไปกว่านั้น เวียดนามต้องใช้ข้อได้เปรียบจากโอกาสทั้งหมด เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวและเป็นแรงขับเคลื่อนในการผลักดันเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ทางสมัชชาแห่งชาติ ได้ตั้งเป้ารายได้ต่อหัวที่ 3,900 เหรียญสหรัฐ, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ระดับ 4% และอัตราการว่างงานในเมืองต่ำกว่า 4%

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/na-approves-2022-gdp-growth-target-at-6-6-5/

 

‘จุรินทร์’ปลื้มค้าชายแดน เดือนก.ย.สร้างรายได้เพิ่ม 38.32%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเดือนก.ย. 2564 มีมูลค่ารวม 157,182 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 35.3% เป็นการส่งออก มูลค่า 96,184 ล้านบาท เพิ่ม 38.32% และนำเข้า มูลค่า 60,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.8% และยอดรวมการค้า 9 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 1,275,542 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.67% เป็นการส่งออก มูลค่า 778,367 ล้านบาท เพิ่ม 38.06% และนำเข้า มูลค่า 497,175 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.78% ทั้งนี้ เป้าหมายปี 2564 ตั้งเป้าขยายตัว 3% ต้องทำตัวเลขการส่งออกให้ได้ 789,198 ล้านบาท แต่ผ่านมา 9 เดือน ทำไปแล้ว 778,367 ล้านบาท ขาดอีกนิดเดียว ก็จะครบตามเป้าหมาย คิดเป็น 98.63% ของเป้าหมาย ยังเหลืออีก 3 เดือน ต.ค.-ธ.ค. จะเกินเป้าหมายที่ 3% แน่นอน

ที่มา: https://www.naewna.com/business/615676

“ศักดิ์สยาม” โชว์เวทีขนส่งอาเซียน ลุยโปรเจ็กท์เชื่อมโครงข่ายคมนาคมโลก

รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 27  ที่ประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนได้ให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมที่สำคัญ 4 ฉบับ การให้การรับรองเอกสารดังกล่าว เป็นการยกระดับการขนส่งทั้งทางบกและทางอากาศของอาเซียน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่ไปกับการวางแผน การขนส่งและการพัฒนาระบบขนส่งแบบบูรณาการในเขตเมืองของอาเซียนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและนโยบายระดับชาติของประเทศ ในการเร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เพื่อการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ในภูมิภาคอย่างยั่งยืน

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/465694/

‘ธุรกิจเวียดนาม-เช็ก’ แนะใช้ EVFTA อย่างมีประสิทธิภาพ

การประชุมโต๊ะกลมของผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจและผู้บริหารธุรกิจระหว่างเวียดนาม-สาธารณรัฐเช็ก ณ กรุงปราก เมื่อวันที่ 10 พ.ย. มีมุมมองว่าธุรกิจเวียดนามและสาธารณรัฐเช็ก ควรยกระดับความร่วมมือเพื่อแสวงหาโอกาสสูงสุดจากข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างเวียดนามกับสหภาพยุโรป (EVFTA) และข้อตกลงการคุ้มครองการลงทุนเวียดนาม-สหภาพยุโรป (EVIPA) ทั้งนี้ แม้ว่าห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกหยุดชะงัก เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่ยอดการค้าระหว่างเวียดนามกับสาธารณรัฐเช็ก เพิ่มขึ้น 22% ในปีที่แล้ว มีมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ การค้าทวีภาคีเพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็นมูลค่า 936 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากผลประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรี EVFTA อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสาธารณรัฐเช็กยังคงกังวลกับปัญหาหลายอย่าง ได้แก่ นโยบายการดึงดูดการลงทุนของเวียดนามและความซับซ้อนของการบริหาร ตลอดจนคุณภาพของสินค้าส่งออกของเวียดนามไปยังตลาดสาธารณรัฐเช็กและยุโรป

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-czech-businesses-advised-to-effectively-utilise-evfta-904323.vov

 

‘ธุรกิจเยอรมัน’ มองทิศทางดีต่อเศรษฐกิจเวียดนาม

ตามรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ปี 64 “AHK World Business Outlook 2021” เปิดเผยผลการสำรวจ พบว่าธุรกิจเยอรมันในเวียดนามส่วนใหญ่ 55% มีความมั่นใจต่อการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจในปีหน้า เมื่อถามถึงประเด็นการค้าการลงทุน ชี้ว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 83% ยังคงลงทุนขยายกำลังการผลิต หรืออัพเกรดโรงงานในอีก 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ 30% วางแผนที่จะเปิดรับสมัครแรงงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่ามีปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะและการบริโภคที่ปรับตัวลดลง ถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของธุรกิจเยอมันในเวียดนาม โดยกลุ่มตัวอย่าง 42% เผชิญกับปัญหาการจ้างงานแรงงานที่มีทักษะขั้นสูง ตลอดจนปัญหาอื่นๆ อาทิ นโยบายเศรษฐกิจ กฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน การปิดชายแดนและการยกเลิกกิจกรรมการค้า เนื่องจากได้รับผลกระทบของโควิด-19

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/german-firms-in-vietnam-optimistic-about-future-prospects-904337.vov

 

เดือนต.ค.64 เมียนมาส่งออกข้าวผ่านทางเรือ ทะลุ 200,000 ตัน

จากข้อมูลของกรมศุลกากรเมียนมา เดือนต.ค.2564 ที่ผ่านมา เมียนมาส่งออกข้าวและข้าวหักมากกว่า 216,375 ตัน โดยผ่านทางเรือ 211,759 ตัน  และชายแดน 4,616 ตัน ซึ่งปริมาณการส่งออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากการปิดชายแดน ในเดือนที่ผ่านมาราคาข้าวเฉลี่ย อยู่ที่ 315-350 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์และคุณภาพ ทั้งนี้ราคาข้าวของเมียนมาค่อนข้างต่ำกว่าไทยและเวียดนาม จากข้อมูลสหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) พบว่าราคาสูงกว่าตลาดของอินเดียและปากีสถาน โดยตลาดส่งออกข้าวสำคัญของเมียนมาจะเป็นจีน รองลงมาคือ ไอวอรี่โคสต์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และกินี ในขณะเดียวกัน ตลาดนำเข้าข้าวหักยังคงเป็นจีนเป็นหลัก รองลงมาคือ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สเปน และฝรั่งเศส ในปีงบประมาณ 2019-2020 ที่ผ่านมา เมียนมามีรายได้จากการส่งออกข้าวกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปริมาณ 2.5 ล้านตัน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-exports-over-200000-mt-of-rice-through-maritime-route-in-october/

วังเวียง อุดมไซ เตรียมรับนักท่องเที่ยว

เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของ เขตวังเวียงในแขวงเวียงจันทน์ กำลังเตรียมที่จะต้อนรับผู้มาเยือนที่หลั่งไหลเข้ามา เมื่อสปป.ลาวเปิดให้นักท่องเที่ยวกลับมาใช้บริการอีกครั้ง นายบุญชาญ มาลาวงศ์ ผู้ว่าราชการเขตวังเวียง กล่าวกับเวียงจันทน์ไทมส์ว่า “ทางการจังหวัดกำลังวางแผนรับผู้มาเยือนในปีหน้า หากรัฐบาลเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวได้ตามแผน สถานที่ท่องเที่ยวและที่พักของนักท่องเที่ยวจะได้รับการฟื้นฟูและปรับปรุงหลังปิดให้บริการ หลายเดือนในช่วงการระบาดของ Covid-19” ทั้งนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอีกเมื่อรถไฟลาว-จีนเปิดให้บริการ เนื่องจากขณะนี้มีสถานีในวังเวียงแล้ว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Vangvieng
222.php

ในช่วง 10 เดือน กัมพูชาส่งออกข้าวมูลค่ารวมกว่า 957 ล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกข้าวปริมาณรวมมากกว่า 3.1 ล้านตัน ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค. สร้างรายได้กลับเข้ามาในประเทศราว 957.3 ล้านดอลลาร์ โดยคิดเป็นการส่งออกข้าวสารจำนวน 460,169 ตัน มูลค่ารวม 323.47 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสหพันธ์ข้าวกัมพูชาระบุว่ามากกว่าร้อยละ 79 ถูกส่งออกไปยัง 5 ประเทศสำคัญ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส กาบอง มาเลเซีย และเนเธอร์แลนด์ ข้าวหอมคิดเป็นเกือบร้อยละ 79 ของการส่งออกข้าวสารทั้งหมด โดยในเดือนต.ค. เพียงเดือนเดียว กัมพูชาส่งออกข้าวสารรวมกว่า 49,471 ตัน ซึ่งสูงกว่าเดือนตุลาคมปีที่แล้วร้อยละ 4 ซึ่งประเทศจีนยังถือเป็นตลาดส่งออกข้าวสารรายสำคัญของกัมพูชา ซึ่งทำการนำเข้าข้าวจากกัมพูชามากกว่า 23 ล้านตัน ตามการรายงานของสถานทูตจีน คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกข้าวสารทั้งหมดของกัมพูชา ทางด้านข้าวเปลือกกัมพูชาได้ทำการส่งออกปริมาณเกือบ 2.7 ล้านตัน มูลค่ารวมเกือบ 634 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50968599/rice-exports-top-957-million-in-first-10-months-of-2021/