ทุเรียนกลายเป็น ‘ผลไม้ทอง’ ส่งออกของเวียดนาม

จากข้อมูลทางสถิติของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) เปิดเผยว่าเวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนมากกว่า 110,000 เฮคเตอร์ และผลผลิตประมาณ 850,000 ตันต่อปี โดยส่วนใหญ่เพาะปลูกอยู่ในพื้นที่ราบสูงตอนกลาง คิดเป็นสัดส่วนราว 47% ของพื้นที่ทั้งหมด และสาเหตุที่ทำให้เวียดนามผลักดันการส่งออกทุเรียน เนื่องมาจากมีความได้เปรียบทางด้านการตั้งราคาขายสูงและความต้องการนำเข้าของตลาดต่างประเทศ ทำให้ทุเรียนเวียดนามกลายมาเป็นผลไม้สำคัญเมื่อเทียบกับผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่นๆ ด้วยเหตุนี้พื้นที่เพาะปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นประมาณ 25% ต่อปี

นอกจากนี้ จากตัวเลขสถิติแสดงให้เห็นว่าทุเรียนของเวียดนามส่วนใหญ่ส่งออกไปยังตลาดจีน มีสัดส่วนกว่า 99% ของการส่งออกผลไม้รวม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1651246/durian-emerging-as-golden-fruit-among-viet-nam-s-exports.html

‘FDI’ ไหลเข้าเวียดนาม ช่วง 2 เดือนแรก พุ่ง 39%

จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ระบุว่าเวียดนามดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากกว่า 4.29 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 38.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในช่วงเวลาดังกล่าว โครงการใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียน มีจำนวน 405 โครงการ ด้วยเงินทุนจดทะเบียนรวม 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่โครงการที่มีการปรับทุน มีจำนวน 159 โครงการ มูลค่ารวมที่ 442.1 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการจัดสรรเงินทุนและการซื้อหุ้น ลดลง 68% เหลืออยู่ที่ 255.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ฮานอยเป็นเมืองที่ได้รับเงินทุนจากต่างประเทศมากที่สุด มูลค่ากว่า 914.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.4 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะเดียวกันสิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใกญ่ที่สุดของเวียดนาม มูลค่าการลงทุนมากกว่า 2.08 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาฮ่องกง ญี่ปุ่นและจีน ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-fdi-inflow-surges-nearly-39-in-two-months/280102.vnp

‘เวียดนาม’ เตรียมต้อนรับอาคารสำนักงาน อุปทานใหม่พุ่ง

คุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ (Cushman & Wakefield) ธุรกิจที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี 2567 เปิดเผยว่าอุปทานพื้นที่สำนักงานใหม่ในเมืองฮานอย อยู่ที่ 80,700 ตารางเมตร ในปี 2567 และที่ตั้งของสำนักงานส่วนใหญ่อยู่ในใจกลางเมือง ในขณะที่เมืองโฮจิมินห์ คาดว่าจะมีอุปทานใหม่เกรด A อยู่ในย่านใจกลางเมือง ซึ่งมีการเปิด 3 โครงการในปี 2567-2568 ด้วยพื้นที่สำนักงานระดับพรีเมียม 118,700 ตารางเมตร นอกจากนี้ ความไม่มั่งคงทางด้านเศรษฐกิจ ได้ส่งผลกระทบต่อความต้องการสำนักงานในเมืองโฮจิมินห์ เนื่องจากผู้เช่ามีความกังวลในเรื่องของภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-to-welcome-large-amount-of-new-office-supply-cushman-wakefield/280094.vnp

‘เวียดนาม’ ชี้คำสั่งซื้อเริ่มกลับมาฟื้นตัว

บริษัท เอบีบี ฮาร์เวสท์ แพคเกจจิ่ง เปิดเผยว่าคนงานจำนวน 400 คน เริ่มกลับมาทำงานในโรงงานแล้ว เนื่องจากมีคำสั่งซื้อในไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้ และบริษัทต้องจัดส่งมอบในเดือน มี.ค. และ เม.ย. นอกจากนี้ ธุรกิจหลายแห่งมีการลงทุนเชิงรุกมากขึ้นและปรับปรุงอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อที่จะตอบสนองกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน โรงงานปั้นด้ายแห่งหนึ่งในเกาะฟู้โกว๊ก จังหวัดเกียนซาง ได้มีการปรับปรังโครงสร้างธุรกิจและการพัฒนาอุปกรณ์ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและขีดความสามารถทางการแข่งขัน

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติของกรมศุลกากรเวียดนาม รายงานว่าตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงกลางเดือน ก.พ. การค้าระหว่างประเทศ มีมูลค่าสูงถึง 84.74 พันล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออก มูลค่า 44.42 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/export-orders-spring-back/280037.vnp

‘ผู้ประกอบการเวียดนาม’ แนะใช้ประโยชน์จากการย้ายห่วงโซ่อุปทาน

คุณ Phùng Anh Tuấn รองผู้อำนวยการของบริษัท Manutronic Vietnam JSC กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก ส่งผลให้บริษัทและกลุ่มธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ในเวียดนาม มีโอกาสที่จะอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลก และขยายกิจการทั้งการผลิตและการดำเนินธุรกิจ รวมถึงสร้างแรงงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมสนับสนุนในประเทศเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ เนื่องมาจากกฎระเบียบและข้อบังคับต้องเป็นไปตามมาตรฐานระดับสูงของพันธมิตรทางธุรกิจ

ในขณะที่คุณ Trâong Thị Chí Bình รองประธานสมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุนเวียดนาม (VASI) กล่าวว่าธุรกิจอุตสาหกรรมของเวียดนามส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง และดำเนินกิจการจากการจัดหาส่วนประกอบและชิ้นส่วนรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ดี การผลิตชิ้นส่วนสำหรับสินค้าไฮเทค เช่น รถยนต์และเครื่องบิน จำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมการในระยะยาว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650949/vietnamese-businesses-suggested-taking-advantage-of-global-supply-chain-shifts.html

‘จีน’ ยังคงครองอันดีบหนึ่ง ซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าจีนยังเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในกลุ่มตลาดนำเข้ารายใหญ่ 7 แห่ง มีมูลค่าการค้ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในเดือน ม.ค. โดยเฉพาะมูลค่าการนำเข้าของเวียดนามจากตลาดจีน อยู่ที่ 11.88 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่สินค้าที่มีการนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ เครื่องจักรและชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเหล็กกล้า

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/china-maintains-place-as-largest-provider-of-goods-to-vietnam-post1078990.vov

‘ซีบีอาร์อี’ เผยผลสำรวจ ชี้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด

ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก เปิดเผยผลการสำรวจประจำเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม พบว่าเวียดนามกลายเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ที่มีความต้องการทางด้านการลงทุนมากที่สุด ตามหลังอินเดียในแง่ความน่าดึงดูดของนักลงทุน โดยเวียดนามมีข้อได้เปรียบทางด้านภูมิประเทศและเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่ง รวมถึงใช้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศและดำเนินการห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ทำให้นักลงทุนมองเห็นถึงศักยภาพทั้งด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศและพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดียังมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมายในการถือครองทรัพย์สินและที่ดิน หรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นอุปสรรค

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/viet-nam-among-the-most-sought-after-emerging-markets-survey-2252988.html

‘IMF’ ชี้แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนาม ขยายตัวสูง

นายเปาโล เมดาส หัวหน้าฝ่ายการคลังของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำประเทศเวียดนาม ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ‘Dau Tu’ บอกถึงข้อสังเกตของทิศทางเศรษฐกิจในปีนี้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถส่งเสริมการบริโภคและการผลิต ขณะที่เร่งการเบิกจ่ายจากงบประมาณการลงทุนภาครัฐได้อีกด้วย และแนวโน้มชองเศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวได้ดี

ทั้งนี้ ธนาคารกลางควบคุมอัตราเงินเฟ้อของประเทศและบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยไม่สูญเสียทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ดีในปัจจุบันยังไม่เห็นช่องทางในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

นอกจากนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 5.8% ในปี 2567 เนื่องมาจากได้แรงหนุนจากการส่งออก แต่สิ่งสำคัญที่เวียดนามต้องเร่งแก้ไขอย่างรวดเร็ว คือ ภาคอสังหาฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อตลาดตราสารหนี้ขององค์กร

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-likely-to-maintain-high-economic-growth-in-medium-term-imf-expert-2251714.html

‘สื่อต่างประเทศ’ ชี้เวียดนามมั่งคั่งเร็วที่สุดในโลก

เฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส (Henley & Partners) บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเพื่อการย้ายถิ่นฐานชั้นนำระดับโลก รายงานว่าเวียดนามอยู่ในตำแหน่งที่ดีจากความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอีก 10 ปีข้างหน้า และเวียดนามยังได้รับการขนามนามว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลก ในขณะที่ Andrew Amoils นักวิเคราะห์ของ New World Wealth กล่าวว่าเวียดนามจะมีความมั่งคั่งเติบโตสูงถึง 125% ในอีก 10 ปีข้างหน้า นับว่าเป็นการขยายตัวทางด้านความมั่งคั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทั้งในแง่ของรายได้ต่อหัวและจำนวนเศรษฐี นอกจากนี้ เวียดนามเป็นฐานการผลิตที่ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นในมุมมองของบริษัทข้ามชาติ ตั้งแต่เทคโนโลยี ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/foreign-media-vietnam-to-see-highest-increase-in-wealth-growth-post1078049.vov

‘เซ็นทรัลพัฒนา’ ผู้นำอสังหาฯ ไทย จัดตั้งบริษัทย่อยในเวียดนาม

‘เซ็นทรัลพัฒนา’ (Central Pattana : CPN) หนึ่งในเครือเซ็นทรัลที่เป็นองค์กรเอกชนชั้นนำในการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายอุตสาหกรรมของประเทศไทย เดินหน้าจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ในเวียดนาม เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจจากในตลาดท้องถิ่น ในขณะที่บริษัทย่อย ซีพีเอ็น โกบอล เวียดนาม มีเงินทุนจดทะเบียนราว 20 พันล้านดอง โดยซีพีเอ็น โกบอล เวียดนาม เป็นผู้ถิอหุ้น 100% ดำเนินการจัดการอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนาม

ทั้งนี้ จากข้อมูลของเว็บไซต์บริษัท เปิดเผยว่าเซ็นทรัลพัฒนาเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกชั้นนำในประเทศไทย และมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2538 โดยในปัจจุบัน เซ็นทรัลพัฒนาเป็นเจ้าของและบริหารจัดการห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์เกือบ 40 แห่ง อาคารสำนักงาน 10 แห่ง และโรงแรมอีก 5 แห่งที่มีพื้นที่เช่ารวมเกิน 2.3 ล้านตารางเมตร พร้อมอาคารอพาร์ตเมนต์จำนวน 28 หลัง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/thai-property-developer-central-pattana-sets-up-new-subsidiary-in-vietnam-post1078025.vov