นักท่องเที่ยว สปป.ลาว-ไทย แห่ชมพระธาตุกลางแม่น้ำโขง

นักท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งจาก สปป.ลาวและไทย แห่ชมพระธาตุกลางแม่น้ำโขง ซึ่งคาดว่ามีอายุมากถึง 700 ปี โดยเจดีย์จะโผล่ขึ้นมาให้เห็นเป็นครั้งคราวในช่วงที่ระดับน้ำในแม่น้ำลดต่ำลง ในเขตพื้นที่ตำบลหาดขาม จังหวัดหนองคาย ติดกับตำบล Hadxayfong ในนครหลวงเวียงจันทน์ ของ สปป.ลาว ตามข้อมูลของ Thailand Tourism Director ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการท่องเที่ยวในจังหวัด โดยเจดีย์ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขงถูกทำลายไปในช่วงปี 1766 ที่ปัจจุบันมีความสูง 12.20 เมตร และฐานของพระธาตุกว้าง 15.80 เมตร

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/03/17/tourists-from-laos-thailand-flock-to-see-buddhist-stupa-in-mekong-river/

กกร.-เคดันเร็น ผนึกความร่วมมือลงทุน BCG ญี่ปุ่นย้ำใช้ไทยฐานผลิต

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Thai-Japan Joint Trade and Economic Committee 2023) ครั้งที่ 24 ซึ่ง กกร.ร่วมกับสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือเคดันเร็น ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ว่า ปี 2565 ที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นได้มีการเดินทางเยือนในระดับผู้นำมาที่ประเทศไทยหลายครั้ง ซึ่งนอกจากการเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมเอเปกในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนพฤษภาคม ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย โดยเป็นการเยือนไทยครั้งแรกในรอบ 9 ปีของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยผลการหารือระหว่างผู้นำทั้งสองฝ่ายในครั้งนั้น ได้บรรลุผลเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยได้ยกระดับสถานะความสัมพันธ์จากหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) อันเป็นผลทำให้เกิดการริเริ่มและความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นอีกหลายด้าน

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9660000024843

เปิดสถิตินักท่องเที่ยวเข้าไทย พบรัสเซียขึ้นอันดับ 2 เฟทโก้เร่งรัฐกระตุ้นก่อนเลือกตั้ง

กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาท่องเที่ยวในไทย พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมกราคม 2566 เข้ามาทั้งสิ้น 2,144,948 คน เพิ่มขึ้น 1,502% โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากที่สุด คือ นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย 288,745 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 26,390% อันดับที่ 2 นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย 202,759 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 753% อันดับที่ 3 นักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ 169,462 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7,781% อันดับที่ 4 นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย 103,316 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4,867% และอันดับที่ 5 นักท่องเที่ยวชาวจีน 91,841 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2,853% ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ในปี 2565 จากเดิมที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 10 ล้านคน แต่ในความเป็นจริงมีเข้ามามากกว่า 11 ล้านคน ในขณะที่เดือน ม.ค. 66 ก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาถึง 2.2 ล้านคน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ผลกระทบจากการเลือกตั้ง เพราะในช่วงดังกล่าวนั้นรัฐบาลจะไม่สามารถทำมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่าน ดังนั้นตัวช่วยที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจะหายไป ดังนั้นภาครัฐควรพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/feature/2650218

คลังชี้เศรษฐกิจดีขึ้น การบริโภคภาคเอกชนช่วยหนุน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2566 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบ 26 เดือน ขณะที่แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง”

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนมกราคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 10.1% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 2.1% ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -2.1% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 32.3%

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนมกราคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -7.3% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 6.6%

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนมกราคม 2566 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2.7% ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ อาทิ ยางพารา ข้าวโพด และผลผลิตในหมวดไม้ผล เป็นต้น

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมกราคม 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 93.9 จากระดับ 92.6 ในเดือนก่อนหน้าองค์ประกอบที่สำคัญของดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดีและแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าลดลงต่อเนื่องสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 5.02% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3.04% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ 60.7% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

ที่มา: https://www.naewna.com/business/713999

สปป.ลาว – ไทย ลงนาม MoU ขนส่งผ่านทางรถไฟข้ามชายแดน

เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งชาติ สปป.ลาว (LNR) ได้ลงนาม MoU ด้านการขนส่งทางรถไฟข้ามชายแดน ไทย-ลาว-จีน กับ บริษัท เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต จำกัด จากประเทศไทยซึ่งได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้สามารถขนส่งสินค้าทางรถไฟผ่านชายแดนไทย-สปป.ลาว-จีน ได้ ซึ่งภายใต้ MoU นี้ LNR จะเป็นผู้ประสานงานและทำการจองขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าจาก รฟท. เพื่อให้ บจก.เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต ใช้ในการขนส่งทางรางข้ามชายแดน ทั้งนี้ บจก.เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต จะต้องปฏิบัติตามกฎและข้อบังคับของ รฟท. อย่างเคร่งครัด และต้องรายงานข้อมูลการส่งสินค้าให้กับ LNR ทราบล่วงหน้าก่อน 15 วัน

ที่มา: https://kpl.gov.la/En/detail.aspx?id=71651

กรอ. ดัน 6.9หมื่นโรงงาน รุกเซอร์คูลาร์-กรีน ขยะเป็นศูนย์ หนุนสินค้าลดคาร์บอน

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า เพื่อสนับสนุนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจบีซีจี หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (ไบโอ อีโคโนมี) เศรษฐกิจหมุนเวียน (เซอร์คูล่าร์ อีโคโนมี) และเศรษฐกิจสีเขียว (กรีน อีโคโนมี) กรอ.จะเร่งส่งให้โรงงานทั่วประเทศ 6.9 หมื่นโรงงาน มุ่งสู่บีซีจี โดยในส่วนของโรงงานเดินหน้า 2 ด้านหลักได้ทันที คือ เซอร์คูล่าร์ อีโคโนมี ลดของเสียในโรงงานให้เป็นศูนย์ และอีกด้านคือ กรีน อีโคโนมี เน้นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน ผลิตภัณฑ์ที่ได้ต้องรักษาสิ่งแวดล้อม ลดคาร์บอน จะมีการกำหนดกรีนจีดีพีขึ้นมาโดยวัดจากการปล่อยคาร์บอนของสินค้านั้นเป็นหลัก เพื่อรับการแข่งขันของโลก

ล่าสุด ได้หารือร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เพื่อหาแนวทางการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าและนำกากอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์เป็นวัสดุหมุนเวียน ตามกรอบแนวคิดการสิ้นสุดการเป็นของเสีย นำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำกากอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์ ตามนโยบาย บีซีจีของกระทรวงอุตสาหกรรม

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_3843252

FTA ไทย-ยูเออี ประตูการค้าสู่ตะวันออกกลางของไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเตรียมจัดการประชุมระดมความเห็น เปิดประตูการค้าการลงทุนผ่าน FTA ไทย-ยูเออี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับจัดทำ CEPA ไทย-ยูเออี จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสัมคม พร้อมทั้งนำเสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ GCC และ CEPA ไทย-ยูเออี และรับฟังมุมมองและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย สำหรับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจและการค้าในตะวันออกกลาง ซึ่งพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง และยังสามารถเป็นประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ซึ่งมีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ยูเออี ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน กาตาร์ และคูเวต ซึ่งปัจจุบันสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลางโดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีมูลค่า 20,824.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+73.90%) เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีสัดส่วนการค้า คิดเป็น 3.53% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/557089

ไทยเปิดเวทีประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก มั่นใจเอกชนกว่า 4 พันคนร่วมวง-เงินสะพัด 5 หมื่นล้าน

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า หอการค้าไทย-จีน จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ครั้งที่ 16 ขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 มิ.ย. 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สร้างเวทีใหม่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของนักธุรกิจชาวจีนทั่วโลก และร่วมกันหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางธุรกิจแบบพหุภาคี เพื่อเปิดยุคใหม่ในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ หลังจากเศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา “ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนและเป็นประเทศที่มีนักธุรกิจชาวจีนอาศัยอยู่มากที่สุดราว 10 ล้านคน มีการทำการค้า การลงทุน ในไทยด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งขณะนี้นักธุรกิจชาวจีนต้องการออกมาลงทุนในต่างประเทศอย่างมากหลังจากการลงทุนชะลอมา 3 ปีในช่วงโควิด ซึ่งไทยก็เป็นเป้าหมายแรกที่จีนเลือกมาลงทุน คาดว่าการจัดประชุมครั้งนี้จะมีนักธุรกิจชาวจีนและตัวแทนจากองค์กรธุรกิจ 50 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมราว 4,000 คน ทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท ช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี”

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_7525589

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยัง ไทย-เวียดนาม เพิ่มขึ้น

การส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและเวียดนาม เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคมปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งตรงกันข้ามกับการส่งออกไปยังตลาดหลัก เช่น จีนและสหรัฐฯ ที่ลดลงในช่วงดังกล่าว โดยจากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) การส่งออกไปยังประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นร้อยละ 22.8 หรือคิดเป็นมูลค่า 107 ล้านดอลลาร์ และส่งออกไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 คิดเป็นมูลค่า 172 ล้านดอลลาร์ ในเดือนมกราคม 2023 ขณะที่การส่งออกไปยังจีนกลับลดลงที่ร้อยละ 22.2 คิดเป็นมูลค่า 81 ล้านดอลลาร์ และส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 562 ดอลลาร์ หดตัวร้อยละ 23 ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเวียดนามถือเป็นตลาดส่งออกใหญ่เป็นอันดับสองของกัมพูชาในเดือนมกราคมปีนี้ ด้วยสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 11 ขณะที่ไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 6.9 เป็นอันดับสาม ตามมาด้วยญี่ปุ่นและจีน ตามลำดับ แต่ถึงอย่างไรสหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการส่งออกของกัมพูชา โดยมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 35.9 ของการส่งออกในเดือนมกราคม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501241502/exports-to-thailand-vietnam-up-as-traditional-markets-shrink/

กสิกรไทย คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 3.7% จับตาการค้าโลกไม่สดใสกดดันส่งออกไทยเสี่ยงโตต่ำคาด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปี 2565 ที่ผ่านมา ขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 1.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 2.6% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3.2% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ตัวเลขการเติบโตจีดีพีของไทยในไตรมาส 4/2565 มีปัจจัยกดดันหลักมาจากส่งออกสินค้าที่หดตัวถึง -10.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามโมเมนตัมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง

นอกจากนี้ การบริโภคภาครัฐก็หดตัวลง ขณะที่การลงทุนภาครัฐก็ขยายตัวต่ำกว่าคาด เนื่องจากการใช้จ่ายและลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโควิดนั้นลดลงอย่างมาก

ด้านปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2565 การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้การส่งออกในภาคบริการนั้นขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ 94.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวก็ได้ส่งผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงาน รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ดีที่ 5.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาส 4/2565 แม้จะชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ถึง 9.1%

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ 3.7% ซึ่งสูงกว่าประมาณการของสภาพัฒน์ที่ 2.7-3.7% (ค่ากลางอยู่ที่ 3.2%) จากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงจะเป็นขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องไปในปีนี้ แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจกดดันการส่งออกไทยให้หดตัวเล็กน้อยในปีนี้

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/feature/2634206