สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคกัมพูชา กลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3

เครดิตบูโรกัมพูชา (CBC) รายงานถึงความต้องการสินเชื่อทางฝั่งผู้บริโภคพุ่งสูงขึ้น โดยมีการยื่นขอสินเชื่อจำนอง บัตรเครดิต และการเงินส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 38 ในช่วงของไตรมาสที่ 3 ของปี ทางด้านของการขอสินเชื่อบ้านก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CBC กล่าวว่า ตลาดสินเชื่อกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในไตรมาสนี้มีการปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญ แสดงถึงความต้องการที่ค่อนข้างสูงขึ้น หลังจากก่อนหน้าที่เกิดการชะลอตัวในไตรมาสที่แล้ว ที่มีคำขอสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 34 ที่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจำนวนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.65 หรือคิดเป็นจำนวน 1.32 ล้านบัญชี ซึ่งคุณภาพของสินเชื่อดีขึ้นเล็กน้อย โดยมีเพียงร้อยละ 2.56 ของยอดค้างชำระเกิน 30 วัน (30+ DPD) เทียบกับร้อยละ 2.57 ในไตรมาสที่ 2

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50963864/consumer-loan-demand-rebounds-38-percent-in-third-quarter-cbc-says/

วันแรกของเดือน พ.ย. กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรไปกว่า 41,000 ตัน

ตามฐานข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร ในวันแรกของเดือนพฤศจิกายน กัมพูชาทำการส่งออกสินค้าเกษตรรวมกว่า 41,671.20 ตัน ไปยัง 10 ประเทศ ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญในช่วงดังกล่าว ได้แก่ ข้าวสารจำนวน 16 ล้านตัน ส่งออกไปยังเวียดนาม, มันฝรั่ง 11.25 ล้านตัน ส่งออกไปยังเวียดนามและไทย, ถั่วเหลือง 2.5 ล้านตัน ส่งออกไปยังเวียดนาม, มะม่วงสด 3,570.58 ตัน ส่งออกไปยังเวียดนาม จีน และไทย และกล้วยสด 3,532.96 ตัน ส่งออกไปยังจีน โดยเวียดนามและไทยยังคงเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญสำหรับสินค้าเกษตรของกัมพูชา ซึ่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เวียดนามได้กลายเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในปัจจุบัน โดยสินค้าทางการเกษตรที่สำคัญของกัมพูชา ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลังแห้ง มันสำปะหลังสด แป้งมันสำปะหลัง กากมันสำปะหลัง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ข้าวโพด ถั่วเหลือง กล้วยสด ส้มโอ มะม่วงสด น้ำเชื่อมมะม่วง น้ำมันมะพร้าว พริกไทย ยาสูบ และผักนานาชนิด เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50964166/in-just-one-day-cambodia-exported-more-than-41000-tons-of-agricultural-products-main-to-vietnam/

ในช่วง 10 เดือนแรก กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 47

กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) กัมพูชา รายงานถึงตัวเลขการส่งออกของสินค้าเกษตรที่มีปริมาณการส่งออกรวมอยู่ที่ 4,221,153 ตัน ในจำนวนนี้ไม่รวมข้าวสารและข้าวเปลือก ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของก่อน โดยสินค้าเกษตรสำคัญของกัมพูชาที่ทำการส่งออก ได้แก่ มันสำปะหลัง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ข้าวโพด กล้วยสด ส้มโอ มะม่วง พริกไทย พริก และอื่นๆ ขณะที่การส่งออกข้าวโพด ยาสูบ และผักรวมลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนผลิตภัณฑ์จากมะม่วง (สด แยม น้ำเชื่อม) เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่ว ถั่วเหลือง และพริกไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วระหว่างร้อยละ 120-400 ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม กัมพูชาส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเกือบ 84 ชนิด ยกเว้นข้าวสารและข้าวเปลือก ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยสร้างรายได้ประมาณ 2.833 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50963305/cambodias-agricultural-exports-up-over-47-percent-in-first-10-months/

ไตรมาส 3 กัมพูชาส่งออกไปจีนขยายตัวร้อยละ 52

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา รายงานตัวเลขการส่งออกสินค้าของกัมพูชาไปยังจีน มีมูลค่ารวมมากกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 52.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกัมพูชานำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่ารวม 6.8 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.32 ทำให้มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างจีนและกัมพูชาอยู่ที่ 7.9 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งทั้งสองประเทศได้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัน โดยรัฐบาลกัมพูชาได้ให้สัตยาบันไปเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งสินค้าของกัมพูชาส่วนใหญ่ที่ถูกส่งออกไปยังจีนผ่าน FTA เป็นสินค้าเกษตร อาทิเช่น ข้าวสาร มันสำปะหลัง มะม่วง และกล้วย ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบสำหรับห่วงโซ่การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป วัสดุก่อสร้าง ยานพาหนะ ฯลฯ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50963082/q3-exports-to-china-see-52-increase-in-value/

กัมพูชาส่งออกข้าวสารกว่า 4.6 แสนตัน ในช่วง 10 เดือน

กัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณรวมกว่า 460,169 ตัน ในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.ปีนี้ คิดเป็นมูลค่าสุทธิ 393 ล้านดอลลาร์ ตามตัวเลขจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) ซึ่งการส่งออกข้าวสารทั้งหมดลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจีนยังคงเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดสำหรับการนำเข้าข้าวของกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 230,000 ตัน รองลงมาคือประเทศในสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศอาเซียนที่ปริมาณ 115,000 ตัน และ 43,000 ตัน ตามลำดับ ส่วนอีก 70,000 ตัน ถูกส่งไปยังจุดหมายปลายทางอื่น ๆ รวมถึงออสเตรเลียและประเทศในแอฟริกา ซึ่งจากการส่งออกทั้งหมดคิดเป็นการส่งออกข้าวหอมกว่าร้อยละ 71 หรือประมาณ 327,000 ตัน โดยในเดือน ม.ค.-ต.ค. กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรปริมาณรวมมากกว่า 6.3 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นข้าวสาร ข้าวเปลือก มะม่วง กล้วย ส้มโอ พริกไทย และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ไปยัง 68 ประเทศ ซึ่งทำรายได้รวมกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 87.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50962463/cambodia-exports-over-460000-tonnes-of-milled-rice-in-10-months/

เงินทุนสำรองระหว่างประเทศกัมพูชา แตะ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา รายงานถึงปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ แสดงถึงความมีเสถียรภาพทางด้านการเงินภายในประเทศ ซึ่งระดับเงินทุนสำรองดังกล่าวสูงกว่าระดับขั้นต่ำที่ประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไปได้กำหนดไว้ ผ่านความร่วมมือระหว่างธนาคารโลกในการส่งผ่านองค์ความรู้ทางด้านเทคนิคและเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาในการบริหารจัดการงาน โดยล่าสุด ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาได้สนับสนุนการพัฒนาระบบการชำระเงินที่ทันสมัย ​​และได้เปิดตัวระบบการชำระเงิน Bakong ซึ่งนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้เป็นระบบการชำระเงิน เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการเงิน ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการทำงานร่วมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินในท้องถิ่น และถือเป็นการบูรณาการระดับภูมิภาค

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50962529/cambodias-current-international-reserves-are-about-21-billion/

เอกอัครราชทูตมาเลเซีย หนุนข้อตกลงด้านภาษี กระตุ้นการลงทุน

เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำกัมพูชา กล่าวถึงข้อตกลงเกี่ยวกับการเก็บภาษีซ้อน (DTA) ระหว่างมาเลเซียและกัมพูชาที่จะมาแก้ไขปัญหาเกี่ยวการจัดเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อนระหว่างกันในช่วงปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้มีการลงทุนในกัมพูชามากขึ้น และชาวกัมพูชาจะเข้าถึงสินค้าและบริการของมาเลเซียมากขึ้น รวมถึงทำให้สภาพแวดล้อมทางภาษีของมาเลเซียและกัมพูชาชัดเจนเกี่ยวกับรายได้ทุกรูปแบบที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดระหว่างทั้งสองประเทศ โดยนักธุรกิจและนักลงทุนชาวมาเลเซียที่มองหาโอกาสในการลงทุนในกัมพูชาจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงนี้ ในทำนองเดียวกัน นักธุรกิจชาวกัมพูชาที่ใช้มาเลเซียเป็นแหล่งสินค้าก็จะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงนี้เช่นกัน ซึ่งมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและมาเลเซีย ในปัจจุบันลดลงกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในปีที่แล้ว มาเลเซียถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 3 ในกัมพูชา รองจากจีนและเกาหลีใต้ ที่มูลค่าการลงทุนรวม 3.53 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50961054/malaysia-ambassador-tax-deal-will-bolster-investment/

กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรช่วง 10 เดือน พุ่งเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงกัมพูชา รายงานถึงมูลค่าการส่งออกโดยประมาณของสินค้าเกษตร (ไม่รวมผลิตภัณฑ์ประมง ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และป่าไม้ และไม้ยางพารา) ไปยังประเทศประมาณ 68 ประเทศ ทั่วโลก ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2021 มีมูลค่ามากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ โดยข้าวเปลือกมีมูลค่าการส่งออกรวมมากที่สุดอยู่ที่ 465 ล้านดอลลาร์ ข้าวสารรองลงมามีมูลค่าการส่งอยู่ที่ 392 ล้านดอลลาร์ และสินค้าเกษตรที่ไม่ใช่ข้าวมีมูลค่าการส่งออกรวมกว่า 2.83 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งตามฐานข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรกัมพูชา ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2021 การส่งออกสินค้าเกษตรคิดเป็นปริมาณรวมอยู่ที่ 6,364,607 ตัน เพิ่มขึ้นกว่า 2,970,691 ตัน หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 87.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ได้บันทึกไว้ที่ 3,393,915 ตัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50962028/cambodia-earns-more-than-4-billion-from-agricultural-exports-in-first-10-months-this-year/

กัมพูชากำหนดเป้าหมาย นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในประเทศร้อยละ 20

โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (PV) จำนวน 7 โครงการ อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างและพร้อมที่จะดำเนินการภายในปี 2023 โดยรัฐบาลกัมพูชาตั้งเป้าที่จะสร้างพลังงานภายในประเทศจากพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้ได้ร้อยละ 20 เปิดเผยโดยปลัดกระทรวงการต่างประเทศของกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน ในงาน Singapore-IRENA High-Level Forum of the Singapore International Energy Week 2021 ซึ่งในปัจจุบันกัมพูชาผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนพลังน้ำ คิดเป็นร้อยละ 88 รองลงมาคือพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 9 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าในกัมพูชา และโรงไฟฟ้าถ่านหินบางส่วน ไปจนถึงการนำเข้าเพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านพลังงานภายในประเทศ โดยคาดว่าภายในปี 2023 โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะมีสัดส่วนด้านการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 จาก โรงไฟฟ้าหลังงานแสงอาทิตย์ 7 แห่งที่มีกำลังการผลิตรวม 495 mW

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50960312/cambodia-to-achieve-20-percent-of-energy-supplies-from-solar/

ส่งออกเสื้อผ้ากัมพูชาขยายตัวร้อยละ 11.4 ในช่วง 9 เดือนแรก

กัมพูชาส่งออกเสื้อผ้ามูลค่ารวม 8.24 พันล้านดอลลาร์ ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ย.ปีนี้ เพิ่มขึ้น 843.4 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 11.4 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แม้จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกัมพูชา รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา ซึ่งผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศของ Royal Academy of Cambodia กล่าวว่าการเติบโตของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยกัมพูชาส่งออกเสื้อผ้ามูลค่ารวม 9.50 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงเครื่องแต่งกาย รองเท้า และกระเป๋า ในปี 2020 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50960588/cambodias-garment-exports-up-by-11-4-in-jan-sept-2021/