ผลผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในกัมพูชาอาจพุ่งแตะ 1 ล้านตัน ในฤดูกาลนี้

ฤดูการเก็บเกี่ยวเม็ดมะม่วงหิมพานต์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ด้านโดยผู้เพาะปลูก ผู้ผลิต และสมาคมเม็ดมะม่วงหิมพานต์แห่งกัมพูชา ได้คาดการณ์ว่าการผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในฤดูกาลนี้ในกัมพูชาน่าจะอยู่ระหว่าง 800,000-1,000,000 ตัน หากสภาพอากาศยังคงเอื้ออำนวยตามที่คาดการณ์ไว้ โดยในปีที่แล้วเม็ดมะม่วงหิมพานต์แบบสดมีราคาอยู่ระหว่าง 5,500 เรียลถึง 6,500 เรียลต่อกิโลกรัม ในช่วงต้นฤดูกาล ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชามีแผนที่จะสนับสนุนการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์มากขึ้นให้ไปอยู่ที่เป็นประมาณร้อยละ 25 ภายในปี 2027 และประมาณร้อยละ 50 ภายในปี 2032 รวมถึงจะเร่งส่งเสริมการส่งออกเพื่อเป็นการกระจายตลาด โดยในปีที่แล้วกัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบประมาณ 670,000 ตัน ไปยังตลาดต่างประเทศ คิดเป็นมีมูลค่าประมาณ 1.07 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจากปีก่อนที่ได้มีการส่งออกไปยังต่างประเทศกว่า 1.1 ล้านตัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501229570/cashew-output-likely-to-touch-1-million-tons-this-season/

กัมพูชาส่งออกโต 16% มูลค่าแตะ 22.4 พันล้านดอลลาร์

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาพุ่งแตะ 52.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 9.1 จากปีก่อน โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาที่มูลค่ากว่า 22.4 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งการขยายตัวของภาคการส่งออก เป็นผลมาจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในและต่างประเทศกลับมาดำเนินได้อีกครั้ง โดยทางการกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะรักษาการเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค รวมถึงยังพยายามเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานโลกให้ได้มากที่สุด สำหรับทิศทางการค้าในปีหน้า กระทรวงฯ มีความมุ่งมั่นอย่างสูงในการผลักดันการเติบโตภาคการค้า เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสผ่านการปฏิรูปเชิงลึกในทุกด้าน ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ การส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดต่างประเทศและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจและการลงทุนในกัมพูชา อีกทั้งกัมพูชายังมีความตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA), ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และ FTA กัมพูชา-เกาหลี จะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการส่งออก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501229569/cambodia-exports-surge-16-to-22-4b/

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ชู 5 อาชีพฟื้นเศรษฐกิจชุมชน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้สู่ชุมชน เนื่องจากปัญหาการกระจุกตัว ของแหล่งงานใหญ่ ที่มีไม่กี่จุดในประเทศ ทำให้ชุมชนหลายแห่งเกิดการว่างงาน ส่งผลให้การหมุนเวียนของเม็ดเงินกระจายตัวไม่ทั่วถึง จึงต้องมีการผลักดันความรู้ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ตลอดจนเกิดผลิตภัณฑ์และงานบริการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในแต่ละพื้นที่ ล่าสุด ดีพร้อมได้จัดโครงการนักส่งเสริมอาชีพดีพร้อม ใน 5 อาชีพหมวดหลักๆ ได้แก่ การแปรรูปอาหาร การผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร การตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ของใช้ของตกแต่งและงานบริการ ซึ่งผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบเป็นอาชีพได้จริง ซึ่งโครงการนี้จะทำการเรียนการสอนที่ศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 13 พื้นที่ทั่วประเทศ โดย 6 เดือนแรกปีนี้ จะปั้นนักส่งเสริมอาชีพดีพร้อมได้ 15,600 คน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ 100 ล้านบาท

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2616648

ผู้ประกอบการอาหารสปป.ลาว มุ่งมั่นผลักดันอาหารสู่เวทีโลก

เทศกาลอาหารของสปป.ลาวในปีนี้ที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมงานทั้งในและต่างประเทศได้เป็นจำนวนมากให้มาลิ้มลองรสชาติอาหารของประทศ ซึ่งจัดขึ้นโดยมีสหภาพสตรีสปป.ลาวร่วมกับสมาคมสตรีนักธุรกิจสปป.ลาว ณ สวนสาธารณะเจ้าอนุวงศ์ ใกล้แม่น้ำโขง ภายใต้ธีมงาน “การส่งเสริมอาหารสปป.ลาวเพื่อการยอมรับในระดับนานาชาติ” โดยเทศกาลนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อยกระดับวัฒนธรรมอาหารและวิถีชีวิตของชาวสปป.ลาว และมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับสิทธิสตรี ผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร และเจ้าของร้านอาหารทั่วประเทศ อีกทั้งยังส่งเสริมและเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจอาหารในประเทศ ทั้งนี้ บริษัทสปป.ลาว บริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมเอกลักษณ์ของอาหาร วัฒนธรรม และประเพณีของชาวสปป.ลาวมาโดยตลอด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถเผยแพร่วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์นี้ให้ทั่วโลกได้รับรู้

ที่มา: https://laotiantimes.com/2023/01/30/lao-food-producers-hope-for-place-on-the-international-stage/

เมียนมาเริ่มส่งออกน้ำตาลทราย 5,000 ตัน ไปเวียดนามในฤดูกาลปลูกอ้อยของปีนี้

นาย อู วิน เต รองประธานสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและอ้อยของเมียนมา เผย ในฤดกาลปลูกอ้อยในปีนี้ เมียนมาเริ่มส่งออกน้ำตาลทรายจำนวน 5,000 ตันไปยังเวียดนาม โดยโรงงานน้ำตาลได้เริ่มเปิดหีบอ้อยตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และจะเริ่มทะยอยส่งออกให้ครบตามข้อตกลงระหว่างเมียนมากับเวียดนาม คือ 45,000 ตัน ซึ่งในปีที่ผ่านมาผลผลิตอ้อยในเมียนมาไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ แต่แนวโน้มในฤดูกาลผลิตในปีนี้อาจเพิ่มขึ้นถึง 450,000 ตัน จึงคาดว่าจะมีผลผลิตเพียงพอส่งออกไปต่างประเทศได้ ทั้งนี้ การปลูกอ้อยส่วนใหญ่พบในรัฐฉาน ภาคซะไกง์ และเขตพะโค

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-kicks-off-5000-tonne-white-sugar-export-to-viet-nam-this-sugarcane-season/

ภาคการผลิตนอกเหนือเครื่องนุ่งห่มในกัมพูชา ขยายตัวต่อเนื่อง

ปัจจุบัน แม้อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องนุ่งห่มจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา แต่การส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มก็กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลกัมพูชาตั้งความหวังเป็นอย่างมากในการผลักดันภาคการผลิตสินค้าที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มในปี 2023 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ จากข้อตกลงทางการค้าที่ทางการได้ทำร่วมกับประเทศต่างๆ ที่จะเน้นไปที่การผลิตเผื่อการส่งออก อาทิเช่น เฟอร์นิเจอร์ ขนสัตว์ เครื่องหนัง ไม้ วัสดุก่อสร้าง วัสดุที่ทำจากพลาสติก แผงโซลาร์เซลล์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สายไฟ และผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปอื่นๆ ด้าน Vongsey Visoth ปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่า การส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่การผลิตเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยทางการมีความพยายามเป็นอย่างมากในการผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นการลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในปัจจุบัน ซึ่งตั้งเป้าส่งออกไปยังตลาดหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลี และไทย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501229155/non-garment-manufacturing-on-rapid-growth-path/

กัมพูชาหวังรถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง หนุนโลจิสติกส์ภายในประเทศ

รัฐบาลกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากในการริเริ่มโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพระบบรางทางรถไฟสายเก่าที่มีอยู่ ให้เป็นรถไฟความเร็วสูง ซึ่งรัฐบาลมีแผนสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 3 สาย เชื่อมระหว่างกรุงพนมเปญเข้ากับพรมแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการส่งเสริมภาคการขนส่งภายในประเทศให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นการค้าและการท่องเที่ยว ระหว่างกัมพูชาและไทยเป็นสำคัญ รายงานโดยกระทรวงโยธาธิการและคมนาคมกัมพูชา ซึ่งกระทรวงฯ ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสาย พนมเปญ-ปอยเปต คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้โดยบริษัท China Bridge and Road Corporation (CRBC) โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี และคาดว่าจะเป็นช่องทางหลักสำคัญในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางตอนเหนือของประเทศ รวมถึงเชื่อมไปยังจังหวัดกัมปงชนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และบันทายมีชัย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501229019/three-high-speed-rails-to-diversify-transportation/

“เวียดนาม” เผยดัชนี CPI เดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น 0.52% ผลจากความต้องการช่วงเทศกาลเต๊ดสูง

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) ระบุว่าในเดือนมกราคม ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเวียดนาม เพิ่มขึ้น 0.52% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 4.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยแรงหนุนมาจากความต้องการของผู้บริโภคที่สูงขึ้นในช่วงเทศกาลเต๊ด (Tet) นอกจากนี้ ราคาสินค้า อาหาร และเครื่องบริโภคยังปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนสุดท้ายทางจันทรคติ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันหยุดประจำปีที่ยาวนานที่สุด และราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงตามราคาน้ำมันตลาดโลก ส่งผลให้ดัชนีสูงขึ้น CPI เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 5.21%

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/january-s-cpi-increases-0-52-due-to-high-tet-demand-2104850.html

“เวียดนาม” เผยเดือน ม.ค. ยอดค้าปลีกสินค้าและบริการ พุ่ง 20%

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่ายอดค้าปลีกสินค้าและบริการของเวียดนามในเดือนมกราคม อยู่ที่ราว 23.22 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลเต๊ด (Tet) ทั้งนี้ หากแบ่งสัดส่วนของรายได้จากการค้าปลีก พบว่ายอดค้าปลีกสินค้ามีสัดส่วนมากที่สุด 27% ของรายได้รวม และมีมูลค่าอยู่ที่ 435.4 ล้านล้านดอง เพิ่มขึ้น 18.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี รองลงมารายได้จากบริการห้องพักและบริการจัดเลี้ยงอาหาร อยู่ที่ 56 ล้านล้านดอง โดยเฉพาะรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูงถึง 2.2 ล้านล้านดอง เพิ่มขึ้น 113.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/retail-sales-of-goods-services-up-20-in-january-post998752.vov

เศรษฐกิจโตน้อยแต่จีดีพีเพิ่มมาก คลังคาดการณ์มูลค่าปีนี้ 18.67 ล้านล้านบาท

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดขยายตัว 3.8% และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รวมที่ 18.67 ล้านล้านบาท เติบโตมากกว่าปี 2565 ที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอยู่ที่ 17.40 ล้านล้านบาท มีการขยายตัว 3% ลดลงจากที่คาดการณ์ที่ 3.2% ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2566 มีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 3.3-4.3% เป็นผลจากภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องฟื้นตัว ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ 27.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 147% ต่อปี ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าจะชะลอตัวลงตามสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จะขยายตัว 0.4% ภายใต้ช่วงคาดการณ์ -0.1 -0.9%

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/finance/2614406