ก.พ.65 เมียนมาส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จ พุ่ง! 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำนักงานสถิติกลางของเมียนมา เผย เดือนก.พ. 2565 เมียนมามีรายได้จากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปมากกว่า 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 143 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 217.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2562-2563 การส่งออกเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ทำรายได้เกือบ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงมากกว่า 63 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยหลักๆ แล้วอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในเมียนมาเป็นแบบ สินค้าตัดเย็บ หรือ CMP (Cut, manufacture and produce) คำสั่งซื้อหลักๆ จะมาจากประเทศในสหภาพยุโรป จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา ระบุว่า การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นสามเท่าจาก 337 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2553 เป็นเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557 ขณะที่ ในปี 2558 การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปสูงถึง 1.46 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 10% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของทั้งประเทศ

ที่มา: https://news-eleven.com/article/233400

YRIC รับรอง 3 โครงการผลิต CMP จาก 3 ประเทศ สร้างงานได้ถึง 3,373 ตำแหน่ง!

ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการการลงทุนเขตย่างกุ้ง (YRIC) ได้รับรองการลงทุนจากบริษัทในประเทศใน 3 แห่ง และจากต่างประเทศอีก 3 แห่ง เพื่อลงทุนในภาคการผลิต ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 4.44 พันล้านจัต และ 6.659 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ โดยโครงการทั้ง 6 จะทำการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ และการผลิตเสื้อชั้นใน ชุดชั้นใน และการผลิตเสื้อผ้าแบบการตัด การผลิต และการบรรจุ (CMP) ซึ่งสามารถสร้างงานได้ถึง 3,373 ตำแหน่ง จนถึงปัจจุบัน มีการลงทุนจากจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สาธารณรัฐเกาหลี เวียดนาม อินเดีย ไต้หวัน มาเลเซีย หมู่เกาะเวอร์จินของอังกฤษ และเสาธารณรัฐเซเชลส์ เริ่มเข้ามาลงทุนกันมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อลดความซับซ้อนในการตรวจสอบโครงการการลงทุน กฎหมายการลงทุนของเมียนมา ได้อนุญาตให้คณะกรรมการการลงทุนระดับภูมิภาคและระดับรัฐสามารถอนุมัติการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเงื่อนไขคือเงินลงทุนเริ่มต้นต้องไม่เกิน 6 พันล้านจัตหรือ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/yric-endorses-3-domestic-3-foreign-cmp-manufacturing-projects-with-3373-job-opportunities/

ราคาน้ำมันปาล์มในเมียนมา ดิ่งลง ! ตามแนวโน้มของตลาดต่างประเทศ

ราคาน้ำมันปาล์มในเมียนมาเมื่อต้นเดือนพ.ย.2565 ที่ผ่านมา พุ่งแตะ 8,000 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) แต่ราคาขณะนี้ลดฮวบเหลือ 7,000 จัตต่อ viss โดยคณะกรรมการกำกับดูแลการนำเข้าและจำหน่ายน้ำมันประกอบอาหารภายใต้กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามราคานำเข้า FOB จากมาเลเซียและอินโดนีเซียอย่างใกล้ชิด ขณะที่ ราคาอ้างอิงของน้ำมันปาล์มในตลาดย่างกุ้ง วันที่ 20 -30 มิ.ย.2565 ตั้งไว้ที่ 5,815 8,000 จัตต่อ viss อย่างไรก็ตาม ราคาตลาดยังสูงกว่าราคาอ้างอิงอยู่มาก ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ออกมาให้ความมั่นใจว่า ผู้บริโภคไม่ต้องตื่นตระหนักกับปริมาณของน้ำมันประกอบอาหารพร้อมย้ำว่าจะมีเพียงพออย่างแน่นอน อีกทั้งจะกำกับราคาให้มีความเป็นธรรม และป้องกันการบิดเบือนตลาดในประเทศ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/palm-oil-prices-fall-again-on-downtick-trend-in-external-market/

ราคาพริกแห้งเมียนมา พุ่ง! 7,500 จัตต่อ viss

ราคาพริกแห้ง (พันธุ์ Shankyun และ Moe Htaung) ขยับสูงขึ้นเป็น 7,500 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กก.) ซึ่งราคาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2565 อยู่ที่ 4,500 จัตต่อ viss แต่อีก 3 สัปดาห์ต่อมาพุ่งขึ้นเป็น 7,500 จัตต่อ viss เนื่องจากความต้องจากไทยที่มีมากขึ้นและผลผลิตในประเทศลดน้อยลง อีกทั้งพริกจากอินเดียไม่สามารถส่งออกไปยังไทยได้ เนื่องจากเกิดฝนตกหนักและผลผลิตตกต่ำ ดังนั้นจึงหันมาซื้อพริกจากเมียนมาแทน นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตที่สูง เช่น ปุ๋ย น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องจักรการเกษตร เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาสูงขึ้นเช่นกัน คาดว่าราคาพริกจะยังคงอยู่ในระดับสูงจากความต้องการพริกที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยพริกของเมียนมาส่วนใหญ่ส่งออกไปยังไทยและจีนผ่านทางชายแดน ในขณะที่การส่งออกทางทะเลจะเป็นของเวียดนาม ทั้งนี้พริกส่วนใหญ่ในประเทศจะนิยมปลูกในเขตอิรวดี มัณฑะเลย์ มะกเวและรัฐฉาน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/dried-chilli-pepper-price-rallies-to-k7500-per-viss/

ปีงบฯ 65-66 เมียนมานำเข้าสินค้าเพื่อการลงทุนลดฮวบ! 305 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ณ วันที่ 17 มิ.ย.2565 ของปีงบประมาณ 2565-2566- การนำเข้าสินค้าเพื่อการลงทุนลดลงมากกว่า 305 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ถึงวันที่ 17 มิ.ย.2565 มีการนำเข้าสินค้ากว่า 701.135 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ 1,006.802 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในเดือนแรกของปี 2564-2565 (งบประมาณย่อย) เมียนมามีรายได้จากการค้าระหว่างประเทศมากกว่า 3,072 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเกือบ 389 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นรายได้จากการส่งออกอยู่ที่ 1,533.690 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นำเข้า 1,538.717 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีมูลค่าการค้ารวม 3,072.407 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้สาระสำคัญของยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติ พ.ศ. 2563-2568  ของเมียนมา คือการผลิตอาหารจากการเกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ การประมง ผลิตภัณฑ์จากป่า สินค้าดิจิตอลและการบริการดิจิทัล โลจิสติกส์ และการให้บริการข้อมูลทางการค้า

ที่มา: https://news-eleven.com/article/233019

เดือนพ.ค. 65 เมียนมาส่งออกข้าวโพด 254,930 ตัน สร้างรายได้กว่า 79.58 ล้านดอลลาร์ฯ เข้าประเทศ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย เดือนพ.ค.2565 เมียนมาส่งออกข้าวโพดมากกว่า 254,930 ตัน ผ่านทางทะเลและชายแดน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 79.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปฟิลิปปินส์ ไทย และบังคลาเทศ โดยส่งออกไปไทยจำนวน 215,974 ตัน และจีน 695 ตัน ผ่านการค้าชายแดน เพิ่มขึ้น 191,180 ตัน (มูลค่า 59.632 ล้านดอลลาร์) เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย. 2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ปีการผลิต 2564-2565 (ต.ค.2564-ก.ย.2565) สมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดของเมียนมา ตั้งเป้าส่งออกข้าวโพดประมาณ 2 ล้านตัน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-ships-79-58-mln-worth-of-254930-tonne-corn-to-foreign-markets-in-may/#article-title

 

ราคาถั่วแระมีแนวโน้มลดลงสวนทางกับราคาถั่วดำที่ราคาพุ่งขึ้น

ราคาถั่วแระและถั่วดำในตลาดย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมาราคาถั่วดำ อยู่ที่ 1,610,000 จัตต่อตันขณะที่ถั่วแระอยู่ที่ 1,410,000 จัตต่อตัน ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 ราคาถั่วดำพุ่งขึ้นเป็น 1,615,000 จัตต่อตันในขณะถั่วแระราคาลดลง 1,391,000 จัตต่อตัน ทำให้ราคาถั่วดำเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาถั่วแระที่ลดลง ซึ่งถั่วทั้ง 2 ชนิดส่วนใหญ่ส่งออกไปยังอินเดีย ในช่วงฤดูมรสุมของปี 2565 อินเดียได้หันปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลผลิตสูงแทนพืชตระกูลถั่ว เช่น อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้ผู้ค้าถั่วชาวเมียนมา คาดว่าฤดูมรสุมนี้ผลผลิตถั่วของเมียนมาจะลดลง 5- 15% จะส่งผลให้ราคาถั่วแระเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/pigeon-pea-price-gets-downward-trends-than-black-grams/#article-title

กระแสน้ำกระทบราคาสินค้าประมงเมียนมาผันผวน

ราคาสินค้าประมงในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมักมีความผันผวน เช่น ราคาค่อนข้างถูกในช่วงน้ำหลากหรือน้ำท่วม และจะเพิ่มขึ้นในช่วงน้ำลง ซึ่งเป็นช่วงที่กุ้งและปลาจับมีให้จับค่อนข้างน้อย สินค้าประมงที่จับได้จะถูกส่งไปศูนย์ค้าส่งในย่างกุ้ง ซึ่งในช่วงน้ำท่วม ราคากุ้งหนึ่งตัวจะอยู่ประมาณ 5,000-6,000 จัต ในขณะที่ช่วงที่น้ำขึ้นน้ำลงราคาจะอยู่ประมาณ 9,000-10,000 จัต ทั้งนี้ราคาสินค้าประมงที่ลดลงทำให้ราคาไก่ในตลาดลดลงด้วย เนื่องจากราคาสินค้าประมงขึ้นอยู่กับน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้ประชาชนต้องซื้อกักตุนไว้บริโภค

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/fishery-product-prices-fluctuate-based-on-flood-tide-and-neap-tide/#article-title

เมียนมาเร่งส่งออกพริกไปจีน ดันราคาพุ่ง!

ราคาพริกเมียนมาพุ่งตามความต้องการของจีน ขณะที่ผลผลิตในประเทศเริ่มขาดแคลน ในตลาดย่างกุ้งราคาพริกขี้หนูพันธุ์ Moe Htaung มีราคาสูงถึง 7,000-8,000 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) ปัจจัยที่ทำให้ราคาสูงขึ้นคือ ปุ๋ยและน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่เดือนมี.ค. ที่ผ่านมาราคาอยู่แค่เพียง 4,500-5,400 จัตต่อ viss ซึ่งการเพาะปลูกพริกสายพันธุ์นี้มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2.5 ล้านจัตต่อเอเคอร์ โดยพริกขี้หนูสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกๆ 15 วันถึง 6 เดือน ผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 100 viss ต่อเอเคอร์ แต่ในช่วงต้นฤดูกาล ผลผลิตจะสูงถึง 400-500 viss ต่อเอเคอร์ ทั้งนี้พริกของเมียนมาถูกส่งออกไปยังไทยและจีนผ่านชายแดน ในขณะที่เวียดนามจะส่งออกทางทะเล พริกส่วนใหญ่ในเมียนมานิยมปลูกในเขตอิรวดี มัณฑะเลย์ มาเกว และรัฐฉาน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/china-demand-hikes-chilli-pepper-prices/#article-title

ไร่องุ่นตัวเมืองนะเมาะ เขตมะกเว ของเมียนมา เริ่มเฟื่องฟู

ชาวสวนเมืองนะเมาะ เขตมะกเว ของเมียนมา เริ่มปลูกองุ่นกันอย่างแพร่หลายและเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากในประเทศ สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวสวนเลี้ยงชีพได้เป็นอย่างดี ซึ่งองุ่นสามารถเก็บเกี่ยวหลังจากปลูกได้ 6 เดือน โดยราคาขายจะอยู่ที่  3,500-4,000 viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) ทว่าในปีนี้มะม่วง Seintalone หรือมะม่วงเพชรน้ำหนึ่ง ได้เข้าสู่ตลาดเป็นอย่างมากอาจกระทบให้ยอดขายนั้นลดลง ทั้งนี้องุ่นที่ปลูกกันในมียนมามีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์อิตาลี, RG, Black Queen, No 3 และ Chun ส่วนที่ปลูกเป็นสายพันธุ์หลักจะเป็น Black Queen และ  Moon Ball ซึ่งราคาขายจะแตกต่างกันไป

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/grape-cultivation-thriving-in-natmauk-town/#article-title