“RCEP-CKFTA” หนุนการค้ากัมพูชาและเกาหลีใต้

รัฐบาลกัมพูชาคาดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลี (CKFTA) จะเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้ กล่าวโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันเกาหลีใต้ถือเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกัมพูชา รวมถึงจัดเป็นอันดับสองในด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกัมพูชา โดยในปัจจุบันการค้าทวิภาคีระหว่างทั้ง 2 ประเทศ พุ่งแตะเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501160317/rcep-ckfta-to-give-big-boost-to-cambodia-korea-trade/

นักวิชาการห่วง!! ดอกเบี้ยขึ้นกดศก.ถดถอย ห่วงคนไทยก่อหนี้เพิ่ม

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงว่า ตามปกติจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว เพราะดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นคนทั่วไปจะไม่ถอนเงินฝากออกมาใช้ ส่งผลภาวะเศรษฐกิจฝืดลง ขณะเดียวกันคนที่จะขอเงินกู้ก้อนใหม่ก็ต้องเสียดอกเบี้ยแพงขึ้น ทำให้กู้น้อยลงด้วย นอกจากนี้ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ย คือ หนี้ครัวเรือน สถานะเครดิตของคนไทยมีปัญหาไม่ชำระหนี้หรือหนี้เสียเพิ่มขึ้น ล่าสุดภาครัฐได้เดินหน้ามหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ช่องทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน – 30 พฤศจิกายน และมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง มกราคม 2566 ถือเป็นแนวทางที่ดี เพราะถ้าหากปล่อยไปจะเกิดปัญหา เกิดหนี้ที่ไม่ชำระคืน หรือบางส่วนถึงขั้นฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลทั้งสองด้าน ในเบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า คนที่มีหนี้อยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ตั้งแต่ต้น ดังนั้นหากปรับขึ้นดอกเบี้ย ไม่ได้หมายความว่าหนี้เก่าจะเพิ่มภาระขึ้น แต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นหนี้แต่จ่ายได้แค่ดอกเบี้ย และท้ายที่สุดต้องหาเงินหมุน ต้องไปทำสัญญาเงินกู้ใหม่ แบบนี้จะเจอปัญหาว่าการไปก่อหนี้ใหม่จะแพงขึ้น

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_3595909

“เวียดนาม” ได้รับโอกาสทอง เปิดรับเม็ดเงินทุนจากต่างชาติระลอกใหม่

นาย Tran Quoc Phuong รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน กล่าวว่าเวียดนามมี “โอกาสทอง” ที่จะดึงดูดคลื่นระลอกใหม่ของการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจ (EZs) และนิคมอุตสาหกรรม (IPs) โดยเมื่อพิจารณาจากข้อมูลจะพบว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ประจำปี จะไหลเข้าไปยังเขตเศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม มีสัดส่วนราว 35%-40% ของเงินทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ทั้งนี้ กระทรวงฯ เปิดเผยว่าในปัจจุบันเวียดนามมีโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม 403 โครงการ และเขตเศรษฐกิจตามชายแดน 18 โครงการ และเขตเศรษฐกิจตามชายแดน 26 โครงการ ซึ่งทำให้เวียดนามกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสามารถรองรับกับองค์กรต่างชาติขนาดใหญ่ เช่น Samsung, Canon, LG, Sumitomo และ Foxconn  เป็นต้น

อีกทั้ง ผู้เชี่ยวชาญได้ให้อธิบายไว้ว่าทำไมเวียดนามจึงมองว่าโอกาสในครั้งนี้ถือเป็นการดึงดูดการลงทุนครั้งใหม่ นอกเหนือจากสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเมืองแล้ว ประกอบกับเศรษฐกิจอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากการระบาดของโควิด-19 โดยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคและการควบคุมเงินเฟ้อ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-has-golden-chance-to-welcome-new-fdi-wave-post118468.html

“สำนักข่าวเบลเยียม” ชี้เวียดนามมีโอกาสทางเศรษฐกิจสูง

สำนักข่าว The Brussels Times ของเบลเยียม ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ความร่วมมือกันกว่า 30 ปีที่รักษาความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นอยู่ที่ดีของสหภาพยุโรปและประชาชนขาวเวียดนาม” โดยประเด็นไฮไลท์สำคัญ คือเวียดนามและกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปกำลังจะกลายเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อาทิเช่น การควบคุมเงินเฟ้อและคงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง ถึงแม้เผชิญกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ สถาบันการจัดอันดับ “Moody’s” ปรับขึ้นอันดับความน่าเชื่อถือของเวียดนามจาก Ba3 เป็น Ba2 ในขณะที่นิคเคอิ (Nikkel) จัดอันดับการฟื้นตัวจากโควิด-19 ของเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก เพิ่มขึ้น 12 อันดับ นอกจากนี้ ตามรายงานของธนาคารโลก ประจำเดือนตุลาคม 2565 เปิดเผยว่าเศรษฐกิจของเวียดนามคาดว่าจะขยายตัว 7.2% ในปีนี้ เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและผลการดำเนินงานทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก

ที่มา :https://en.nhandan.vn/brussels-times-speaks-highly-of-vietnams-economic-prospects-post118467.html

‘เชียงราย’จับมือ‘แขวงบ่อแก้ว’ เปิดจุดผ่อนปรนบูมการค้าชายแดน

นายภาสกร บุญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการศูนย์สั่งการชายแดนไทย-ลาว จังหวัดเชียงราย (วาระพิเศษ) และเห็นชอบเรื่องการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 7 จุด ในพื้นที่ 4 อำเภอชายแดนไทย-ลาว คืออำเภอเชียงแสน, เชียงของ, เวียงแก่น และอำเภอเทิง ทั้งนี้ การประชุมร่วมระหว่างจังหวัดเชียงรายกับแขวงบ่อแก้ว ณ ห้องประชุม​ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพ​ไทย-ลาว แห่งที่ 4 อำเภอเชียงของ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 จังหวัดเชียงรายเสนอต่อที่ประชุมว่า มีความพร้อมที่จะเปิดจุดผ่อนปรนการค้าในพื้นที่จังหวัดเชียงรายกับแขวงบ่อแก้วทั้งหมดทั้ง 7 จุด แต่ทางแขวงบ่อแก้วได้แจ้งว่า ยังไม่มีความพร้อมในหลายจุด เบื้องต้นจึงขอเปิดแค่ 3 จุด

อย่างไรก็ตาม ส่วนความคืบหน้า เรื่องการเปิดจุดผ่านแดนไทย-เมียนมา พบว่ารัฐบาลกลางของเมียนมา ยังไม่อนุญาตให้เปิดจุดผ่านแดนถาวรและจุดผ่อนปรนทางการค้าเพิ่มเติม

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/542041

“แบงก์ชาติเวียดนาม” คุมเข้มสภาพคล่อง

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ทำการดึงปริมาณเงินออกจากในระบบ 57.6 ล้านล้านดองผ่านการดำเนินการในตลาดเปิด (OMO) และช่องทางในการขายเงินสกุลต่างประเทศ เพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบของธนาคารให้อยู่ในระดับเหมาะสม หลังจากทำการลดปริมาณเงินแล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมระหว่างธนาคารในช่วงข้ามคืน (Overnight) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้น 40 จุด อยู่ที่ 4.9% และในส่วนของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบบ 1 สัปดาห์และ 1 เดือน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.2% และ 5.6% ตามลำดับ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าธนาคารกลางจะรักษาสภาพคล่องของระบบธนาคารเวียดนามให้ไม่มากจนเกินไป เพื่อคงอัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมระหว่างธนาคาร อยู่ที่ระดับ 5.0-5.5% ซึ่งเป็นระดับที่สมเหตุสมผลกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และจะลดแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1339007/central-bank-acts-to-tighten-dong-liquidity.html

“สนง.สถิติเวียดนาม” เผย GDP ไตรมาส 3 ขยายตัว 13.67%

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 29 ก.ย. ตามข้อมูลของหน่วยงานรัฐบาลว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัว 13.67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ อันเป็นผลมาจากภาคการผลิตและการส่งออก รวมถึงผลกระทบที่อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้ง ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ขยายตัวดีขึ้น 12.91% จากปีก่อนหน้า และภาคบริการขยายตัว 18.86% ขณะที่ภาคเกษตรขยายตัว 3.24%

ที่มา : https://www.reuters.com/markets/asia/vietnam-q3-gdp-grows-1367-yy-vs-783-expansion-q2-stats-office-2022-09-29/

“สิงคโปร์-สปป.ลาว” กระชับความสัมพันธ์ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อมและดิจิทัล

เดอะสเตรตส์ไทมส์ (The Straits Times) รายงานว่าประเทศสิงคโปร์และสปป.ลาว กำลังยกระดับความร่วมมือในสาขาใหม่ ได้แก่ พลังงาน ดิจิทัล ความยั่งยืนและการปกป้องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 50 ปี ทั้งนี้ นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ และนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) จำนวน 4 ฉบับ พิธีลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นของความร่วมมือเพื่อโครงข่ายไฟฟ้าระดับภูมิภาค พลังงานหมุนเวียนและการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าสำหรับการค้าไฟฟ้าข้ามพรมแดน สิ่งนี้จะข่วยส่งเสริมการค้าไฟฟ้าข้ามพรมแดนในภูมิภาคและทำให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันลดคาร์บอน ในขณะเดียวกันก็สร้างงานและยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2022_Singapore189.php

ประชากรเมียนมากว่า 37.1 ล้านคน ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว

กระทรวงสาธารณสุขเมียนมาเปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนเมียนมาได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วกว่า 37.1 ล้านคน ประกอบไปด้วยกลุ่นผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มากกว่า 30.5 ล้านคน และเป็นกลุ่มผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อีก 6.6 ล้านคน โดยกระทรวงสาธารณสุขเมียนมายืนยันกรณีมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ณ วันพุธที่ผ่านมา (28 ก.ย.) จำนวน 381 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมจำนวน 622,423 คน ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในประเทศพุ่งถึง 19,457 คน ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 ในประเทศมีทั้งหมด 597,671 คน

ที่มา : https://english.news.cn/asiapacific/20220928/a162d0ad44df4a8aa742c973d2f570a4/c.html

โตโยต้าจ่อเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในกัมพูชา

โตโยต้าวางแผนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศกัมพูชา กล่าวโดย Kishida Fumio นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระหว่างการประชุมทวิภาคีร่วมกับทาง ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในการเจรจาทวิภาคี ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างการเข้าเคารพศพของ นายอาเบะ ชินโซ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่น่าสนใจร่วมกันในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ เช่น ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี วิกฤตเมียนมา ปัญหาทะเลจีนใต้ และสงครามรัสเซียยูเครน ซึ่งทั้งสองคนให้คำมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501159273/japan-to-open-toyota-factory-in-cambodia/