‘เวียดนาม’ ยังคงเป็นแหล่งดึงดูดของบริษัทผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก

ข้อมูลจากศูนย์วิจัย Fitch Solutions เปิดเผยว่าถึงแม้เวียดนามเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เวียดนามยังเป็นที่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากให้เป็นฐานการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจากการสำรวจชี้ว่าผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ต่างชาติส่วนใหญ่ 65% ได้ตั้งฐานการผลิตในภาคเหนือของเวียดนาม ขณะที่ 30% สร้างโรงงานในภาคใต้และอีกไม่กี่แห่งในภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจของกลุ่มซัมซุงของเกาหลีใต้ที่เข้ามาลงทุนไปแล้วกว่า 17.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในเวียดนาม และมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของยอดการส่งออกทั้งหมดของเวียดนามผ่านสินค้าไฮเอนด์ ‘โทรศัพท์’ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่าปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ต่างชาติเข้ามาเวียดนาม คือ เขตอุตสาหกรรม (IP) โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่าเขตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่สะดวกต่อการขนส่งและมีระบบโลจิสติกส์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-remains-attractive-to-multinational-electronics-companies/206095.vnp

การพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมของเกาหลีเริ่มธันวาคม 63

จากข้อมูลของ Korea Land and Housing Corporation จากเกาหลีใต้โครงการ Construction of the Korea-Myanmar Industrial Complex (KMIC) คาดว่าจะสร้างด้วยการลงทุนมูลค่า 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ สามารถสร้างงานให้ชาวเมียนมามากกว่าครึ่งล้านคนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาของเมียนมา KMIC เป็นโครงการระดับรัฐบาลซึ่งเป็นโครงการแรกระหว่างสองประเทศ ภายใต้การร่วมทุนระหว่าง Korea Land and Housing Corp, Global SAE-A Co Ltd และกระทรวงการก่อสร้างจะได้รับการพัฒนาบนพื้นที่ 556 เอเคอร์ในหมู่บ้านญองเนาบีน ในเมืองแลกูของย่างกุ้ง Korea Land & Housing Corporation จะถือหุ้นร้อยละ 40 ในโครงการในขณะที่ Global SAE-A Co จะถือหุ้นร้อยละ 20 เฟสแรกจะดำเนินการบนพื้นที่ 315 เอเคอร์ โดยเกี่ยวข้องกับสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม การผลิตแบบสั่งตัด (CMP) โลจิสติกส์และคลังสินค้า เฟสที่สองจะมีพื้นที่ 240 เอเคอร์ เน้นใช้ผลิตวัสดุก่อสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ โดยเขตอุตสาหกรรมทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565 ในขณะเดียวกันกระทรวงการก่อสร้างจะพัฒนาถนนวงแหวนรอบนอกและจัดหาไฟฟ้าและน้ำเข้าเพื่อให้ถึงเขตอุตสาหกรรมด้วยเงินกู้ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากกองทุนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ซึ่งได้รับเงินทุนแล้ว 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ KMIC จะร่วมมือกับสถาบันของรัฐบาลเกาหลีเพื่อสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ด้วยบริการให้คำปรึกษาและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และจะร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมาเพื่อดำเนินการศูนย์บริการแบบครบวงจรสำหรับนักลงทุนอีกด้วย ขณะเดียวกันกำลังเร่งดำเนินการก่อสร้างสะพานดาหลาในย่างกุ้งเพื่อให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้แม้จะจะมีการระบาดของ COVID-19 ก็ตาม สะพานแห่งนี้หรือที่เรียกว่าสะพานมิตรภาพเมียนมา – เกาหลีคาดว่าจะมีมูลค่า 168 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (257 พันล้านจัต) จะเชื่อมระหว่างเมืองดาลาข้ามแม่น้ำย่างกุ้งไปยังตัวเมืองย่างกุ้งเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 62 และมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 65

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/development-korean-industrial-project-begin-december.html

ย่างกุ้งเตรียมผลักดันโครงการ FDI ขนาดใหญ่ 3 โครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

คณะกรรมการการลงทุนของย่างกุ้งเปิดเผยว่ากำลังเร่งจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการของเขตอุตสาหกรรม 3 แห่ง ซึ่งจะช่วยธุรกิจในท้องถิ่นและสร้างโอกาสในการทำงานในภูมิภาคเนื่องจากการลงทุนใหม่อื่น ๆ อาจใช้เวลาเนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทางที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โครงการทั้ง 3 ได้แก่ Hlegu Industrial Park, Yangon Amata Smart Eco City และ Korea-Myanmar Industrial Complex ซึ่งทั้ง 3 โครงการได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการลงทุนของเมียนมา (MIC) โดยโครงการ Hlegu Industrial Park มีมูลค่า 230.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งพัฒนาโดยกลุ่มบริษัท Sembcorp Industries ในสิงคโปร์ครอบคลุมพื้นที่ 566 เฮกตาร์ในเมืองแลกูและเมืองย่างกุ้ง ข้อตกลงสำหรับโครงการนี้ลงนามโดย Sembcorp CSSD Myanmar Co และพันธมิตรในพื้นที่ Phatama Group Co Ltd และ Myanmar Agribusiness Public Corp (MAPCO) โครงการที่ 2 ศูนย์อุตสาหกรรมเกาหลี – เมียนมาร์ (Korea-Myanmar Industrial Complex : KMIC) เป็นโครงการของรัฐกับรัฐ (G2G) ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งอยู่ในเมืองแลกูและเมืองย่างกุ้งซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อนสิ้นปีนี้ โครงการที่ 3 Yangon Amata Smart Eco City  มีมูลค่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการนี้จะเกี่ยวข้องกับกรมพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยและอมตะเอเชีย (เมียนมา) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศไทยคืออมตะคอร์ปอเรชัน การพัฒนาจะอยู่ในเขตเมือง East Dagon โครงการการลงทุนใหม่นี้เป็นโครงการจากต่างประเทศ 2 โครงการมูลค่า 6.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐและการลงทุนในประเทศ 1 โครงการมูลค่า 2.17 พันล้านจัตในภาคการผลิต คาดว่าจะสร้างโอกาสในการทำงาน 1,073 คน

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/yangon-push-three-large-fdi-projects-boost-economy.html

ยอดลงทุนในเขตอุตสาหกรรมส่งออกแปรรูปของนครโฮจิมินห์ พุ่ง 86%

จากข้อมูลของเขตอุตสาหกรรมการส่งออกนครโฮจิมินห์ (HEPZA) กล่าวว่าเงินลงทุนมูลค่า 117 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 86 เมื่อเทียบกับปีก่อน และมูลค่าเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) 66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.58 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งจำนวน 11 โครงการ FDI มีเงินทุนจดทะเบียนมากกว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนนั้น เงินลงทุนภายในประเทศ 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ การลงทุนส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมดังกล่าวมาจากแหล่งเงินทุนในประเทศและโครงการต่างชาติที่มีแผนจะเพิ่มเงินทุน แต่ในช่วงไตรมาสที่ 2 นั้น คาดว่าจะยากลำบาก เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 นอกจากนี้ สำนักงานสถิตินครโฮจิมินห์ ระบุว่าในวันที่ 20 มีนาคม เมืองได้ดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/investment-in-hcm-citys-export-processing-industrial-zones-up-86-percent/171709.vnp

บริษัทต่างชาติลงทุน 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐในธุรกิจ CMP ในย่างกุ้ง

ตามรายงานของคณะกรรมการการลงทุนเขตย่างกุ้ง บริษัท ต่างๆ จะเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจผลิตเสื้อผ้าและกระเป๋าแบบ CMP (Cutting Making และ Packaging) ในเขตอุตสาหกรรมในเขตย่างกุ้งรวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษติวาล่า ด้วยการลงทุนเกือบ 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัท ไฟน์ไลน์ จำกัด จากฮ่องกง ลงทุน 2.087 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเขตเศรษฐกิจพิเศษติวาล่า บริษัท Genesis Myanmar Garment จำกัด จำนวน 4.285 ดอลลาร์สหรัฐ ในเขตอุตสาหกรรมอีสต์ ดราก้อน South Frame Myanmar Limited จากเอสโตเนีย 0.852 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  Myanmar Journey Bags Co Ltd (ฮ่องกง) 1.622 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเขตอุตสาหกรรมวาตายา Kai Sheng (เมียนมา) ของไต้หวัน 0.911 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน ในเมืองชเวปยีธา บริษัท การ์เม้นท์ จำกัด จากจีน 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัท ศรีหยวน (เมียนมา) จำกัด จากฮ่องกง 0.906 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเมืองไล่ง์บแว่ บริษัท ซันไรส์ (เมียนมา) แฟชั่น จำกัด จากจีน 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเขตอุตสาหกรรม Thadukan บริษัท ซีรานนอนวูฟเวน (เมียนมา) จำกัด จากฮ่องกง 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ Allland Fashion Limited จากจีน 1.002 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเขตอุตสาหกรรมไลง์ตายา และมีบริษัททั้งจากจีน ไต้หวัน และอื่น ๆ ที่ลงทุนในธุรกิจเสื้อผ้าแบบ CMP ในหลายเขตอุตสาหกรรม การลงทุนในครั้งนี้สามารถสร้างงานในท้องถิ่นมากกว่า 8,920 ตำแหน่ง

ที่มา : https://elevenmyanmar.com/news/companies-to-invest-24-m-in-cmp-garment-bag-making-in-yangon

เมียนมาสร้างลงทุนกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐสร้างเขตอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษเจาะพยู

โครงการเขตอุตสาหกรรมภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษเจาะพยู รัฐยะไข่จะถูกพัฒนาขึ้นเป็นมูลค่า 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย CITIC Consortium จากจีนเป็นเจ้าของ 51% ของเขตอุตสาหกรรมในขณะที่รัฐบาลเมียนมาเป็นเจ้าของ 49% บนพื้นที่ 2,400 เอเคอร์ และโครงการที่อยู่อาศัยระดับไฮเอนด์จะถูกสร้างบนพื้นที่ 1235 เอเคอร์ ประกอบด้วยเขตอุตสาหกรรม และท่าเรือน้ำลึกพื้นที่ทั้งหมด 4,400 ไร่ เมียนมาจะถือหุ้น 30 ขณะที่ CITIC Consortium จะถือหุ้น 70% ขณะนี้มีการเจรจาเพื่อเริ่มการดำเนินการระยะแรกที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์ สิ่งนี้เป็นไปตามข้อตกลงสัมปทานและข้อตกลงของผู้ถือหุ้นสำหรับท่าเรือน้ำลึกระหว่างสองประเทศ การพัฒนาท่าเรือเจาะพยู จะช่วยยกระดับสถานะของจีนในมหาสมุทรอินเดียทำให้การนำเข้าน้ำมันของจีนผ่านช่องแคบมะละกา SEZ เป็นสินทรัพย์อันล้ำค่าของระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Belt and Road Initiative ที่จีนต้องการจะชื่อมต่อเขตแดนของประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียทั้งหมดเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ยังจะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง คุณหมิง-มูเซ-มัณฑะเลย์-เจาะพยู

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/industrial-zone-kyaukphyu-sez-be-built-30m.html

เขตอุตสาหกรรมปอยเปตในกัมพูชาได้เริ่มดำเนินการแล้ว

เขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต (Poipet PPSEZ) ประกาศเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองปอยเปตในจังหวัดบันเตียเมียนเจยประมาณ 8 กิโลเมตร ติดกับประเทศไทยดำเนินการบริหารโดยพนมเปญ SEZ Plc. ซึ่งเลขาธิการสภาพัฒนากัมพูชา (CDC) กล่าวว่าการลงทุนของบริษัทหลายแห่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชนในรัฐบาล โดยจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในกัมพูชาอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการลงทุนครั้งนี้จะสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นและเป็นไปตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมในปี 2558-2568 โดยผู้อำนวยการพนมเปญ SEZ Plc. กล่าวว่าด้วยทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์การเชื่อมต่อทางภูมิศาสตร์และกำลังแรงงานจำนวนมากกำลังกลายเป็นฮอตสปอตระดับภูมิภาคสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอาเซียนโดยเฉพาะภายใต้กลยุทธ์ “Thailand-Plus-One” ซึ่งเป้าหมายของ PPSEZ คือพัฒนาภาคการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนรถยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, เสื้อผ้า, บรรจุภัณฑ์และพลาสติก ตามรายงานของ CDC กัมพูชามีเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ 23 แห่ง ซึ่งรวมกันเป็นที่ตั้งของโรงงาน 490 แห่งและมีงาน 130,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50668493/poipet-industrial-park-begins-operations/