IFD หนุนฟื้นเอฟทีเอไทย-อียู หวังดัน “จีดีพีไทย” โต1.63%

พาณิชย์ชง กนศ.ฟื้น FTA ไทย-อียูสุดคุ้ม ดัน GDP โต 1.63% แต่ยังต้องรอบคอบ 3 ประเด็น ระหว่างงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “ผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป” (FTA ไทย-อียู) ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่กรมจะนำผลการศึกษานี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ ผลศึกษาสรุปว่า หากลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการ จะส่งผลให้จีดีพีไทยขยายตัว 1.63% การส่งออกเพิ่มขึ้น 3.43% การนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.42% การลงทุนเพิ่มขึ้น 2.74% ตลอดจนตัวเลขด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น สวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ การบริโภคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.32% ขณะที่เงินเฟ้อลดลง 0.41% และจำนวนคนจนลดลง 3.9 แสนคน โดยสินค้าที่จะได้ประโยชน์ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น ส่วนสาขาอาจจะได้รับผลกระทบ เช่น น้ำตาล ผัก ผลไม้ และถั่ว เป็นต้น ประเด็นที่อียูขอให้ยืดอายุสิทธิบัตรชดเชยความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยา ไม่ควรเกิน 2 ปี จากอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร 20 ปี หรือจำกัดระยะเวลาขอบเขตความล่าช้าที่เหมาะสม การให้อิสระในการกำหนดกฎหมายภายใน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายาร่วมกัน รวมถึงการขยายระยะเวลาคุ้มครองลิขสิทธิ์หลังผู้สร้างสรรค์สิ้นชีวิตอีก 50 ปี สำหรับมาตรการเยียวควรช่วยเหลือค่ายาสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย โดยขยายระบบประกันสังคม การตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผลกระทบ รวมถึงการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ส่งเสริมธุรกิจการทดสอบมาตรฐานสินค้า เป็นต้น

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-394635

พาณิชย์ ปั้นผู้ประกอบการโคนมไทย ใช้เอฟทีเอชิงเค้กส่วนแบ่งตลาดนมในจีนและอาเซียน ยกระดับสู่ฟาร์มโคนมยุคดิจิทัล นำเข้าเทคโนโลยี Smart Farming แห่งแรกในอาเซียน

จากการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 62 ที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อหารือผู้ประกอบการโคนมของไทย ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ “จัดทัพโคนมไทย บุกตลาดต่างประเทศด้วยเอฟทีเอ” ซึ่ง จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพนมและผลิตภัณฑ์นมแปรรูปของไทยให้พร้อมแข่งขันได้ในยุคการค้าเพื่อขยายตลาดส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมแปรรูปไปต่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน และจีน โดยได้ไปเยี่ยมชมโรงเลี้ยงโคนมของบริษัท แมรี่แอนด์แดรี่ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายนมและผลิตภัณฑ์นมแปร และยังได้รับรายงานว่าภายใต้โครงการดังกล่าว กรมเจรจาฯ ได้จัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ เข้าร่วมอบรมบูธแคมป์ในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการส่งออกโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ตลอดสำรวจตลาด และจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าของจีน และสิงคโปร์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถจับคู่ธุรกิจ และขยายการส่งออกไปจีนและสิงคโปร์ ยังมีโอกาสร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาระหว่างบริษัท แมรี่แอนด์แดรี่ โปรดักส์ จำกัด กับบริษัท Delaval Export AB ของประเทศสวีเดน ซึ่งมีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมสมัยใหม่และเป็นที่ยอมรับในยุโรป ในการบุกเบิกนำเข้าเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมแบบ smart farming ผ่านโปรแกรมการจัดการฟาร์มโคนมให้มีประสิทธิภาพด้วยระบบเดลโปร์ (Delpro Herd Management) เข้าสู่ภาคโคนมเป็นแห่งแรกในอาเซียน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 62 มูลค่าการส่งออกนมและนมแปรรูปของไทยอยู่ที่ 410.7 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.9% สินค้าส่งออกหลัก คือ โยเกิร์ต บัตเตอร์มิลค์ นมและครีม โดยคู่ค้าหลักยังคงเป็นประเทศในแถบอาเซียน เช่น กัมพูชา ขยายตัว 19.4% ฟิลิปปินส์ ขยายตัว 26.3% และสิงคโปร์ขยายตัว 6.9% รวมทั้งฮ่องกงและจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีความตกลงเอฟทีเอกับไทยและได้ลดภาษีนำเข้าสินค้านมโคและผลิตภัณฑ์นมโคแปรรูปให้กับไทยแล้ว จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ต้องเร่งใช้ประโยชน์ให้สินค้าไทยสามารถขยายตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

ที่มา: https://www.ryt9.com/s/beco/3068625

ไทยเสียแชมป์ 2 ปีติด! หอมมะลิเวียดนามดีสุดในโลกปี 62

ข้าวหอมมะลิไทยเสียแชมป์อร่อยสุดในโลก 2 ปีติดต่อหลังถูกข้าวพันธ์เอสที 24 เวียดนามแซงหน้า ผู้ส่งออกจี้กระทรวงเกษตรฯ เร่งพัฒนา หากนิ่งจะข้าวหอมมะลิไทยจะเหลือเพียงตำนาน ผลการประกวดข้าวโลกปี 62 ในงานประชุมสัมมนาข้าวโลก ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ปรากฎว่าข้าวหอมมะลิเวียดนาม พันธุ์ เอสที 24 คว้ารางวัลข้าวหอมที่ดีที่สุดในโลกปีนี้ไปครอง ส่วนข้าวหอมมะลิจากไทยได้อันดับ 2  และข้าวหอมจากประเทศฟิลิปปินส์เป็นอันดับ 3 แสดงให้เห็นว่าเวียดนามมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวต่อเนื่อง และที่น่ากลัวไปกว่านั้นราคาข้าวเวียดนามถูกกว่าข้าวหอมไทยเกือบครึ่ง โดยข้าวหอมมะลิไทยราคา 1,100-1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนเวียดนาม 600 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน มีผลผลิตต่อไร่ที่ดีกว่าและต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาจะดูจาก รสชาติ ซึ่งลักษณะของข้าวของเวียดนาม พบว่า มีเมล็ดยาวมีความเหนียวนุ่ม แม้ความหอมจะน้อยกว่าข้าวหอมมะลิไทย แต่มีความหวานมากกว่า ซึ่งข้าวพันธุ์นี้เวียดนามใช้เวลาพัฒนาประมาณ 5 ปีจึงได้รับรางวัล และขณะนี้เวียดนามอยู่ระหว่างการพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง สำหรับการประกวดข้าวโลกนั้นประเทศที่ได้รับรางวัลชนะเลิศข้าวที่ดีที่สุดพบว่ามีข้าวไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ 5 ปี ข้าวจากกัมพูชาได้รับรางวัลชนะเลิศ 4 ปี อย่างไรก็ตามหากไทยยังไม่มีการพัฒนาเชื่อว่าภายในอีก 5 ปี ข้าวหอมมะลิไทยอาจเหลือเพียงตำนาน เพราะเมื่อคุณภาพและรสชาติใกล้เคียงกันแต่ข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งเท่าตัวก็จะทำให้ลูกค้าหันไปซื้อสินค้าที่ถูกกว่าแทน.

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/742092

“อุตตม” คาดเศรษฐกิจ’63 ยังผันผวน พร้อมออกมาตรการดูแล เล็งใช้ตลาดทุนขับเคลื่อนศก.ไทย

นายอุตตม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมการลงทุนแห่งปี SET in the City 2019” ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2563 ยังคงมองว่ามีความผันผวน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจไม่ดี เพียงแต่ว่ามีความไม่แน่นอนสูง รัฐจึงจะต้องเตรียมความพร้อมด้วยการออกมาตรการมาดูแลอย่างใกล้ชิดจะต้องพิจารณาในความเหมาะสม เนื่องจากต้องการที่จะประคับประครองเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ดี ยังคงมองว่าตลาดทุนมีความสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทย โดยกระทรวงการคลังได้ขอให้ตลาดหลักทรัพย์เข้ามามีส่วนช่วยในการดูแลและพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการให้ความรู้ทางด้านการเงินแก่ประชาชนในต่างจังหวัด เนื่องจากมองว่า การลงทุนจะเกิดขึ้นได้ไม่เฉพาะในเขตเมือง แต่ในต่างจังหวัดเองก็เป็นแหล่งทุนที่มีความมั่งคั่งที่จะทำให้เกิดการระดมทุนผ่านตลาดทุน โดยเฉพาะในภูมิภาคกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการระดมทุนในภูมิภาค

ที่มา : https://www.prachachat.net/finance/news-391286

บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด คว้ารางวัล ASEAN Business Awards (ABA) 2019 (อาเซียน บิสิเนส อวอร์ดส 2019) อีกก้าวของความสำเร็จ

บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าลำลองแบรนด์แกมโบล (GAMBOL) และ คาเนีย (cania) แบรนด์รองเท้าชั้นนำของไทย เข้ารับรางวัล ASEAN Business Awards (ABA) 2019 ประเภท ASEAN Winner : Rubber-Based (หมวด ธุรกิจเกี่ยวกับยาง) ในงานประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ASEAN Business and Investment Summit 2019 หรือ ABIS 2019 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้มอบรางวัล ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นเวทีคู่ขนานสำคัญของการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน(ASEAN Summit) ที่จัดขึ้น เป็นประจำทุกปี เกณฑ์การตัดสินรางวัลแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ และ SMEs สำหรับคณะกรรมการตัดสิน ABA (Panel of Judges) นั้น ประกอบด้วยผู้แทนจากสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ประเทศละ 1 ท่าน รางวัลนี้ถือกำเนิดขึ้นในปี 2550 โดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เพื่อยกย่องเชิดชูธุรกิจที่มีความโดดเด่นในอาเซียน และแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าอย่างชัดเจนในการวางรากฐานและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

ที่มา: https://www.ryt9.com/s/prg/3065610

ดุสิตโพล เผยปชช. 60.67 % มองถกอาเซียนได้ประโยชน์เรื่องเศรษฐกิจ

วันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “การประชุมอาเซียนครั้งที่ 35” ในสายตาประชาชน” จากประชาชนทั่วประเทศ 1,159 คน พบว่าประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในการประชุมครั้งนี้ คือร้อยละ 60.67 การลงนามความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ, ประชาชนประทับใจ/พอใจ การประชุมครั้งนี้มากที่สุด, ร้อยละ 46.98 จัดงานสำเร็จด้วยดีเป็นเจ้าภาพที่ดี ไม่มีสถานการณ์วุ่นวาย, ร้อยละ 31.99 มีการลงนามร่วมมือกันผลักดันเรื่องสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง, ร้อยละ 28.64 ผู้แทนแต่ละประเทศมาร่วมงาน ช่วยสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีในภูมิภาคอาเซียน เป็นสิ่งที่ประชาชน “เป็นห่วง/กังวล” จากการประชุมครั้งนี้, ร้อยละ 49.12 ไม่มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ในการประชุม, ร้อยละ 29.24 ประเทศไทยอาจเสียเปรียบในบางข้อตกลง ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร, ประชาชนได้ประโยชน์จาการประชุมครั้งนี้มากน้อยเพียงใด ร้อยละ 44.35 ได้ประโยชน์อยู่มาก เพราะประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น ร้อยละ 25.80 ได้ประโยชน์มาก เพราะเป็นการกระชับสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น, ร้อยละ 19.41 ไม่ค่อยได้ประโยชน์ และร้อยละ 10.44 ไม่ได้ประโยชน์ จัดการประชุมมาแล้วหลายครั้งแต่ยังเห็นผลช้า และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก

ที่มา: https://www.matichon.co.th/politics/news_1747282

ปิดฉาก ASEAN Summit : ปลดล็อกข้อจำกัด ผลักดัน RCEP เดินหน้าต่อ

การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 ที่ไทยในฐานะประธานและเจ้าภาพการประชุมปี 2562 หัวข้อการเจรจาในครั้งนี้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ถือเป็นจุดสนใจของนานาประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากเคยเป็นความตกลงที่เป็นคู่เทียบกับความตกลงเขตการค้าเสรีสำคัญอย่าง Trans-Pacific Partnership (TPP) จนปัจจุบันบรรลุข้อตกลงภายใต้ชื่อ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) และเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญสงครามการค้าซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับแนวคิดการค้าเสรีโดยสิ้นเชิง ความสำเร็จในการเจรจาความตกลง RCEP ในครั้งนี้ ถือว่ามีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้า และกระแสปกป้องทางการค้าที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ความสำเร็จที่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญ คือ ไทยสามารถผลักดันให้เกิดผลสรุปของการเจรจาความตกลง RCEP ได้ครบข้อเจรจาทั้งหมด 20 บท จากช่วงต้นปี 2562 ที่ได้ผลสรุปเพียง 7 บท โดยเป็นการบรรลุข้อเจรจาระหว่างอาเซียน 10 ประเทศกับประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ยกเว้นเพียงอินเดียที่ยังไม่พร้อมในการเปิดเสรีการค้าการลงทุนในบางรายการตามความตกลง RCEP แต่ยังสามารถกลับมาเจรจาหาได้ในภายหลัง ทั้งนี้ คาดว่าอินเดียจะกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจามีความเป็นไปได้พอสมควร กลายเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจยิ่งขึ้นในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ โดยประเทศสมาชิก RCEP (ไม่รวมอินเดีย) มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันถึง 24.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 29% ของขนาดเศรษฐกิจโลก ขณะที่มีประชากรรวมกันถึงราว 3.6 พันล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% ของจำนวนประชากรโลก ส่วนไทยก็จะได้ประโยชน์จากการเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจมากขึ้นเช่นกัน ความตกลง RCEP จะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า โดยก่อนหน้าประเมินว่าสินค้าในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และกระดาษ จะเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น แม้อินเดียยังไม่เข้าร่วม RCEP ไม่ได้บั่นทอนการค้าระหว่างไทยและอินเดียแต่อย่างใด เนื่องจากไทยและอาเซียนยังคงมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีร่วมกับอินเดียภายใต้ Thailand-India Free Trade Agreement (TIFTA) และ ASEAN-India Free Trade Agreement (AIFTA) ขณะเดียวกันอินเดียนับเป็นตลาดเป้าหมายใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งภาครัฐให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนในการเปิดตลาด โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยไปอินเดียขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี เทียบกับการส่งออกของไทยโดยรวมที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2 แม้ว่า RCEP จะยังไม่สำเร็จผลอย่างเต็มรูปแบบ ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมกลยุทธ์ให้พร้อม ควรศึกษาลู่ทางและแสวงหาโอกาสลงทุนในประเทศสมาชิก RCEP โดยอาศัยจุดแข็งของประเทศนั้น อาทิ ความพร้อมด้านแรงงาน และทรัพยากรทางธรรมชาติ ส่วนผู้ประกอบการไทยที่ยังไม่มีความพร้อมด้านการลงทุนในต่างประเทศหรือยังไม่มีแผนการลงทุนในต่างประเทศ ควรเตรียมกลยุทธ์รับมือกับแนวโน้มการแข่งขันในประเทศที่อาจรุนแรงขึ้นจากการเข้ามาของต่างชาติในอนาคต

ที่มา: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/24383

เซรามิกอ่วมแน่!!! สหรัฐฯตัดสิทธิ GSP กระทบกว่า 4,000 ล.บาทต่อปี

กลุ่มเซรามิกส.อ.ท.มึน มาตรการระงับการให้สิทธิ GSP ของสหรัฐอเมริกา หลัง 25 เม.ย63 จะทำให้ผลิตภัณฑ์เซรามิก มีผลกระทบเป็นมูลค่า 4,185 ล้านบาทต่อปี เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ว่าการที่ สหรัฐอเมริกาประกาศจะระงับการสิทธิ GSP มีผลบังคับใช้ 25 เมษายน 2563 นั้น ทำให้ผลิตภัณฑ์เซรามิกมีผลกระทบเป็นมูลค่า 4,185 ล้านบาทต่อปี และมีผลกระทบกับมูลค่าการส่งออก เซรามิกของไทยเฉลี่ยสูงกว่า 20% ของมูลค่าส่งออกไปยังทั่วโลก โดยผลกระทบมากสุดคือเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิกส่งออกไปยังสหรัฐฯมูลค่า 1,949.42 ล้านบาท หรือ 32% ของมูลค่าส่งออกของไทยไปยังทั่วโลก ปัจจุบันอุตสาหกรรมเซรามิกประสบปัญหาหลายด้านอยู่แล้ว เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น วัตถุดิบในประเทศมีคุณภาพลดลง แต่มีราคาสูงขึ้น, ขาดแคลนวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ต้นทุนการผลิต อื่นๆ สูงขึ้น เป็นต้น  ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงและเมื่อระงับการให้สิทธิ GSP ยิ่งเป็นการซ้ำเติมต่ออุตสาหกรรมเซรามิก จึงขอให้ภาครัฐช่วยแก้ไขปัญหาโดยขอให้ ภาครัฐออกมาตรการใช้ผลิตภัณฑ์เซรามิก ส่งเสริมการใช้สินค้าไทย (Made in Thailand), มีมาตรการป้องกันสินค้าเซรามิกด้อยคุณภาพจากต่างประเทศที่ ส่วนการส่งออก ขอให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาสิทธิ GSP ช่วยควบคุมค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ขอให้ค่าเงินบาทอยู่ในช่วง 31-33 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ, เร่งเจรจา FTA เพื่อเปิดตลาดกับประเทศเป้าหมาย

ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/413096

ดันไทยเป็นผู้นำอาเซียนด้านพลังงาน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล Thailand Energy Awards ประจำปี 2562 เปิดเผยว่า ในวันนี้ (18 ต.ค.) เป็นโอกาสการฉลองความสำเร็จครบรอบ 2 ทศวรรษ กับการผลักดันการพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานของไทย โดยกระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมและเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงาน และการพัฒนาพลังงานทดแทนผ่านการประกวดไทยแลนด์เอนเนอร์ยี่อวอร์ด (Thailand Energy Awards) อย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปี โดยปัจจุบันมียอดส่งผลงานเข้าประกวด รวม 3,465 ผลงาน ได้รับการคัดเลือกรับรางวัลในสาขาต่างๆ จำนวน 951 รางวัล คิดเป็นสัดส่วนลดการใช้พลังงานมูลค่ากว่า 9,300 ล้านบาท สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 1.9 ล้านตัน

ที่มา:https://www.ryt9.com/s/tpd/3056555

ภาครัฐผนึกกำลังเอกชนดันไทยขึ้นแท่นฮับการเดินเรืออาเซียน

พิธีเปิดงาน Thailand Marine & Offshore Expo 2019 เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญประเทศ โดยปัจจุบัน 90% ของปริมาณการค้า ระหว่างประเทศ อาศัยการขนส่งทางน้ำ เนื่องจากสามารถบรรทุกได้ในปริมาณมาก และมีต้นทุนการขนส่งที่ราคาถูกกว่าการขนส่งด้านอื่นๆ ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพด้านความมั่นคงของประเทศ ปัจจุบันอุตสาหกรรม ต่อเรือและซ่อมเรือ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอีกมาก โดยอุตสาหกรรมต้นน้ำ เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบในการผลิตและการซ่อมเรือ อาทิ สี/เคมีภัณฑ์ การหล่อโลหะ เครื่องจักร อุปกรณ์เดินเรือ และเครื่องมือสื่อสาร อุตสาหกรรมกลางน้ำ อาทิ สถาบันการเงิน และสถาบันการศึกษาและอุตสาหกรรมปลายน้ำ อาทิ การขนส่งทางทะเล การประมง การท่องเที่ยว ฯลฯ เป็นการแสดงศักยภาพของประเทศไทย ซึ่งมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการเดินเรือในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอีกช่องทางในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ของประเทศไทย ทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ พร้อมเป็นเวทีสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ ให้กับ ผู้ประกอบการในประชาคมอาเซียน ภูมิภาคเอเชีย และระดับโลก โดยการจัดงาน Oil & Gas Thailand (OGET) 2019 Thailand งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมด้านน้ำมัน ก๊าซ และปิโตรเคมี พร้อมกับงาน Thailand Marine & Offshore Expo (TMOX) 2019 โดยมีผู้ประกอบการจากไทยและต่างประเทศเข้ามาร่วมงาน เป็นโอกาสในการขยายตลาดและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านการต่อเรือ การเดินเรือ ภาคการขนส่ง อุตสาหกรรมการประมงนอกชายฝั่ง อุตสาหกรรมเรือท่องเที่ยว รวมไปถึงอุตสาหกรรมด้านพลังงานน้ำมัน ก๊าซ และปิโตรเคมี สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่ออนาคต (New S-Curve)

ที่มา: https://www.ryt9.com/s/nnd/3054120