เวียดนามเผยยอดการบริโภคปูนซีเมนต์ เพิ่มขึ้น 2.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ตามตัวเลขสถิติของกระทรวงการก่อสร้าง ระบุว่าในเดือนมีนาคม ยอดการบริโภคผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ แตะ 8.87 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ยอดการบริโภคซีเมนต์รวมอยู่ที่ 21.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งบริโภคในประเทศ 13.48 ล้านตัน และส่งออกซีเมนต์ 3.59 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 9.5% ในขณะที่ยอดการส่งออกปูนเม็ดราว 4.53 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7.3 เมื่อเทียบรายปี ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญ มองว่าแม้การบริโภคซีเมนต์เติบโตช้าที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การบริโภคคงอยู่ในทิศทางที่เป็นบวก ท่ามกลางการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและแนวโน้มเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น คาดว่าการผลิตซีเมนต์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จะดำเนินการในอนาคตอันใกล้นี้

ที่มา : https://en.nhandan.com.vn/business/item/9784502-cement-consumption-increases-by-2-6-over-the-same-period.html

เวียดนามเผยโควิด-19 กระทบสินเชื่อเพื่อการบริโภค

นาย Can Van Luc สมาชิกสภาที่ปรึกษาการเงินแห่งชาติ ระบุว่าสถาบันการเงินหลายแห่งได้ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจในช่วงระบาดของเชื้อไวรัส เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะผู้บริโภคที่รัดเข็มขัดและให้ความสำคัญมากขึ้นกับการดูแลสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและใช้วิถีสุขภาพ ในขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัล อีคอมเมิร์ซและการซื้อของออนไลน์ กลายเป็นที่นิยมแก่องค์กรและผู้บริโภค ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อผู้บริโภคกำลังค่อยๆเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี ประกอบไปด้วยข้อมูลลูกค้า ตลาดออนไลน์ การยืนยันตัวตนทางออนไลน์ ซึ่งจะผ่านบิ๊กดาต้า (Big Data) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และชำระเงินโดยตรงไปยังบัญชีของลูกค้า นอกจากนี้ บริษัทสำรวจและวิจัยตลาด “Ipsos” ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง พบว่าคนเวียดนามส่วนใหญ่ 80% มีรายได้ในเชิงลบจากการได้รับผลกระทบของโควิด-19 อีกทั้ง การแพร่ระบาดยังกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้กระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์และการชำระเงินออนไลน์แทนเงินสดมากขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/pandemic-impacts-consumer-credit/200322.vnp

เวียดนามเผยวิกฤติโควิด-19 ทำคนตกงานกว่า 1 ล้านคน ในไตรมาสแรกปีนี้

ตลาดแรงงานยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้จำนวนคนว่างงานในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นแตะราว 1.1 ล้านคน และอัตราการว่างงานอยู่ที่ 2.42% เพิ่มขึ้น 0.08% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สำนักงานสถิติแรงงาน ภายใต้สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่าในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. จำนวนแรงงานทั้งหมด 9.1 ล้านคนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ล้วนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจำนวนแรงงาน 540,000 คนต้องออกจากงาน และ 2.8 ล้านคนที่ถูกปลดงานเป็นการชั่วคราว และอีก 3.1 ล้านคน ลดชั่วโมงการทำงานลงหรือพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ในขณะที่ 6.5 ล้านคนได้รับรายได้น้อยกว่าเดิม ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาตลาดแรงงาน ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติแนะให้รัฐบาลเร่งทดลองเปิด ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ พร้อมกับกำหนดหลักเกณฑ์ต้องรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ที่มา : http://hanoitimes.vn/over-1-million-people-lose-jobs-on-covid-19-in-q1-gso-317039.html

เวียดนามคาดอีก 10 ปีข้างหน้า ภาคบริการขยายตัว 7-8%

ภาคบริการของเวียดนาม ตั้งเป้าขยายตัว 7-8% ในปี 2564-2573 สูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจและคาดว่าจะมีสัดส่วน 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภายในปี 2573 โดยเป้าหมายดังกล่าว ถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์แห่งชาติ กลยุทธ์นี้มุ่งเน้นปฏิรูปสถาบัน ส่งแสริมภาคบริการให้มีความโปร่งใสมากขึ้น พร้อมกับมีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้ รวมถึงเร่งปรับโครงสร้างองค์กรในภาวะการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ อีกทั้ง ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมองค์ความรู้และการแข่งขันของภาคบริการ อาทิ การท่องเที่ยว ไอที การเงินการธนาคาร โลจิสติกส์ การศึกษา การอบรมและการดูแลสุขภาพ เป็นต้น ประกอบกับจัดตั้งศูนย์บริการท่องเที่ยว เพื่อผลิตสินค้าท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงและมีเอกลักษณ์ประจำชาติ วัฒนธรรมอันโดดเด่น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/services-sector-expected-to-expand-by-78-percent-this-decade/200218.vnp

‘IMF’ คง GDP เวียดนามปีนี้ โต 6.5%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม คาดว่าอยู่ที่ 6.5% ในปีนี้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 6% จากนั้นจะฟื้นตัวเป็น 7.2% ในปีหน้า ซึ่งตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้เวียดนามเป็นประเทศเศรษฐกิจที่เติบโตได้เร็วเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มเศรษฐกิจหลัก 5 ประเทศของอาเซียน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตในเชิงบวก อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 2.7% ในปีนี้ จากระดับ 3.3% ในปีที่แล้ว นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะเติบโตที่ 6% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ สะท้อนให้เห็นถึงมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพิ่มเติมในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการใช้วัคซีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ที่มา : http://hanoitimes.vn/imf-maintains-vietnam-gdp-growth-forecast-at-65-in-2021-316951.html

‘CPTPP’ ดันส่งออกเวียดนาม

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ จัดขึ้นโดยสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (VCCI) เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อระดมความเห็นถึงผลลัพธ์ในช่วง 2 ปี ของการดำเนินการตามข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (CPTPP) หลังจากลงนามไปเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วม 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์และเวียดนาม ทั้งนี้ สมาชิกหอฯ แสดงความเห็นว่าข้อตกลงการค้าดังกล่าว ช่วยให้การส่งออกดีขึ้น มีมูลค่าถึง 34.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562 และพุ่งขึ้นแตะ 34 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว โดยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิก คิดเป็นสัดส่วน 12.02% ของยอดการส่งออกทั้งหมดของเวียดนามในปี 2563 นอกจากนี้ รองเท้า เครื่องนุ่งห่ม ไม้และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ เป็นกลุ่มสินค้าเติบโตที่ดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

  ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/cptpp-gives-boost-to-vietnamese-exports/199810.vnp

เวียดนามส่งออกข้าวไปไทย “พุ่ง”

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เผยว่าในช่วงกลางเดือนมีนาคม ปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามรวม 214,670 ตัน เป็นมูลค่า 117.58 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 38.5% ในแง่ของปริมาณและ 40.5% ในแง่ของมูลค่า โดยเฉพาะตลาดไทยที่ปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามพุ่ง 30 เท่า ด้วยปริมาณกว่า 16,250 ตัน จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ตลาดอื่น อาทิ กานา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฟิจิและอินโดนีเซีย ประเทศดังกล่าวนำเข้าข้าวเวียดนามพุ่งอย่างมาก ด้วยอัตรา 74.4%, 302.9%, 500.5% และ 2,180% ตามลำดับ ทั้งนี้ ตามสถิติ ณ วันที่ 6 เม.ย. ราคาส่งออกข้างหัก 5% ลดลง 5-10 เหรียญสหรัฐ อยู่ในระดับต่ำกว่า 500 เหรียญสหรัฐต่อตัน เนื่องจากแนวโน้มราคาข้าวทั่วโลกที่ปรับตัวลดลง ราคาข้าวของไทยและอินเดียปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากค่าเงินบาทและค่าเงินรูปีอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnamese-rice-exports-to-thailand-enjoy-surge-848681.vov

เวียดนามตั้งเป้าปี 73 ภาคบริการมีสัดส่วน 60% ของ GDP

ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของเวียดนาม มุ่งเน้นการส่งเสริมภาคบริการในปี 2564-2573 ด้วยกำหนดวิสัยทัศน์ถึงปี 2593 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้นนั้น รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปองค์กรและส่งเสริมความโปร่งใส รวมถึงยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคบริการในช่วงยุคอุตสาหกรรม 4.0 นอกจากนี้ เวียดนามจะปรับโครงสร้างภาคเศรษฐกิจผ่านการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะสาขาการเงินการธนาคาร การประกันภัย การดูแลสุขภาพ การศึกษา การขนส่ง การค้าและการท่องเที่ยว เป็นต้น ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปีนี้ ภาคบริการขยายตัวในทิศทางเป็นบวกที่ 3.34% เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ค่อยๆลดลง

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-government-eyes-services-sector-to-make-up-60-of-gdp-by-2030-316932.html

เวียดนามเผยไตรมาสแรก ยอดส่งออกผักผลไม้กลับมาดีขึ้น

สำนักงานการค้าต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่ายอดการส่งออกผักและผลไม้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 944 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จีนยังคงเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด ด้วยมูลค่า 352.83 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการซื้อผักและผลไม้ของเวียดนามตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.พ. ซึ่งมูลค่าดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 62.5% ของยอดการส่งออกสินค้าทั้งหมด ทั้งนี้ ในเดือนมี.ค. เวียดนามส่งออกผักและผลไม้ไปต่างประเทศ อยู่ที่ 380 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี และคาดว่ารายได้จากการส่งออกผัก ผลไม้จะพุ่งขึ้นแตะ 8-10 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากสินค้าแปรรูปที่มีสัดส่วน 30% ของมูลค่าทั้งหมด ภายในปี 2573

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/fruit-vegetable-exports-bounce-back-in-q1/199657.vnp

‘SCG’ ตั้งเป้าให้ความสำคัญกับตลาดเวียดนามสูงสุด อีกไม่กี่ปีข้างหน้า

Nikkei Asian เผยบทสัมภาษณ์ของคุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่าประเทศเวียดนามเป็นตลาดเป้าหมายที่สำคัญของธุรกิจ “อีกไม่กี่ปีข้างหน้า” ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 7% ถึงแม้ว่ารายได้จะปรับตัวลดลง แต่คาดว่าธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวมากกว่ากลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทได้เริ่มขยายธุรกิจในภูมิภาค โดยเวียดนามเป็นศูนย์กลางเชิงกลยุทธ์ในปี 2535 จนถึงในไตรมาสแรกของปี 2560 บริษัทมีแหล่งปฏิบัติการ 22 แห่งในเวียดนาม และมีจำนวนพนักงานท้องถิ่นมากกว่า 8,600 คน ดังนั้น บริษัทได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามีความสนใจและมีความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ตลอดจนมุ่งมั่นพัฒนาคนเวียดนามให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ เมื่อถามถึงประเด็นเศรษฐกิจ ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 พบว่า“สำหรับธุรกิจของ SCG บางส่วนได้รับผลกระทบและบางส่วนไม่ได้รับผลกระทบมากนัก” จำนวนผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ยอดขายรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ล้วนลดลง ตลอดจนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างที่มีสัดส่วนของยอดขายมากที่สุดของบริษัท ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากโควิด-19 ทำให้ผู้คนไม่มั่นใจว่ารายได้เพียงพอ การซื้อบ้านและคอนโดมีเนียมเกิดหยุดชะงักลง

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-is-top-priority-for-siam-cement-in-coming-years-ceo-30185.html