‘ไทย-ลาว’ ร่วมมือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยความร่ววมือด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัล กับกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 8 ปี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่าความร่ววมือดังกล่าวจะกระชับความร่วมมือระหว่างสองประเทศทั้งด้านการส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาทางเทคนิคและการขยายตลาด ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านบริการไปรษณีย์ โทรคมนาคมและดิจิทัลแพลตฟอร์ม

ทั้งนี้  นายบอเวียงคำ วงดารา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่าการลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ จะช่วยกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกระทรวงต่างๆ เพื่อประโยชน์ของคนไทยและชาวลาวในอนาคต

ที่มา : https://www.bangkokpost.com/business/2432310/thailand-laos-ink-mou-covering-post-digital-tech

ADB อนุมัติเงินกู้ 70 ล้านดอลลาร์ สนับสนุนกัมพูชาพัฒนาภาคการศึกษา

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) อนุมัติเงินกู้มูลค่า 70 ล้านดอลลาร์ ให้แก่กัมพูชาเพื่อสนับสนุนภาครัฐบาลในการปฏิรูปโครงสร้างด้านการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทั้งทางด้านเทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) ทั่วประเทศ หวังพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคตให้แก่กัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขา STEM เนื่องจากประเทศมีความต้องการที่จะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ให้เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ซึ่งโครงการนี้จะเน้นไปที่การปรับปรุงและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในเครือข่าย 14 แห่ง และโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายโดยทั่วไป 103 แห่ง ด้วยการเสริมห้องเรียน 3 ห้อง ให้กับแต่ละโรงเรียน ประกอบไปด้วยห้องเรียนวิทยาศาสตร์ 2 ห้อง และห้องสมุดพร้อมอุปกรณ์ สื่อการสอน หนังสือ อุปกรณ์ตกแต่ง และเทคโนโลยีการศึกษาที่จำเป็น เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501181091/adb-approves-70-mln-loan-to-cambodia-for-education-reforms/

ทุนจีนขยายการลงทุนต่อเนื่องใน SSEZ กัมพูชา พัฒนาห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) ซึ่งจีนเป็นผู้ลงทุนในกัมพูชา ได้เปลี่ยนให้จังหวัดชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของพระสีหนุ ให้มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้าน Long Dimanche รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า SSEZ ถือเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในแง่ของขนาดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา ซึ่งเขตอุตสาหกรรมดังกล่าวมีขนาดกว่า 11 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีโรงงานประมาณ 170 แห่ง ทั้งจากจีน ยุโรป สหรัฐฯ ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่นๆ ด้วยเงินลงทุนรวมกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ สร้างการจ้างงานกว่า 30,000 ตำแหน่ง เน้นไปที่ภาคการผลิตเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าและเครื่องหนัง รวมไปถึงเครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ชิ้นส่วนรถยนต์ และยางรถยนต์ เป็นต้น ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่าน SSEZ เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในอนาคตคาดว่า SSEZ จะสามารถรองรับโรงงานได้ทั้งหมด 300 แห่ง ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และจะสร้างงานให้กับชาวกัมพูชามากถึง 100,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501181084/chinese-invested-economic-zone-integrating-cambodias-sihanoukville-into-regional-global-supply-chains-official/

ในช่วง 7 เดือนของปีงบ 65-66 เมียนมาโกยรายได้กว่า 10.733 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกสินค้าไปบังกลาเทศ

การส่งออกของเมียนมามากกว่าการนำเข้าของการค้าชายแดนกับบังกลาเทศ พบว่าระหว่างเดือนเมษายนถึงตุลาคม 2565 ในปีงบประมาณ 2565-2566 มีการส่งออกสินค้าไปบังคลาเทศ 8,620.7 ตันอยู่ที่ประมาณ 10.733 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกสินค้าประมงร้อยละ 65 และสินค้าอุปโภคบริโภคคิดเป็นร้อยละ 35 ผ่านชายแดนซิตเวย์และมองดอ ซึ่งสินค้าประมงที่ส่งออก ได้แก่ ปลายี่สกเทศ ปลาตะลุมพุกฮิลซา ปลาแมคเคอเรล ปลากะตักแห้ง และเนื้อปลาอบแห้ง ที่ผ่านมาสินค้าประมงที่ส่งออกไปบังคลาเทศ พบว่า ในปีงบประมาณ 2562-2563 มีมูลค่า 6.318 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (7,093.413 ตัน) ปีงบประมาณ 2563-2564 มีมูลค่า 4.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (5,010.7 ตัน) และปีงบประมาณย่อย 2564-2565 (เดือนตุลาคม 2564 -เดือนมีนาคม 2565) มีมูลค่า 13.987 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (11,362.97 ตัน) ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา เมียนมามีรายได้รวม 10.733 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออก 8,620 ตันไปยังบังกลาเทศ และยังมีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาติในการให้เรือของบังคลาเทศเข้าจอดเทียบท่าจำนวน 26 ลำ คิดเป็นมูลค่า 24,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-earns-10-733-mln-from-exports-to-bangladesh-in-7-months/#article-title

‘เวียดนาม’ จัดฟอรั่มทางธุรกิจ M&A ประจำปี 2022 ปลายเดือนพ.ย.

งานเสวนา “M&A Vietnam Forum 2022” จัดโดยสื่อพิมพ์ Vietnam Investment Review เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ภายใต้หัวข้อ “จุดประกายโอกาสใหม่” มุ่งเน้นไปที่การสร้างโอกาสสำหรับการผนึกกำลังทางธุรกิจ ท่ามกลางตลาดที่ผันผวน ตลอดจนมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะคติทางธุรกิจและแสวงหาความร่วมมือ นอกจากนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เป็นการควบรวมกิจการ (M&A) มีมูลค่าโดยรวม 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 35.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1352255/m-a-vietnam-forum-2022-slated-for-late-november.html

กัมพูชากำหนดกรอบนโยบายแห่งชาติ ประจำปี 2022-35 เพื่อผลิตภาพทางเศรษฐกิจ

รัฐบาลกัมพูชาประกาศกรอบการดำเนินการตามกรอบนโยบายแห่งชาติประจำปี 2022-2035 เพื่อเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยเน้นไปที่การกระตุ้นภาคการลงทุนและสร้างแรงดึงดูดทางการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเร่งปรับปรุงผลิตภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับภาคประชาชน ภายใต้การจัดการบริหารความเสี่ยงของการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกและความไม่แน่นอนด้านพลังงาน โดยในปัจจุบันอุปสงค์ภายนอกและเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป ตามการรายงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ซึ่งคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในปี 2023 จะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 6.6 ที่มีมูลค่าจีดีพีรวมอยี่ท่ 32.29 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่จีดีพีต่อหัวคาดว่าจะอยู่ที่ 1,924 ดอลลาร์ โดยในปัจจุบันอยู่ที่ 1,785 ดอลลาร์ ขณะที่ที่เงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ด้านทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 22.14 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501180684/national-policy-framework-for-economic-productivity-2022-35-unveiled/

COFCO Group ลงนาม MoU ซื้อวัตถุดิบอาหารกับหลายประเทศรวมถึงกัมพูชา

COFCO Group ผู้ผลิตอาหารและผู้ค้าธัญพืชรายใหญ่ที่สุดของจีน (พิจารณาจากรายได้) ได้ลงนามในสัญญาซื้อมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ กับพันธมิตรต่างประเทศ ในช่วงระหว่างงาน China International Import Expo (CIIE) ครั้งที่ 5 ณ เซี่ยงไฮ้ โดยบริษัทเน้นถึงการนำเข้าน้ำมันพืชสำหรับบริโภค น้ำตาล เนื้อสัตว์ แอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์นมจากตลาดต่างประเทศ รวมถึงธัญพืชและสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวฟ่าง และฝ้าย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการแปรรูปอาหารในประเทศจีน ด้าน Luan Richeng ประธาน COFCO กล่าวว่า บริษัทพร้อมที่จะจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรจากประเทศต่างๆ เช่น ไทย กัมพูชา สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส คาซัคสถาน รัสเซีย และบราซิล เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501180881/cofco-group-signs-large-purchase-contracts-with-multiple-foreign-partners-including-cambodia/

เมียนมา ขยายเวลาชำระคืนเงินกู้โควิด- 19 ออกไปอีก 1 ปี

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 คณะทำงานแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ประกาศขยายระยะเวลาชำระคืนกองทุนเงินกู้โควิด-19 ไปอีก 1 ปี หลังจากครบกำหนดชำระเป็นปีที่สอง โดยมีวงเงินของโครงการทั้งสิ้น 2 พันล้านจัต ซึ่งได้ปล่อยกู้ให้กับบริษัทและวิสาหกิจทั่วประเทศแล้ว จำนวน 5,990 แห่ง เป็นจำนวนมูลค่าสินเชื่อที่ปล่อยกู้รวมทั้งสิ้น 158.4438 พันล้านจัต ด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละหนึ่งและระยะเวลาเงินกู้หนึ่งปีตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2563 เป็นต้นมา ทั้งนี้มีภาคอุตสาหกรรมที่ได้เข้าร่วมขอสินเชื่อ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแบบ CMP, ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว, วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, เกษตรกรรม, การเลี้ยงปศุสัตว์และการผลิตภัณฑ์ทางทะเล เป็นต้น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/covid-19-loan-repayment-period-extended-for-one-more-year/

เงินเฟ้อร่วง 2 เดือนติด ตุลาคมขยับเพิ่มขึ้นแค่ 5.98%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนตุลาคม 2565 เท่ากับ 108.06 เทียบกับเดือนกันยายน 2565 เพิ่มขึ้น 0.33% และเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2564 เพิ่มขึ้น 5.98% ส่งผลให้ราคาสินค้าชะลอตัวลงจากที่เคยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ และอัตราเงินเฟ้อรวม 10 เดือนของปี 2565 (มกราคม-ตุลาคม) อยู่ที่ 6.15% สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนที่เหลือ (เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2565) คาดว่าจะยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องประเมินว่าไม่น่าจะถึง 6% หรือใกล้เคียง 6% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการ และบางรายการราคาทรงตัว แม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายส่งผลให้สินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดมากขึ้น แต่ก็ต้องจับตาราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงเงินบาทที่ยังอ่อนค่า จึงประเมินว่า เงินเฟ้อทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 5.5-6.5% มีค่ากลางที่ 6.0% ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจและการคาดการณ์เงินเฟ้อของหน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศ

ที่มา: https://www.naewna.com/business/690655

เดือนต.ค. 65 เงินเฟ้อสปป.ลาว พุ่งนิวไฮ! แตะ 36.75%

เดือนตุลาคม 2565 เงินเฟ้อสปป.ลาว แตะ 36.75% พุ่งสูงสุดในรอบปีนี้ โดยเพิ่มจาก 34.05% ในเดือนกันยายน 2565 และยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สร้างความลำบากให้กับประชาชนในประเทศท่ามกลางค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาขายปลีกวัสดุก่อสร้างในนครหลวงเวียงจันทน์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้รับเหมาบางรายต้องหยุดโครงการก่อสร้างเป็นการชั่วคราวเพราะแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว ซึ่งทางการของสปป.ลาว กำลังหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหา โดยในการประชุมเต็มคณะครั้งล่าสุด วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะพิจารณาเพิ่มรายได้จากการส่งออกและดำเนินการชำระเงินผ่านระบบธนาคาร ตลอดจนเรียกร้องให้ลดการนำเข้าของประเทศลง ทั้งนี้ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชากร โดยผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบมากที่สุด ล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 สปป.ลาวได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 1,200,000 กีบ (ประมาณ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ)

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/11/07/laos-inflation-rate-hits-new-high-of-36-75-percent-in-october/