5 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกข้าว เพิ่มขึ้น 22%

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกข้าวสารกว่า 149,447 ตัน ไปยังจีน เพิ่มขึ้นกว่า 23.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กล่าวโดยสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) โดยจีนยังคงเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา รองลงมาคือสหภาพยุโรป ด้าน CRF กล่าวเสริมว่าการส่งออกข้าวสารไปยังจีนคิดเป็นกว่า 52.6% ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของกัมพูชา ณ ช่วงเดือน มกราคม-พฤษภาคม ปีนี้ ในขณะที่ส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป จำนวน 88,167 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 49% หรือคิดเป็น 31% ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของกัมพูชา ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปีกัมพูชาส่งออกข้าวสารทุกชนิดไปยังตลาดต่างประเทศผ่านบริษัท 53 แห่ง โดยมีปริมาณการส่งออกรวม 283,675 ตัน เพิ่มขึ้นเกือบ 22% สร้างรายได้กว่า 173.47 ล้านดอลลาร์ ด้าน Song Saran ประธาน CRF กล่าวเสริมว่ากัมพูชาจะส่งออกข้าวไปยังจีนได้มากขึ้น หลังจากที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501088120/cambodias-rice-exports-up-22-pct-in-jan-may-netting-more-than-565-16-million/

IDP ฉลองการขนส่งข้าวจากสปป.ลาวไปยังจีนเป็นครั้งแรก

Indochina Development Partners Lao Co., Ltd. (IDP) ได้จัดส่งข้าวเหนียว 100 ตันไปยังประเทศจีน ในการส่งมอบทดลองครั้งแรกของบริษัทโดยใช้การรถไฟลาว-จีน นาย Frederic Jullien ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของงานกล่าวในงานว่า “เราหวังว่าการขนส่งทางรางรถไฟจะช่วยให้เราสามารถลดต้นทุนและเวลาในการจัดส่งข้าวของเราไปยังจุดหมายปลายทางในประเทศจีนได้ ขณะนี้ เรายังคงขนส่งสินค้าทางทะเลจำนวนมากจากประเทศไทยและเวียดนาม นั่นหมายความว่าเราต้องจ่ายค่าขนส่งจากลาวไปยังท่าเรือในประเทศเหล่านั้น แต่การขนส่งทางรถไฟจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของเราได้ ” IDP ได้ลงทุนในภาคข้าวในประเทศลาวตั้งแต่ปี 2015 และได้สร้างโรงสีข้าวที่ทันสมัยสี่แห่งในจังหวัดสะหวันนะเขตและจำปาสัก บริษัทซื้อข้าวเปลือกอย่างน้อย 60,000 ตันจากเกษตรกรชาวลาวในแต่ละปี สร้างรายได้ประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่เกษตรกรสปป.ลาว มีตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ ยุโรป จีน ไทย และเวียดนาม ปัจุบันบริษัทเห็นศักยภาพในการขยายส่วนแบ่งการตลาดในจีน และหวังว่าจะขายให้ได้เพิ่มขึ้นในระดับ 25,000 ตันไปยังประเทศจีนในแต่ละปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า อีกทั้งการขายข้าวเหนียวให้กับจีนถือเป็นการโฆษณาคุณภาพข้าวสปป.ลาวที่ดีให้กับผู้ซื้อจากต่างประเทศและเป็นการปูทางสู่ตลาดส่งออกที่สำคัญอย่างจีน

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten106_IDP_y22.php

ราคาถั่วแป๋ในตลาดมัณฑะเลย์ พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

ผู้ค้าจากตลาดมัณฑะเลย์ เผย การซื้อขายถั่วแป๋ (rice bean) ในตลาดมัณฑะเลย์กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และราคาพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ปัจจุบันมีการนำถั่วแป๋มาจากตำบลมาดายะ สิงกู โมนยวา และปะโคะกู จากเดิมในฤดูเก็บเกี่ยวช่วงเดือนม.ค. ราคาอยู่ที่ 89,000 จัตต่อถุง (3 ตะกร้า) แต่ในปัจจุบันพุ่งไปถึง 150,000 จัตต่อถุง (3 ตะกร้า) ซึ่งการที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นเพราะอุปสงค์ของจีนที่มีมากขึ้นจาการเปิดชายแดนเมียนมาและจีน ส่วนใหญ่ถั่วแป๋จะเน้นการส่งออกเพราะการบริโภคในประเทศค่อนข้างน้อยจึงคาดว่าราคาจะยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ในเขตมัณฑะเลย์ เขตมะกเว และเขตซะไกง์ ซึ่งการปลูกบนดินลุ่มน้ำอิรวดีและแม่น้ำชี่น-ดวี่น ในเขตพื้นที่ดังกล่าวจะได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้ถั่วแป๋สามารถปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. สามารถเก็บเกี่ยวได้ในเดือนม.ค. ซึ่งถั่วแป๋เป็นพืชที่คุ้มค่ากับการปลูกและให้ผลผลิตที่สูง

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/mandalay-market-sees-price-spike-in-rice-bean/#article-title

“เวียตเจ็ท” กลับมาเปิดเที่ยวบิน โฮจิมินห์-ภูเก็ต

สายการบินเวียตเจ็ท (Vietjet) เริ่มกลับมาเปิดบริการเที่ยวบินจากโฮจิมินห์สู่ภูเก็ต (ประเทศไทย) โดยจะให้บริการ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (วันจันทร์ พุธ ศุกร์และอาทิตย์) เที่ยวบินจะออกจากนครโฮจิมินห์เวลา 9.00 น. และลงจอดที่ภูเก็ตเวลา 11.00 น. ในขณะที่เที่ยวบินขากลับออกจากภูเก็ตเวลา 12.00 น. และถึงสนามบินเตินเญิ้ตเวลา 13:50 น. ทั้งนี้ เวียตเจ็ทเป็นสายการบินแห่งแรกที่เปิดบริการเที่ยวบินโฮจิมินห์-ภูเก็ต และยังเป็นสายการบินที่มีเส้นทางเที่ยวบินมากที่สุดที่เชื่อมโยงกับประเทศไทยและเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1208205/vietjet-flights-from-hcm-city-to-phuket-reopened.html

“เวียดนาม” ประเทศแนวหน้าผลักดันพลังงานสะอาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เว็บไซต์ The Economist เผยเวียดนามก้าวขึ้นเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในบทความชี้ให้เห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของโลกที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มากที่สุด แต่ว่าไม่ได้รับความสนใจในการแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างไรก็ดี ในหลายปีที่ผ่านมา เวียดนามหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 0% มาอยู่ที่ 11% ผลลัพธ์ข้างต้นนั้นไม่ใช่แค่อัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในโลกเท่านั้น แต่เวียดนามมีส่วนแบ่งการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่กว่าประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น ฝรั่งเศสหรือญี่ปุ่น ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้วเวียดนามขึ้นมาเป็นผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่อันดับ 10 ของโลก นายกรัฐมนตรีเวียดนามให้คำมั่นว่าในเดือนพ.ค. จะหยุดสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-leads-the-transition-to-clean-energy-in-sea-the-economist-post948389.vov

ส่งออกไปรัสเซีย เม.ย.ดิ่งหนัก “รถยนต์-ชิ้นส่วน” สูญหลังโดนนานาชาติคว่ำบาตร

นายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย เปิดเผยถึงการส่งออกของไทยไปรัสเซียว่า ตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.65 ที่รัสเซียเริ่มใช้ปฏิบัติการทางทหารกับยูเครน จนทำให้นานาชาติใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยไปรัสเซียหดตัวอย่างรุนแรง โดยเดือน มี.ค.65 มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 22.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบถึง 73.02% เมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.65 มีมูลค่า 207.80 ล้านเหรียญฯ ลดลง 6.56% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เดือน เม.ย.65 มูลค่าเหลือเพียง 16.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบหนักถึง 76.77% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 65 มูลค่า 224.40 ล้านเหรียญฯ ติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 23.64%

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2411480

“Apple” เตรียมย้ายฐานการผลิต iPad บางส่วนไปเวียดนาม เหตุปัญหาห่วงโซ่อุปทานของจีน

สำนักข่าว Nikkei Asia ระบุว่าเป็นครั้งแรกของกิจการยักษ์ใหญ่อย่างแอ๊ปเปิ้ล (Apple) ทำการย้ายฐานการผลิต iPad บางส่วนออกจากประเทศจีนและไปยังประเทศเวียดนาม หลังจากเผชิญกับการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดในนครเซี่ยงไฮ้ ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักเป็นเวลาหลายเดือน อย่างไรก็ดี บริษัท Apple ต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนมานานแล้ว แต่จำนวนผู้ป่วย COVID-19 ในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันในไม่กี่เดือนต่อมา ทำให้แผนการดำเนินการล่าช้าออกไป ทั้งนี้ การป้องกันปัญหา Supply Chain ของบริษัทแอ๊ปเปิ้ล จะทำการขอความร่วมมือกับซัพพลายเออร์ในการจัดหาชิ้นส่วนเพิ่มเติม เช่น แผนวงจรและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ผลิตในนครเซี่ยงไฮ้ที่เผชิญกับข้อจำกัดจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ขนส่งล่าช้าและประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน

ที่มา : https://asia.nikkei.com/Spotlight/Supply-Chain/Apple-to-shift-iPad-capacity-to-Vietnam-amid-China-supply-chain-woes

“เวียดนาม” ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม IIP ม.ค.-พ.ค.65 ขยายตัว

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในช่วงตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพ.ค.65 เพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมี 61 จังหวัดจากทั้งหมด 63 จังหวัดทั่วประเทศที่กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ค.65 เพิ่มขึ้น 10.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปของเวียดนาม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.2% ตามมาด้วยการผลิตไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 5.5%, อุตสาหกรรมเหมืองถ่านหิน เพิ่มขึ้น 4.1% และการจัดหาน้ำ การจัดการและการบำบัดน้ำเสีย เพิ่มขึ้น 2.5% อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเวียดนามควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอย่างดี

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-sees-iip-growing-in-61-provinces-in-jan-may/

ความต้องการข้าวจากในประเทศและต่างประเทศเพิ่ม หนุนราคาข้าวเมียนมาพุ่งสูงขึ้น

นาย อู่ ธาน อู เลขาธิการศูนย์ขายส่งข้าวบุเรงนอง เผย ราคาข้าวหักเมียนมาเริ่มปรับตัวขึ้นเนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้ค้าทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันราคาข้าวหักอยู่ระหว่าง 27,000-30,000 จัตต่อตะกร้า (น้ำหนัก 108 ปอนด์) โดยราคาไม่ต่างจากราคาข้าวคุณภาพต่ำที่ส่งออกมากนัก เมื่อเดือนเม.ย.2565 ที่ผ่านมา เมียนมาส่งออกข้าวและข้าวหักมากกว่า 170,000 ตัน โดยมีมูลค่าประมาณ 58.933 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ การส่งข้าวมูลค่ากว่า 119,260 ตัน เป็นการส่องออกยังทางทะเล มูลค่า 41.298 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ผ่านชายแดน มูลค่า 4,180 ตัน ผ่านชายแดนจีน โดยตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ ไอวอรี่โคสต์ (10,000 ตัน) แคเมอรูน (9,000 ตัน) แองโกลา (15,000 ตัน) มาดากัสการ์ (8,500 ตัน) จีน (14,300 ตัน) ฟิลิปปินส์ (12,200 ตัน) ศรีลังกา (250 ตัน) และฮ่องกง (180 ตัน) ส่วนการส่งออกไปสหภาพยุโรป ได้แก่ โปแลนด์ (8,800 ตัน), ลิทัวเนีย (8,200 ตัน), อิตาลี (8,690 ตัน), สเปน (15,180 ตัน), บัลแกเรีย (7,750 ตัน) และเบลเยียม (700 ตัน)

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/domestic-foreign-demand-drive-broken-rice-price-up/

วิกฤตน้ำมันเลวร้ายลง หลังปั๊มน้ำมันเวียงจันทน์เริ่มไม่มีจำหน่าย

ขณะที่ประชาชนทั่วประเทศต้องต่อสู้กับวิกฤตด้านเชื้อเพลิงที่รุนแรง สมาชิกสมาคมเชื้อเพลิงและก๊าซแห่งลาวกล่าวเมื่อวันพุธว่า อุปทานน้ำมันที่ผู้นำเข้าซื้อไว้คาดว่าจะมาถึงลาวในสัปดาห์หน้า สมาคมเชื้อเพลิงและก๊าซสปป.ลาวเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง วิกฤตนี้ยังคงส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วประเทศ แม้ว่าทางการจะดำเนินการหลายขั้นตอนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤต ได้แก่ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทที่แข็งค่า จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศลาวประสบปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงเป็นเวลาหลายสัปดาห์ และสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้ามาจากหลวงน้ำทา ซึ่งน้ำมันหมดในปลายเดือนมีนาคม กระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย กล่าวว่า สถานการณ์เลวร้ายลงในเมืองปากเซและจังหวัดสะหวันนะเขต ก่อนที่ปัญหาจะกระทบกระทั่งเวียงจันทน์ในที่สุด

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Fuel104.php