“เวียดนาม” เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ มิ.ย. พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

กระทรวงวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือนมิถุนายน 2566 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 13,904 ราย เพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) และมีธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการจำนวน 7,098 ราย เพิ่มขึ้น 215%YoY ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ จากข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ามีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่และธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการ อยู่ที่ประมาณ 113,000 ราย แสดงว่าในแต่ละเดือน ทั้งธุรกิจที่จดทะเบียนใหม่และธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการ เฉลี่ยอยู่ที่ราว 19,000 แห่ง อย่างไรก็ดี สำหรับทุนจดทะเบียนในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1550426/number-of-new-businesses-hits-record-high-in-june.html

“แบงก์ชาติเมียนมา” เตือนระวังกลโกงออนไลน์

ธนาคารกลางเมียนมาได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้หลอกหลวงและนักต้มตุ๋นออนไลน์ภายใต้ชื่อ “Gold T 6” บนเฟซบุ๊ค (Facebook) ที่มีการแอบอ้างหรือหลอกลวงให้นักลงทุนนำเงินเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่มีอยู่จริง ทั้งนี้ ตามกฎระเบียนของธนาคารกลางเมียนมาและกฎหมายสถาบันการเงิน ธนาคารกลางเมียนมา (CBM) มีการออกใบอนุญาตให้กับธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ธนาคารเอกชน 27 แห่ง และธนาคารต่างประเทศ 20 แห่ง โดยกิจการเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในการให้บริการทางด้านธนาคาร อย่างไรก็ตาม มาตรการ 158 และ 163 ของกฎหมายสถาบันการเงินที่เกี่ยวกับบุคคลหรือองค์กรที่ละเมิดหลักเกณฑ์หรือกฎระเบียบ ในขณะเดียวกันไม่มีธนาคารแห่งใดที่สามารถเปิดดำเนินกิจการได้ หากไม่ได้รับใบอนุญาต แต่ว่านักต้มตุ๋นจะใช้กลวิธีในการหลอกลวงผู้คนให้เข้ามาลงทุนด้วยตัวเลขของอัตราดอกเบี้ยที่สูงและสินทรัพย์ที่ไม่มีอยู่จริง ทั้งอสังหาฯ ทองคำและเงินตราต่างประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/central-bank-of-myanmar-warns-of-online-scams/#article-title

คาดเขตพัฒนานครเวียงจันทน์หนุนการลงทุนภายใน สปป.ลาว

คาดเขตพัฒนาเวียงจันทน์สร้างโอกาสสำหรับการลงทุนภายในประเทศ ภายใต้แรงจูงใจ อาทิเช่น ลดหย่อนภาษี ไปจนถึงสิทธิพิเศษในการเข้าถึงตลาด โดยเขตพัฒนาดังกล่าวถือเป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง สปป.ลาว-จีน ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหลวงเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว สำหรับผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิพิเศษด้วยการยกเว้นภาษีกำไรเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าและการส่งออก และเมื่อระยะเวลายกเว้นภาษีสิ้นสุดลง จะมีการเสนอนโยบายการลดภาษีลงในรูปแบบขั้นบันได ด้าน Xiong Jun ผู้จัดการทั่วไปของ Lao-China Joint Venture Investment Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเขตเศรษฐกิจ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ จะได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับกำไร ยังมีการยกเว้นภาษีสำหรับสิ่งก่อสร้างและวัตถุดิบนำเข้า ไปจนถึงการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้เป็นศูนย์ สำหรับพื้นที่เขตพัฒนาตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,149 เฮกตาร์ ในเขตไขยเชษฐา โดยเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 นับตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบันผู้พัฒนาได้ลงนามข้อตกลงกับ 127 บริษัท จากประเทศต่างๆ เช่น จีน ไทย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ สปป.ลาว สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทำธุรกิจในโซนนี้ ในจำนวนนี้ บริษัท 64 แห่ง ได้เปิดสายการผลิตและดำเนินการแล้ว สร้างงานได้มากถึง 6,000 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในท้องถิ่นกว่า 4,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten124_Vientiane_y23.php

ทางการกัมพูชาคาดภาคบริการจะกลายเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวว่า ภาคบริการจะกลายเป็นส่วนสำคัญต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกัมพูชา แทนที่ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมเดิม ซึ่งหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กัมพูชาได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งยังทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศหยุดชะงัก โดยมีสถานประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกือบ 1,200 แห่ง ต้องปิดตัวลง ส่งผลให้แรงงานกว่า 22,000 คน ต้องตกลง ซึ่งในปีที่แล้ว ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นส่วนสำคัญของ GDP หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38 รองลงมาคือภาคบริการและภาคเกษตรกรรมที่ร้อยละ 35 และ 21 ตามลำดับ และด้วยสถานการณ์การท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ท้อนจากการให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 2.4 ล้านคน ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 530 ทำให้ทางการกัมพูชาคาดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะขึ้นมาเป็นส่วนสำคัญที่สุดของระบบเศรษฐกิจกัมพูชา โดยในปี 2019 ก่อนเกิดการแพร่ระบาด กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวมากถึง 6.6 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศรวม 4.92 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501315918/service-sector-to-become-cambodias-largest-by-gdp/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังไทยขยายตัวร้อยละ 10 แตะ 480 ล้านดอลลาร์

ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องที่มูลค่ารวมกว่า 480 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ในขณะเดียวกันการส่งออกของไทยมายังกัมพูชากลับปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 14 ที่มูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าสำคัญจากไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ด้านนายจีรนันท์ วงษ์มงคล ประธานสภาธุรกิจไทยในกัมพูชา (TBCC) กล่าวเสริมว่า การส่งออกที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ถึงความต้องการในสินค้าของกัมพูชาในตลาดไทย ซึ่งภาคส่วนดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายปริมาณการค้าทวิภาคีกัมพูชา-ไทย มูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2025 โดยหวังให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมมือดำเนินการเพื่อให้ถึงเป้าหมายการส่งออกระหว่างกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501315920/kingdom-exports-to-thailand-surge-10-to-480-million/

นายกฯ คาดส่งออกข้าวปี 66 ทะลุ 8 ล้านตัน ดันไทยกลับเป็นที่ 2 ของโลก

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานความคืบหน้าการส่งออกข้าวของไทย และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทยตั้งแต่ปี 2563-2567 ผลักดันไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตและการตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก โดยนายกเชื่อมั่นว่าการส่งออกข้าวไทย ปี 2566 จะเป็นไปตามการคาดการณ์ ที่ยอดมากกว่า 8 ล้านตัน และไทยกลับมาเป็นอันดับที่ 2 ประเทศส่งออกข้าวของโลก ซึ่งยอดส่งออกข้าวในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 นี้ มีปริมาณสูงถึง 2.62 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.41 ด้านโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลผลักดันให้เกิดการกระชับสัมพันธ์คู่ค้าสำคัญ และการหากลุ่มลูกค้าใหม่ให้ครอบคลุมตลาดข้าวมากขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย ได้แก่ อิรัก อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และจีน ประกอบกับ ที่ผ่านมาไทยเพิ่มโอกาสทางการค้าด้วยการจัดคณะผู้แทนเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ เช่น ฮ่องกง จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้ และเพิ่มโอกาสด้วยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ เช่น งาน China–ASEAN Expo (จีน) งาน Fine Food (ออสเตรเลีย) และงาน ANUGA (เยอรมนี) เป็นต้น

ที่มา : https://www.naewna.com/business/740713

“การท่องเที่ยวฮานอย” ฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีแรก นทท.เพิ่ม 42%

เมืองฮานอย (Hanoi) คาดว่าจะทำรายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้ อยู่ที่ 77 ล้านล้านดอง หรือประมาณ 3.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ราว 22 ล้านคน และจะเข้ามาที่เมืองฮานอยสูงถึง 12.33 ล้านคนในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 42% จากปีที่แล้ว ทั้งนี้ จากการคาดการณ์รายได้จากการท่องเที่ยวจะสูงถึง 44.88 ล้านล้านดอง (1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) แสดงให้เห็นว่าภาคการท่องเที่ยวขยายตัว 74.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในโรงแรม เพิ่มขึ้น 61.1% บ่งชี้ว่าความต้องการเข้าที่พักเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ กรมการท่องเที่ยวประจำกรุงฮานอย ระบุว่าการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของการท่องเที่ยว เป็นผลมาจากความสำเร็จในการควบคุมโรคโควิด-19 ได้ และการดำเนินมาตรการที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ที่มา : https://en.vietstock.vn/974-513101/hanoi-tourism-rebounds-in-first-half-with-42-visitor-growth.htm

“ฟินเทคสตาร์ทอัพสวิสฯ” เล็งโอกาสลงทุนในเวียดนาม

ตามรายงาน ‘Vietnam Fintech’ ฉบับใหม่โดย Switzerland Global Enterprise (S-GE) เปิดเผยว่าฟินเทคสตาร์ทอัพสวิสฯ ควรใช้โอกาสที่จะเข้ามาลงทุนในเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีความต้องการโซลูชั่นทางการเงินดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการส่งเสริมนโยบายและรัฐบาลมีความคิดริเริ่มที่จะสนับสนุนให้มีการบ่มเพาะนวัตกรรมและเทคโนโลยีฟินเทค ทั้งนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่สำคัญ 5 ประการที่จะเข้ามาลงทุนในเวียดนาม ได้แก่ 1) ธนาคารเวียดนามพร้อมที่จะจับมือกับบริษัทฟินเทคและผู้ให้บริการเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ 2) ระบบการชำระเงินในปัจจุบันที่นับว่าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมฟินเทคในประเทศ ด้วยสัดส่วนจำนวนประชากรที่ใช้การชำระเงินทางดิจิทัลเกือบ 2 ใน 3 ของประชากรเวียดนามทั้งประเทศ หรือราว 57.62 ล้านคนในเดือน ม.ค.66 3) การกู้ยืมแบบ P2P ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง 4) การเงินส่วนบุคคลและการลงทุน และประการสุดท้าย คือ บล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งในภาคส่วนของฟินเทคที่มีความแข็งแกร่งและคาดว่าจะเติบโตต่อไปในอนาคต

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/opportunities-for-swiss-fintech-startups-numeral-in-vietnam-report/255380.vnp

“เมียนมา” เผยราคาถั่วแระ ต่ำกว่า 3 ล้านจ๊าดต่อตัน

หอการค้าและอุตสาหกรรมเขตย่างกุ้ง รายงานว่าถั่วแระ (Pigeon Pea) ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 3 ล้านจ๊าดต่อตัน ขณะที่จากข้อมูลในวันที่ 5 มิ.ย. ราคาทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.33 ล้านจ๊าดต่อตัน จากนั้นในวันที่ 27 มิ.ย. ราคาตกต่ำอย่างมากอยู่ที่ 2.94 ล้านจ๊าดต่อตัน โดยตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าถั่วแระลดลงราว 390,000 จ๊าดต่อตันในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับราคาถั่วเขียวผิวดำและถั่วพัลส์

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/pigeon-pea-price-plunges-down-to-below-k3-mln-per-tonne/#article-title

สภาแห่งชาติ สปป.ลาว เรียกร้องให้รัฐบาลหาทางออกให้กับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่

คณะกรรมาธิการสมัชชาแห่งชาติ (NA) ได้เรียกร้องให้รัฐบาล สปป.ลาว จัดการกับปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างเร่งด่วน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยได้กล่าวไว้ในวันเปิดการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 5 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 9 นำโดยรองประธานรัฐสภา Sommad Pholsena ซึ่งได้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือนพฤษภาคมปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 12.81 ก่อนจะไต่ระดับขึ้นเป็นร้อยละ 39.27 ในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งส่งผลทำให้ประชาชนคนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก ด้านคณะกรรมการของ NA ยังแนะนำให้รัฐบาลสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานการดำเนินชีวิตที่ดี รวมถึงเป็นการยกระดับผู้คนให้พ้นจากความยากจนและลดค่าครองชีพซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องเร่งดำเนินการจัดการกับขบวนการค้ายาเสพติด ลดอัตราอาชญากรรม นอกจากนี้ รัฐบาลควรดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การสกัดแร่เถื่อน การบุกรุกที่ดินของรัฐและผู้ถือสิทธิการใช้ที่ดิน การทำลายป่าและแหล่งน้ำ ซึ่งส่งผลต่อมลภาวะทางอากาศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten123_NA_y23.php