หอการค้าฯ สปป.ลาว มองอินเดียเป็นตลาดส่งออกสินค้าขนาดใหญ่ของลาวได้

หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว ได้จัดการประชุมธุรกิจลาว-อินเดีย ในเวียงจันทน์ โดยมีผู้นำทางธุรกิจมากกว่า 170 ราย จากกว่า 100 บริษัทเข้าร่วม นายทนงสิน กัลยา รองประธานบริหารหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว กล่าวว่า “อินเดียมีศักยภาพอย่างมากในการส่งออกสินค้าจากลาวไปขาย รวมถึงการลงทุนด้านอุตสาหกรรมในประเทศลาว การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสในการหารือเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุนที่สามารถส่งเสริมการค้าระหว่างลาวและอินเดียได้อย่างมีประสิทธิภาพ” หวังว่าผู้ประกอบธุรกิจชาวอินเดียและสภาธุรกิจอาเซียน-อินเดีย จะช่วยส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาในประเทศลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือกับบริษัทลาวในภาคส่วนต่างๆ เพื่อการพัฒนาและผลกำไรร่วมกัน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของ สปป.ลาว เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าระหว่างลาวและอินเดียมีมากกว่า 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 ลดลง 15.57% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยลาวนำเข้าสินค้าจากอินเดียมูลค่า 25.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขายสินค้ามูลค่า 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับอินเดีย ซึ่งถือว่าไม่มากนัก แต่มีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ ด้านการลงทุนตั้งแต่ปี 2551-2565 บริษัทอินเดียได้จดทะเบียนเงินลงทุนประมาณ 314 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้จัดตั้งธุรกิจ 311 แห่ง ใน สปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_34_India_y24.php

การค้าต่างประเทศของเมียนมาทะลุ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรอบ 10 เดือน

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมารายงานว่า การค้าระหว่างประเทศของเมียนมากับคู่ค้าต่างประเทศมีมูลค่า 25.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยการส่งออกมูลค่า 12.135 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้ามูลค่า 13.378 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2566-2567 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ซึ่งมูลค่าการค้ารวมของปีงบประมาณปัจจุบันลดลงอย่างมากถึง 3.15 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีมูลค่าการค้ารวม 28.66 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าของเมียนมาแบ่งออกเป็นการค้าทางทะเลอยู่ที่ประมาณ 18.787 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การค้าดำเนินการที่ชายแดนมีมูลค่า 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-foreign-trade-exceeds-us25-bln-in-ten-months/

สปป.ลาว เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่

กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สปป.ลาว ประกาศเปลี่ยนแปลงผู้นำระดับสูงของกระทรวง เพื่อเสริมสร้างการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงพลังงานฯ โดยได้แต่งตั้งนายสินาวา สุภานุวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ขึ้นเป็นรัฐมนตรี และให้นายจันทบูน สุขะลุน อดีตผู้อำนวยการการไฟฟ้าลาว (EDL) และนายชาญสะแวง บุ่งนอง ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ทั้งนี้ การปรับปรุงระบบองค์กรของกระทรวง รวมถึงการจัดสรรบุคลากรระดับสูงอย่างเหมาะสม ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากคำแนะนำของพรรค “การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเกิดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการตัดสินใจในระหว่างการประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 9 ของพรรคปฏิวัติประชาชนลาว” นายโพไซ สายะสอน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่กล่าวในพิธีส่งมอบตำแหน่งครั้งนี้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_34_Energy_y24.php

นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามายังเสียมราฐกัมพูชามากกว่า 5,000 คนต่อวัน

จำนวนนักท่องเที่ยวที่ผู้มาเยือนเสียมราฐเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ต้นปี 2024 โดยเพิ่มขึ้นไปแตะระหว่าง 4,000-5,000 คนต่อวัน ตลอดช่วงเดือนมกราคม ตามรายงานล่าสุดของกรมการท่องเที่ยวจังหวัดเสียมราฐ ซึ่งในช่วงเดือนมกราคมทางการให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 124,000-155,000 คน ขณะที่ปริมาณการขายตั๋วเข้าชมอุทยานโบราณคดีนครวัดอยู่ที่จำนวน 115,532 ใบ ตามการรายงานของ Angkor Enterprise (AE) ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้จัดการการขายตั๋วที่อุทยานอังกอร์และหมู่บ้านลอยน้ำ Chong Khneas ในจังหวัดเสียมราฐ รวมถึงวัดเกาะเคอร์ ซึ่งเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกในจังหวัดพระวิหารที่อยู่ใกล้เคียงกัน สำหรับในแง่ของการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวทางการได้จัดตั้งสนามบินนานาชาติเสียมราฐ-อังกอร์ (SAI) แห่งใหม่ เพื่อเป็นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังจังหวัดมากขึ้น โดยมีเที่ยวบินตรงราคาประหยัดที่เชื่อมโยงระหว่างเสียมราฐกับจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอื่นๆ ทั่วเอเชีย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501440076/siem-reap-sees-rush-of-tourists-over-5000-visit-daily/

มูลค่าสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์กัมพูชาแตะ 5.12 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2023

ภาคการเงินรายย่อยกัมพูชาได้ออกเครดิตสินเชื่อแก่ผู้กู้มูลค่ารวมกว่า 5.12 พันล้านดอลลาร์ ให้กับผู้ขอสินเชื่อราว 1.57 ล้านราย โดยมีการกู้ยืมเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ประมาณ 3,260 ดอลลาร์ สำหรับในปีที่แล้ว ผ่านเครือข่ายสถาบันทางการเกิน 904 แห่ง ทั่วประเทศ รายงานโดย Kaing Tongngy โฆษกสมาคมไมโครไฟแนนซ์กัมพูชา (CMA) ซึ่งปัจจุบันภาคการเงินภายในประเทศกัมพูชายังคงรักษาเสถียรภาพได้ดี แม้ว่าจะยังไม่มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม ขณะที่ทางการยังได้เน้นย้ำถึงการกู้ยืมนอกระบบว่าไม่ควรทำ เนื่องจากมีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินความจำเป็น และไม่มีกลไกในการคุ้มครองลูกค้าอย่างชัดเจน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501440074/microfinance-sector-provided-5-12b-loans-to-1-57m-clients-in-2023/

ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาด FTA พุ่ง! ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในอาเซียน

น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกสินค้าของไทยไปกลุ่มประเทศคู่ค้า ที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ว่า ในปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าไปกลุ่มประเทศคู่ค้า FTA คิดเป็นมูลค่า 167,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลงเล็กน้อย 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ซึ่งเป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

แต่หากพิจารณากลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ พบว่า สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ส่งออกไปประเทศคู่ค้า FTA ขยายตัวได้ดี โดยสินค้าเกษตร มีมูลค่า 19,563 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4% คิดเป็นสัดส่วนถึง 73% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด ทั้งนี้ สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ถือเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกสูง ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปอันดับ 3 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2024/375345

‘เวียดนาม’ ส่งออก ม.ค.67 โตสูงสุด 2 ปี

จากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เปิดเผยว่าการส่งออกเดือน ม.ค.2567 มีมูลค่า 33.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบเป็นรายปี และถือเป็นตัวเลขการค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัวสูงสุดรอบ 2 ปี นับจากเดือนเม.ย.2565 ซึ่งการเติบโตที่แข็งแกร่งของภาคการส่งออก เนื่องมาจากสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมง และสินค้าอุตสาหกรรมการ ขยายตัว 97% และ 38% ตามลำดับ โดยเฉพาะการส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วนที่ทำรายได้สูงกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 56% เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปิดตัวกลางเดือน ม.ค. ของซัมซุง Galaxy S24 Series โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-export-turnover-in-january-highest-in-almost-two-years/279508.vnp

‘S&P Global’ เผยดัชนี PMI ภาคการผลิตของเวียดนามฟื้นตัวรอบ 5 เดือน

เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำระดับโลก รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของเวียดนาม เดือน ม.ค.67 อยู่ที่ระดับ 50.3 จาก 48.9 ในเดือน ธ.ค.66 แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตของเวียดนามฟื้นตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยสาเหตุที่กลับมาฟื้นตัวมาจากยอดคำสั่งซื้อใหม่และผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ นาย Gabor Fluit ประธานหอการค้ายุโรปในเวียดนาม กล่าวว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามไปในทิศทางเชิงบวก และเพื่อรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เวียดนามจำเป็นที่จะต้องมุ่งไปที่การส่งเสริมนวัตกรรม การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับตลาดส่งออกหลักของประเทศ และยกระดับมูลค่าการส่งออก ในขณะเดียวกัน ดร. เลยวีบิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ Economica Vietnam มองว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวได้ดี สังเกตได้มาจากเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัว โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลักที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของสินค้าและบริการเวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/sp-global-vietnams-pmi-rebounds-after-five-months/279506.vnp

การส่งออกแร่ของเมียนมาใน 10 เดือน สร้างรายได้กว่า 230 ล้านเหรียญสหรัฐ

ตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์ เมียนมามีรายได้มากกว่า 233.197 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออกผลิตภัณฑ์แร่ในช่วง 10 เดือนตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 ถึง 2 กุมภาพันธ์ 2567 โดยประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นรายได้จากภาคเอกชน ในขณะที่อุตสาหกรรมที่รัฐเป็นเจ้าของมีส่วนสนับสนุนประมาณ 32 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาการส่งออกผลิตภัณฑ์แร่สร้างรายได้ 289.257 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากเทียบกันตัวเลขปัจจุบันจึงลดลง 56 ล้านดอลลาร์ ภายในปีงบประมาณนี้ อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของกรมการค้าภายใต้กระทรวงพาณิชย์ รายได้ส่วนใหญ่ในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณนี้ มาจากการส่งออกแร่ ตามมาด้วยการส่งออกหยก โดยแร่หลักที่ส่งออก ได้แก่ หยก เพชร ทอง ไข่มุก ตะกั่ว ดีบุก ทังสเตน ทองแดง เงิน ถ่านหิน และสังกะสี

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/sino-myanmar-border-trade-surges-in-past-ten-months/#article-title

การค้าชายแดนจีน-เมียนมาพุ่งสูงขึ้นในช่วงสิบเดือนที่ผ่านมา

จากข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างเมียนมาและจีนมีมูลค่าทะลุ 2.839 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (เมษายน-มกราคม) ของปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2566-2567 เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีมูลค่าการค้า 2.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่งที่ 412.146 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณนี้ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณที่แล้ว อย่างไรก็ดี เมียนมาดำเนินการค้าขายข้ามพรมแดนกับจีน ผ่านทางด่านชายแดน Muse, Lweje, Chinshwehaw, Kampaiti และ Kengtung ซึ่งการค้าผ่านด่านชายแดน Muse มีมูลค่าการค้าสูงสุดที่ 1.836 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่ มูลค่าการค้าผ่านด่าน Chinshwehaw อยู่ที่ 703.066 ล้านดอลลาร์, ผ่านด่าน Kampaiti 36.266 ล้านดอลลาร์, ผ่านด่าน Lweje 98.566 ล้านดอลลาร์ และผ่านด่าน Kengtung 64.435 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ เมียนมามีการดำเนินการค้าชายแดนกับสี่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ จีน ไทย บังกลาเทศ และอินเดีย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-mineral-exports-generate-over-us230-mln-in-10-months/