ภาคปศุสัตว์เมียนมา อ่วม! ต้นทุนการผลิตพุ่ง

สหพันธ์ปศุสัตว์เมียนมา (MLF) ระบุ ภาคปศุสัตว์ของเมียนมาประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง รวมถึงต้นทุนอาหารสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิงและค่าขนส่งที่พุ่งขึ้น อีกทั้งปัญหาการนำเข้าเนื้อสัตว์แช่แข็งอย่างผิดกฎหมาย ค่าเงินจัตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนตัว รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID 19 ทำให้ผลผลิตไก่ไข่และไก่เนื้อในปีนี้ลดลง การผลิตสินค้าปศุสัตว์และสัตว์ปีกในเมียนมาโตขึ้น 10-15% ต่อปี ส่วนใหญ่ใช้วิธีการแบบดั้งเดิมและบางส่วนได้เปลี่ยนไปใช้วิธีการสมัยใหม่ ซึ่งบางครั้งการเลี้ยงสัตว์ปีกและการเลี้ยงปลาแบบผสมผสานยังพบเห็นได้ทั่วไปในเมียนมา นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในท้องถิ่นยังเผชิญกับแรงกดดันจากนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุน เช่น  จีน ไทย และอินเดีย นั่นคือเหตุผลที่ต้องปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ท้องถิ่นใหม่ เพื่อตอบรับการลงทุนในการเลี้ยงสัตว์ปีกของนักลงทุนต่างชาติ
ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/livestock-sector-struggling-with-high-input-cost/

“เวิลด์แบงก์” คงประมาณการจีดีพีของเวียดนามปี 65 ขยายตัวเป็นบวก

Jacques Morisset หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้ากลุ่มโครงการของธนาคารโลกประจำเวียดนาม ประมาณการณ์ตัวเลข GDP ของเวียดนามในปี 2565 เติบโต 6%-6.5% กรณีที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ และรักษาระดับของความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ในขณะเดียวกันปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อเศรษฐกิจเวียดนามในปีหน้านั้น ยังคงเป็นปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มีการกลายพันธุ์ใหม่ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอื่นที่มีผลต่อเศรษฐกิจ สังเกตได้จากประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และอีกปัจจัยหนึ่งคือเรื่องของเงินเฟ้อ โดยได้ตั้งเข้าสังเกตไว้ว่าเศรษฐกิจชุมชนกำลังเผชิญกับเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากการเสื่อมของอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในประเทศยังไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าอุปทาน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนในการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม มีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ 1) เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มุ่งเน้นไปที่การกระจายห่วงโซ่อุปทาน 2) เวียดนามสามารถใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์จากเศรษฐกิจสีเขียว และ 3) อุปสงค์ในประเทศ จำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มสูงขึ้น
ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/wb-remains-positive-on-vietnamese-gdp-growth-target-for-next-year-post914137.vov

‘ซัมซุง’ จ่อลงเม็ดเงินเพิ่มอีก 850 ล้านเหรียญสหรัฐ เหตุตั้งบริษัทลูกในเวียดนาม

การประชุมคณะกรรมการของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์อย่าง “ซัมซุง (Samsung)” ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ประกาศอนุมัติเงินลงทุน 850 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการตั้งบริษัทลูกในเวียดนามเพื่อทำการผลิตแผงวรจง flip-chip ball grid arrays (FC-BGA) โดยบริษัทจะใช้เงินลงทุนจนถึงปี 2566 เพื่อสร้างสายการผลิต FC-BGA ใหม่ ทั้งนี้ แผนของบริษัทลูกในเวียดนามแห่งนี้ จะมุ่งเน้นไปที่การผลิต FC-BGA ในขณะที่โรงงานซัมซุงในเมืองซูวอน จังหวัดคยองกี และเมืองปูซานจะเชี่ยวชาญในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์
ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/10973202-samsung-to-invest-additional-850-mln-usd-in-vietnamese-subsidiary.html

ผัก-ผลไม้ไทยครองจีน พาณิชย์ชี้ FTA สร้างความได้เปรียบ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยสถิติการค้าสินค้าผักและผลไม้ไทยของไทยในจีน พบว่าช่วง 10 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) จีนนำเข้าผักและผลไม้จากไทยสูงเป็นอันดับ 1 โดยไทยครองส่วนแบ่งสูงถึง 45% ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน ส่วนชิลีเป็นอันดับ 2 มีส่วนแบ่ง 14.01% และเวียดนามอันดับ 3 มีส่วนแบ่ง 6.45%  ฯลฯ โดยตัวเลขล่าสุด 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) มีการส่งออกมูลค่า 6,013.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 81% และนำเข้ามูลค่า 832.04 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.2% เกินดุลการค้า 5,180.99 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 105% โดยเครื่องมือที่สร้างความได้เปรียบคือ ความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน (ACFTA) เพราะจีนได้ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าผักและผลไม้จากไทยทุกรายการตั้งแต่ปี 2546 ส่งผลให้การส่งออกเติบโตอย่างมาก
ที่มา: https://www.naewna.com/business/624782

‘เวียดนาม’ เกินดุลการค้า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กรมศุลกากรเวียดนาม (GDVC) รายงานทางสถิติพบว่าตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงกลางเดือน ธ.ค. ยอดการนำเข้าและส่งออกของเวียดนาม มีมูลค่า 633 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เวียดนามเกินดุลการค้าราว 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจากตัวเลขข้างต้นนั้น หากแบ่งชี้ว่ายอดการส่งออกมีมูลค่า 317.45 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยอดการนำเข้ามีมูลค่า 315.78 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญในช่วงครึ่งแรกของเดือน ธ.ค. มีอยู่ 4 รายการสินค้าที่ทำรายได้มากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ได้แก่ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เครื่องจักร เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าถึงแม้จะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่รายได้จากการนำเข้าและส่งออกของเวียดนามยังคงรักษาโมเมนตัมในเชิงบวก และได้ตั้งเป้าว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 660 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้
ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnams-trade-revenue-to-surpass-us-660-billion-this-year-38697.html

‘เวียดนาม’ เผยปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ ‘คาร์โก้’ แตะ 1.1 ล้านตัน ปี 64

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งเวียดนาม (CAAV) ได้ประเมินว่าในปีนี้  ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศไปยังต่างประเทศ อยู่ที่ 1.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 21.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และยังกล่าวว่าธุรกิจสายการบินเวียดนามและต่างชาติจำเป็นต้องใช้เครื่องบินโดยสารในการขนส่งสินค้า ในทางตรงกันข้ามนั้น การขนส่งผู้โดยสารทางอากาศระหว่างประเทศยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจำนวนผู้โดยสารของเวียดนามในปีนี้ อยู่ที่ 500,000 คน หดตัว 93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-outbound-air-cargo-throughput-estimated-at-1-1-million-tons-this-year/

สายการบิน MAI, KBZ พร้อมเปิดเที่ยวบิน ย่างกุ้ง-ซิตต์เวย์ และ ย่างกุ้ง-ทันดเว

สายการบินเมียนมาแอร์เวย์อินเตอร์เนชั่นแนล (MAI) และสายการบิน KBZ จะเปิดให้บริการเที่ยวบินย่างกุ้ง-ซิตต์เวย์ และย่างกุ้ง ตันดเว ทุกวันสำหรับผู้โดยสารที่จะเดินทางในประเทศ สายการบินเหล่านี้จะให้บริการเที่ยวบินย่างกุ้ง-เจาะพยู ทุกวันจันทร์ วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ ขระเดียวกันเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของ COVID-19 เครื่องบินโดยสารระหว่างประเทศจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานที่สนามบินนานาชาติย่างกุ้งจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 โดยตั้งแต่ปี 2559 ถึงเดือนส.ค. 63 เมียนมามีรายได้จาก e-Visa หรือ ระบบตรวจตราคนต่างด้าวที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศเมียนมาทางอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 69.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากนักท่องเที่ยวกว่า 1.7 ล้านคนที่สมัครผ่านระบบ e-Visa ทั้งนี้ ณ วันที่ 21 ธ.ค.64 เมียนมามียอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 สะสมรวม 528,380 ราย เสียชีวิต 19,226 ราย ในขณะเดียวกันมีผู้หายป่วยกลับบ้านแล้วจำนวน 505,761 ราย
ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/mai-air-kbz-to-fly-yangon-sittway-and-yangon-thandwe-daily/#article-title

สภากาชาดสวิตฯ มอบเงิน 2.5 พันล้านกีบสำหรับโครงการพัฒนากาชาดสปป.ลาว

สภากาชาดสวิสได้ตกลงที่จะมอบ 241,511 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 2.5 พันล้านกีบ) ให้กับสภากาชาดลาวสำหรับโครงการพัฒนาสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างขีดความสามารถของสภากาชาดลาว บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการได้ลงนามเมื่อวันอังคารโดยตัวแทนของทั้งสองหน่วยงานที่ศูนย์ถ่ายเลือดแห่งชาติในเวียงจันทน์ ความร่วมมือระหว่างสภากาชาดลาวและกาชาดสวิสให้การสนับสนุนด้านเทคนิคและการเงินแก่การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของสภากาชาดลาว โดยสนับสนุนขั้นตอนและระบบการจัดการทางการเงิน และเสริมสร้างความเข้มแข็งของสภากาชาดลาว จุดมุ่งหมายหลักประการหนึ่งของโครงการนี้คือการปรับปรุงกลยุทธ์และนโยบายของสภากาชาดลาว เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับความพยายามในการตอบสนองต่อภัยพิบัติอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพเป้าหมายที่สองคือการพัฒนากลไกตอบสนองของสภากาชาดลาวโดยการจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมและการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อดำเนินการตอบสนองภัยพิบัติในเวลาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในสามจังหวัดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ที่สามคือการเสริมสร้างบริการสนับสนุนสังคมแห่งชาติกาชาดลาวและการระดมอาสาสมัครโดยร่วมมือกับสหพันธ์สภากาชาด
ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Swiss_251_21.php

กัมพูชาเร่งส่งออกข้าวสารไปยังจีน ภายใต้กรอบโควต้าใหม่

กัมพูชาวางแผนส่งออกข้าวสารภายใต้โควต้านำเข้าของจีนรวม 400,000 ตัน ตามรายงานของสหพันธ์ข้าวกัมพูชา โดย Hun Lak ประธานคณะกรรมการสหพันธ์ข้าวกัมพูชา กล่าวว่า ข้อตกลงการส่งออกข้าวสารที่ได้ลงนามในเดือนพฤศจิกายน 2021 จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021 เป็นต้นไป เป็นระยะเวลา 17 เดือน ตามที่ประธานกล่าว ซึ่งโควตาของจีนสำหรับการส่งออกข้าวสารจากกัมพูชาในปี 2014 ถึง 2021 ถือเป็นส่วนช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้กับประเทศกัมพูชาอย่างมีนัยสำคัญ โดยจนถึงตอนนี้กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยัง 41 ประเทศทั่วโลก และจีนยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 50 ของการส่งออกข้าวสารทั้งหมด ซึ่งในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2021 กัมพูชาส่งออกข้าวสารจำนวน 532,179 ตัน สร้างรายได้ 366 ล้านดอลลาร์
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50993301/cambodia-to-export-milled-rice-under-new-quota-to-china/

ADB กัมพูชา ร่วมหารือโครงการสนับสนุนด้านการค้าภายในประเทศ

กระทรวงพาณิชย์และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้หารือเกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านเทคนิคของธนาคาร ในการดำเนินการตามโครงการสนับสนุนภาคการค้าและการแข่งขันของกัมพูชา ภายใต้ความช่วยเหลือทางเทคนิคตามนโยบาย เพื่อเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา แสดงความขอบคุณต่อความช่วยเหลือทางการเงินและทางเทคนิคอย่างต่อเนื่องจาก ADB ซึ่งสอดคล้องกับลำดับความสำคัญของกระทรวง ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายใรประเทศ
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50993255/cambodia-adb-discuss-trade-and-competitiveness-programme/