การค้าระหว่าง กัมพูชา-ไทย เติบโตกว่า 26%

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาและไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 26.46 หรือคิดเป็นมูลค่า 2.781 พันล้านดอลลาร์ จากมูลค่า 2.199 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต ซึ่งคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 559 ล้านดอลลาร์ ไปยังประเทศไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การส่งออกของไทยมายังกัมพูชามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.222 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.85 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ สินค้าเกษตร ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญจากไทย ได้แก่ รถยนต์ เชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งกัมพูชายังคงขาดดุลการค้ากับไทยอยู่ที่มูลค่า 1.663 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเกือบ 4 เท่า ของมูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังไทย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501139113/kingdom-thailand-trade-goes-up-over-26/

น้ำมันปาล์มขวดลดอีก 2-3 บาท แต่ผลิตภัณฑ์นมยังไม่ขึ้นราคา

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ราคาปาล์มขวดเริ่มทยอยลดลงตามต้นทุนแล้ว ส่วนกรณีที่ร้านสะดวกซื้อ ยังขายสูงถึงขวดละ 59-60 บาท น่าจะเป็นสินค้าสต๊อกเก่า สำหรับผลิตภัณฑ์นมจะปรับขึ้นราคาขายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติขึ้นราคารับซื้อน้ำนมดิบกิโลกรัม (กก.) ละ 1.50 บาท มาเป็น กก.ละ 20.50 บาทหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตยื่น เรื่องขอปรับราคาเข้ามา แต่หากยื่นเข้ามาจะพิจารณาให้เป็นรายผู้ผลิตรายผลิตภัณฑ์ เพราะต้นทุนแต่ละรายไม่เท่ากัน จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่หากพิจารณาแล้ว พบว่าต้นทุนสูงขึ้นเล็กน้อย จะขอความร่วมมือให้ตรึงราคาขายไว้ก่อน เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2484855

คาด! การพัฒนาถนนสาย NR67 ส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยว กัมพูชา-ไทย

การพัฒนาถนนแห่งชาติหมายเลข 67 (NR67) ซึ่งเชื่อมระหว่างกัมพูชาและไทย ในช่วงรอยต่อของอำเภอหลงแวง อุดรมีชัย และช่องสะงำ ของกัมพูชา โดยเชื่อมกับเขตอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทางด้านการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนระหว่างกัน ตามรายงานของรัฐบาลกัมพูชาและไทย ที่ได้ทำการตกลงพัฒนาถนนสาย NR67 ด้านบางกอกโพสต์รายงานว่ารองโฆษกรัฐบาล ไตรศุลี ตัยศรานากุล กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีของไทยได้อนุมัติข้อเสนอเงินกู้ให้แก่กัมพูชาจำนวน 983 ล้านบาท เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (23 ส.ค.) เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างถนนเส้นนี้ นอกจากนี้ยังจะสร้างการเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกของประเทศไทย (EEC) ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501138219/nr67-development-to-boost-cambodia-thailand-trade-tourism/

คนละครึ่งทาง! จับตา ‘พาณิชย์’ ไฟเขียว ขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็น 7 บาท

ขณะนี้กรมการค้าภายใน อยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หลังจากที่ผู้ผลิตได้ทำเรื่องขอปรับขึ้นราคาขาย เพราะต้นทุนการผลิตปรับขึ้นทั้งหมด ทั้งแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ค่าไฟ บรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่ง ฯลฯ แต่กรมคงไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นเท่ากันหมดทุกราย ทุกยี่ห้อ เพราะต้นทุนของผู้ผลิตแต่ละรายไม่เท่ากัน และไม่ให้ปรับขึ้นได้ซองละ 2 บาทจากปัจจุบันซองละ 6 บาท เป็น 8 บาท เพราะจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยมากเกินไป แต่อาจจะให้ปรับขึ้นได้ไม่เกินซองละ 1 บาท จาก 6 บาท เป็น 7 บาท แต่มีข้อแม้ว่า เมื่อต้นทุนการผลิตลดลง ผู้ผลิตจะต้องปรับลดราคาขายลงด้วย ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การปรับราคาจะไม่พิจารณาให้ขึ้นราคาได้เท่ากันทุกยี่ห้อ จะพิจารณาตามต้นทุนของผู้ผลิตทีละรายที่ได้ยื่นมา และกำลังเร่งรัดอยู่

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/1389088/

 

 

นายกฯ พอใจกระทรวงพาณิชย์ ใช้กรอบ RCEP ดันส่งออกโต

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีพอใจผลงานกระทรวงพาณิชย์ ที่ผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ตามกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement: RCEP) ทั้งนี้ นับจากวันที่ RCEP มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 มกราคมที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. – มิ.ย. 2565) มีมูลค่ารวม 169,041 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 78,172 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% ตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กลุ่มประเภทสินค้าได้รับประโยชน์จากข้อตกลงนี้ มีการการส่งออกไปตลาดRCEP เพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป อาทิ น้ำตาลทราย (+145%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+19%) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป (+10%) และอาหารสัตว์เลี้ยง (+9%) กลุ่มสินค้าเกษตร อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (+14%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (+24%) ข้าว (+12%) และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า (+19%) เม็ดพลาสติก (+12%) และผลิตภัณฑ์ยาง (+3%) ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเร่งศึกษาทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้า อัตราภาษีศุลกากร กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และวางแผนธุรกิจพร้อมพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในตลาด RCEP

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/politics/1022200

รัฐบาลกัมพูชาเรียกร้อง CP ALL ขยายการลงทุนภายในประเทศ

รัฐบาลกัมพูชาเรียกร้องให้ บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ขยายการลงทุนมายังกัมพูชา โดยเฉพาะโรงงานกระดาษและโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพราะเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงในตลาดกัมพูชา ซึ่งปัจจุบัน ซีพี ออลล์ ได้เปิดดำเนินการร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven หลายสาขาในกรุงพนมเปญเมืองหลวงของกัมพูชา สะท้อนถึงเป้าหมายของ ซีพี ออลล์ ในการขยายกิจการเข้าสู่ตลาดอาเซียนที่กำลังเติบโต พร้อมตอกย้ำจุดแข็งในการส่งเสริมการค้าและบริการระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยปัจจุบันการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยแตะที่มูลค่า 1.174 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501133961/govt-asks-cp-all-plc-to-invest-in-kingdom/

หอการค้าชี้รับได้ขึ้นค่าแรง 5-8% เติมเงินให้คนรายได้น้อยสู้ของแพง ย้ำชัดห้ามปรับราคาเดียว

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงแรงงานเตรียมปรับอัตราค่าแรงงานเพิ่ม 5-8% ซึ่งหอการค้าไทยเห็นด้วย เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูง ถ้าไม่ปรับค่าแรง และสินค้าปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลโดยตรงต่อแรงงานที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบมาก แต่สิ่งที่ไม่เห็นด้วย คือ การปรับค่าแรงงานเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงต้องผ่านคณะกรรมการไตรภาคีของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด และที่ผ่านมาหอการค้าไทยพยายามผลักดันให้รัฐออกมาตรการเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น คนละครึ่งเฟส 5 ซึ่งเป็นรูปทรงที่ดีที่ทำมาตรการในช่วงเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น และมาตรการช่วยดูแลส่วนที่เป็นแรงงาน หากไม่เข้าไปดูแลส่วนนี้จะเกิดปัญหาต่อสังคม

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/1338687/

เมียนมาส่งออกข้าวโพดไปไทย ลดฮวบ !

นาย U Aye Chan Aung ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดของเมียนมา กล่าวว่า การส่งออกข้าวโพดไปไทยลดลงอย่างมาก แม้ว่าก่อนหน้านี้จะสามารถส่งออกข้าวโพดได้ 150,000 ตันต่อเดือน แต่พบว่าการส่งออกเมื่อเดือนก.ค.2565 ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วถึง 30%  ซึ่งเกิดจากการอ่อนค่าของเงินจัตจาก 1,850 จัตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 2,500 จัตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและการค้าที่ลดลงอย่างมาก เพราะเงินจัตที่อ่อนค่าจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ สูงขึ้น อีกทั้งปัญหาขั้นตอนทางกฎหมายและกฎระเบียบที่ยุ่งยากและซับซ้อน (red tape) ในการออกใบอนุญาตส่งออกข้าวโพดมีความล่าช้า ส่งผลให้มีสต็อกข้าวโพดในตลาดในประเทศตกค้างเป็นจำนวนมาก  ปัจจุบันราคาข้าวโพดอยู่ที่ประมาณ 800-820 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) ในตลาดย่างกุ้ง ที่ผ่านมาไทยให้ไฟเขียวการนำเข้าข้าวโพดภายใต้ภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ (แบบ Form-D) ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. ถึง 31 ส.ค.2565 อย่างไรก็ตาม ไทยได้กำหนดอัตราภาษีนำเข้าสูงสุด 73% เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดของไทย โดยในปีงบประมาณ 2563-2564  เมียนมาส่งออกข้าวโพด 2.3 ล้านตันไปยังต่างประเทศ ส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังไทย และบางส่วนจะถูกส่งออกไปยังจีน อินเดีย และเวียดนาม

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/corn-exports-to-thailand-plummet/#article-title

พาณิชย์ ยังสั่งตรึงราคาสินค้า ห้ามผู้ผลิตปรับขึ้นราคา

วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้ผลิตสินค้าอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประกาศจะปรับขึ้นซองละ1บาทหลังจากที่แบกรับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์จะยังคัดค้านที่จะไม่ให้ปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะต้องการตรึงราคาเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคและเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นแบบนี้ ล่าสุดกรมการค้าภายใน ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าให้ตรึงราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และในส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และนม ณ วันนี้ยังคงไม่มีการอนุญาตให้ปรับราคา ส่วนสินค้าที่มีการปรับราคาสูงขึ้นส่วนใหญ่ก็มีแค่บางยี่ห้อที่ปรับราคา ดังนั้นผู้บริโภคจึงยังคงมีทางเลือกในการซื้อสินค้าทดแทนได้ นอกจากนี้การปรับราคาสินค้าส่วนหนึ่งอาจมาจากการปรับเปลี่ยนโปรโมชั่นสินค้าหรือส่วนลดทางการค้า ซึ่งเป็นเรื่องของการแข่งขันตามกลไกตลาด ทั้งนี้ กรมการค้าภายในจะดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ให้มีการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าในราคาสูงเกินสมควร

ที่มา: https://www.thansettakij.com/economy/trade/534927

ส่งออกไปรัสเซีย เม.ย.ดิ่งหนัก “รถยนต์-ชิ้นส่วน” สูญหลังโดนนานาชาติคว่ำบาตร

การส่งออกไทยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ขยายตัวในทิศทางที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยครึ่งแรกของปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.2565) พบว่า ขาดดุลการค้า มูลค่า6,255.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออก มูลค่า 149,184.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 12.7%  แต่การนำเข้า มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 155,440.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีมูลค่านำเข้าที่ 128,507 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ ปี 2560 สาเหตุหลักๆ มาจากต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงาน ค่าขนส่งและการขาดแคลนวัตุถดิบ และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อวัตถุดิบบางอย่างที่ไทยต้องนำเข้าโดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยสินค้านำเข้าหลักๆ ของไทยคือ สินค้าเชื้อเพลิง มีการนำเข้าสูงถึง 32,140ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 91% จากปี 2564 ,สินค้าทุน มีมูลค่า 34,543ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10%, สินค้ากึ่งวัตถุดิบและสำเร็จรูป มีมูลค่า 64,238 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น11.8%, สินค้าอุปโภคบริโภค มีมูลค่า16,622ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น9.4% และอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ มีมูลค่านำเข้า1,976 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 888%

ที่มา: https://www.thansettakij.com/economy/534775