ส่งออกข้าวไทยพุ่งอินโดนีเซียเจอภัยแล้ง ชี้เป็นโอกาสพร้อมเร่งพัฒนาสายพันธุ์

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ติดตามข้อมูลสถานการณ์การค้าสินค้าข้าว พบว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม – ตุลาคม) อินโดนีเซียกลายเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย สาเหตุหลักมาจากอินโดนีเซียกำลังประสบปัญหาขาดแคลนข้าว เนื่องจากภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงฤดูมรสุมที่ล่าช้า ทำให้อินโดนีเซียปลูกข้าวได้น้อยลง

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2023/356781

‘ปราโมทย์’ เผยข้าวไทยขายดี รับอานิสงค์เวียดนาม

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่าข้าวไทยหลายพันธ์มีราคาสูงขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว โดยก่อนหน้านี้ราคาข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 8,000–9,500 บาทต่อตัน แต่ราคาข้าวในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12,000 บาทต่อตัน (344 ดอลลาร์สหรัฐ) ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศพุ่งสูงสุดในรอบ 17 ปี

ในขณะที่นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่าความต้องการข้าวไทยจากบราซิลและฟิลิปปินส์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ จากการสอบถามไปยังโรงสีข้าวไทย พบว่าจากราคาข้าวของเวียดนามในขณะนี้ที่สูงกว่าราคาข้าวของไทย ประมาณ 70-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เนื่องจากผลผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอ

ที่มา : https://tuoitrenews.vn/news/business/20231205/thai-rice-sells-well-thanks-to-vietnam-association-president/77099.html

‘ภูมิธรรม’ มอบนโยบาย ‘กรมเจรจาฯ’ ลุยเปิด FTA กับตลาดใหม่ หนุนเกษตรกร SMEs เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ตรวจเยี่ยมและประชุมมอบนโยบายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พร้อมด้วยนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ คณะที่ปรึกษา และคณะทำงาน โดยนายภูมิธรรม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อขยายโอกาสให้สินค้าและบริการของไทย รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย โดยเฉพาะสาขาเป้าหมายที่จะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศ จึงได้สั่งการให้กรมมุ่งการเจรจาเชิงรุกเพื่อเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ๆ และจัดทำแผนการเจรจา FTA ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดลำดับความสำคัญและเร่งด่วน โดยคำนึงถึงประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและด้านยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหภาพยุโรป (อียู) ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรมากกว่า 447 ล้านคน สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นนักลงทุนในระดับโลก และเกาหลีใต้ ที่จะเตรียมเปิดเจรจาเพิ่มเติมในปี 2567 ซึ่งจะช่วยสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มีความเข้มแข็งในการผลักดัน Soft Power ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล

ที่มา : https://www.dtn.go.th/th/content/category/detail/id/22/iid/12547

ค้าชายแดน “ไทย-กัมพูชา” แสนล้านวูบ 9 เดือนแรก ลดลง 16%

นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ กล่าวว่าภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลงในปี 2566 (มกราคม-กันยายน) ภาพรวมการค้าชายแดนไทยกัมพูชาลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 1.25 แสนล้านบาท ลดลง 16.39% แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 1 แสนล้านบาท ลดลง 17.61 % และมูลค่าการนำเข้า 2.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 10.5% โดยกันยายนเดือนเดียว มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 1.3 หมี่นล้านบาท ลดลง 22.7 % แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 1.1 หมี่นล้านบาท ลดลง 26.6% และมูลค่าการนำเข้า 2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.65 %เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขการส่งออกลดลง 9 เดือนติดต่อกัน โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบอื่นๆ เครื่องดื่มอื่นๆ และรถยนต์นั่ง

ที่มา : https://shorturl.asia/lYZL8

สะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 5 คืบหน้า 80% คาดเปิดใช้ปีหน้า

งานก่อสร้างสะพานมิตรภาพลาว-ไทย ข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 คืบหน้าแล้วกว่า 80% และคาดว่าจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้งานได้ภายในปีหน้า โดยงานก่อสร้างที่เหลือบนสะพานซึ่งเชื่อมโยงจังหวัดบึงกาฬของไทยกับแขวงคำม่วนทางตอนกลางของ สปป.ลาว จะเสร็จสิ้นในปี 2567 บางกอกโพสต์อ้างคำพูดของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย มานะพร เจริญศรี สะพานแห่งใหม่นี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า ผู้คน และบริการ และเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทย ลาว และเวียดนาม จากพันล้านบาทเป็นหมื่นล้านบาท สะพานนี้รวมถึงถนนทางเข้ามีระยะทาง 16.18 กิโลเมตร โดย 12.13 กม. เป็นของประเทศไทยและส่วนที่เหลือเป็นของประเทศลาว โดยสะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางคมนาคมใหม่ผ่านจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม และสกลนคร เมื่อสะพานเปิดใช้ ยานพาหนะจำนวนมากจะใช้เส้นทางนี้ ดังนั้น แนวทางถนนสายเดี่ยวที่มีอยู่จะต้องได้รับการปรับปรุงและเปลี่ยนเป็นทางคู่

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_233_5th_y23.php

สระแก้วถือมีบทบาทสำคัญต่อภาคโลจิสจิสติกส์ระหว่างกัมพูชา เวียดนาม และจีน

นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางเยือนจังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา หวังหารือเกี่ยวกับความสำคัญของจังหวัดในด้านเครือข่ายการค้าชายแดนและโลจิสติกส์ของประเทศไทย โดยสามารถรองรับการจราจรและการค้าได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีผู้คนข้ามแดนมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี และมีมูลค่าการค้าชายแดนประมาณ 110,000 ล้านบาทต่อปี ด้านนายกฯ ยังได้เน้นย้ำถึงความสามารถของจังหวัดสระแก้วในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าของไทยกับประเทศที่มีชายแดนติดกันกับไทย อย่าง กัมพูชา เวียดนาม และจีน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญของไทย อีกทั้งยังมีแนวนโยบายในการจัดทำบัตรผ่านแดนชั่วคราวสำหรับผู้ที่ไม่ใช่ชาวสระแก้ว เพื่อให้สามารถข้ามชายแดนได้โดยไม่ต้องมีหนังสือเดินทาง ภายใต้การดำเนินงานของด่านผ่านแดนคลองลึก-ปอยเปต ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเดินทางในเขตพื้นที่ดังกล่าวหวังดันการค้าและการเดินทางเติบโตต่อเนื่องในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501398538/sa-kaeo-plays-crucial-role-in-logistics-sector-commercial-relationships-with-cambodia-vietnam-and-china/

ศูนย์อุตฯ ฮาลาล เพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทย

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ได้เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยไปยังตลาดโลก โดยจากข้อมูลในปี 2564 ตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 2.325 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเติบโตเฉลี่ย 7.5% ต่อปี และในปี 2565 มูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยมีมูลค่า 213,816 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 2.7% เป็นอันดับที่ 11 ของโลก ซึ่งอาหารฮาลาลส่งออกของไทยส่วนใหญ่ 78% เป็นฮาลาลโดยธรรมชาติ ส่วนที่เหลือ 22% ต้องผ่านการรับรองฮาลาล โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์และอาหารพร้อมรับประทาน ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ผ่านกลไกคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) และการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งภารกิจของศูนย์ดังกล่าวครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยเร่งรัดจัดทำข้อตกลงทางการค้าเพื่อเปิดตลาด ส่งเสริมการขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ (National Focal Point) และด้านพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน

ที่มา : https://www.naewna.com/business/770216

อาเซียน-จีน ตั้งเป้าอัปเกรด FTA ให้ได้เกินครึ่งทางภายในปีนี้ ก่อนสรุปผลปี 67

น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยได้เข้าร่วมการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA Upgrade Negotiations) ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 25-29 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา ณ เมืองบันดุง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีนายหวี เปิ่นหลิน อธิบดีกรมเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธานฝ่ายจีน โดยไทยในฐานะประธานร่วมฝ่ายอาเซียนได้ร่วมกับจีนผลักดันให้การเจรจารอบนี้ มีความคืบหน้ามากที่สุด ซึ่งตั้งเป้าให้การเจรจาคืบหน้าได้เกินครึ่งทางภายในปีนี้ เพื่อสรุปผลการเจรจาภายในปี 2567 ทั้งนี้ จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรอบต่อไป ในช่วงปลายเดือน ม.ค.2567 ณ กรุงปักกิ่ง

ที่มา : https://corehoononline.com/index.php/economy/commerce-moc/showcontent/214785.html

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอใน EEC

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ ในโอกาสเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรม WHA ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการที่ภาครัฐและเอกชนของไทยมีความตั้งใจในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานระดับโลก เพื่อขยายโอกาสความร่วมมือการลงทุนกับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกเหนือจากการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ครบวงจรชั้นนำของโลกในปัจจุบัน โดยถือเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะกับการที่รัฐบาลได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติชุดใหม่ โดยมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2570 นับเป็นการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนจากผู้ประกอบการรายใหม่จากทั่วโลก สอดคล้องนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ WHA ยังพร้อมสนับสนุนการพัฒนาในเขต EEC ควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นไปได้ในการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ อย่างมีประสิทธิภาพทั่วประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ที่จะสร้างประโยชน์ด้านการลงทุนทั้งต่อ EEC และต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ให้ยั่งยืน

ที่มา : https://www.mitihoon.com/2023/11/06/415503/

กรมการค้าต่างประเทศ ดัน 4 ยุทธศาสตร์ค้าชายแดน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง กับการค้าชายแดนและผ่านแดน มาประชุมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้า การลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567-2570 ใน 4 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่ 1.พัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของไทย 2.ยกระดับศักยภาพ อำนวยความสะดวกของด่านชายแดน 3.ส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่างๆ 4.ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเป็น 2 ล้านล้านบาท ในปี 2570

อย่างไรก็ดี มูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือน ก.ย. อยู่ที่ 148,564 ล้านบาท ลดลง 3.32% เป็นไทยส่งออก 87,480 ล้านบาท ลดลง 3.97% ไทยนำเข้า 61,084 ล้านบาท ลดลง 2.37% ได้ดุลการค้า 26,396 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่า 1,311,372 ล้านบาท ลดลง 2.26% เป็นไทยส่งออก 755,206 ล้านบาท ลดลง 2.06% ไทยนำเข้า 556,167 ล้านบาท ลดลง 2.53% ได้ดุลการค้า 199,039 ล้านบาท

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2737374