ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำของกัมพูชา ได้รับการอนุมัติในการส่งออกไปยังจีน

ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำของกัมพูชาได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ ให้สามารถส่งออกไปยังจีนได้ แถลงการณ์โดยสถานทูตจีนประจำกัมพูชาในวันพุธที่ผ่านมา (31 พ.ค.) โดยถ้อยแถลงระบุว่า สำนักงานศุลกากรจีนได้ปรับปรุงข้อมูลการขึ้นทะเบียนของผู้ผลิตอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งส่งผลทำให้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำของกัมพูชาได้รับอนุมัติเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการส่งออกไปยังจีน ด้าน บริษัท Kim Chou Co., Ltd. บริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจ นำเข้า-ส่งออก รวมถึงให้บริการขนส่งระหว่างประเทศของกัมพูชา ได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังจีนเป็นบริษัทแรก โดยปัจจุบันสัตว์น้ำของกัมพูชาได้รับการอนุมัติในการส่งออกไปยังจีนแล้ว 12 ชนิด ซึ่งรวมถึงกุ้ง ปลา ปลาไหล และหอยทากแม่น้ำ เป็นส่วนสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501300300/cambodias-wild-aquatic-products-get-approval-for-access-to-china/

“จุรินทร์” ผนึกเอกชนรุกส่งออกดันบวกได้ 1-2%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยในปีนี้ ยังคงติดลบต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปทั่วโลกเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอ ตัวหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยเศรษฐกิจถดถอย กระทบต่อกำลังซื้อในต่างประเทศส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกติดลบ หลายประเทศก็เป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งไทยถือว่าติดลบไม่มาก แต่ทั้งปีกระทรวงพาณิชย์ ได้ประเมินร่วมกับภาคเอกชน มีโอกาสทำให้ตัวเลขเป็นบวกอย่างน้อย ร้อยละ 1-2 ได้ ประเด็นสำคัญคือการเตรียมบุกตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดอาเซียน ตะวันออกกลาง เอเชียใต้และจีน เมื่อจีนเริ่มเปิดประเทศและมีกำลังซื้อดีขึ้น ไทยจะทำตัวเลขได้เพิ่มขึ้น การส่งออกยังมีโอกาสฟื้นกลับมาเป็นบวกได้ โดยยังคงทำงานเต็มที่ร่วมกับภาคเอกชน ผลักดันอีก 350 กิจกรรม กระจายไปทั่วโลก หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจะมีส่วนช่วย และค่าเงินบาทอาจจะมีส่วนสำคัญ ถ้าค่าเงินบาทอ่อนลงจะช่วยทำให้ตัวเลขส่งออกการแข่งขันได้ดีขึ้น แต่ต้องมองเศรษฐกิจโดยรวมด้วยว่าเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องราคาสินค้าในประเทศหลายรายการปรับลดลงต่อเนื่อง เช่น ปุ๋ยยูเรีย ปรับลดลงมา ร้อยละ 50 และราคาปุ๋ยโดยเฉลี่ยลดลงประมาณ ร้อยละ 30 ผลจากราคาแก๊ส ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง ซึ่งปุ๋ยเคมีต้องนำเข้า 100% ส่วนราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ปรับลดลงอยู่ในระดับไม่เกินราคาโครงสร้างที่กำหนดไว้ สอดคล้องกับต้นทุน

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/economy/news_560066/

‘เวียดนาม’ เผย ม.ค.-พ.ค. ธุรกิจปิดกิจการไปแล้วกว่า 88,000 แห่ง

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน พ.ค. มีธุรกิจประมาณ 88,000 แห่ง ปิดกิจการไปแล้ว และธุรกิจอีก 55,200 แห่ง ประกาศที่จะหยุดการดำเนินกิจการชั่วคราว เพิ่มขึ้น 20.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ จากข้อมูลเฉพาะในเดือน พ.ค. เพียงเดือนเดียว พบว่ามีธุรกิจที่หยุดการดำเนินงานลดลง 25.1% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. แต่เพิ่มขึ้น 8.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี และธุรกิจมากกว่า 4,700 แห่ง ขอเลิกกิจการในเดือนนี้ ในขณะที่อีก 1,200 แห่งได้ประกาศล้มละลาย ลดลง 19% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 8.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/around-88000-firms-exit-market-in-january-may/

‘IMF’ คาดเวียดนามขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 20 ของเศรษฐกิจโลก

จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในแง่ของความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP) คาดว่าจะอยู่อันดับที่ 25 ของโลกในปี 2565 ซึ่งอยู่ต่ำกว่าประเทศออสเตรเลียและโปแลนด์ โดยเฉพาะออสเตรเลียที่มีมูลค่ากว่า 1.63 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก ในขณะที่โปแลนด์มีมูลค่า 1.64 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 19 ทั้งนี้ IMF ยังคาดการณ์ว่าภายในปี 2566 เวียดนามจะรักษาอันดับที่ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากการคาดการณ์ตัวเลข GDP ในแง่ของอำนาจซื้อ ด้วยมูลค่าประมาณ 1.45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เส้นทางการเติบโตที่ประสบความสำเร็จของเวียดนาม แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศที่ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งเสริมวัฒนธรรม ตลอดจนการส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและพนักงานหรือแรงงานรุ่นใหม่ ด้วยเหตุนี้ เวียดนามพร้อมที่จะกลายมาเป็นผู้เล่นหลักในเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก

ที่มา : https://vir.com.vn/vietnam-projected-to-become-20th-largest-global-economy-102224.html

“โคคา-โคล่า” ประกาศแต่งตั้ง ผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศไทย เมียนมา และสปป.ลาว คนใหม่

บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศแต่งตั้ง นายวิกเตอร์ หว่อง เป็นผู้จัดการทั่วไป บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด และรองประธานฝ่ายธุรกิจแฟรนไชส์ประจำประเทศไทย เมียนมา และสปป.ลาว เดอะ โคคา-โคล่า คัมปะนี นายวิกเตอร์ จะเข้ามาดูแลภาพรวมพร้อมกำหนดทิศทางกลยุทธ์การเติบโตทางธุรกิจให้กับ “โคคา-โคล่า” ทั้งในประเทศไทย เมียนมา และสปป.ลาว ด้วยประสบการณ์การทำงานกว่า 22 ปี กับ เดอะ โคคา-โคล่า คัมปะนี ก่อนเข้ารับตำแหน่งล่าสุด นายวิกเตอร์ เคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธุรกิจพันธมิตรผู้ผลิตและจัดจำหน่าย “โคคา-โคล่า” ในประเทศเมียนมา นายวิกเตอร์เริ่มต้นเส้นทางการทำงานกับ “โคคา-โคล่า” ที่ประเทศจีน โดยได้รับผิดชอบดูแลงานหลากหลายภาคส่วนและพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งการบริหารจัดการ กลยุทธ์องค์กร การจัดจำหน่าย การดำเนินงานในห่วงโซ่อุปทาน การตลาดของแบรนด์ ตลอดจนการดำเนินงานหลังการควบรวมกิจการ ทั้งนี้ นายวิกเตอร์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก โดยจะประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ กับครอบครัวในระยะเวลาที่เข้ารับตำแหน่งดังกล่าว

ที่มา : https://www.thaipr.net/en/business_en/3342737

สปป.ลาว ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวกว่า 1.1 ล้านคน ในช่วง 4 เดือนแรกของปี

นักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 1.11 ล้านคน เดินทางมาเยือนยัง สปป.ลาว ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ตามการรายงานของกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย 430,979 คน รองลงมาคือเวียดนาม 224,461 คน, จีน 223,350 คน และนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งในปีที่แล้วมีเพียงนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมา สปป.ลาว เพียง 45,249 คน เนื่องจากในช่วงปีดังกล่าวรัฐบาลจีนยังไม่ได้เปิดพรมแดนสำหรับการเดินทางออกนอกประเทศ แต่ในปัจจุบันทางการจีนได้ยกเลิกมาตรการดังกล่าวแล้ว โดยนับตั้งแต่ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ บริษัท นำเที่ยวและผู้ให้บริการทัวร์ออนไลน์ในจีน ได้รับอนุญาตให้จัดกรุ๊ปทัวร์ไปยัง 20 ประเทศ รวมทั้ง สปป.ลาว รวมถึงการเปิดให้บริการข้ามแดนบนทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ในวันที่ 13 เมษายน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจีนมายัง สปป.ลาว โดยในปีที่แล้ว สปป.ลาว ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 1.68 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 85.5 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2022 สร้างรายได้กว่า 219 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten103_Over11_y23.php

ท่านอากาศยานนานาชาติเตโชตากัมพูชา กำหนดเริ่มดำเนินการในช่วงปี 2025

ท่าอากาศยานนานาชาติเตโช (TIA) ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณร้อยละ 50 มีกำหนดที่จะเริ่มเปิดให้ใช้บริการในช่วงต้นปี 2025 กล่าวโดย Charles Vann ผู้อำนวยการของ Cambodia Airport Investment Co., Ltd. (CAIC) ซึ่งได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการก่อสร้าง ในระหว่างพิธีลงนามข้อตกลงร่วมทุน MRO (การบำรุงรักษา ซ่อมแซม และยกเครื่อง) ณ สนามบินนานาชาติ Techo กับ บริษัท SIA Engineering ในสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยโครงการสนามบินนานาชาติเตโชได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้ CAIC ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลกัมพูชาผ่านสำนักเลขาธิการการบินพลเรือนแห่งรัฐ และ Overseas Cambodia Investment Corporation (OCIC) เพื่อสร้างและพัฒนาสนามบินนานาชาติพนมเปญแห่งใหม่ ในจังหวัดกันดาลและตาแก้ว ห่างจากเมืองหลวงพนมเปญไปทางใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร โดยได้รับการออกแบบสำหรับรองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคนต่อปี โดยมีรันเวย์ 3 ทาง และสถานีรับสัญญาณดาวเทียมบนพื้นที่ทั้งหมด 2,600 เฮกตาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501299512/techo-international-airport-scheduled-to-commence-operations-by-early-2025/

CDC อนุมัติโครงการลงทุนเพิ่ม 3 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 15 ล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC) ได้อนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 3 โครงการ ด้วยเงินทุนรวม 15.4 ล้านดอลลาร์ ซึ่งโครงการแรกเป็น บริษัท BOLITO GARMENT CO., LTD., XIN LI AN SHOES CO., LTD. และ NEW HM KNITTING CLOTHING (CAMBODIA) CO., LTD. โดยได้กล่าวไว้ในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ (30 พ.ค.) โดยทั้งสามบริษัทจะลงทุนในการจัดตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าในจังหวัดกันดาลและกัมปงสปือ รวมถึงจัดตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนรองเท้าในเมืองหลวงอย่างกรุงพนมเปญ ซึ่งคาดว่าจะมีการสร้างงานในท้องถิ่นมากกว่า 3,000 ตำแหน่ง จากการจัดตั้งโครงการลงทุน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501299554/cdc-approves-three-more-investment-projects-worth-over-15-million/

กรมเจรจาฯ ลุยต่อช่วยเกษตรกร-ผู้ประกอบการ รับมือเปิดตลาดนมภายใต้ FTA

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ดำเนินโครงการ “โคนมไทยก้าวไกลขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA” มาอย่างต่อเนื่อง โดยทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย กลุ่มเกษตรกรโคนม และผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมสินค้านมโคแปรรูปและผลิตภัณฑ์นมของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดการค้าเสรี และเตรียมรับมือการเปิดตลาดนมภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะ FTA ไทย-ออสเตรเลีย และ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ รวมทั้งการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศคู่ FTA โดยเฉพาะอาเซียน จีน และฮ่องกง ที่ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมจากไทยแล้ว สำหรับแนวทางในการรับมือ กรมฯ ได้ลงพื้นที่ไปให้ความรู้ในการปรับตัว ช่วยพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าให้ได้มาตรฐานส่งออก ช่วยจับคู่ธุรกิจให้กับสหกรณ์โคนมและผู้ประกอบการนมโคและแปรรูปของไทยในการหาตลาดรองรับน้ำนมดิบอย่างยั่งยืน และช่วยหาตลาดส่งออก โดยเฉพาะประเทศที่มีการทำ FTA กับไทย ซึ่งประสบผลสำเร็จ สามารถส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ในตลาดโลก โดยไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมสู่ตลาดโลก มูลค่า 593.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.78% และในช่วง 3 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.) ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมสู่ตลาดโลกมูลค่า 153.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อาเซียน มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 80% จีน มีส่วนแบ่งตลาด 5% และฮ่องกง มีส่วนแบ่งตลาด 5%

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9660000049989

เศรษฐกิจ “ค้าชายแดน-ผ่านแดน”ฟื้นดันส่งออกโต1.49แสนล้าน

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนเมษายน 2566 มีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน 149,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.17% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกผ่านแดนไปจีนขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน (178.23%) คิดเป็นมูลค่า 33,341 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนและผ่านแดน เดือนเมษายน 2566 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 149,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.17% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 90,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.30% และการนำเข้ามูลค่า 59,027 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.57% โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนเมษายน 2566 ทั้งสิ้น 31,755 ล้านบาท    ทั้งนี้สาเหตุที่การค้าผ่านแดนและชายแดนขยายตัวต่อเนื่องมาจากเศรษฐกิจการค้าชายแดนและผ่านแดนกลับมาฟื้นตัวและมีการเปิดด่านมากขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยว คู่ค้า สามารถเดินทางเข้าออกได้สะดวกมากขึ้น

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/566706