CAC รายงานการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ไปยังเวียดนามลดลง 16%

กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบ (RCN) ปริมาณกว่า 607,000 ตัน ไปยังเวียดนาม ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ สร้างรายได้เข้าประเทศ 820 ล้านดอลลาร์ แต่กลับปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 15.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามข้อมูลของ Uon Silot ประธานสมาคมเม็ดมะม่วงหิมพานต์แห่งกัมพูชา (CAC) ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาผลิต RCN ได้ประมาณ 634,000 ตัน ณ ช่วงเดือน ม.ค.–ส.ค. โดยประมาณร้อยละ 95 ถูกส่งออกไปยังเวียดนาม สำหรับราคาเฉลี่ยของ RCN ในปัจจุบันอยู่ที่ 1,658 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ในช่วงเดือนสิงหาคมปีนี้ ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 1,900 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งโรงงานแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในกัมพูชาจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ ของกัมพูชา เพื่อให้ผ่านมาตรฐานการส่งออก ด้านประธานสมาคม CAC ยังได้ร้องขอให้รัฐบาลช่วยจัดหาตลาดในการส่งออกและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการ หวังกระตุ้นอุตสาหกรรมการผลิตเม็ดมะม่วงพิมพานต์ของประเทศต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501361913/cashew-exports-to-vietnam-decline-16-says-cac/

กัมพูชาและจีน หวังใช้ กลยุทธ์ 5 ประการ ร่วมกับยุทธศาสตร์ BRI

รัฐบาลกัมพูชา (RGC) และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ได้ตกลงที่จะนำกลยุทธ์ 5 ประการ มาปรับใช้ ร่วมกับยุทธศาสตร์ Bridge and Road Initiative (BRI) ซึ่งเป็นแผนหลักในการกระชับความร่วมมือในระดับทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและจีน โดยคำแถลงการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองประเทศ โดยคาดว่าการนำกลยุทธ์ดังกล่าวมาปรับใช้จะช่วยให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและจีน ในการส่งเสริมการลงทุนและเสริมกำลังการผลิตให้แก่กัมพูชา เพื่อเปลี่ยนพระสีหนุให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความอเนกประสงค์ เป็นต้นแบบเขตอุตสาหกรรม และเกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยีในกัมพูชา สำหรับยุทธศาสตร์ทั้งสองฉบับมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ปลา ข้าว ผลไม้เมืองร้อน ผัก และปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอื่นๆ รวมถึงปุ๋ยและอาหารสัตว์ โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นลำดับแรก ซึ่งการปรับยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังคาดว่าจะขยายกรอบความร่วมมือภาคพลังงานในรูปแบบต่างๆ ร่วมด้วย เพื่อการพัฒนาพลังงานสีเขียว ให้มีความยั่งยืน รวมถึงตอบสนองต่อประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501361712/cambodia-china-agree-to-adopt-pentagonal-bri-strategies/

รมว.แรงงานกัมพูชา วอน JICA สนับสนุนการฝึกอาชีพ หวังดัน GDP โต 7%

Heng Sour รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการฝึกอบรมวิชาชีพ ได้ร้องขอให้หน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ในกัมพูชา ดำเนินการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาต่อไป เพื่อเพิ่มแรงผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาเป็นถึงร้อยละ 7 โดยคำร้องขอดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการประชุมกับ Sanui Kazumasa ประธาน JICA ณ กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าการเสริมสร้างการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาเป็นกุญแจสำคัญในการดึงดูดการลงทุนมายังกัมพูชามากขึ้น โดยเฉพาะจากนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญสำหรับกัมพูชาในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ถึงประมาณน้อยละ 7 ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือต่อไป เพื่อเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในขณะที่รัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม” ภายในปี 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501361304/labour-minister-asks-jica-to-continue-vocational-technical-training-to-boost-cambodias-economic-growth-to-7/

สหพันธ์ข้าวกัมพูชา ตั้งเป้าส่งออกข้าวสารแตะ 1 ล้านตัน ภายในปี 2025

สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ตั้งเป้าส่งออกข้าวทะลุ 1 ล้านตัน ภายในปี 2025 โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกข้าวสารกว่า 400,000 ตัน ไปยัง 56 ประเทศทั่วโลก สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่สำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตข้าวของกัมพูชา ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาได้แจ้งว่าอินโดนีเซียวางแผนที่จะนำเข้าข้าวจากกัมพูชาจำนวน 250,000 ตันต่อปี ซึ่งเหตุดังกล่าวนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ปริมาณการส่งออกข้าวของกัมพูชาถึงเป้าหมายเร็วขึ้น โดยอินโดนีเซียจะเริ่มนำเข้าข้าวจากกัมพูชาภายในปี 2024 ภายใต้ข้อตกลงที่ได้ลงนามไว้ระหว่าง 2 รัฐบาล นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ อย่างเช่น ฟิลิปปินส์ ยังแสดงความสนใจที่จะนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเพิ่มเติมอีกด้วย สำหรับภาครัฐและภาคเอกชนพร้อมที่จะทำการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการลงทุนในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรให้ทันสมัย และการใช้มาตรการควบคุมคุณภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตข้าวให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501361211/cambodian-rice-federation-reports-record-rice-exports-on-track-to-reach-1-million-tonnes-by-2025/

ม.ค.-ส.ค. กัมพูชาส่งออกไปยังสิงคโปร์โตกว่า 555%

ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคมของปีนี้ กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสิงคโปร์ขยายตัวกว่าร้อยละ 554.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากมูลค่า 72.83 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 476.90 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากสิงคโปร์ อยู่ที่ 622.77 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 78.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่าการค้าทวิภาคีอยู่ที่ 1.10 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ข้อมูล GDCE แสดงให้เห็นว่าการส่งออกไปยังสิงคโปร์มีการเติบโตสูงที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ที่กัมพูชามีการทำการค้าด้วย ขณะที่การส่งออกของกัมพูชา ณ สิ้นเดือนสิงหาคม อยู่ที่มูลค่าประมาณ 15.69 พันล้านดอลลาร์ โดยสิงคโปร์ยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 6 ของกัมพูชา รองจากจีน สหรัฐฯ เวียดนาม ไทย และญี่ปุ่น ตามลำดับ ซึ่งในเดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียว การส่งออกของกัมพูชาไปยังสิงคโปร์มีการเติบโตร้อยละ 556.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก 4.3 ล้านดอลลาร์ เป็น 28.8 ล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่กัมพูชาส่งออกสินค้าประเภท ไข่มุก หินมีค่า โลหะ สินค้าที่ผลิตมาจากยาง เสื้อผ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และรองเท้า เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากนักลงทุนชาวสิงคโปร์เข้ามาลงทุนยังกัมพูชาเพื่อผลิตและส่งออกเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501359846/cambodias-exports-to-spore-rise-by-555-in-jan-aug/

คาดการลงทุนภาคการเกษตรของจีน จะช่วยเติมเต็มเศรษฐกิจให้แก่กัมพูชา

ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมวิจัยของจีน (Chinese Cambodian Evolution Researcher Association: CCERA) เปิดเผยว่า การลงทุนของจีนในภาคเกษตรกรรมของกัมพูชา ได้ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจกัมพูชาเกิดการขยายตัว รวมถึงสร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นหลายแสนคน อีกทั้งยังลดการอพยพหรือการย้ายถิ่นฐานไปทำงานยังประเทศอื่นๆ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลจีนได้อัดฉีดงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่การพัฒนาภาคเกษตรกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการส่งออกพืชผลทางการเกษตรไปยังจีนมากขึ้น ด้วยการลงทุนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของกัมพูชาต่อประเทศคู่แข่ง สำหรับเดือนที่แล้ว บริษัท Danong Agricultural Development Group ของจีน มีความสนใจที่จะลงทุนในภาคเกษตรของกัมพูชา ไปยังภาคอุตสาหกรรมเกษตร 75 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 10,000 เฮกตาร์ ในจังหวัดพระตะบอง โพธิสัตว์ เสียมราฐ และกำปงธม ด้วยมูลค่าการลงทุนสูงถึง 12,700 ล้านดอลลาร์ แสดงถึงความต้องการด้านการลงทุนของภาคเกษตรกรรมกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501359851/chinese-investment-in-agricultural-sector-gives-fillip-to-economy/

การค้าระหว่าง กัมพูชา-จีน ทะลุ 8 พันล้านดอลลาร์

จีนยังคงเป็นคู่ค้ารายสำคัญของกัมพูชา โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคมของปีนี้ การค้าระหว่างทั้งสองประเทศมีมูลค่ารวมสูงถึง 8.09 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวถึงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลล่าสุดของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศจีนในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.8 ที่มูลค่ารวม 935.95 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.6 มาอยู่ที่มูลค่า 7.15 พันล้านดอลลาร์ สำหรับสหรัฐฯ ครอบตำแหน่งคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของกัมพูชา ด้วยปริมาณการค้ารวม 6.27 พันล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยเวียดนามที่มูลค่าการค้าทวิภาคี 4.30 พันล้านดอลลาร์ ไทยที่มูลค่าการค้าระหว่างประเทศรวม 2.58 พันล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่นที่มูลค่าการค้ารวม 1.20 พันล้านดอลลาร์ ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือให้ภาคการค้าทวิภาคีเติบโต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501359586/cambodias-trade-with-china-crosses-8-billion/

กัมพูชาคาดจัดเก็บภาษีเกินกรอบแผนงบประมาณประจำปีที่ได้กำหนดไว้

กรมสรรพากรกัมพูชา (GDT) รายงานสถานการณ์การจัดเก็บภาษีในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ สูงถึงร้อยละ 64 ของแผนการจัดเก็บภาษีประจำปี 2023 ที่มูลค่า 2.3 พันล้านดอลลาร์ เกินกว่าเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งภายในปี 2023 กำหนดเป้าหมายในการจัดเก็บภาษีไว้ที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์ โดยได้กล่าวไว้ในระหว่างการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นำโดย Kong Vibol ผู้อำนวยการ GDT ซึ่งได้กล่าวเสริมว่าการจัดเก็บภาษีจะเกินกว่าแผนในการจัดเก็บงบประมาณประจำปีที่ร้อยละ 20-25 แม้ว่าเศรษฐกิจโดยภาพรวมจะชะลอตัวลงในปัจจุบัน แต่ยังมีบางภาคส่วน เช่น อุตสาหรรมเครื่องดื่มและภาคการท่องเที่ยวที่ยังมีการขยายตัวและสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ช่วยให้ทางการจัดเก็บภาษีได้เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2023 ซึ่งการขับเคลื่อนดังกล่าวยังได้รับความช่วยเหลือมาจากการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี เช่น การเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการจัดการผ่านระบบดิจิทัล การปรับปรุงกฎหมายภาษีให้ทันสมัย ขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าวการจัดเก็บภาษีในภาคอีคอมเมิร์ซมีมูลค่ารวมกว่า 46 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501359504/tax-collection-to-exceed-budget-plan-this-year/

ในช่วง 8 เดือนแรกของปี กัมพูชาให้การต้อนรับผู้โดยสารทางอากาศโต 180%

สำนักงานเลขาธิการการบินพลเรือนกัมพูชา ได้รายงานว่ากัมพูชาให้การต้อนรับผู้โดยสารทางอากาศจำนวนกว่า 3.4 ล้านคน ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 180 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในรายงานระบุว่าสายการบินระหว่างประเทศและในประเทศได้ให้บริการเที่ยวบินทั้งหมด 33,146 เที่ยวบิน ไปยังสนามบินนานาชาติ 3 แห่ง ของกัมพูชา ด้าน Sinn Chanserey Vutha เลขาธิการแห่งรัฐของปลัดกระทรวงการบินพลเรือนและโฆษกได้กล่าวเสริมว่า กัมพูชาคาดว่าจะดึงดูดผู้โดยสารทางอากาศได้ประมาณ 4.6 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2.38 ล้านคนในปีที่แล้ว เป็นผลมาจากจีนเปิดประเทศอีกครั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งได้กระตุ้นให้อุตสาหกรรมการบินและภาคการท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ตรงกันข้ามกับการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารทางอากาศ พบว่าปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศปรับตัวลดลงร้อยละ 10 เหลือปริมาณเพียง 34,881 ตัน ในช่วงเวลาดังกล่าว ด้านกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาตั้งเป้าที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ถึง 6.4 ล้านคน ในปี 2025 และถึง 7 ล้านคน ภายในปี 2026

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501358488/cambodia-records-180-percent-rise-in-air-passengers-in-first-eight-months/

การส่งออกโดยภาพรวมของกัมพูชาขยายตัวเล็กน้อย

การส่งออกของกัมพูชาในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 15.69 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาสำหรับในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมของปีนี้ ที่มูลค่าการส่งออก 6.11 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 4.8 จากมูลค่า 6.24 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ขณะที่ประเทศส่งออกหลักอื่นๆ ได้แก่ เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และไทย โดยการส่งออกไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 คิดเป็นมูลค่า 1.85 พันล้านดอลลาร์ จากมูลค่า 1.46 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 เป็น 939 ล้านดอลลาร์ จาก 804 ล้านดอลลาร์ สำหรับการส่งออกไปยังญี่ปุ่นและไทยอยู่ที่มูลค่า 770 ล้านดอลลาร์ และ 646 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ แม้ว่าการส่งออกในปีนี้จะชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่การเติบโตของการค้าของกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากกัมพูชามีข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนและเกาหลี ซึ่งข้อตกลงการค้าต่างๆ ถือเป็นความได้เปรียบสำคัญในการส่งเสริมภาคการส่งออกของกัมพูชา และมีส่วนสำคัญในการดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ จากต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501358565/cambodias-total-exports-marginally-up/