กัมพูชาคาดส่งข้าวไปยังยุโรปขยายตัวกว่าร้อยละ 40 ในปี 2023

Chan Sokheang ประธานสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) กล่าวกับ Cambodia Times ว่าปัจจุบันทางสมาคมฯ ได้ตั้งเป้าการส่งออกข้าวไปยังตลาดยุโรปเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 35-40 ภายในปี 2023 โดยประเทศในสหภาพยุโรปมีอยู่ประมาณ 20 ประเทศ ซึ่งในช่วงเดือน มกราคมที่ผ่านมาได้นำเข้าข้าวสารจากกัมพูชาคิดเป็นสัดส่วนประมาณกว่าร้อยละ 48 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด คิดเป็นปริมาณรวมกว่า 17,795 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 13.44 ล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลของ CRF โดยในปี 2019 กัมพูชาได้ทำการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรปที่ประมาณ 203,280 ตัน และประมาณ 203,861 ตัน ในปี 2020 ขณะที่การส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปลดลงเหลือ 168,063 ตันในปี 2021 และกลับมาขยายตัวในปี 2022 ที่ 221,709 ตัน ซึ่งจากข้อมูลของ CRF ในบรรดาสายพันธุ์ข้าวทั้งหมดที่ผลิตในประเทศ ข้าวหอมระดับพรีเมียม (Malys Angkor) คิดเป็นปริมาณการส่งออก 22,810 ตัน ในเดือนมกราคม รองลงมาคือ Sen Kra Ob ที่ปริมาณ 9,359 ตัน, ข้าวขาวระดับพรีเมียม 1,721 ตัน, ข้าวนึ่ง 1,867 ตัน และข้าวสีอินทรีย์ 1,144 ตัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501239693/40-rise-in-rice-export-to-europe-likely-in-2023/

‘กัมพูชา-สปป.ลาว’ เตรียมถกศักยภาพรถไฟความเร็วสูง

นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว หารือสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในช่วงการเยือนอย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆนี้ โดยมีสาระสำคัญ คือ โครงการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ตลอดจนนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศยังมีความเห็นตรงกันในเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างแขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปิอ กับ 2 จังหวัดของกัมพูชา คือ ปราสาทพระวิหารและรัตนคีรี ทั้งนี้ การหารือดังกล่าวยังได้ครอบคลุมถึงประเด็นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการเชื่อมโยงเมืองต่างๆ โดยเฉพาะหลวงพระบาง เสียมราฐและพนมเปญ เนื่องจากจะเปิดโอกาสให้มีการเดินทางท่องเที่ยวของประชาชนทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/02/16/laos-cambodia-discuss-potential-high-speed-rail-link/

กระทรวงโยธาธิการและการขนส่งกัมพูชา รายงานรายรับในปี 2022 แตะ 126 ล้านดอลลาร์

กระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง (MPWT) รายงานรายรับในช่วงปี 2022 ซึ่งมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 126 ล้านดอลลาร์ จากการดำเนินงานท่าเรือของรัฐ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์ (PAS) และท่าเรือปกครองตนเองพนมเปญ (PPAP) โดยกระทรวงฯ เปิดเผยตัวเลขดังกล่าวระหว่างการประชุมประจำปีที่จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เพื่อทบทวนผลการดำเนินงานในปี 2022 และกำหนดวัตถุประสงค์สำหรับปี 2023 ด้าน Sun Chanthol รัฐมนตรี MPWT ได้กล่าวเสริมถึงรายละเอียดว่าท่าเรือ PAS สร้างรายได้มูลค่า 86 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.45 จากปีที่แล้ว โดยมีการขนถ่ายสินค้าประมาณ 5.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.29 ในขณะที่ท่าเรือ PPAP สร้างรายได้มูลค่า 40 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ซึ่งได้มีการขนถ่ายสินค้าจำนวนประมาณ 4.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501239694/mpwt-earned-126-million-in-port-revenues-last-year/

การส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ของกัมพูชา หดตัวกว่า 28% ในช่วงเดือนมกราคม

การส่งออกเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าท่องเที่ยว (GFT) ของกัมพูชาลดลงกว่าร้อยละ 28 ในเดือนแรกของปี 2022 ซึ่งลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ที่มูลค่า 1.08 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนมกราคม 2022 แต่สามารถส่งออกได้เพียง 782 ล้านดอลลาร์ในเดือนมกราคมปีนี้ เนื่องจากอุปสงค์จากต่างประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ตามข้อมูลการค้าที่เผยแพร่โดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยภาคส่วนนี้ถือเป็นภาคส่วนที่สำคัญสำหรับการส่งออกกัมพูชา ซึ่งยังคงครองสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 50 ของการส่งออกในเดือนดังกล่าว ที่มีมูลค่ารวมกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT คาดว่าจะลดลงต่อเนื่องไปอีก 2-3 เดือนข้างหน้า และคาดว่าความต้องการจากตลาดทั่วโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501238959/gft-exports-decline-by-28-in-january/

กัมพูชาเตรียมจ่อจัดตั้งศูนย์การค้าในประเทศจีน

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชากล่าวถึงการว่างแผนจัดตั้งศูนย์การค้ากัมพูชา 5 แห่ง ในประเทศจีน ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของกัมพูชา รวมถึงการดึงดูดการลงทุนจากจีนเข้ามายังกัมพูชามากขึ้น ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐของกัมพูชาเริ่มจากเมือง ฉางชุน, ฮาร์บิน, หนานจิง, ไท่หยวน และเจิ้งโจว โดยการจัดตั้งศูนย์การค้าเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การบูรณาการทางด้านการตลาดและการกระจายความเสี่ยงของประเทศ เพื่อส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในกัมพูชา กล่าวโดย Penn Sovicheat โฆษกกระทรวงการต่างประเทศและโฆษกของกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งในเดือนมกราคมปีนี้ การค้าทวิภาคีระหว่างจีนและกัมพูชา มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 972 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 28.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501238754/cambodia-to-set-up-commercial-centres-in-china/

‘กัมพูชา-สปป.ลาว’ กระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

จากการแถลงข่าวที่จัดขึ้นในนครเวียงจันทร์ สปป.ลาว สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวชื่นชมถึงความคืบหน้าในการค้าระหว่างทั้งสองประเทศที่สร้างมูลค่าสูงถึง 210 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 160 ล้านเหรียญสหรัฐ และได้หารือถึงความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่างๆ อาทิเช่น พลังงาน ความร่วมมือทางชายแดน การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและการส่งผู้ร้ายข้ามแดน อีกทั้ง เหตุจากสปป.ลาว เป็นแบตเตอรี่แห่งอาเซียน ทั้งสองประเทศจึงมุ่งเน้นความร่วมมือในด้านการพัฒนาพลังงานทั้งพลังงานไฟฟ้า น้ำและถ่านหิน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501238354/cambodia-laos-to-deepen-economic-cooperation/

CIB อนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 11 โครงการ ด้วยมูลค่า 57.3 ล้านดอลลาร์

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกัมพูชา (CIB) หน่วยงานร่วมสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้อนุมัติข้อเสนอการลงทุนใหม่ 11 บริษัท โดยคาดว่าจะสร้างงานใหม่ให้กับคนในท้องถิ่นเกือบ 11,000 ตำแหน่ง ด้วยการลงทุนรวม 57.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งบริษัท 9 แห่ง อยู่ในภาคการผลิตเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเดินทาง (GFT) โดยจากข้อมูลของ CDC ในปีที่แล้ว CDC ได้อนุมัติโครงการลงทุนมูลค่ากว่า 4.68 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021 คิดเป็นโครงการลงทุนจากบริษัทในท้องถิ่นที่ 2.7 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57 ของการลงทุนทั้งหมด ขณะที่ได้ออกใบรับรองการลงทะเบียนขั้นสุดท้ายสำหรับโครงการลงทุนใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3.4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 49 ขณะเดียวกันโครงการลงทุนที่ลงทะเบียนใน SEZ กลับลดลงกว่าร้อยละ 39 มาอยู่ที่มูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการลงทุนจากต่างประเทศส่วนใหญ่ที่เข้ามายังกัมพูชา ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น หมู่เกาะเคย์แมน สิงคโปร์ เกาหลี หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน มาเลเซีย และออสเตรเลีย เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501237969/57-3m-worth-projects-cleared-to-generate-11000-new-jobs/

ม.ค. 2023 การค้าระหว่างประเทศกัมพูชา หดตัว 29%

การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาลดลงร้อยละ 29 ในช่วงเดือนมกราคม 2023 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มูลค่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามีมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว ลดลงร้อยละ 14 ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาก็ลดลงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 37.5 คิดเป็นมูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญของกัมพูชาด้วยมูลค่าการส่งออกรวม 562 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 37 ของยอดการส่งออกทั้งหมด ลดลงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาส่วนใหญ่ได้ทำการนำเข้าจากจีนที่มูลค่า 891 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501238161/cambodias-foreign-trade-declines-29-in-january/

กัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณ 3.69 หมื่นตัน ในช่วงเดือนแรกของปี 2023

ในเดือนมกราคม 2023 เพียงเดือนเดียว กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปแล้วประมาณกว่า 3.69 หมื่นตัน ไปยังตลาดต่างประเทศ มูลค่ารวมกว่า 28.83 ล้านดอลลาร์ ตามรายงานของสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ซึ่งถูกส่งออกไปยัง 34 ปลายทางต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่จำนวนกว่า 1.78 หมื่นตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของการส่งออกข้าวสารทั้งหมด ขณะที่จีน (รวมถึงฮ่องกงและมาเก๊า) ตามมาเป็นอันดับสองโดยได้ทำการนำเข้าข้าวสารจากกัมพูชาจำนวน 1.50 หมื่นตันหรือร้อยละ 41 ของการส่งออก สำหรับพันธุ์ข้าวที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ข้าวหอมมะลิพรีเมียม (Malys Angkor) จำนวน 2.28 หมื่นตัน, Sen Kra Ob จำนวน 9,359 ตัน, ข้าวขาวพรีเมียม 1,721 ตัน, ข้าวนึ่ง 1,867 ตัน และข้าวสีออร์แกนิค 1,144 ตัน นอกจากนี้ กัมพูชายังได้ทำการซื้อขายข้าวเปลือกกับประเทศเพื่อนบ้านจำนวนรวมกว่า 2.52 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ารวมของการส่งออกข้าวสารและข้าวเปลือกในเดือนมกราคม 2023 รวมกว่า 92 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501237755/cambodia-exports-36900-tonnes-milled-rice-in-first-month/

2022 กัมพูชาส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่ารวมกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์

การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐอเมริกายังคงแข็งแกร่งในปีที่แล้ว แม้ระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (GSP) ของสหรัฐฯ ที่มอบให้กับประเทศที่พัฒนาน้อย (LDCs) จะยังไม่ได้ต่ออายุ ซึ่งกัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวมกว่า 1.22 หมื่นล้านดอลลาร์ ไปยังสหรัฐฯ ในปี 2022 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าสินค้าของกัมพูชามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 450 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นกัมพูชาเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่ 1.09 หมื่นล้านดอลลาร์ รายงานโดยสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมถึงสินค้าต่างๆ เช่น รองเท้า จักรยาน และเฟอร์นิเจอร์ภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้า GSP ขณะที่สินค้านำเข้าของกัมพูชาจากสหรัฐฯ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501237385/cambodias-export-to-us-tops-12b-last-year/