นักท่องเที่ยวจีนไฟล์ทแรก เดินทางเข้าจ.คั้นห์หว่า ประเทศเวียดนามในช่วงปีใหม่

เที่ยวบิน VJ5317 ของสายการบินเวียดเจ็ทแอร์ (Vietjet Air) เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตู ลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติคัมรัน จังหวัดคั้นห์หว่า (Khanh Hoa) เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ซึ่งเป็นวันที่สองของเทศกาลตรุษจีน และนับเป็นเที่ยวบินแรกที่นำนักท่องเที่ยวชาวจีนไปยังจังหวัดคั้ญหว่า หลังจากหายไปนานถึง 3 ปี อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ หน่วยงานจังหวัด เปิดเผยข้อมูลสถิติว่าในปีที่แล้ว จังหวัดทำรายได้จากนักท่องเที่ยวกว่า 13.8 ล้านล้านดอง (600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามามากกว่า 2.5 ล้านคน อีกทั้ง ภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดได้ตั้งเป้าที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวราว 4 ล้านคนในปีนี้ โดยคาดว่าจะใช้จ่ายอยู่ที่ 21 ล้านล้านดอง

ที่มา : https://en.nhandan.vn/first-flight-carries-chinese-tourists-to-khanh-hoa-in-new-year-post122030.html

“เวียดนาม” ประกาศลดภาษี VAT เหตุช่วยฟื้นตัวเศรษฐกิจ

กรมจัดเก็บภาษีอากร (GDT) เปิดเผยว่าทางหน่วยงานประสบความสำเร็จในการจัดเก็บงบประมาณรายได้ของรัฐบาล อยู่ที่ 1.692 ล้านล้านดอง หรือคิดประมาณ 20% ของงบประมาณรายได้รวม ซึ่งการจัดเก็บงบประมาณดังกล่าวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานสามารถจัดเก็บรายได้ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากกว่า 85% แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐฯ อยู่ในระดับสูง ประมาณ 18% ของ GDP ส่งผลให้ธุรกิจ ประชาชนและเศรษฐกิจ เผชิญกับความยากลำบากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นเวียดนามจึงดำเนินนโยบายการคลัง เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภค ด้วยการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 2% หรือประมาณ 51.4 ล้านล้านดอง

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vat-reduction-helps-economic-recovery-2101467.html

ราคาข้าวในเมียนมาพุ่งสูงขึ้น

จากข้อมูลของศูนย์ค้าส่งข้าววาดัน พบว่า ในวันที่ 20 มกราคม 2566 ราคาข้าวหอม “Pearl Paw San” อยู่ระหว่าง 61,000 ถึง 80,000 จัตต่อกระสอบ ส่วนข้าวเกรดธรรมดาราคาอยู่ระหว่าง 43,500-67,000 จัตต่อกระสอบ ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2566 ราคาข้าวหอม “Pearl Paw San” เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,000-4,000 จัตต่อกระสอบ ราคาจะอยู่ระหว่าง 45,500-70,000 จัตต่อกระสอบ ส่วนราคาข้าวเกรดธรรมดา เพิ่มขึ้นเฉลี่ยถุง 2,000-4,000 จัตต่อถุง ราคาจะอยู่ระหว่าง 63,000-84,000 จัตต่อกระสอบ เป็นผลมาจากความต้องการข้าวเปลือกสูงทำให้ราคาข้าวในตลาดเพิ่มขึ้นไปด้วย ที่ผ่านมา สหพันธ์ข้าวแห่งเมียนมา สมาคมผู้ผลิตและปลูกข้าวแห่งเมียนมา สมาคมโรงสีข้าวแห่งเมียนมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามร่วมมือกันเพื่อหาทางออกในการกำหนดราคาที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ค้าส่งและผู้บริโภค

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/rice-price-skyrockets-in-domestic-market/

“สปป.ลาว” ตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยว แตะ 1.4 ล้านคน ในปี 2566

กระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวลาว ได้จัดการประชุมระดับชาติในสัปดาห์นี้ โดยมีนางสวนสวรรค์ วิยะเกต รมว.วัฒนธรรม เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทำงานให้มากขึ้น เพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยว รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนและสร้างผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ ทางกระทรวงฯ เชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้จากภาคการท่องเที่ยวได้มากถึง 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากนักท่องเที่ยวเข้าพักเฉลี่ย 7 วันต่อ 1 คน ทั้งนี้ สปป.ลาว ได้ตั้งเป้าที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวนราว 1.4 ล้านคนในปี 2566 ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/01/24/laos-hopes-to-attract-1-4-million-tourists-in-2023/

FDI ในกัมพูชาขยายตัวเฉลี่ยกว่า 8.1% ในช่วงปี 2017-2021

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ภายในกัมพูชาขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.1 ต่อปี ในช่วงปี 2017-2021 ตามรายงานแนวโน้มด้านการค้าและการลงทุนเอเชียแปซิฟิกปี 2022-2023 โดยในปี 2021 ปริมาณ FDI ที่ไหลเข้ามายังกัมพูชาปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 3.9 แต่ถึงอย่างไรต้นทุนการดำเนินธุรกิจภายในกัมพูชาก็ยังต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก-3 อย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งในปี 2020 ต้นทุนการดำเนินธุรกิจของกัมพูชาอยู่ที่ร้อยละ 96.4 ของมูลค่าสินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ เช่น กลุ่มเศรษฐกิจยุโรป-3 (เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร) และเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชียแปซิฟิก-4 (จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และสหพันธรัฐรัสเซีย) ที่มีต้นทุนการดำเนินธุรกิจคิดเป็นร้อยละ 104.2 และ 145.4 ของมูลค่าสินค้า ตามลำดับ โดยในปี 2021 คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชายังคงเป็นจีน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 8.6 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา ขณะที่การนำเข้าจากจีนของกัมพูชามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 33.8 ของการนำเข้าทั้งหมด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501224868/average-annual-fdi-inflow-growth-of-8-1-in-cambodia-from-2017-to-2021/

คาด FTAs, RCEP ผลักดันการลงทุนเข้ามายังกัมพูชาเพิ่มขึ้น

กัมพูชาคาดดึงดูดการลงทุนใหม่ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมถึงกฎหมายเพื่อการลงทุนฉบับใหม่ ด้าน Heng Sokkung เลขาธิการกระทรวงอุตสาหกรรม และหัตถกรรม กล่าวว่า การที่กัมพูชาจัดทำข้อตกลงการค้ากับหลายๆ ประเทศ จะทำให้กัมพูชาสามารถเข้าถึงตลาดโลกได้มากขึ้น แม้จะมีวิกฤตโลก อาทิเช่น สงครามระหว่าง ยูเครน-รัสเซีย, วิกฤตพลังงาน และการเงิน โดยปัจจุบัน กัมพูชามี FTA อยู่หลายฉบับ เช่น FTA กัมพูชา-จีน, RCEP ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ไปเมื่อต้นปี 2022 รวมถึง FTA กัมพูชา-เกาหลี ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ขณะที่กระทรวงฯ ได้รายงานการจดทะเบียนโรงงานใหม่ 186 แห่ง ในปี 2022 ทำให้จำนวนโรงงานที่เปิดดำเนินการทั้งหมดในประเทศอยู่ที่ 1,982 แห่ง โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 16.690 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 13.811 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501224876/bilateral-ftas-rcep-expected-to-drive-new-industrial-investment-inflows/

ต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิงของกัมพูชาพุ่งสูง 52% ในปี 2022

ต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิงกัมพูชา อาทิเช่น น้ำมันและก๊าซขยายตัวกว่าร้อยละ 52.6 ในปี 2022 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้นหลังจากเกิดสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เป็นผลมาจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 รวมถึงมาตรการจำกัดการเดินทางต่างๆ ในขณะที่ปี 2021 กัมพูชาได้นำเข้าเชื้อเพลิงอยู่ที่มูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 โดยปัจจุบันกัมพูชาพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถผลิตเองได้ ด้าน Suy Sem รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน กล่าวว่า ความต้องการเชื้อเพลิงในกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านตันในปี 2030 เพิ่มขึ้นจาก 2.8 ล้านตัน ในปี 2020

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501223912/cambodias-fuel-import-cost-shot-up-over-52-in-2022/

ราคาน้ำมันเบนซินในกัมพูชาปรับตัวสูงขึ้น 8.64% ในเดือนที่แล้ว

ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 92 (EA92) ในตลาดภายในประเทศพุ่งสูงขึ้นร้อยละ 8.64 แตะ 4,400 เรียล หรือ 1.07 ดอลลาร์ต่อลิตร ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 ม.ค.) เทียบกับราคา 4,050 เรียลในช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งราคาน้ำมันเบนซิน 92 ในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 104.52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ณ เดือน ม.ค. ปีนี้ จาก 90.24 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ราคาเฉลี่ยในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 96.40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือประมาณ 0.6 ดอลลาร์ต่อลิตร ขณะที่ The IEA Oil Market Report (OMR) ได้รายงานสถานการณ์ตลาดน้ำมันโลก ประจำเดือน ม.ค. 2022 คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวันใน 2023 โดยอัตราเงินเฟ้อของกัมพูชาในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.85 ณ เดือน มิ.ย. 2022 ขยายตัวจากร้อยละ 7.17 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งสูงที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501223911/domestic-gasoline-price-rises-8-64-in-the-last-month/

ผลผลิตถั่วลูกไก่ ทะลักเข้าตลาดมัณฑะเลย์ ฉุดราคาดิ่งลง

สมาคมผู้ค้าถั่วและงาของเมียนมา เผย วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ราคาถั่วลูกไก่ในเมียนมาอยู่ระหว่าง  180,000 ถึง 205,000 จัตต่อ 56.25 visses ต่อมาในวันที่ 21 ธันวาคม ราคาลดลงเหลือ 170,000 ถึง 183,000 จัตต่อ 56.25 visses เนื่องจากในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตจากภาคมัณฑะเลย์ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรของเมียนมาพืชตระกูลถั่วและถั่วพัลส์มีผลผลิตและการเพาะปลูกมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ คิดเป็น 33% ของผลผลิตทางการเกษตรและครอบคลุม 20% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด ซึ่งภาคการเกษตรของเมียนมาถือเป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา พบว่า ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 จนถึงปัจจุบัน เมียนมาส่งออกถั่วลูกไก่มากกว่า 18,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 12.678 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/new-entry-to-domestic-market-plummets-chickpea-price/#article-title

โรงแรมเผยต่างชาติเที่ยวไทยฟื้นตัวดันอัตราเข้าพักเกิน 80%

นายศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมภาคใต้ เปิดเผยว่า ยอดจองล่วงหน้าในเดือนกุมภาพันธ์นี้ มีเข้ามาประมาณ 60-70% แล้ว รวมถึงเดือนมีนาคมด้วย โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะใกล้จะหมดเดือนมกราคม ทำให้ยอดจองล่วงหน้าจะทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์อัตราเข้าพักฟื้นตัวขึ้นมาเกิน 80% เทียบกับเดือนธันวาคม 2565  เช่น กลุ่มตลาดที่มาท่องเที่ยวภูเก็ต 5 อันดับแรก ได้แก่ รัสเซีย (28%) อินเดีย (10%) ออสเตรเลีย (5%) บริติช (5%) คาซัคสถาน (4.3%) โดย 5 ชาตินี้เป็น 53%. ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาภูเก็ต และมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาช่วยเสริมบ้าง แต่ด้วยเที่ยวบินที่ยังมีจำกัด ทำให้ชาวจีนเข้ามาเที่ยวยังเป็นจำนวนที่น้อยอยู่ ซึ่งประเมินเฉพาะจำนวนเที่ยวบินจากจีนเข้าภูเก็ต เริ่มมีมากขึ้นแล้ว อาทิเช่น วันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา มี 3 สายการบินเข้ามา, วันที่ 20 มกราคม มีเข้ามา 2 สายการบิน ทำให้ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารที่สนามบินและเที่ยวบินฟื้นตัว 70% ได้แล้วเทียบกับปี 2562

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_3786301