เวียดนามเริ่มต้นเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ พร้อมดีลซื้อเครื่องบิน

นายเหงียน ฮ่อง เดียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าเวียดนาม หารือกับนายเจมีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ว่าเวียดนามพร้อมที่จะแก้ไขข้อกังวลทางด้านการค้า โดยจะยึดตามผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ซึ่งการพูดคุยในครั้งนี้ นับเป็นการพูดคุยที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดจนถึงขณะนี้ ทั้งนี้ ปีที่แล้ว เวียดนามเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและเม็กซิโก โดยเวียดนามให้คำมั่นว่าจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และเครื่องบิน โดยเฉพาะมีแนวโน้มที่จะซื้อเครื่องบินรบ F-16 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการค้า เพื่อลดช่องว่างทางการค้า 123.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งเสนอที่จะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ทั้งหมด

นอกจากนี้ เวียดนามยังได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เนื่องจากข้อกังวลสำคัญของสหรัฐฯ ที่มาจากสินค้าจีนที่ถูกส่งผ่านเวียดนาม เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร

ที่มา : https://www.businesstimes.com.sg/international/asean/vietnam-kicks-trade-talks-us-plane-deal-takes-shape

‘VinFast’ เตรียมเปิดโรงงานในอินเดีย เริ่ม 30 มิ.ย. และอินโดนีเซีย ต.ค.

นายฝ่าม เหญิต เหวื่อ (Pham Nhat Vuong) ผู้ก่อตั้งบริษัทวินฟาสต์ (VinFast) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของเวียดนาม เดินหน้าขยายกิจการไปยังตลาดเอเชีย แทนที่จะเป็นตลาดในภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรป และไม่มีแผนที่จะกระตุ้นยอดขายในตลาดอเมริกาเหนือและยุโรป เนื่องจากค่าธรรมเนียมด้านโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น โดยทางบริษัทจะมุ่งเน้นไปที่ตลาดอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมถึงตลาดเวียดนาม ทั้งนี้ วินฟาสต์ คาดว่าจะเปิดโรงงานผลิตในอินเดียภายในวันที่ 30 มิถุนายน ตามมาด้วยโรงงานในอินโดนีเซียในเดือนตุลาคม ซึ่งการเปลี่ยนกลยุทธ์ในครั้งนี้ เป็นผลมาจากโรงงานในนอร์ทแคโรไลนา (North Carolina) ถูกเลื่อนการเปิดออกไป 3 ปี ในปี 2571

ที่มา : https://www.businesstimes.com.sg/international/asean/vietnams-vinfast-open-india-factory-june-30-indonesia-plant-october

‘ผู้ส่งออกเวียดนาม’ ปรับกลยุทธ์ หลังสหรัฐฯ เลื่อนเก็บภาษีนำเข้า

สำนักข่าวเวียดนาม (VNA) เปิดเผยว่าผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมให้ความเห็นว่าการประกาศการเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าไปอีก 90 วัน ของสหรัฐฯ นับเป็นช่วงเวลาสำคัญของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่ต้องปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ สมาคมไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ของเวียดนาม (VIFOREST) ระบุว่าการส่งออกไม้ไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่าอยู่ที่ 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว คิดเป็นสัดส่วนราว 50% ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมด ถึงแม้ว่ามีการผ่อนผันชั่วคราว แต่สมาคมฯ มองว่าภาคธุรกิจยังคงต้องรอบคอมในการประกอบธุรกิจ และรักษาส่วนแบ่งการตลาด ในขณะที่สมาคมผักและผลไม้เวียดนาม (VINAFRUIT) ได้ออกมาเตือนว่าภาษีศุลกากรอัตราใหม่ของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของเวียดนาม เมื่อเทียบกับผู้ส่งออกไทย มาเลเซีย และอินเดีย ซึ่งล้วนได้รับประโยชน์จากภาษีศุลกากรที่ลดลง

ที่มา : https://borneobulletin.com.bn/vietnamese-exporters-ramp-up-strategies-amid-us-tariff-delay/

‘สหรัฐเก็บภาษีนำเข้า 542.6%’ กดดันส่งออกโซลาร์เซลล์เวียดนาม

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์และแผงโซลาร์เซลล์ จะต้องเผชิญกับมาตรการภาษีตอบโต้ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยกัมพูชาจะถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 3,403.9% ตามมาด้วยไทย 799.5% เวียดนาม 542.6% และมาเลเซีย 168.8% และกลุ่มประเทศเหล่านี้ คิดเป็น 77% ของการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ ในปี 2567 ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าว ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนามได้รับแรงกดดันมากที่สุด เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเวียดนาม อัตราภาษีศุลกากรใหม่นี้จะเพิ่มต้นทุนและความเสี่ยง ทำให้ผู้ผลิตเวียดนามสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐฯ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1716298/viet-nam-s-solar-exports-hit-with-us-duties-of-up-to-542-6-per-cent.html

‘ผลผลิตสินค้าเกษตรสหรัฐ’ ดันเข้าสู่ตลาดเวียดนาม หลังลดภาษีนำเข้า

รัฐบาลเวียดนามได้ออกพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 73/2025/ND-CP เพื่อลดภาษีนำเข้าสินค้าจำเป็นต่างๆ โดยสินค้าส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ยานยนต์ และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ในขณะที่กระทรวงการคลังยืนยันว่าการปรับลดอัตราภาษีนำเข้า เป็นกลยุทธ์ในการส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้ากับพันธมิตรหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ รวมถึงสนับสนุนการบริโภคในประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการลดภาษีนำเข้าสินค้าหลายรายการ ได้แก่  น่องไก่แช่แข็ง (20-15%) ตามมาด้วยพิสตาชิโอที่ยังไม่ได้แกะเปลือก อัลมอนด์ แอปเปิลสด เชอร์รี และลูกเกด (8-12%) เป็นต้น ซึ่งการปรับลดภาษีนำเข้าในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้านำเข้าได้มากขึ้น และลดต้นทุนปัจจัยการผลิตสำหรับภาคส่วนต่างๆ เช่น การทำปศุสัตว์ที่พึ่งพาการนำเข้าข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเป็นหลัก

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1716199/us-farm-produce-to-viet-nam-will-rise-with-import-tariff-cut.html

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าเศรษฐกิจโต 8% แม้หวั่นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ

รัฐบาลเวียดนามยังคงตั้งเป้าหมายการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวที่ 8% ในปี 2568 ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าไม่เพียงแต่มองเศรษฐกิจในเชิงบวก แต่เวียดนามมีความพร้อมในการรับมือจากปัจจัยภายนอกผ่านการประสานนโยบายและนโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่น ทั้งนี้ จากสถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เพิ่มขึ้น ข้อพิพาททางการค้า การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และเวียดนามยังคงต้องเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว รวมถึงภาวะเงินเฟ้อ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะแรงกดดันภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บภาษีสูงถึง 46% ด้วยเหตุนี้ ทางรัฐบาลได้เรียกร้องให้กระทรวง ภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมรับมือกับความท้าทายอย่างตรงไปตรงมา และคว้าโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-stays-on-course-for-8-growth-despite-tariff-risks-post317714.vnp

‘โครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า’ กุญแจสู่การพัฒนาสีเขียว

สมาคมผู้ผลิตยานยนต์เวียดนาม (VAMA) เปิดเผยว่ายอดขายยานยนต์ไฟฟ้าในเวียดนามในปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 9 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า จากปี 2566 ในขณะที่สมาคมฯ ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มยอดขายยานยนต์ไฟฟ้า 1 ล้านคัน ภายในปี 2573 และเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านคันในปี 2583 ด้วยเหตุนี้ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) แนะนำให้เวียดนามสร้างสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า 100,000 – 350,000 แห่ง ในอีก 15 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ในเวียดนาม ‘VinFast’ และผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอื่นๆ เผชิญกับอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดเวียดนาม เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอต่อการตอบสนองของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะแบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนที่ได้ถอนตัว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-ev-charging-infrastructure-key-to-green-transition-post317676.vnp

‘เวียดนาม’ คุมเข้มป้องกันการฉ้อโกงแหล่งกำเนิดสินค้าที่ส่งออกไปต่างประเทศ

จากแรงกดดันทางด้านนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) รวมถึงการควบคุมที่เข้มงวดต่อการแอบอ้างถิ่นกำหนดสินค้า ซึ่งการควบคุมและการตรวจสอบว่าด้วยถิ่นเนิดสินค้า ช่วยปกป้องการผลิตในประเทศและป้องกันการละเมิดหรือแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าเวียดนาม ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ได้ออกแถลงการณ์ว่าด้วยการจัดการการนำเข้าแหล่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก ในขณะเดียวกัน นายโห่ ดึ๊ก เฟิ๊ก รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวว่าเวียดนามใช้แนวทางเชิงรุกและพร้อมเปิดกว้างการเจรจา รวมถึงทำงานอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ

ที่มา : https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2025/04/19/vietnam-takes-action-to-prevent-origin-fraud-in-export?fbclid=IwY2xjawJwWklleHRuA2FlbQIxMQABHqkcAV3HluQfSJizDq-Tp3J5RH4M4gY25KXKt47DLmFM0f9tnb9g1eaEnGdJ_aem_5ovcToSEx4xysD3GDkaogg

‘ลดวันทำงานหรือเร่งผลิต’ ผู้ส่งออกเวียดนามเผชิญภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ท่ามกลางมรสุมภาษี

ผู้บริหารอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าโรงงานบางแห่งในเวียดนาม ได้รับคำสั่งให้ผลิตสินค้ามากขึ้นเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ขณะที่อีกหลายโรงงานต้องลดจำนวนกะการทำงานลงเหลือสัปดาห์ละ 3 วัน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ ถูกเลื่อนหรือยกเลิก จากเหตุการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนและความวุ่นวายของผู้ส่งออกเวียดนาม ซึ่งประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีสินค้าจากเวียดนามสูงถึง 46%

ทั้งนี้ Calvin Nguyen หัวหน้าบริษัทโลจิสติกส์ WeDo Forwarding ของเวียดนาม กล่าวว่าโรงงานต่างๆ เปลี่ยนแผนการผลิตและการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ โดยแบ่งกะการทำงานเป็นวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ และวันอังคาร-พฤหัสบดี-เสาร์ แทนที่จะทำงานเต็มเวลา เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจำนวนมากถูกระงับ

อีกทั้ง ยังได้อ้างบริษัทอีก 3 แห่งที่ผลิตเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเกษตรที่เปลี่ยนแผนการดำเนินงานของธุรกิจ เนื่องจากคำสั่งซื้อถูกเลื่อนออกไป แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ จะระงับภาษีศุลกากรต่างตอบแทน

ที่มา : https://www.straitstimes.com/asia/cut-shifts-or-ramp-up-output-vietnams-exporters-face-dilemma-amid-tariff-chaos

‘ภาษีทรัมป์’ ฉุดผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์เวียดนาม แข่งขันกับเวลา 90 วัน

พอล หยาง รองประธานของโรงงานที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ของเวียดนามให้กับบริษัทชั้นนำ เช่น Williams-Sonoma และ Crate & Barrel Holdings ได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าชาวอเมริกันให้ทำการจัดส่งเร็วขึ้นในช่วงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ก่อนที่ได้รับความเสี่ยงจากการจัดเก็บภาษีสินค้าเวียดนามที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะพุ่งสูงเกินควร สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสสุดท้ายในการสร้างรายได้จากฐานลูกค้าที่มีมูลค่าต่อเศรษฐกิจเวียดนาม 400 พันล้านดอง หรือประมาณ 525 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเวียดนามไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ก่อนที่สหรัฐฯ จะระงับเก็บภาษีสิ้นสุดลง

ที่มา : https://www.straitstimes.com/business/economy/us-china-trade-war-threatens-to-crush-vietnams-manufacturing-economy