ธุรกิจประมงปลาหมึกบูมสุดๆ ในปีนี้

ผู้ประกอบการเรือประมง เผย ธุรกิจประมงปลาหมึกในฤดูกาลนี้เฟื่องฟูสุดๆ เนื่องจากได้ราคาดี โดยราคาในช่วงการจับปลาหมึกระหว่างเดือนต.ค.64 ถึงเม.ย. 65 ราคาพุ่งไปถึง 160,000 จัตต่อ 10 viss (1 viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) ในเมืองทวาย ส่วนเมืองมะริดจะอยู่ที่ 140,000 ต่อ viss ซึ่งการปรับขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้เรือประมงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ทว่าธุรกิจเประมงยังไปได้ดีเพราะราคายังสูงอยู่ และคาดว่าราคาน้ำมันจะลดลงในปีหน้า ดังนั้นผู้ประกอบการเรือประมงต้องเสี่ยงราคาที่ผันผวนของตลาด ปัจจุบันมีเรือขนาดใหญ่ที่ได้รับการจดทะเบียนจำนวน 300 ลำ และเรือขนาดเล็กจำนวน 500 ลำ ในเมืองมะริด เขตตะนาวศรี โดยส่วนใหญ่แล้วปลาหมึกของเมียนมาถูกส่งออกไปยังจีนและไทยเป็นหลัก

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/e-paper/

พาณิชย์ชี้ช่องรุกตลาดจีน สินค้าบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมรุ่ง

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากน.ส.ชนิดา อินปาผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงการขยายตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ตลาดจีน หลังจากที่ได้ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้พลาสติก และทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงนับเป็นอีกโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้ามาขยายตลาดในจีน เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้านทั้ง Stay at Home Economy หรือเศรษฐกิจอยู่ติดบ้าน และพฤติกรรมการสั่งอาหารและเครื่องดื่มเดลิเวอรีของชาวจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังควรเฝ้าติดตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคชาวจีนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนร่วมมือกับแบรนด์จีนในลักษณะของ Co-Brand เพื่อให้มีโอกาสประสบความสำเร็จ และสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่มา: https://www.naewna.com/business/650980

เยอรมนีลงทุนใหม่มาบตาพุด ผุด 2 โปรเจ็กต์ขึ้นฮับอาเซียน

“โคเวสโตร” ทุนเยอรมันยักษ์ปิโตรเคมีกางแผนลงทุน “มาบตาพุด”เพื่อให้ขยายการลงทุนมาที่ประเทศไทย โครงการนี้จะมีการลงทุนไม่น้อยกว่าโครงการอีลาสโตเมอร์ก่อนหน้านี้เลย อีกโปรเจ็กต์หนึ่งเป็นโครงการลงทุนในระยะยาว 5 ปี ระหว่างปี 2025-2030 คือ การขยายกำลังการผลิตของโรงงานโพลิคาร์บอเนตที่มาบตาพุด ซึ่งโครงการนี้หากจะมาลงทุนจริง ๆ จะมีขนาดมากกว่า 100 ล้านยูโร หรือกว่า 3,600-3,700 ล้านบาท  ชู strategic location “ไทยฮับอาเซียน” ของโคเวสโตร จากที่มีฐานการผลิตของโคเวสโตรที่กระจายอยู่ใน 50 ประเทศทั่วโลก มีพนักงานรวม 18,000 คน ก็จะมีศูนย์การผลิตที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับโลกอยู่ 8 ประเทศ ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งใน 8 นั้น

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-918295

เวียดนามเผยกว๋างนิญเป็นเมืองที่มีศักยภาพสูงสุด จากการจัดอันดับ PCI ปี 64

หอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (VCCI) กับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) เปิดเผยว่าดัชนีความสามารถในการแข่งขันของจังหวัด (Provincial Competitive Index: PCI) ของจังหวัดกว๋างนิญเท่ากับ 73.02 อยู่ในอันดับที่ 1 ของประเทศในปี 2564 นับว่าเป็นจังหวัดลำดับที่ 1 ในการแข่งขันของจังหวัด 5 ปีติดต่อกัน ด้วยการบริหารจัดการทางด้านเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นมิตรและอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจการ รองลงมาจังหวัดไฮฟองอยู่ในอันดับที่ 2 เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ ตามรายงานของหอฯ เวียดนาม ชี้ให้เห็นว่าดัชนี PCI ในปี 2564 การดำเนินกิจการอยู่ในความยากลำบาก เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 แต่ภาคธุรกิจประเมินแล้วว่าการจัดการระบบเศรษฐกิจของจังหวัดดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1176410/quang-ninh-continues-to-top-pci-rankings-in-2021.html

เมียนมาผ่อนผันคำสั่งแปลงสกุลเงินให้ผู้ค้าที่ชายแดนจีน-ไทย

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ธนาคารกลางเมียนมา (CBM) ได้ขยายระยะเวลาบังคับแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นเงินจัตสำหรับผู้ส่งออกที่ทำการค้าที่ชายแดนกับจีนและไทย โดยผู้ส่งออกที่ซื้อขายภายใต้โครงการการค้าชายแดนจีน-เมียนมา และไทย-เมียนมา ไม่จำเป็นต้องแปลงรายได้จากการส่งออกเป็นสกุลเงินจัตภายในหนึ่งวันทำการอีกต่อไป และอนุญาตแปลงรายได้ของตนเองที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศมาเป็นเงินจัตได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน ทั้งนี้ ธนาคารกลางยังมีคำสั่งให้ธนาคารตัวแทนที่ได้รับอนุญาตดำเนินการตรวจสอบการบังคับนำรายได้ของผู้ส่งออกเข้าบัญชีธนาคารของรัฐสำหรับรายได้จากการส่งออก นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ผู้นำเข้าสามารถชำระเงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศกับธนาคารที่กำหนด โดยไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ.

ที่มา: https://english.news.cn/20220428/c939e28c2cdf49dab0f244300c49df72/c.html

รมว.ต่างประเทศลาว-เวียดนามหารือความสัมพันธ์ทวิภาคี

สปป.ลาวและเวียดนามได้ตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างการเจรจารัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองประเทศที่จัดขึ้นที่เวียงจันทน์ รัฐมนตรีตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาใด ๆ ที่ขัดขวางความสัมพันธ์ทวิภาคีและให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ฉันมิตรและความร่วมมือที่ครอบคลุมระหว่างลาวและเวียดนามในทุกมิติ รัฐมนตรีเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือในด้านการเมือง การป้องกันประเทศ และความมั่นคง ตลอดจนการต่างประเทศ โดยสร้างเงื่อนไขพื้นฐานสำหรับความต่อเนื่องและการเสริมสร้างความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสองประเทศ เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการขนส่ง ตลอดจนการเยือนซึ่งกันและกัน การค้าในรูปแบบทวิภาคีระหว่างสปป.ลาวและเวียดนามมีมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเกือบ 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อีกทั้งเวียดนามเป็นนักลงทุนต่างชาติชั้นนำในสปป.ลาว ได้ลงทุนในโครงการ 426 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Lao81.php

กัมพูชาขาดแคลนห้องเย็น กระทบภาคการส่งออกสินค้าเกษตร

กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนห้องเย็นสำหรับขนส่งสินค้าเกษตรของกัมพูชา และมาตรการที่เข้มงวดของประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญในช่วงโควิด-19 ที่ได้กำหนดข้อจำกัด ด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ทำให้เกิดการหยุดชะงักในการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชา ซึ่งจากการเจรจากับผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่หลายราย การส่งออกที่ลดลงเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงการขาดห้องเย็นสำหรับสินค้าเกษตร ที่ส่งผลทำให้ราคาขนส่งสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อน วิกฤตโควิด-19 โดยในขณะนี้ค่าขนส่งสูงขึ้นกว่า 3 เท่า ด้าน Sin Chanthy ประธานสมาคมโลจิสติกส์กัมพูชากล่าวว่าราคาปกติของการขนส่งไปยังจีนอยู่ที่ 2,500 ดอลลาร์ แต่ในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ดอลลาร์ ในปัจจุบัน ในขณะที่ค่าขนส่งไปยังสหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มขึ้นจาก 4,000 ดอลลาร์ เป็นเกือบ 20,000 ดอลลาร์ เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501065109/cold-storage-shortage-covid-19-hurt-agriculture-exports/

ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือสีหนุวิลล์เพิ่มขึ้น 16% ในปีก่อน

ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 แต่ท่าเรือสีหนุวิลล์กัมพูชากลับมีการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขนส่งยังท่าเรือ ตามรายงานสถิติการขนส่งสินค้า ซึ่งได้รายงานถึงจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่มีการผ่านท่าเรือจำนวน 18,182 หน่วย (TEUs) ในไตรมาสแรกของปี 2022 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 16.32 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2021 โดยท่าเรือนี้ทำหน้าที่เป็นจุดผ่านแดนและจุดขนส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เป็นส่วนสำคัญ ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะพัฒนาท่าเรือต่อไป เพื่อที่จะขยายการรองรับตู้คอนเทนเนอร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501065618/container-traffic-in-sihanoukville-autonomous-port-up-by-more-the-16-percent/

‘นครโฮจิมินห์’ เผย 4 เดือนปี 65 เม็ดเงิน FDI ทะลุ 1.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ตามรายงานกรมวางแผนและการลงทุนของเมือง เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 เมืองโฮจิมินห์ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นมูลค่า 1.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.18% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งจากจำนวนเงินทุนทั้งหมด ประมาณ 186.25 ล้านเหรียญสหรัฐเข้าไปอยู่ในโครงการลงทุนใหม่ จำนวน 181 โครงการ เพิ่มขึ้น 81% ในแง่ของจำนวนโครงการ แต่ลดลง 48.28% ในแง่ของมูลค่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ การปรับเพิ่มเงินทุน ประมาณ 640.42 ล้านเหรียญสหรัฐ จำนวน 44 โครงการในปัจจุบัน ทั้งนี้ เงินทุนจากต่างชาติส่วนใหญ่ 51.48% ไหลไปยังกิจการสื่อสารและโทรคมนาคม รองลงมา 23.25% กิจการขายส่งและขายปลีกยานยนต์ และ 11.84% การเงิน การธนาคารและการประกันภัย อีกทั้ง สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติใหญ่ที่สุดในเมืองโฮจิมินห์ คิดเป็นสัดส่วน 51.95% ของเงินทุนทั้งหมด รองลงมาญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/over-128-billion-usd-in-fdi-channeled-into-hcm-city-in-4-months/227661.vnp

งบประมาณย่อย 64-65 เมียนมาได้เปรียบดุลการค้า 321 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การค้าระหว่างประเทศของเมียนมาของปีงบประมาณย่อย 2564-2565 (ตุ.ค. 2564 ถึงมี.ค. 2565) มีมูลค่า 16.234 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 8.279 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้ามูลค่า 7.955 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกินดุลการค้ามูลค่า 324 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 263 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2563-2564 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวหัก ข้าวโพด ถั่วและเมล็ดพืช ผลิตภัณฑ์ประมง ปศุสัตว์ และเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูป โดยมูลค่าการส่งออกทางทะเลเพิ่มขึ้นกว่า 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อรวมกับการค้าชายแดนพบว่าเพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ในช่วงงบประมาณมาณย่อย 2564-2565 เมียนมาได้ตั้งเป้าการส่งออกไว้ที่ 8.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่กลับเพิ่มขึ้นถึง 101% และการนำเข้าที่ได้ตั้งเป้าไว้ 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 90% ดังนั้นมูลค่าการค้ารวมจึงพุ่งสูงถึง 95 % จากเป้าที่ได้ตั้งไว้ 17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/e-paper/