‘เวียดนาม’ เผยยอดค้าระหว่างประเทศ ต.ค. ส่งสัญญาณบวก

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าการส่งออกของเวียดนามในเดือนต.ค.66 มีมูลค่า 32.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.3% เมื่อเทียบจากเดือนก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 29.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.9% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ การส่งออกของเวียดนามในช่วง 10 เดือนของปีนี้ มีมูลค่า 291.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 7.1% การนำเข้า มีมูลค่า 266.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 12.3% อีกทั้ง สหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีมูลค่าการค้า 78.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ตลาดจีนเป็นผู้บริโภคสินค้าเวียดนามรายใหญ่ที่สุด มีมูลค่า 89.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/trade-turnover-in-october-continues-to-see-positive-signs-post1055876.vov

คาด GDP ต่อหัวของกัมพูชาพุ่งแตะ 2,071 ดอลลาร์ ภายในปีหน้า

คาด GDP ต่อหัวของกัมพูชาจะอยู่ที่ 2,071 ดอลลาร์ ภายในปี 2024 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,917 ดอลลาร์ ในปี 2023 ตามรายงานจากกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง โดยเฉพาะในภาคการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป การท่องเที่ยว การก่อสร้าง และการเกษตร สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6.6 ในปีหน้า เพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 5.6 ในปีนี้ ขณะที่ประเทศกลุ่มที่มีรายได้ในระดับปานกลางมี GDP ต่อหัวอยู่ระหว่าง 4,466 ดอลลาร์ถึง 13,845 ดอลลาร์ ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงมี GDP ต่อหัวที่ 13,846 ดอลลาร์หรือมากกว่านั้น ตามการจัดประเภทของธนาคารโลก (World Bank) ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน มาเนต กล่าวเสริมว่า อัตราความยากจนของกัมพูชาลดลงอย่างน่าทึ่งจากร้อยละ 33.8 เหลือร้อยละ 17.8 ของประชากร ภายในช่วงระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา โดยปัจจุบันกัมพูชามีประชากรประมาณ 17 ล้านคน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501383721/cambodias-gdp-per-capita-to-reach-2071-next-year-report/

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชามุ่งมั่นส่งเสริมภาคการค้าระหว่างไทย

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา (MoC) มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนในระดับทวิภาคีระหว่างไทย ด้วยการดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ เข้ามายังกัมพูชา หวังเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ โดยคำกล่าวนี้เกิดขึ้นระหว่างงานสัมนา ‘การจับคู่ธุรกิจกัมพูชา-ไทย’ ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้ประกอบการเยาวชนกัมพูชาเพื่อการพัฒนา (CYEAD) เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (28 ต.ค.) ณ กรุงพนมเปญ นำโดย Cham Nimul รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลกัมพูชา เจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชา และนักธุรกิจและนักลงทุนชาวไทยเข้าร่วมงาน สำหรับการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมของปีนี้ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.58 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 19.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 646 ล้านดอลลาร์ไปยังไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ในขณะที่การนำเข้าสินค้าจากไทยลดลงร้อยละ 25.8 เหลือมูลค่า 1.93 พันล้านดอลลาร์ ภายในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังประเทศไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป สำหรับสินค้านำเข้าของกัมพูชาจากประเทศไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501383488/moc-committed-to-boosting-trade-ties-with-thailand/

ราคากระเทียม Kyukok ในเมียนมาพุ่งแรง

ราคาขาย มันฝรั่งจีน และกระเทียม Kyukok ที่จำหน่ายในตลาดบุเรงนอง มีการปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการขนส่งสินค้าไม่สามารถเดินทางผ่านเส้นทางชายแดนได้ตั้งแต่เช้าวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้ราคาขายส่งกระเทียม Kyukok และมันฝรั่งจีน เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1,000 จ๊าดต่อ viss และ 500 จ๊าดต่อ viss ตามลำดับ ซึ่งเป็นปกติของตลาดสินค้า เมื่อสินค้านั้นๆ เข้ามาที่ตลาดได้ยากขึ้นจะส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยในวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ราคาขายส่งกระเทียม Kyukok อยู่ที่ 7,700–7,800 จ๊าดต่อ viss แต่ในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 8,000–8,200 จ๊าดต่อ viss และ 8,500 จ๊าดต่อ viss ในตอนเย็น และ เช้าวันที่ 28 ตุลาคม 2566 ราคาขายส่งกระเทียมเพิ่มขึ้นเป็น 9,000-9,150 จ๊าดต่อ viss ที่คลังขายส่ง ขณะที่กระเทียมของรัฐฉาน ราคาขายส่งยังคงอยู่ที่ 8,400-9,800 จ๊าดต่อ viss ทั้งนี้ แม้ว่าราคาขายส่งมันฝรั่งของจีนอยู่ที่ 1,700–1,750 จ๊าดต่อ viss ในวันที่ 26 ตุลาคม แต่ก็ขึ้นไปเป็น 1,800 วอจ๊าดต่อ viss ในเช้าวันที่ 27 ตุลาคม และ 1,900–2,000 จ๊าดต่อ viss ในตอนเย็น และ 2,300 จ๊าดต่อ viss ในเช้าวันที่ 28 ตุลาคม ด้วยเหตุนี้ ในตลาดค้าปลีกในย่างกุ้ง กระเทียมของรัฐฉาน และ กระเทียม Kyukok จึงมีราคาประมาณ 10,000 จ๊าดต่อ viss และมันฝรั่งจีนมีราคาประมาณ 3,000 จ๊าดต่อ viss  ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ กระเทียมของรัฐฉาน และกระเทียม kyukok จะกลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่สร้างสถิติราคาสูงสุด เช่นเดียวกับ ถั่วดำ ถั่วแระ ถั่วลูกไก่ น้ำตาล และน้ำตาลโตนด ในปี 2566

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/kyukok-garlic-price-surges-hard/

รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติงบประมาณประจำปี 2024 มูลค่า 9.4 พันล้านดอลลาร์

รัฐบาลกัมพูชาได้อนุมัติร่างงบประมาณมูลค่า 38,829 พันล้านเรียล (9.4 พันล้านดอลลาร์) สำหรับการใช้จ่ายของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2024 ลดลงจาก 9.64 พันล้านดอลลาร์ ในปีงบประมาณ 2023 ซึ่งการอนุมัติดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำสัปดาห์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (27 ต.ค.) นำโดยนายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต โดยงบประมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับร้อยละ 27.16 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาภาคสังคม การศึกษา การฝึกอบรมสายอาชีพ และสุขภาพ รวมถึงด้านอื่นๆ เป็นสำคัญ ภายใต้การตอบสนองต่อความเสี่ยงและความท้าทายทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับร่างกฎหมายงบประมาณสำหรับปี 2024 จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาในขั้นตอนถัดไป ก่อนที่จะนำเสนอต่อพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี เพื่อรับรองกรอบงบประมาณดังกล่าวต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501383281/cambodia-approves-9-4-billion-for-government-spending/

กัมพูชาชาส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ขยายตัวกว่า 23.6%

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มูลค่า 5.81 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวถึงร้อยละ 23.6 สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ตามการรายงานล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา (MoC) โดยได้ทำการส่งออกไปยังเวียดนามมากที่สุดมูลค่า 2.03 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.6 ส่งออกไปยังจีน 1.06 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 และส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่มูลค่า 885.7 ล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ประกอบด้วย 15 ประเทศสมาชิก ในพื้นที่เอเชียแปซิฟิก รวมถึง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ร่วมกับคู่ค้าสำคัญอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ภาคใต้ เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ด้วยข้อตกลงดังกล่าวเอื้อต่อภาคการค้าระหว่างประเทศโดยประเทศสมาชิกตกลงที่จะให้สิทธิทางอัตราภาษีพิเศษระหว่างกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501382938/cambodias-export-to-other-rcep-members-up-23-6-percent-in-9-months/

นายกฯ หนุนศุลกากรหนองคาย One Stop Service ดันส่งออกชายแดน-จีน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมติดตามประเด็นปัญหาการส่งออก ขั้นตอนพิธีศุลกากร การค้าชายแดนและการพัฒนา One Stop Service ระหว่างราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ สำนักงานศุลกากร จังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยนายเศรษฐา ระบุว่า ตนต้องการให้จังหวัดได้พัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อผลักดันศูนย์ให้บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service :OSS) ทำให้การบริการภาครัฐรวมอยู่ในระบบเดียว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการและส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน หากจังหวัดหนองคายดำเนินการเป็นจังหวัดแรก ที่รวมบริการทั้งหมด เพื่อขยายตัวอย่างไปจังหวัดต่างๆ สำหรับไทย-จีนมีความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งจากการพูดคุยหารือนักลงทุนประเทศจีนมีความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งสินค้าเกษตร ขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเร่งประสานงานให้เกิดความร่วมมือ นำนักลงทุนมาลงทุนในประเทศไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันจุดผ่อนปรนจังหวัดหนองคายมีด่านชายแดนริมโขงอยู่ 4 จุด ซึ่งค่อนข้างแออัดหลังจากสถานการณ์โควิดปรับตัวดีขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ยังคงเปิดไม่ครบทุกจุด ด้านมูลค่าการค้า ณ จุดผ่านแดนอยู่ที่ประมาณ 400-500 ล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับ สปป.ลาว มาโดยตลอด

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1425864

‘ลาว-จีน-เมียนมา-ไทย’ เสร็จสิ้นภารกิจร่วมลาดตระเวนแม่น้ำโขง ครั้งที่ 134

หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจากลาว จีน เมียนมา และไทย สนธิกำลังเพื่อทำการลาดตระเวนร่วมในแม่น้ำโขง ครั้งที่ 134 โดยการลาดตระเวนร่วมครั้งนี้มีเรือ 5 ลำ และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย 114 นาย จาก 4 ประเทศ ครอบคลุมเส้นทางน้ำเป็นระยะทางกว่า 600 กิโลเมตร โดยปฏิบัติการดังกล่าวใช้เวลา 4 วัน 3 คืน ในระหว่างการลาดตระเวน ประเทศต่าง ๆ มุ่งเน้นไปที่การปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดนเพื่อความปลอดภัยและเสถียรภาพริมแม่น้ำ และทำการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งจัดขึ้นที่แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่แม่น้ำโขง ทั้งสี่ประเทศบรรลุฉันทามติในการร่วมกันต่อสู้กับการฉ้อโกงผ่านระบบโทรคมนาคมและอาชญากรรมข้ามพรมแดนอื่น ๆ รวมถึงกระชับความร่วมมือในอนาคตให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งนี้ แม่น้ำโขง หรือในจีนเรียกกันว่าแม่น้ำล้านช้าง เป็นแม่น้ำที่สำคัญสำหรับการขนส่งข้ามพรมแดน ทั้งสี่ประเทศได้ดำเนินการลาดตระเวนร่วมกันในแม่น้ำโขงตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา

ที่มา : https://english.news.cn/20231027/a22c8b9f0c11468b8a5a696aa43e1758/c.html

สปป.ลาว พิจารณาปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% ภายในปี 2567

กระทรวงการคลัง สปป.ลาว กำลังพิจารณาเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 10% เพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาลและสนับสนุนเศรษฐกิจ ซึ่งอัตราดังกล่าวจะเท่ากับอัตราเดิมที่เคยบังคับใช้ในช่วงปี 2553-2564 โดยกระทรวงการคลังได้ชี้ให้เห็นปัจจัยหลายประการที่เอื้อต่อการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่ามูลค่าปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่คาดการณ์ไว้ ขณะนี้จำนวนธุรกิจที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนต่ำกว่าคาดการณ์และรัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มรายได้เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ และทำให้สกุลเงินกีบมีเสถียรภาพ ตามการระบุของฝ่ายการเงินของรัฐบาล ทั้งนี้ ร่างกฎหมายใหม่เพื่อเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ และมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2567 นอกจากการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังพิจารณามาตรการอื่นๆ เพื่อปรับปรุงระบบภาษีของประเทศ รวมถึงการเร่งพัฒนากลไกในการคืนภาษีให้กับธุรกิจที่จ่ายไปแทนการยกเว้นภาษี ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการสูญเสียทางการเงินของรัฐบาลผ่านการยกเว้นภาษีพร้อมทั้งให้การสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่น
ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/10/27/laos-considers-raising-vat-rate-to-boost-revenue/

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าส่งออกมะพร้าว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายกาว บา ดัง ควา รองเลขาธิการสมาคมมะพร้าวเวียดนาม (VCA) ระบุว่ามะพร้าวนับเป็นแหล่งรายได้ให้กับกลุ่มครัวเรือนเกษตรกร ประมาณ 390,000 ครัวเรือน และหากพิจารณาตัวเลขของมูลค่าการส่งออกมะพร้าวเมื่อปี 2552 พบว่าทำรายได้จากการส่งออกเพียง 1 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ว่าตัวเลขของการส่งออกดังกล่าวได้ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 940 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ด้วยเหตุนี้ จากการประชุมของสมาคมฯ เมื่อวันที่ 28 ต.ค. มีมติที่ประชุมให้ตั้งเป้าการส่งออกมะพร้าวต่อปี อยู่ที่ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ มะพร้าวของเวียดนามยังได้รับการอนุมัติให้ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และบางประเทศในยุโรป

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnams-coconut-sector-aims-for-export-revenue-of-1-billion-usd-post130737.html