ทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน จ่อให้บริการในช่วงเดือน เม.ย.

บริษัท รถไฟ สปป.ลาว-จีน จำกัด จะเปิดให้บริการรถไฟข้ามพรมแดนในช่วงกลางเดือนเมษายนที่กำลังจะมาถึง ซึ่งปัจจุบันรถไฟวิ่งให้บริการระหว่างสถานีในประเทศ สปป.ลาว-เวียงจันทน์ และบ่อเต็น เท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดการเดินทางจากมาตรการป้องกันโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตามเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาด่านภาษีสากลบ่อเต็น ณ ชายแดน สปป.ลาว-จีน ได้เปิดให้ผู้คนสามารถข้ามพรมแดนระหว่างกันได้ และด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ บริษัท วางแผนที่จะเปิดให้บริการรถไฟเส้นทาง เวียงจันทน์-คุนหมิง ขณะที่ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจำนวนมาก เดินทางโดยรถไฟไปยังสถานีบ่อเต็นเพื่อเข้าสู่ประเทศ สปป.ลาว ซึ่งมียอดผู้โดยสารพุ่งสูงเฉลี่ย 1,500-1,600 คนต่อวัน นับตั้งแต่การรถไฟเปิดให้บริการในวันที่ 3 ธ.ค. 2021

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Laos59.php

ไพรแวก ถูกจัดให้เป็นจังหวัดที่สามารถผลิตข้าวได้เป็นอันดับต้นๆ ของกัมพูชา

ไพรแวก ถูกจัดให้เป็นจังหวัดที่สามารถผลิตข้าวได้เป็นอันดับต้นๆ ของกัมพูชา โดยเฉพาะเพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ กล่าวโดย Chea Somethy ผู้ว่าการจังหวัดไพรแวง จากข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจังหวัดไพรแวกสามารถผลิตข้าวเปลือกได้มากกว่า 7 ล้านตัน หรือเฉลี่ยมากกว่า 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งหลังหักจากการบริโภคภายในจังหวัดแล้ว พบว่ามีข้าวเปลือกส่วนเกินกว่า 5 ล้านตัน และได้ทำการกระจายไปยังตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้ประมาณกว่า 1,250 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบัน Ouk Samnang ผู้อำนวยการกรมวิชาการเกษตร ป่าไม้ และประมงจังหวัดไพรแวง กล่าวเสริมว่า การขยายตัวของผลผลิตข้าวในจังหวัดมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชลประทาน จนทำให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้หลายครั้งต่อปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501261721/prey-veng-the-biggest-rice-producer-in-cambodia/

ฮุนเซนคาดจีนยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับกัมพูชาและอาเซียน

จีนยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับภาคการค้า ของทั้งกัมพูชาและประเทศในกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กล่าวโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้จัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA), เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) และข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ส่งผลทำให้ภาคการค้าระหว่างประเทศได้รับประโยชน์จากการยกเลิกภาษี ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะหลั่งไหลเข้ามายังกัมพูชาเป็นจำนวนมาก หลังจากจีนปรับนโยบายในการรับมือต่อโควิด-19 ให้เหมาะสม โดยการค้าของกัมพูชากับจีนในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2023 มีมูลค่าอยู่ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงมากกว่าร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปริมาณการค้าในช่วงปี 2022 สูงถึง 14.5 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับปี 2021 ซึ่งสินค้าส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนส่วนใหญ่ ได้แก่ เสื้อผ้าและสินค้าเกษตร ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฝ้าย สิ่งทอ ฝ้าย โลหะ วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501262376/prime-minister-hun-sen-says-china-huge-market-for-cambodia-other-asean-countries/

เศรษฐกิจชายแดนสตูล-มาเลเซียคึกคัก รับเดือนรอมฎอน เงินสะพัดสองสัปดาห์ 10 ล้านบาท

เศรษฐกิจชายแดนต้อนรับเดือนรอมฎอน ที่จังหวัดสตูลคึกคักมีรายได้สะพัดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา 10 ล้านบาท นักท่องเที่ยวไทยมุสลิมแห่จับจ่ายเพื่อเข้าสู่เดือนถือศีลอด และที่ตลาดชายแดนวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ซึ่งติดต่อกับบ้านวังเกลียน ประเทศมาเลเซีย มีการจับจ่ายก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอนคึกคักมีชาวไทยมาเลเซียและนักท่องเที่ยวไทยมุสลิมเข้าจับจ่ายซื้อสิ่งของจำเป็นใช้สำหรับเดือนถือศีลอด โดยเฉพาะอินทผาลัม น้ำมัน น้ำตาล ผลไม้อบแห้ง ของใช้ในครัวเรือน สร้างรายได้ให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดชายแดนกันคึกคัก ทั้งนี้ นายกฤดิพรรธน์ สิงห์อุบลปิติกุล ด่านศุลกากรวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เปิดเผยว่าตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวไทยและมาเลเซียมาจับจ่ายกันคึกคักเพื่อเตรียมข้าวของ อาหารแห้งไว้สำหรับการละศีลอด และเพื่อท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายที่ตลาดชายแดนแห่งนี้กันคึกคึก รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จากพ่อค้าแม่ค้าที่มาวางขายกว่า 50 ร้านสร้างเม็ดเงินสะพัดสูงถึง 10 ล้านบาท และเชื่อว่าในช่วงเทศกาลฮารีรายา บรรยากาศลักษณะนี้จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ที่มา : https://siamrath.co.th/n/433026

“ราคาข้าวเวียดนาม” ยังคงพุ่งสูงขึ้นในตลาดโลก

ตามรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เปิดเผยว่าราคาส่งออกข้าวหัก 5% ของเวียดนาม ปรับตัวเพิ่มสูงที่สุดในตลาดโลก นับตั้งแต่เดือน ส.ค.2565 แซงหน้าข้าวไทยที่อยู่ระดับ 15-27 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และอินเดียที่ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และเมื่อปีที่แล้ว ปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนาม 7.1 ล้านตัน สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ถึงแม้ว่าปริมาณการส่งออกข้าวลดลงมากกว่า 20% ในเดือนแรกของปีนี้ แต่ราคาส่งออกข้าวมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยอยู่ที่ 519 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วง 2 เดือนแรกของปี ทั้งนี้ สมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) ระบุว่าราคาส่งออกข้าวหัก 5% ในปัจจุบัน อยู่ที่ 463 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบปีที่แล้ว นอกจากนี้ สถานการณ์การส่งออกข้าวของเวียดนามเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากซัพพลายเออร์ต้นทุนต่ำรายอื่นๆ เช่น อินเดียและปากีสถาน รวมถึงข้อจำกัดของการกระจายตลาด

ที่มา : https://hanoitimes.vn/vietnams-rice-prices-stay-highest-in-world-market-323203.html

Credit Suisse หนี ‘Lehman Moment’ ยันเวียดนามไม่กระทบ

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าการช่วยเหลือครั้งประวัติศาสตร์ของตลาดการเงินโลกในครั้งนี้ ธนาคาร UBS กลุ่มธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ ได้บรรลุข้อตกลงเข้าซื้อธนาคารเครดิต สวิส (Credit Suisse) มูลค่า 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อป้องกันวิกฤตธนาคารที่จะลุกลามไปยังยุโรปและทั่วโลก โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เข้ามาจัดการกับปัญหาการล่มสลายของธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) และธนาคาร Signature Bank และธนาคารรายใหญ่สหรัฐฯ บางรายต้องอัดฉีดเงิน 30 พันล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (FRB) ในขณะเดียวกัน นาย Michael Kokalari หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุน VinaCapital แสดงความคิดเห็นว่าการล่มสลายของธนาคาร SVB และ Signature Bank และวิกฤต Credit Suisse จะไม่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเวียดนาม และมองว่าจะไม่เกิดความเสี่ยงต่อความสามารถในการทำกำไร หรือความสามารถในการชำระหนี้ของธนาคารเวียดนาม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/credit-suisse-escapes-lehman-moment-vietnam-unaffected-post1009172.vov

เมียนมามุ่นมั่นส่งออกกาแฟเพิ่มเป็น 2 เท่าในปี 66

เมื่อวันพุธที่ 22 มีนาคม 2566  กระทรวงพาณิชย์ เผย ภายในปี 2566  เมียนมาตั้งเป้าส่งออกกาแฟเพิ่มขึ้น 2 เท่า เป็นจำนวน 10,000 ตัน ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านเมียนมาส่งออกกาแฟ 5,800 ตัน โดยตลาดนำเข้าสำคัญได้แก่  เช่น จีน ไทย สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม และสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนพื้นที่เพาะปลูกกาแฟของเมียนมา พบว่า มีประมาณ 50,000 เอเคอร์ แบ่งเป็น 38,000 เอเคอร์เป็นกาแฟพันธุ์อาราบิก้า และ 12,000 เอเคอร์เป็นกาแฟพันธุ์โรบัสต้า ซึ่งไร่กาแฟส่วนใหญ่อยู่ในเขตมัณฑะเลย์ รัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง ทั้งนี้ ผลผลิตกาแฟต่อปีของเมียนมาอยู่ที่ประมาณ 9,000 ตัน

ที่มา : https://english.news.cn/20230323/84c83a24e49a4f049de088aadea7879f/c.html

“สปป.ลาว” แบนนำเข้าเนื้อสุกรจากเวียดนาม

กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป.ลาว ประกาศระงับการนำเข้าเนื้อสุกรและเนื้อสุกรแปรรูปจากประเทศเวียดนามและประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและตรวจสอบการนำเข้าอย่างผิดกฎหมายที่บริเวณชายแดนและสนามบินนานาชาติ นอกจากนี้ เนื้อสุกรที่ลักลอบนำเข้าหรือนำเข้าอย่างผิดกฎหมายในสปป.ลาวจะต้องถูกทำลาย ทั้งนี้ เมื่อปี 2563 สปป.ลาวระงับการนำเข้าเนื้อสุกรจากประเทศจีนและไทย หลังจากตรวจพบการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร 7 ครั้ง โดยมีหมูตาย 973 ตัวในแขวงสาละวัน และล่าสุดในเดือนมกราคม 2566 สปป.ลาวก็ระงับการนำเข้าเนื้อสุกรจากไทยเช่นเดียวกัน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/laos-suspends-pork-imports-from-vietnam-2123587.html

เวียดนาม-กัมพูชา วางแผนอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างกัน

นายกรัฐมนตรีเวียดนาม Phạm Minh Chính ให้การต้อนรับ Prak Sokhonn รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้เดินทางไปเยือนยังเวียดนามอย่างเป็นทางการ เพื่อหารือและสร้างความร่วมมือระหว่างกันในการกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศ โดยในปี 2022 การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเวียดนามแตะ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นการขยายตัวเกือบร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปี 2021 ขณะที่การลงทุนของนักลงทุนเวียดนามในกัมพูชามีมากถึง 205 โครงการ ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวม 29,400 ล้านดอลลาร์ ส่งผลทำให้เวียดนามถือเป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่รายสำคัญของกัมพูชาในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501260736/vietnam-cambodia-seek-to-further-facilitate-cross-border-trade/

จีนยังคงเป็นแหล่งวัตถุดิบรายใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีฮุนเซน กล่าวว่า จีนยังคงเป็นแหล่งวัตถุดิบที่ใหญ่ที่สุดให้กับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มกัมพูชา โดยผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มในกัมพูชานำเข้าวัตถุดิบในการผลิตมากกว่าร้อยละ 80 จากจีน ก่อนที่จะทำการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มหรือการ์เม้นท์ ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็สร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นนับแสนคน โดยในปี 2022 กัมพูชาส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มมูลค่า 9.03 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นกว่าร้อยละ 40.1 ของการส่งออกทั้งหมดที่มีมูลค่ารวมกว่า 22.48 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501260728/china-remains-as-top-supplier-of-raw-materials-to-cambodias-garment-industry/