สปป.ลาว ไทย และจีน หารือเส้นทางการบินใหม่เพื่อรองรับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น

เส้นทางการบินใหม่อยู่ระหว่างการหารือระหว่างไทย จีน และ สปป.ลาว เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด และเพื่อตอบสนองต่อการคาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอีก 100,000 เที่ยวในน่านฟ้าประเทศไทย สปป.ลาว และจีน โดยเส้นทางคู่ขนานที่นำเสนอนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาความแออัดในเส้นทางการบินที่มีอยู่ซึ่งกำหนดโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยเฉพาะทางตะวันตกเฉียงเหนือของลาว แผนเหล่านี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่จะวางตำแหน่งประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค ความต้องการเดินทางจากจีนมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยจำนวนเที่ยวบินสูงถึงประมาณ 80% ของระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด โดยอินเดียมองว่าเป็นตลาดที่กำลังเติบโตและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีเที่ยวบินเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 900,000 เที่ยวบินในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 800,000 เที่ยวบินในปี 2566 และภายในปี 2568 ปริมาณเที่ยวบินจะดีดตัวกลับไปสู่ระดับ 1 ล้านเที่ยวบิน

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/04/01/thailand-laos-china-in-talks-for-new-aviation-routes-to-handle-surge-in-flights/

แนวโน้มการท่องเที่ยวไทยเป็นบวก ภายหลังการยกเว้นวีซ่าร่วมกับจีนมีผลบังคับใช้

หนึ่งเดือนแรกนับตั้งแต่ข้อตกลงยกเว้นวีซ่าระหว่างไทยและจีนมีผลใช้บังคับ นายวิชัย มงคลชัยชวัน รองประธานหอการค้าไทย-จีน มองว่าแนวโน้มเป็นบวก ในช่วงที่นำไปสู่การเริ่มต้นโครงการ “จำนวนการค้นหาการท่องเที่ยวประเทศไทยบนเว็บไซต์ Baidu ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2567 เพิ่มขึ้น 48%” การค้นหาเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากผู้ใช้ในกวางตุ้ง เจ้อเจียง หูหนาน เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง อย่างไรก็ตาม ประธาน TCJA กล่าวว่า สายการบินและโรงแรมจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวไทยยังคงต้องรับมือกับการฟื้นตัวหลังโควิด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวชาวจีนไว้ที่ 8 ล้านคนในปีนี้ ทั้งนี้ ข้อตกลงกับประเทศไทยอนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางไทยแบบธรรมดา หนังสือเดินทางจีนเพื่อกิจการสาธารณะ และหนังสือเดินทางจีนแบบธรรมดาสามารถเดินทางได้ 30 วัน และยังอนุญาตให้เข้าออกประเทศได้หลายครั้ง แต่การเข้าพักสะสมต้องไม่เกิน 90 วันในช่วง 180 วัน

ที่มา : https://www.thaipbsworld.com/positive-outlook-for-thai-tourism-a-month-after-mutual-visa-exemption-with-china-came-into-force/

‘วินฟาสต์’ ผู้ผลิตรถ EV สัญชาติเวียดนาม วางขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

วินฟาสต์ (VinFast) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติเวียดนาม ประกาศเมื่อวันอังคารว่าทางบริษัทวางแผนที่จะขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย และร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในการเปิดโชว์รูม อย่างไรก็ดี วินฟาสต์ที่เริ่มส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อปีที่แล้ว เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดไทยจากคู่แข่งรถยนต์สัญาชาติจีน ‘บีวายดี’ รวมถึงเทสลา ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากสหรัฐฯ ก็เริ่มเข้าสู่ตลาดรถยนต์นี้ ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหมดจะเข้าร่วมงานบางกอก มอเตอร์โชว์

ทั้งนี้ จากรายงานของ เคาน์เตอร์พอยต์ รีเสิร์ช บริษัทวิจัยตลาด เปิดเผยว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทย คิดเป็นสัดส่วน 58% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2565 แซงหน้าเวียดนามและอินโดนีเซีย แต่ว่าเมื่อพิจารณามูลค่าของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังคงมีสัดส่วนเล็กน้อยที่ 0.5% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าโลกในปี 2565

ที่มา : https://www.khaosodenglish.com/news/2024/03/27/vietnamese-automaker-vinfast-to-start-selling-evs-in-thailand/

กัมพูชา-ไทย มุ่งยกระดับความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เชิงรุก

อดีตนายกรัฐมนตรีฮุนเซน เรียกร้องให้มีการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับไทย ในด้านการค้า แรงงาน และภาคการท่องเที่ยว โดยยกระดับความสัมพันธ์จากหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เชิงรุก ซึ่งได้กล่าวไว้ในระหว่างการให้การต้อนรับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรของไทย ณ กรุงพนมเปญ ในวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 มี.ค.) โดยทั้งสองฝ่ายมองว่าการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากทั้งสองประเทศมีความมุ่งมั่นที่จะกลับมาหารืออีกครั้งเกี่ยวกับการสำรวจและขุดเจาะแหล่งน้ำมันและก๊าซร่วมกัน ในพื้นที่ทับซ้อน (Overlapping Claims Area: OCA) ขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ในอ่าวไทย ซึ่งความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เชิงรุก (Comprehensive Strategic Partnership) เป็นรูปแบบความร่วมมือทวิภาคีที่ครอบคลุมระหว่างสองประเทศในประเด็นต่างๆ อย่างรอบด้าน ครอบคลุมหลายภาคส่วน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501461617/call-to-elevate-cambodia-thai-ties-amid-bid-to-settle-oca/

เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า กระทบเงินบาทของไทย-ริงกิตของมาเลเซีย รวมถึงสกุลอื่นๆ ในอาเซียน

สกุลเงินบาทของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในช่วงเริ่มต้นปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงขยายตัวและข้อมูลการจ้างงานที่สดใส ความคาดหวังที่เพิ่มสูงขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐจะคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกนาน ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เงินบาทของไทยและริงกิตของมาเลเซียได้รับผลกระทบหนักที่สุด แม้ว่าจะมีการฟื้นตัวในช่วงสั้นๆ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา ตามการตัดสินใจครั้งล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ “สกุลเงินเกือบทั้งหมดในโลกอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสแรก Joey Chew หัวหน้าฝ่ายวิจัย FX ของเอเชียของธนาคาร  HSBC กล่าวกับ The Business Times.

ที่มา : https://www.businesstimes.com.sg/international/asean/strong-us-dollar-hits-thai-baht-malaysian-ringgit-hardest-among-asean-currencies

ไทยอันดับ 1 ประเทศผู้ผลิตยานยนต์มากที่สุดในอาเซียน ด้านการแพทย์ดีที่สุดระดับโลก

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศวิสัยทัศน์ 8 ด้าน ให้ไทยก้าวขึ้นเป็นที่ 1 ในภูมิภาค มุ่งมั่นส่งเสริมทุกด้านที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ และเป็นด้านที่ไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) และศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness Hub) ทั้งนี้ เห็นความคืบหน้าจาก ไทยครองอันดับ 1 ประเทศผลิตรถยนต์มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2566 และผลการจัดอันดับ 250 โรงพยาบาลที่ดีที่สุดในโลกประจำปีพ.ศ. 2567 (250 World’s Best Hospitals 2024) ที่จัดให้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ของไทย อยู่ในอันดับที่ 130 (สูงกว่าปีที่แล้วที่เคยอยู่ในอันดับที่ 182)

ที่มา : https://www.naewna.com/politic/795150#google_vignette

กัมพูชาและไทย ประกาศร่วมมือยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

กัมพูชาและไทย ประกาศความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกัน ผ่านการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยคำมั่นสัญญานี้เกิดขึ้นระหว่าง ฮุน เซน ประธานพรรคประชาชนกัมพูชา และคุณแพทองทา ชินวัตร ประธานพรรคเพื่อไทย ในการหารือระดับทวิภาคี ด้าน สมเด็จฯ ฮุน เซน ได้แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของกัมพูชา ซึ่งเน้นไปที่การแสวงหาสันติภาพ การเปลี่ยนสนามรบเดิมให้เป็นเขตพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายแดนให้กลายเป็นเขตแดนแห่งสันติภาพ ด้านคุณแพทองทา เดินทางเยือนกัมพูชาเป็นเวลา 2 วัน (18-19 มี.ค.) ตามคำเชิญของ สมเด็จฯ ฮุน เซน โดยการเยือนครั้งนี้ถือเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน และความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อหวังการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501458226/cambodia-thailand-to-boost-economic-growth-though-connectivity/

ผู้ผลิตรถยนต์จีนจะต้องเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ประเทศไทยในปีนี้

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกรายงานการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย เน้นการส่งเสริมการลงทุนที่แข็งแกร่งในปี 2567 ตามมาตรการ EV 3.0 มาตรการเหล่านี้กำหนดให้บริษัทที่นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อขายในประเทศไทยต้องเริ่มการผลิตในปีนี้ จากรายงานของ สศช. เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567 มีเนื้อหาส่วนที่เน้นแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยในปี 2566 จำนวนการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ใหม่สูงถึง 76,538 คัน เพิ่มขึ้น 695.9% เมื่อเทียบกับการจดทะเบียน 9,617 คันในปี 2565 การจดทะเบียนใหม่สำหรับรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมอยู่ที่ 481,609 คัน ลดลง 11.3% จาก 543,072 คัน ในปี 2565 ส่งผลให้สัดส่วนการจดทะเบียนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าใหม่ต่อยอดจดทะเบียนรถยนต์ทั้งหมดอยู่ที่ 11.6% ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 1.5% ในปี 2565 สำหรับปี 2566 การจดทะเบียนใหม่สำหรับแบรนด์รถยนต์ EV คือ BYD (จีน) 30,467 คัน Neta (จีน) 12,777 คัน MG (จีน) 12,462 คัน เทสลา (สหรัฐอเมริกา) 8,206 คัน และ GWM (ORA) (จีน) 6,746 คัน ทั้งนี้ ค่ายรถยนต์เหล่านี้ ต้องเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยภายในปีนี้ โดยข้อมูลกำลังการผลิตรถยนต์ EVs ในประเทศไทยทั้งหมดมาจากผู้ผลิตรถยนต์จีน โดยแยกตามยี่ห้อ Neta 200,000 คัน, Changan: 100,000-200,000 คัน (กำลังการผลิตเริ่มต้น 100,000 คัน), BYD 150,000 คัน MG 100,000 คัน และ GWM 80,000 คัน หากกำลังการผลิตของโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่จัดตั้งขึ้นโดยประเทศต่างๆ สามารถเป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรการจูงใจได้ ก็จะช่วยส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและส่วนประกอบไฟฟ้าที่สำคัญทั่วโลก

ที่มา : https://www.nationthailand.com/thailand/policies/40036474

สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 มีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงสิ้นปีนี้

สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างแขวงบอลิคำไซ ในประเทศลาว กับจังหวัดบึงกาฬของประเทศไทย มีความคืบหน้าตามกำหนด และสะพานดังกล่าวจะเปิดให้สัญจรได้ในปลายปีนี้ โดยสะพานแห่งนี้มีความยาว 1,350 เมตร และจะช่วยส่งเสริมการเดินทางระหว่างลาวและไทย กระตุ้นให้เกิดการค้ากับประเทศอื่นๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการฝั่ง สปป.ลาว กล่าวว่า สะพานจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567 และงานดังกล่าวคืบหน้าไปอย่างราบรื่นหลังจากการประเมินการก่อสร้างแล้วเสร็จมากกว่า 80% ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว สะพานแห่งนี้สร้างขึ้นจากเงินกู้จำนวน 1.38 พันล้านบาท จากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทย (NEDA) ได้รับการค้ำประกันโดยรัฐบาล สปป.ลาว โดยโครงการก่อสร้าง ประกอบด้วย การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำฝั่ง สปป.ลาว ระยะทาง 535 เมตร และการก่อสร้างถนนทางเข้าอาคารตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร และโครงสร้างอื่นๆ ในฝั่ง สปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_54_Fifth_y24.php

‘เซ็นทรัลพัฒนา’ ผู้นำอสังหาฯ ไทย จัดตั้งบริษัทย่อยในเวียดนาม

‘เซ็นทรัลพัฒนา’ (Central Pattana : CPN) หนึ่งในเครือเซ็นทรัลที่เป็นองค์กรเอกชนชั้นนำในการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายอุตสาหกรรมของประเทศไทย เดินหน้าจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ในเวียดนาม เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจจากในตลาดท้องถิ่น ในขณะที่บริษัทย่อย ซีพีเอ็น โกบอล เวียดนาม มีเงินทุนจดทะเบียนราว 20 พันล้านดอง โดยซีพีเอ็น โกบอล เวียดนาม เป็นผู้ถิอหุ้น 100% ดำเนินการจัดการอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนาม

ทั้งนี้ จากข้อมูลของเว็บไซต์บริษัท เปิดเผยว่าเซ็นทรัลพัฒนาเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกชั้นนำในประเทศไทย และมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2538 โดยในปัจจุบัน เซ็นทรัลพัฒนาเป็นเจ้าของและบริหารจัดการห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์เกือบ 40 แห่ง อาคารสำนักงาน 10 แห่ง และโรงแรมอีก 5 แห่งที่มีพื้นที่เช่ารวมเกิน 2.3 ล้านตารางเมตร พร้อมอาคารอพาร์ตเมนต์จำนวน 28 หลัง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/thai-property-developer-central-pattana-sets-up-new-subsidiary-in-vietnam-post1078025.vov