สมาคมต่างๆ ในกัมพูชา พร้อมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับภาคแรงงาน

สมาคมต่างๆ ในภาคการผลิตสินค้ากลุ่มรองเท้าและสินค้าเพื่อการเดินทาง ต่างยินดีกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับภาคแรงงานในปี 2024 โดยเชื่อว่าจะช่วยให้มาตรฐานการครองชีพของภาคแรงงานปรับตัวดีขึ้น ด้านสมาคมผู้ผลิตรองเท้ากัมพูชา ได้กล่าวเสริมว่าการเจรจาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำได้ดำเนินการทางเทคนิคแล้ว โดยอิงตามเกณฑ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ ตามมาตรฐานสากลที่กำหนดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งสนับสนุนในการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 204 ดอลลาร์ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจาก 200 ดอลลาร์ต่อเดือน ภายในปีหน้า และมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้กำหนด เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ให้กับภาคแรงงาน และเสริมสร้างการดึงดูดการลงทุนต่อไป ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน สำหรับอุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากของกัมพูชา โดยปัจจุบันกัมพูชามีโรงงานกลุ่มดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 1,332 แห่ง มีการจ้างงานประมาณกว่า 840,000 คน ด้านตัวเลขการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5.2 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี คิดเป็นกว่าร้อยละ 52 ของการส่งออกทั้งหมด ที่มูลค่า 10.09 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501369455/associations-welcome-minimum-wage-hike/

EIU มองภายในปี 2024 เศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตต่อเนื่อง

หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ: Economist Intelligence Unit (EIU) คาดการณ์ว่ากัมพูชาจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจมีการเติบโตเร็วที่สุดในโลก ภายในช่วงปี 2024 โดยคาดว่าบรูไน ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะมีการเติบโตในระดับสูงภายในช่วงเวลาเดียวกัน เช่นเดียวกับ เอธิโอเปีย ยูกันดา และแทนซาเนีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดเกิดใหม่ กล่าวโดย Tom Rafferty หัวหน้าฝ่ายพยากรณ์และเศรษฐศาสตร์ระดับโลกของ EIU สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ในปีหน้า ซึ่งสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะประสบกับการชะลอตัวแต่ยังไม่ถึงขั้นถดถอย ในขณะเดียวกัน ภาวะเงินฝืดในญี่ปุ่นคาดว่าจะสิ้นสุดในปีหน้า และเศรษฐกิจของจีนถูกมองว่าอยู่ในสถานะอ่อนแอ แต่ยังคงมีเสถียรภาพ ด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ในเอเชียคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการส่งออก อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานที่ปรับตัวดีขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501368936/eiu-sees-cambodia-as-one-of-the-worlds-fastest-growing-economies-in-2024/

การค้าทวิภาคี “กัมพูชา-ไทย” แตะ 2.58 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี

สำหรับในช่วงเดือน มกราคม-สิงหาคม ของปีนี้ การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2,585 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 19.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังไทยที่มูลค่า 646 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากไทยลดลงกว่าร้อยละ 25.8 เหลือมูลค่า 1,938 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ด้านสินค้านำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ ได้แก่ เป็นปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501368622/cambodia-thailand-bilateral-trade-tops-2-58-billion-in-first-eight-months/

เวียดนามขึ้นแท่นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับสองของกัมพูชา

จีน เวียดนาม และไทย ส่งออกสินค้ามายังกัมพูชามูลค่ากว่า 11.5 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณกว่าร้อยละ 70.8 ของการนำเข้าทั้งหมดของกัมพูชาที่มีมูลค่ารวมกว่า 16.3 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ตามข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ประเทศกัมพูชา โดยจีนเป็นผู้ส่งออกสินค้าลำดับแรกของกัมพูชา ด้วยมูลค่าการส่งออก 7.2 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.9 ของการนำเข้าทั้งหมด ลดลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี สำหรับการส่งออกของเวียดนามมายังกัมพูชาลดลงร้อยละ 11.7 เหลือมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 15 ของการนำเข้าทั้งหมด ในขณะที่การส่งออกของไทยมายังกัมพูชาปรับตัวลดลงร้อยละ 25.8 เหลือมูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ ที่สัดส่วนร้อยละ 11.9 ของมูลค่าการนำเข้ากัมพูชา สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี GDCE ได้รายงานเสริมว่ากัมพูชาได้ทำการส่งออกสินค้ามูลค่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ ให้กับจีน เวียดนาม และไทย คิดเป็นร้อยละ 21.9 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาที่มูลค่า 15.7 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501367609/vietnam-second-biggest-exporter-of-cambodia/

กัมพูชาถือเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศ ซึ่งได้รับการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของจีน

การประชุมใหญ่เชิงวิชาการอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า (CEPSI) ครั้งที่ 24 มีกำหนดจัดขึ้นที่เมืองเซี่ยเหมินทางตอนใต้ของประเทศจีน ในระหว่างวันที่ 19-23 ตุลาคม นำโดยสภาการไฟฟ้าของจีน (CEC) ซึ่งโครงการลงทุนดังกล่าวครอบคลุม 10 ประเทศในภูมิภาค รวมถึงปากีสถาน กัมพูชา อุซเบกิสถาน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณกว่า 1.95 พันล้านดอลลาร์ ด้าน Xu Guangbin ผู้อำนวยการของ CEPSI กล่าวเสริมว่าในระหว่างการประชุมจะมีเซสชันและกิจกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านพลังงานระหว่างกัน รวมถึงมองหาโอกาสในการร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคพลังงาน ภายใต้ธีม “Low Carbon Energy Powering a Green Future” โดยเชื่อว่าการประชุมดังกล่าวจะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมพลังงานเพื่อที่จะลดการปล่อยคาร์บอนของโลกเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวในระยะต่อไป สำหรับบริษัทพลังงานของจีนกำลังมุ่งเน้นไปที่โครงการพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมทั่วโลก โดยจนถึงขณะนี้บริษัทใหญ่ๆ ได้ลงทุนและสร้างโครงการพลังงานแล้ว 16 โครงการ ภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 66.7 ของการลงทุนภาคพลังงานในต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501367595/cambodia-is-among-10-countries-where-1-95-billion-of-the-total-foreign-investment-by-major-chinese-power-companies-went/

ญี่ปุ่นพร้อมนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรกัมพูชาเพิ่มขึ้น

เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชา Ueno Atsushi เรียกร้องให้ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรกัมพูชาปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานการส่งออกมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มการส่งออกสินค้าไปยังตลาดญี่ปุ่น โดยปัจจุบันการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชาไปยังตลาดญี่ปุ่นมีสัดส่วนอยู่เพียงเล็กน้อย แต่ในอนาคตญี่ปุ่นพร้อมที่จะทำการนำเข้ามากขึ้นหากสินค้ามีมาตรฐานเป็นไปตามกำหนด ซึ่งกัมพูชาและญี่ปุ่นเป็นสมาชิกภายใต้ความตกลงการเป็นหุ้นส่วนระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ได้มีผลบังคับใช้ในต้นปี 2022 โดยญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าหลักของกัมพูชา ซึ่งในปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวมกว่า 1.93 พันล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามรายงานขององค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ขณะที่การนำเข้าของญี่ปุ่นจากกัมพูชาคิดเป็นมูลค่า 515 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501366903/japan-ready-to-buy-more-cambodian-agri-products/

ภาคเอกชนพร้อมหนุนการเติบโตด้านการท่องเที่ยวกัมพูชา

ภาคเอกชนกัมพูชาพร้อมส่งเสริมสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวในประเทศ ด้วยการส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวให้มีศักยภาพ ซึ่งได้กล่าวไว้ในระหว่างการประชุมที่มีการจัดขึ้นโดยกระทรวงการท่องเที่ยว ณ กรุงพนมเปญ นำโดย Sok Soken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ร่วมกับ Hor Sarun รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว และChhay Sivlin ประธานสมาคมการท่องเที่ยวกัมพูชา (CATA) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแทนภาคเอกชนมากกว่า 100 คน ซึ่งกระทรวงได้จัดการประชุมเพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกัมพูชาให้มีความทัดเทียมในระดับนานาชาติ ร่วมกับการพิจารณาถึงความท้าทายที่ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังเผชิญ ผ่านแผนการยกระดับภาคบริการให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และพัฒนาขั้นตอนในการข้ามพรมแดนมายังกัมพูชา เพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังกัมพูชามากขึ้น โดยเฉพาะประเทศอินเดียและจีนที่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501366904/private-sector-crucial-to-tourism-growth/

กัมพูชา-ออสเตรเลีย เปิดตัวนวัตกรรมอาหาร หวังดัน SMEs ภาคเกษตรและอาหาร

กัมพูชาและออสเตรเลียพร้อมให้ความร่วมมือระหว่างกันในการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมอาหาร เพื่อสนับสนุนกิจการขนาดย่อม (SMEs) ของภาคการเกษตรและอาหาร ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงปรับปรุงสายการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร และเสริมสร้างการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกัมพูชาผ่านองค์กร Khmer Enterprise และรัฐบาลออสเตรเลียผ่านความร่วมมือ Cambodia Australia Partnership for Resilient Economic Development (CAPRED) ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งโครงการนี้ยังร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติกัมพูชาในการช่วยสนับสนุน SMEs นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังให้เกิดการจัดการประชุมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และความคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมอาหารผ่านการจัดงานครั้งแรกเรื่อง Agri-Food Innovation Summit โดยนำ SMEs, นักวิจัย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันในการแบ่งปันความรู้และความคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมอาหาร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501366475/cambodia-and-australia-launch-food-innovation-partnership-to-support-agri-food-smes/

กัมพูชา-อินเดีย ให้คำมั่นร่วมมือพัฒนาภาคการท่องเที่ยวระหว่างกัน

กัมพูชาและอินเดียได้ยืนยันความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาภาคธุรกิจการท่องเที่ยว หวังดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งความมุ่งมั่นนี้ได้รับการยืนยันในการประชุมระหว่าง Sok Soken รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยว และ Dr. Devyani Khobragade ผู้ทรงและที่ปรึกษาพิเศษของสาธารณรัฐอินเดียในกัมพูชา โดยในระหว่างการประชุม Sok Soken ได้ขอขอบคุณรัฐบาลอินเดีย สำหรับการสนับสนุนโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวของกัมพูชา เช่น โครงการ Quick Impact Projects 3 ซึ่งเป็นโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาแอพพลิเคชันมือถือเพื่อส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับชุมชน ด้านรัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและทูตยังได้กล่าวเสริมถึงแนวคิดในการสร้างแพ็กเกจท่องเที่ยวทางจิตวิญญาณและศาสนสถาน เพื่อเป็นการชูจุดเด่นของสถานที่และถือเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยทั้งสองประเทศยังตกลงในการส่งเสริมเที่ยวบินตรงระหว่างเมืองพนมเปญกับนิวเดลี ผ่านสายการบินกัมพูชาอังกอาร์แอร์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศมากขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมา กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจากอินเดียทั้งหมด 34,016 คน เพิ่มจาก 840 คน ที่ได้บันทึกไว้ในปี 2021 ตามรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501366506/cambodia-and-india-vow-stronger-cooperation-on-tourism-development/

เศรษฐา บินกัมพูชาพรุ่งนี้ พบเพื่อนบ้านในอาเซียนครั้งแรก ถกความร่วมมือทาง ศก.-แก้แก๊งคอล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการครั้งนี้นับเป็นการเยือนเพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ในประเทศอาเซียนครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระดับผู้นำในโอกาสที่ทั้งนายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเข้ารับตำแหน่งใหม่ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้หารือกับกัมพูชาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศ โดยมุ่งเพิ่มปริมาณการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 15,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 และผลักดันการยกระดับจุดผ่านแดนไทย-กัมพูชาที่ยังคั่งค้าง รวมไปถึงการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางของทั้งสองประเทศ ผลักดันการท่องเที่ยวและการเดินทางข้ามแดน เพื่อให้มีการใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราว (Temporary Border Pass) สำหรับการเดินทางข้ามแดนทางบก อำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดน และไม่มีหนังสือเดินทาง สามารถขอเอกสารเพื่อใช้เดินทางข้ามแดนได้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นจะติดตามเรื่องการพัฒนาพื้นที่ชายแดน เช่น แก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน การแก้ไขปัญหา call center รวมไปถึงความร่วมมือทางด้านแรงงาน ความมั่นคงทางพลังงาน ความสัมพันธ์ระดับประชาชน และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและวิชาการระหว่างไทย-กัมพูชา

ที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/news_4201241