กัมพูชาวางแผนเพิ่มการเพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจภายในประเทศลดพึ่งพาการนำเข้า

ภาคการเกษตรของกัมพูชาโดยเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ และเป็ด กำลังอยู่ในช่วงของการเติบโตและขยายตัวรายงานโดยประธานสมาคมผู้ปรับปรุงพันธุ์สัตว์แห่งกัมพูชา ซึ่งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไม่พึงประสงค์ต่อภาคการเกษตร รัฐบาลจึงสนับสนุนโครงการให้กู้ยืมพิเศษผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาการเกษตรแห่งกัมพูชา ตลอดจนสถาบันให้กู้ยืมอื่น ๆ แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยคาดว่าสิ่งนี้จะทำให้ภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นการลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าประเภทสัตว์จากต่างประเทศลง รวมถึงเป็นการลดความผันผวนของราคาภายในประเทศจากความไม่แน่นอนในหลายๆ ด้าน ซึ่งยังส่งผลดีในการควบคุมโรคจากสัตว์ ยกตัวอย่างในกรณีที่เกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในภูมิภาค ที่เวียดนามกำลังประสบปัญหาการระบาดของโรค ASF อยู่หลายครั้งโดยล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม มีการบังคับให้คัดแยกสุกรกว่า 43,150 ตัว ระหว่างเดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2020 ส่งผลทำให้ราคาสุกรในประเทศกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50863218/domestic-husbandry-reduces-reliance-on-imports/

การพัฒนาของจีนสู่การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจกัมพูชา

ด้วยการคาดการณ์การพัฒนาของจีนที่อาจจะส่งผลผลักดันการเติบโตภายในภูมิภาคอาเซียนในปีนี้ โดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกัมพูชาจากการแพร่ระบาดยังคงขึ้นอยู่กับความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างจีนที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ซึ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั่วโลกที่ลงทุนมายังกัมพูชาลดลงกว่าร้อยละ 48 สู่ระดับ 846 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2015 ตามข้อมูลขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา โดย FDI คิดเป็นร้อยละ 13.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของกัมพูชา ซึ่งหากคิดจากปี 2020 กัมพูชาได้รับการลงทุนโดยตรงจากจีนมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 860 ล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 3.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 โดยการเติบโตของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจขึ้นอยู่กับว่าจีนฟื้นตัวได้ดีเพียงใดในปีนี้ เนื่องจากจีนถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ทั้งทางด้านมูลค่าการลงทุน ไปจนถึงปริมาณการลงทุนภายในภูมิภาค เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50863169/economic-recovery-linked-to-chinese-development/

กัมพูชาพลักดันการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ได้เรียกร้องให้ลูกค้าและผู้ค้าปลีกใช้ประโยชน์จาก e-wallets และแอพต่างๆ เช่น Bakong เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยทางการกัมพูชามองว่าดิจิทัลแบงกิ้งจะมีส่วนช่วยลดจำนวนการแพร่ระบาดลงได้โดยลดความจำเป็นในการทำธุรกรรมระหว่างบุคคลลง ซึ่ง NBC ยังสนับสนุนให้ธนาคารและสถาบันหลักๆ ภายในประเทศให้สิ่งจูงใจแก่ผู้บริโภคและธุรกิจที่เลือกทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้ใช้ความระมัดระวังในการจับธนบัตรและแนะนำให้ประชาชนล้างมือให้สะอาดหลังจากได้สัมผัสเงิน โดยจากข้อมูลของ NBC ปัจจุบันชาวกัมพูชามากกว่าร้อยละ 59 ทำธุรกรรมช่องทางออนไลน์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50862261/customers-and-retailers-urged-to-pay-online-to-help-prevent-covid-19-spread/

กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรในช่วง 5 เดือนแรกรวมกว่า 4.1 ล้านตัน

กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรประมาณกว่า 4.1 ล้านตัน ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นถึง 1.1 ล้านตันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว กล่าวโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรป่าไม้และการประมง ซึ่งเป็นการส่งออกข้าวเปลือกมากที่สุดจำนวน 1.6 ล้านตัน มันสำปะหลัง 1.2 ล้านตัน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ 800,000 ตันและข้าวโพด 134,000 ตัน ส่วนสินค้าส่งออกอื่น ๆ ได้แก่ ถั่ว 11,000 ตัน กล้วย 197,588 ตัน ส้มโอ 21,118 ตัน มะม่วง 152,090 ตัน น้ำมันปาล์ม 19,916 ตัน พริกไทย 6,800 ตัน พริก 56,500 ตัน และแยมมะม่วง 10,500 ตัน โดยตลาดหลักสำคัญสำหรับสินค้าเกษตรของกัมพูชา ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป ประเทศในกลุ่มอาเซียน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย ออสเตรเลียและประเทศอื่นๆ อีกมากมาย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50862233/4-1-million-tonnes-of-agricultural-products-exported-in-first-five-months/

กัมพูชารายงานความคืบหน้าโครงการสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในพนมเปญ

ทางการกล่าวว่าการก่อสร้างสนามบินพนมเปญแห่งใหม่ที่มีมูลค่าโครงการอยู่ที่ 1.5 พันล้านดอลลาร์ เสร็จสมบูรณ์แล้วร้อยละ 40 ในเดือนพฤษภาคม ภายใต้การดำเนินการตามแผนที่วางไว้แม้จะกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสนามบินตั้งอยู่ในจังหวัดกันดาลคาบเกี่ยวกับจังหวัดตาแก้วบนพื้นที่กว่า 2,600 เฮกตาร์ มีกำหนดจะเริ่มเปิดดำเนินการในปี 2023 ซึ่งเมื่อสนามบินแห่งใหม่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดกันดาลเนื่องจากสนามบินแห่งนี้ถือเป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะรองรับผู้โดยสารที่เดินทางมายังกัมพูชาได้มากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50861152/new-phnom-penh-international-airport-construction-now-40-percent-complete/

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาขยายโครงการปรับโครงสร้างหนี้ถึงสิ้นปี

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบทางด้านการเงินให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมาตรการดังกล่าวรวมถึงการคงปริมาณเงินทุนสำรองของสถาบันการเงินภายใรประเทศไว้ที่ร้อยละ 7 เพื่อเป็นการรองรับกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตและทำการขยายการปรับโครงสร้างหนี้ไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งลูกค้าที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ล็อกดาวน์สามารถทำการขอรีไฟแนนซ์ได้ถึง 3 ครั้งในช่วงระยะเวลาผ่อนผันนี้ตามประกาศของ NBC ทั้งยังสนับสนุนให้สถาบันการเงินพิจารณาลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมเป็นรายกรณีตามความเหมาะสม โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสมาคมไมโครไฟแนนซ์กัมพูชา (CMA) รายงานว่าภายในเดือนเมษายนมียอดเงินกู้รวมสูงถึงประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ ที่ขอทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในสถาบันทางการเงินที่เป็นสมาชิก CMA

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50861450/nbc-extends-loan-restructures-to-end-of-year/

กระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาเริ่มมองหาการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวทองคอนกล่าวว่ากระทรวงการท่องเที่ยวกำลังวางแผนสำหรับการฟื้นฟูการท่องเที่ยวระหว่างประเทศภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยจะเริ่มประเมินสถานภาพของภาคบริการด้านการท่องเที่ยวในทุกจุดหมายปลายทาง ร่วมกับการสร้างมาตรฐานการให้บริการการท่องเที่ยวภายในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรวดเร็ว เพื่อรับรองความปลอดภัยและคุณภาพของแต่ละจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งกระทรวงจะทำการศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีนตามกำหนดให้สามารถเดินทางมายังกัมพูชาได้ในฐานะนักท่องเที่ยว ร่วมถึงต้องเร่งทำการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานภาคบริการและประชาชนภายในประเทศให้ได้ครอบคลุมที่สุดเพื่อเป็นการจำกัดการแพร่ระบาดและถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่จะเดินทางมายังประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50860035/tourism-ministry-eyes-return-of-intl-tourists/

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสิ้นสุดวิกฤตโควิด-19 ที่คาดว่าจะทุเลาลงในช่วงปี 2021-2023 ในการประชุมนานาชาติครั้งที่ 26 ว่าด้วยอนาคตของเอเชียภายใต้หัวข้อ “การจัดการยุคใหม่หลังวิกฤตโควิด: บทบาทของเอเชียภายใต้การเปลี่ยนแปลงโลก” ซึ่งนายกรัฐมนตรีฮุนเซนกล่าวว่ารัฐบาลกัมพูชามุ่งมั่นที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการปฏิรูปเชิงลึกที่มุ่งสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็งและยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยรัฐบาลได้เตรียมและวางแผนที่จะเปิดตัวแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 สำหรับปี 2021-2023 เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจกลับมาใกล้เคียงกับศักยภาพการเติบโตที่ยั่งยืนมากขึ้นนอกจากนี้รัฐบาลยังว่างแผนพัฒนาโดยนำมาตรการปฏิรูปที่สำคัญในด้านโครงสร้างการลงทุนและธุรกิจ ไปจนถึงการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลในภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความยืดหยุ่นโดยการเสริมสร้างความพร้อมและการตอบสนองในอนาคต โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบการคุ้มครองสุขภาพและสังคมที่เข้มแข็ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50859901/reform-at-heart-of-govt-plans-for-economic-recovery/

บริษัทน้ำมันในกัมพูชากำหนดส่งมอบน้ำมันดิบครั้งแรกในเดือนนี้

Kris Energy บริษัทจากทางสิงคโปร์ที่ดำเนินการขุดเจาะน้ำมันในกัมพูชา วางแผนจัดส่งน้ำมันดิบไปยังตลาดต่างประเทศเป็นครั้งแรกในเดือนนี้ ปริมาณมากถึง 300,000 บาร์เรล ตามข้อมูลของอำนวยการใหญ่ด้านปิโตรเลียมของกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน โดยเกือบ 5 เดือนหลังจากการขุดเจาะน้ำมันดิบครั้งแรกออกจากพื้นที่อัปสราแปลง A ในน่านน้ำกัมพูชาในอ่าวไทย ซึ่งบ่อน้ำมันทั้ง 5 แห่งในบล็อก A เขตอัปสราได้เริ่มทำการสูบน้ำมันอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 2,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งยังต่ำกว่าปริมาณที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 7,500 บาร์เรลต่อวัน ที่คาดการณ์ไว้โดย Kris Energy ซึ่งหลังจากไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้บริษัทจึงได้นำที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม Netherland, Sewell & Associates Inc (NSAI) มาประเมินสถานการณ์ในระยะถัดไปใหม่ถึงปริมาณน้ำมันดิบที่คาดว่าจะผลิตได้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50859589/first-crude-oil-shipment-due-this-month

CMA กล่าวถึงปริมาณการขอปรับโครงสร้างสินเชื่อเพิ่มขึ้นในกัมพูชา

จำนวนบัญชีผู้ขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้สินในกลุ่มของสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของสมาคมไมโครไฟแนนซ์กัมพูชา (CMA) มีมูลค่ารวมถึงประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ ณ เดือนเมษายน ตามข้อมูลของ CMA โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2021 มีการขอรีไฟแนนซ์มากกว่า 35,800 บัญชีเงินกู้ มูลค่ากว่า 176 ล้านดอลลาร์ รวมถึงปริมาณการขอสินเชื่อขยายตัวสูงถึง 7 เท่า ในช่วงเดือนเมษายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ซึ่งผู้อำนวยการบริหารของ CMA เรียกร้องให้สมาชิกทุกรายดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาโดยการช่วยปรับปรุงโครงสร้างเงินกู้ภายใต้ความเหมาะสม ทั้งธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ยังกล่าวว่าสถาบันการเงินทุกแห่งควรดำเนินการปรับโครงสร้างเงินกู้ต่อไปจนถึงกลางปี ​​2021 เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินภายในประเทศจากผลกระทบของการแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และการขนส่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50859588/cma-loan-restructures-increasing/